ฟ้าทะลายโจร สรรพคุณ และการปลูกฟ้าทะลายโจร

Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

ฟ้าทะลายโจร (Herba Andrographis) เป็นพืชล้มลุกที่มีรสขมจัด จนขึ้นชื่อว่าเป็นจ้าวแห่งความขม “King of the Bitterness” โดยเฉพาะส่วนใบที่นิยมนำมาทำเป็นยาสมุนไพร และตำรับยารักษาโรคหลายชนิด พืชชนิดนี้สามารถพบได้ทั่วไปในทุกภาค เติบโตได้ดีในทุกชนิดดิน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มที่ดินมีความชื้นมาก

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm. f .) Nees
• ชื่อพ้อง : Justica paniculata
• ชื่อสามัญ :
– Herba Andrographis
– Creat
– Creyat root
– Halviva
– Kariyat
– Green chirctta
– Krent
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ฟ้าทะลายโจร
– น้ำลายพังพอน
ภาคใต้
– ฟ้าสะท้าน (พัทลุง)
– หญ้ากันงู (สงขลา)
– เมฆทะลาย (ยะลา)
อีสาน
– สามสิบดี (ร้อยเอ็ด)
อื่นๆ
– เขยตายายคลุม (ราชบุรี)
– ฟ้าสาง (พนัสนิคม)
• ต่างประเทศ
– อินเดีย : Kalmegh
– จีน : Chaun Xin Lian
– มาเลเซีย : Hempudu Bumi

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ล้มลุกในตระกูลเดียวกับโหระพาหรือกระเพรา มีถิ่นกำเนิด แลพะพบแพร่กระจายในทวีปเอเซีย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ฟ้าทะลายโจรเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม ผิวลำต้นมีสีเขียวเข้ม ลำต้นตั้งตรง ต้นอ่อนตั้งตรง แตกกิ่งปานกลาง มีทรงพุ่มโปร่ง ต้นโตเต็มที่แตกกิ่งมาก มีทรงพุ่มค่อนข้างหนา

ฟ้าทะลายโจร

ใบ
ใบฟ้าทะลายโจร ออกเป็นใบเดี่ยว ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆบนกิ่ง มีก้านใบสั้นมากติดกิ่งหรือเกือบไม่มีก้านใบ ใบมีรูปหอกยาว โคนใบสอบแคบ ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ

ดอก
ดอกฟ้าทะลายโจร แทงออกเป็นช่อบริเวณซอกใบที่ปลายกิ่ง แต่ละกิ่งมีช่อดอก 4-12 ช่อ และออกด้านเดียวที่ซอกใบด้านใดด้านหนึ่ง แต่ละช่อดอก ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกย่อยออกเรียงกันเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ 6-12 ดอก
ดอกย่อยมีก้านช่อดอกยาว 1-5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยกลีบรองดอก 5 กลีบ สีเขียว และมีขนปกคลุม มีโคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบเรียวแหลม ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นกลีบดอก 4 กลีบ ประกอบด้วยกลีบดอกด้านบน 3 กลีบ แผ่นกลีบมีสีขาว และโคนกลีบด้านในมีสีม่วงประ ส่วนกลีบล่างมี 1 กลีบ ขนาดกลีบใหญ่กว่ากลีบด้านบน ขอบกลีบ และปลายกลีบงุ้มเข้าหากลางดอก แผ่นกลีบมีสีขาว มีสีม่วงประเป็นแถบยาวที่กลางกลีบ ถัดมาตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 2 อัน ก้านเกสรยาวโผล่เหนือกลีบดอก ก้านเกสรมีสีขาว และมีขนสีขาวปกคลุม อับเกสรมีสีม่วง ถัดมาเป็นเกสรตัวเมีย 1 อัน ก้านเกสรมีสีม่วง มีขนสั้นปกคลุม และสั้นกว่าก้านเกสรตัวผู้ ส่วนด้านล่างเป็นรังไข่ 1 อัน ทั้งนี้ ดอกจะทยอยบานจากโคนช่อไปปลายช่อ

