Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
มวนลำไย หรือ แมงแคง (Iongan stink bug) จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งของลำไย และไม้ผลอีกหลายชนิด เช่น ลิ้นจี่ ทำให้ผลผลิตเสียหาย หรือ ด้อยคุณภาพ แต่มีประโยชน์ในด้านใช้ทำอาหารในเมนูหลายชนิด อาทิ มวนลำไยคั่วเกลือ ป่นมวนลำไยหรือป่นแมงแคง รวมถึงใส่ในแกงอื่นๆ
อนุกรมวิธาน [1]
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Arthropoda
• ชั้น (class): Insecta
• อันดับ (order): Hemiptera
• วงศ์ (family): Pentatomidae
• สกุล (genus): Tessaratoma
• ชนิด (species): javanica
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tessaratoma papillosa Drury
• ชื่อสามัญ : Iongan stink bug
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มวนลำไย
ภาคอีสาน
– แมงแคง
– แมงแกง
แหล่งที่พบ และการแพร่กระจาย
มวนลำไย หรือ แมงแคง เป็นแมลงที่พบได้ทุกภาค เป็นแมลงที่ชอบอาศัยบนต้นลำไย ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ มวนลำไย นอกจากนั้น ยังพบอาศัยอยู่บนต้นไม้อื่นๆ อาทิ ลิ้นจี่ ตะคร้อ จิก กุง และทองกวาว เป็นต้น
ลักษณะมวนลำไย/แมงแคง
มวนลำไย เป็นแมลงจำพวกมวนขนาดใหญ่ ลำตัวแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หัว อก และท้อง โดยตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลอมเหลือง ทั้งปีก และเปลือกแข็งหุ้มลำตัว และบริเวณลำตัวด้านล่างทั้งหมดจะปกคลุมด้วยผงสีขาว
ส่วนหัวจะมีขนาดเล็กที่สุด มีตา 2 ข้าง มองเห็นเป็นจุดขนาดเล็ก มีปากชนิดเจาะดูด ยื่นออกมาจากด้านหน้าสุดของหัว และส่วนปากจะหุบซ่อนอยู่ใต้ส่วนหัวในขณะที่ไม่กินอาหาร เวลาไม่กินอาหาร ส่วนหนวดจะอยู่ใต้ศรีษะ มีจำนวน 1 คู่ แบ่งเป็นปล้อง จำนวน 3 ปล้อง
ปีกของมวนลำไยจะประกอบด้วยปีกคู่หน้าที่ทับด้านบนของปีกคู่หลัง ซึ่งสังเกตได้เวลาที่มวนลำไยเกาะอยู่นิ่ง โดยปีกคู่หน้าส่วนต้นจะมีลักษณะแข็ง ปลายปีกเป็นแผ่นบางอ่อน ส่วนปีกคู่หลังจะมีลักษณะบาง และสั้นกว่าปีกคู่หน้า
มวนลำไยเพศเมียมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศผู้ โดยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.7-3.0 เซนติเมตร ส่วนกว้างบริเวณอกประมาณ 1.4-1.6 เซนติเมตร ส่วนเพศผู้จะมีลำตัวยาวประมาณ 2.4-2.5เซนติเมตร ส่วนกว้างของบริเวณอกประมาณ 1.2-1.3 เซนติเมตร
อาหาร และการกินอาหาร
มวนลำไย เป็นแมลงที่กินอาหารโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงของพืช ทั้งในส่วนที่เป็นจากยอดอ่อน ช่อดอก และช่อผล โดยพืชอาหารจะเป็นไม้ยืนต้นเป็นหลักตามที่กล่าวข้างต้น
การผสมพันธุ์ และวางไข่ [1]
เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม มวนลำไยจะบินมารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งเป็นลักษณะการเลือกคู่ผสมพันธุ์ของแมลงจำพวกมวน โดยจะรวมกันอยู่บนต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งในละแวกที่มีมวนลำไยอาศัยอยู่ และเมื่อทำการจับคู่ และผสมพันธุ์กันแล้วประมาณ 2 วัน มวนลำไยเพศเมียก็จะเริ่มวางไข่บนบนต้นลำไยหรือต้นไม้ที่อาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนใบ ช่อดอก กิ่ง และเปลือกลำต้น หรือ อาจพบไปวางไข่บนหญ้าหรือกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้ต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อน แต่ส่วนมากจะวางไข่บนต้นไม้ที่เป็นแหล่งอาหารเป็นหลัก