ผล
ผลฟ้าทะลายโจรมีลักษณะเป็นฝัก ฝักมีรูปทรงกระบอก คล้ายฝักต้อยติ่ง ฝักอ่อนกลม ฝักแก่มีร่องแบ่งเป็นพู 2 พู โคนฝัก และปลายฝักแหลม ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และปริแตกตามร่องในแนวยาว เพื่อให้เมล็ดร่วงลงดิน ขนาดฝักประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ด้านในฝักจะมีเมล็ดทรงกลมขนาดเล็ก สีน้ำตาลอมดำ จำนวนมาก ซึ่งจะเรียงอยู่ในพู 2 พู

สารสำคัญที่พบ
สารสำคัญที่พบในใบ ก้าน ดอก เป็นสารประเภทแลคโตนที่มีฤทธิ์ลดไข้ (antipyretic) และฤทธิ์ต้านอักเสบ (anti-inflammation) ได้แก่
– andrographolide
– deoxyandrographolide
– neoandrographolide
– deoxy-didehydroandrographolide
– andrographiside
– deoxy oxo andrographolide
– dideoxy andrographolide
– deoxy methoxy andrographolide
– deoxyandrographiside

• สารในกลุ่มฟลาโวน (flavone)
– oroxylin
– andrographidine A
– wogonin

ไชโย ชัยชาญทิพยุทธ์ และคณะ ได้ศึกษานำใบ และก้านของฟ้าทะลายโจร 100 กรัม มาสกัดด้วยเอทานอล 95% พบสารที่สกัดได้เป็นสารในกลุ่มไดเทอร์ปีนแลคโตน (Diterpene lactone) 4 ชนิด คือ
– Androghapholide 1.7 กรัม
– 11,12-Didehydro-14-deoxyendroghapholide 0.9 กรัม
– Neoandroghapholide 0.1 กรัม
– Deoxyendroghapholide-19-β-D-glucoside 0.05 กรัม
– KH2PO4 3.8 กรัม

นันทวัน (2529) ได้รวบรวมสาระสำคัญที่พบในฟ้าทะลายโจรจากเอกสารหลายฉบับ แยกตามส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ราก
– andrographolide
– andrographin
– apigenin-4, 7- dimethylether
– apigenin-4, 7- di-o-methylether
– 5-Hydroxy-2, 3, 7, 8-tetramethy flavone
– 5-Hydroxy-7, 8-tetramethy flavone
– panicolin
– sitosterol
– mono-o methylwightin

2. ลำต้น
– andrographoside
– andrographiside
– dioxyandrographolide
– 3, 4-dioxyandrographolide
– 14-deoxyandrographolide
– andrographolide

3. ทั้งต้น
– andrographolide
– 11, 12-didehydro-14-deoxyandrographolide
– 14-deoxyandrographolide
– 14- deoxy-11-oxyandrographolide
– neo-andrographolide
– 2-cis-6-trans farnesol
– 2-trans-6-trans farnesol

4. ใบ
– paniculide A
– paniculide B
– paniculide C
– andrographolide
– neoandrographolide
– deoxyandrographolide-19-B-D-glucopyranoside
– deoxyandrographolide
– caffeic acid (3, 4- dihydroxy-cinnamicacid)
– chlorogenic acid
– 3, 5-dicaffeoyl-d-quinic acid
– Ninandrographolide

สารหลายชนิดซึ่งไม่ระบุว่าพบในส่วนใด ได้แก่
– 2, 5-dihydroxy-7, 8 dimethoxy flavone
– 5-hydroxy-7, 8- dimethoxy flavone
– 5-hydroxy-2, 7, 8- trimethoxy flavone
– dioxyandrographolide
– paniculide
– paniculide A
– paniculide B
– paniculide C
– andrographolide
– neoandrographolide
– andrographolide
– 14-deoxyandrographolide
– bisabolone
– diterpenoides
– farnesol
– kalmegin