ไข่ของมวนลำไยจะมีลักษณะกลมเล็ก ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยมวนลำไยเพศเมียจะวางไข่ในลักษณะเป็นกลุ่มเรียงยาวเป็นแถว แต่ละกลุ่มของแถวจะมีไข่ประมาณ 3-15 ฟอง แต่ส่วนมากพบมากกว่า 10 ฟอง
มวนลำไยจะเริ่มวางไข่หลังผสมพันธุ์ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน โดยพบการผสมพันธุ์ และวางไข่มากที่สุดในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ มวนลำไยเพศเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ในช่วง 98-297 ฟอง โดยมีระยะไข่ในช่วง 11-13 วัน ก่อนฟักเป็นตัวอ่อน
ไข่มวนลำไยหลังจากวางไข่ใหม่ๆจะมีสีเขียว จากนั้น จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาวนวล และค่อยเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้าสู่ระยะก่อนฟักเป็นตัว
ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่จะมีลำตัวทุกส่วนสีแดง แต่หลังจากประมาณ 1.5-2.0 ชั่วโมง บริเวณขอบด้านข้างลำตัวจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ และเปลี่ยนเป็นสีเทา โดยส่วนด้านในถัดจากแถบสีเทาจะมีสีแดงอยู่ แต่จะมีแถบสีขาวพาดตามยาวแทรกในพื้นสีแดงด้านหลังลำตัวจำนวน 3 แถบ
มวนลำไยในระยะตัวอ่อนจะมีการลอกคราบ 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เมื่อลอกคราบออก ตัวอ่อนจะมีสีแดงสดลักษณะคล้ายตัวเต็มวัย แต่สีจะสดกว่า และขนาดลำตัวเล็กกว่า ทั้งนี้ ในระยะตัวอ่อนจะใช้เวลาประมาณ 61-74 วัน โดยจะพบตัวอ่อนของมวนลำไยได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ -สิงหาคม
เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย ตัวเต็มวัยจะอาศัยดูดน้ำเลี้ยงจากยอดไม้เป็นอาหาร และหลบอาศัยตามส่วนต่างๆของต้นไม้นั้นหรือต้นไม้อื่นๆที่เป็นแหล่งอาหารได้ จนเข้าสู่ระยะสืบพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งวัฏจักรจะเป็นดังที่กล่าวมาตลอด
ประโยชน์มวนลำไย/แมงแคง
มวนลำไย หรือ แมงแคง เป็นแมลงที่มีกลิ่นหอม (แต่บางท่านอาจรู้สึกว่ามีกลิ่นฉุน) โดยเฉพาะเมื่อนำมาย่างไฟให้สุก จึงมีบางพื้นที่นิยมหาจับมวนลำไยมาประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ มวนลำไยคั่วเกลือ ป่นมวนลำไย/ป่นแมงแคง หรือ เรียกว่า น้ำพริกมวนลำไย รวมถึงใส่ในแกงต่างๆ อาทิ แกงหน่อไม้ แกงเห็ด เป็นต้น
ข้อเสียมวนลำไย/แมงแคง
มวนลำไย หรือ แมงแคง จัดเป็นแมลงศัตรูพืชชนิดหนึ่งของไม้ผลหลายชนิด อาทิ ลำไย และลิ้นจี่ และไม้ผลอื่นๆ ที่พบระบาดได้ตลอดทั้งปี โดยพบระบาดมากในช่วงที่ลำไย และลิ้นจี่ออกดอก และติดผล แต่จะพบระบาดมากใน 2 ระยะ คือ
– ระยะแรก ในระยะที่มวนลำไยมีอายุอยู่ข้ามฤดู คือตัวเต็มวัยที่มีอายุตั้งแต่ปลายปีจนข้ามปีมาถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
– ระยะที่ 2 คือ มวนลำไยตัวเต็มวัยรุ่นต่อมาร่วมกับรุ่นก่อนที่เข้าสู่ระยะผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม
ผลกระทบจากมวนลำไยที่สร้างความเสียหายต่อพืชผล คือ มวนลำไยในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยจะเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน จากช่อดอก และช่อผลของลำไยหรือลิ้นจี่ หรือ พืชชนิดอื่นๆ จนทำให้ยอดอ่อนหยิกงอ ยอดอ่อนเหี่ยว ยอดอ่อนไม่เติบโต ดอกร่วง และไม่ติดผล หรือ ติดผลน้อย ผลผลิตลด และไม่มีคุณภาพ สร้างความเสียหายแก่ชาวสวนในที่สุด
นอกจากนั้น มวนลำไยยังสามารถปล่อยของเหลว หรือ ไอของเหลวที่มีกลิ่นฉุน และมีพิษระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ซึ่งมวนลำไยจะปล่อยน้ำพิษออกมาเมื่อมีการถูกรบกวน เช่น การเขย่าลำต้น หรือ การจับลำตัวของมวนลำไย โดยบางรายที่มีอาการแพ้ง่ายจะทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังทันที บางรายน้ำตาไหล หรือ หายใจติดขัด นอกจากนั้น ของเหลวที่พ่นออกมายังทำให้เปลือกผลลำไยหรือผลไม้อื่นมีสีคล้ำได้
ศัตรูธรรมชาติ
ศัตรูในธรรมชาติของมวนลำไยมีหลายชนิด ได้แก่
– แตนเบียนไข่หลายชนิด เช่น Anastatus sp. Nr.japonicas และOoencyrtus phongi แตนเบียนไข่เหล่านี้จะเข้าทำลาย และกัดกินไข่ของมวนลำไยเป็นอาหาร
– เชื้อรา Paecilomyces lilacinus เข้าทำลายเนื้อเยื่อร่างกายในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของมวนลำไย
– มดแดง มดคันไฟ เข้ากัดกินตัวอ่อนของมวนลำไยเป็นอาหาร
วิธีป้องกันกำจัดมวนลำไย/แมงแคง
1. วิธีจับตัวเต็มวัยของมวนลำไย ตัวอ่อน และไข่ทั้งหมด ทำลายเสีย โดยสามารถที่จะเข้าหา และจับตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และไข่ได้ในช่วงก่อนฤดูผสมพันธุ์ เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม โดยในช่วงแรกจะเป็นการจับตัวเต็มวัยด้วยการเขย่าลำต้น และกิ่ง หลังจากนั้น ค่อยจับทำลายไข่ และตัวอ่อน ทั้งนี้ ในบางพื้นที่ตัวเต็มวัยของมวนลำไยนิยมนำมาประกอบอาหาร และนำมาขายช่วยสร้างรายได้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในภาคอีสานจะเป็นที่นิยมมาก
2. การตัดแต่งกิ่ง เพื่อไม่ให้ทรงพุ่มหนาทึบจะช่วยไม่ให้มวนลำไยทั้งในระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัยไม่มาหลบอาศัย อีกทั้ง ช่วยในการกำจัดตัวเต็มวัยหรือตัวอ่อนขณะตัดแต่งกิ่งได้ด้วย
3. การใช้แตนเบียนในการกำจัดไข่ และตัวอ่อน โดยเลี้ยงแตนแบนชนิดต่างๆไว้ในสวน
4. การใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น โดยเฉพาะในช่วงเดือนผสมพันธุ์ และวางไข่ โดยการสังเกตถึงกลุ่มมวนลำไยที่มาเกาะอาศัยรวมกลุ่มกัน ก่อนฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลง ได้แก่
– carbaryl (savin 85% WP) อัตราส่วนผสมที่ 45-60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
– lambdacyhalothrin (karate 2.5%EC) อัตราส่วนผสมที่ 10 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
ทั้งนี้ การพ่นยาฆ่าแมลง ควรเว้นในช่วงไม้ผลออกดอก เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร หรือ ช่วงที่มีการปล่อยแตนเบียนในไร่
สถานะการตลาด
พบมวนลำไย หรือ แมงแคง จำหน่ายในภาคอีสาน ซึ่งเรียกตามแหล่งป่าหรือต้นไม้ที่จับได้ อาทิ แมงแคงจิก แมงแคงกุง แมงแคงต้นค้อ ราคาจำหน่ายตัวละ 5 บาท
เอกสารอ้างอิง
[1] ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดเชียงใหม่. 2554. มวนลำไยศัตรูตัวร้ายของลำไยและลิ้นจี่.
ขอบคุณภาพจาก
– Pantip.com คุณตุ้ย-พงษ์พิษณุ