ที่มา : (2), (3), (4) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณฟ้าทะลายโจร
ใบ และยอดอ่อน (ต้มน้ำดื่ม)
– ลดอาการไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
– ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานโรค
– ช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
– ช่วยลดอาการเจ็บคอ แก้ไอเรื้อรัง
– บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ
– แก้ต่อมทอนซิลอักสบ
– แก้ปอดอักเสบ
– แก้กระเพาะ และลำไส้เป็นแผลหรือมีอาการอักเสบ
– แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
– แก้มดลูกอักเสบ
– บรรเทาอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
– ลดความดันโลหิต
– รักษาในช่องแผลในปาก และลิ้น
– ลดอาการบวมของฝี
– รักษาคางทูม ช่วยลดอาการปวดบวม
– แก้อาการปวดริดสีดวง
– ป้องกันการติดเชื้อในระบบต่างๆ
– แก้ท้องร่วง ท้องเสีย
– รักษาการติดเชื้อในระบบปัสสาวะ
– แก้อาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด
– แก้โรคหนองใน
– ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน
– ช่วยบำรุงตับเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรักษาอาการติดเชื้อในตับ
– แก้โรคเริม และบรรเทาอาการแสบของแผล

ใบ และยอดอ่อน (ต้มน้ำอาบหรือบดทาภายนอก)
– รักษาแผลภายนอก แผลที่ผิวหนัง แผลเปื่อย
– แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
– ใช้ใบทาแก้งูสวัด
– ใบนำมาบดใช้ทาแผลจากแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการปวด

ที่มา : (1), (2)

งานศึกษาที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
• การศึกษาให้ฟ้าทะลายโจรแก่คนไข้ที่เป็นโรคหวัด พบว่า หลังจาก 4 วัน ที่ให้ฟ้าทะลายโจรแก่คนไข้ พบว่า อาการปวดเมื่อยร่างกาย และอาการเจ็บคอสามารถทุเลาลงได้ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้ฟ้าทะลายโจร
• การศึกษาฟ้าทะลายโจรต่อการบีบตัวของลำไส้ พบว่า สารในกลุ่ม diterpene lactone ออกฤทธิ์ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้ และกระเพาะอาหารได้
• พบสารสกัดสำคัญ 2 ชนิด ที่มีการออกฤทธิ์ต้านเชื้ออีโคไล ที่เป็นสาเหตุทำให้ท้องเสีย คือ
– andrographolide
– neoandrographolide
• สารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นสาเหตุโรคทริปทันต์ และเชื้อที่ทำให้เกิดกรดในช่องปากจนทำให้เกิดอาการฟันผุได้
• สารสกัดฟ้าทะลายโจรมีผลป้องกัน และบรรเทาอาการของโรคเบาหวานได้ ซึ่งจากการให้สารสกัดแก่หนูทดลอง พบว่า การให้สารสกัดขนาด 6.25 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวกิโลกรัม ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองลดลงได้มากกว่า 60%
• สาร andrographolide ที่พบในฟ้าทะลายโจร สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยบรรเทาอาการของโรคภูมิแพ้ได้

การใช้ประโยชน์
1. การนำฟ้าทะลายโจรมาใช้ประโยชน์ในทางสมุนไพรสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ ดอก ลำต้น และราก ซึ่งทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสชาติขมจัด โดยเฉพาะส่วนใบ จึงนิยมใบมาใช้เป็นสมุนไพรรวมถึงในส่วนลำต้น โดยการตากแห้ง และนำมาบดอัดใส่แคปซูลรับประทาน หรือการใช้ใบแห้งมาต้มน้ำดื่มก็ได้ นอกจากนั้นสามารถนำมาดองเหล้าดื่มก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง

ฟ้าทะลายโจรแห้ง

2. นำใบหรือลำต้นตากให้แห้ง และบดผสมกับอาหารสัตว์สำหรับเลี้ยงไก่ สุกร

ประเทศไทยมีการใช้ฟ้าทะลายโจรในด้านยาสมุนไพรมากในทั้งต้น และเฉพาะส่วนใบ การเก็บมาใช้จะเก็บก่อนที่ต้นจะออกดอก มีวิธีการใช้ในหลายรูปแบบ ได้แก่
– ยาต้ม
– ยาดองเหล้า
– ยาลูกกลอน
– ผงฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูล

ตำรายากลางบ้าน กล่าวถึงตำรับยาแก้ฝีหนอง โดยใช้ใบสดค่อนข้างแก่ ประมาณ 1 กำมือ นำมาขยำหรือตำบดกับเกลือ 3 เม็ด ก่อนนำสุราครึ่งถ้วยชา น้ำครึ่งช้อนชา เทรวมผสม แล้วคนให้เข้ากัน ก่อนนำมาดื่ม ส่วน กากที่เหลือนำมาใช้พอกรักษาฝี ด้วยการพอกทับ แล้วใช้ผ้าสะอาดพันไว้

ปัจจุบันมีการผลิตเป็นยาสมุนไพรจากฟ้าทะลายโจร ด้วยการบรรจุผงใบฟ้าทะลายโจรใส่ในแคปซูล ขนาด 250 มิลลิกรัม ซึ่งทำให้รับประทานได้ง่าย ไม่ต้องทนต่อความขม ได้แก่ โรงงานเภสัชกรรมทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร มีสรรพคุณหลายประการ อาทิ
– ช่วยในการขับเสมหะ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
– ใช้บรรเทาอาการไข้ รักษาโรคบิด แก้อาการท้องเสีย ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อ Staphylococcus
– เป็นยาบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการเจ็บคอ แก้ฝี ลดอาการปวดฝี แก้แผลบวม แผลฟกช้ำ แก้อาการอักเสบ แก้งูสวัด และเริม เป็นต้น

รายงานทางคลินิก พบว่า ฟ้าทะลายโจรออกฤทธิ์ทางยาในหลายด้าน อาทิ
– การต่อต้านการอักเสบ
– ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (antibacterial)
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
– กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวในการกำจัดเชื้อโรค
– ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
– ยับยั้งเชื้อไวรัส
– ยับยั้ง และทำลายเซลมะเร็ง
– กระตุ้นการย่อยอาหารให้ดีขึ้น
– บรรเทาอาการไข้หวัด
– กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อ

เพิ่มเติมจาก (6)

ตำรับยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในต่างประเทศ
ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ถูกบรรจุไว้ในตำรับยาของประเทศต่างๆ อาทิ ไทย, ลาว, พม่า, จีน, อินเดีย สำหรับทางการแพทย์สมุนไพรจีนนิยมใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับออกฤทธิ์ต่อการรักษาอาการเจ็บป่วยในระบบลำไส้, ปอด, กระเพาะอาหาร, ตับ, ถุงน้ำดี รวมถึงนำมาใช้สำหรับรักษาโรคหลายชนิด เช่น อาการไข้หวัด, โรคตับอักเสบ, โรคในระบบทางเดินหายใจ, ถอนพิษจากงูกัด, ผื่นคัน, อาการภูมิแพ้

ชาวอินเดีย และจีน นำฟ้าทะลายโจรมาเป็นยาสมุนไพรตั้งแต่โบราณ โดยอินเดียใช้ฟ้าทะลายโจรผสมเป็นยากว่า 26 สูตร เพื่อช่วยเจริญอาหาร แก้อาการท้องเสีย ช่วยบรรเทาอาการไข้ และช่วยขับพยาธิ

การแพทย์แผนจีนจัดฟ้าทะลายโจรไว้ในตำรับยาหลวง และปรากฏเป็นสูตรในตำรับยาชื่อ ชวนซินเหลียน ด้วยการใช้ลำต้นแห้ง (ไม่มีราก) ที่เก็บเมื่อใบเริ่มร่วง ก่อนนำมาล้างทำความสะอาด จากนั้น นำมาหั่น แล้วเกลี่ยตากแดดให้แห้ง ซึ่งกำหนดปริมาณการใช้ไม่ต่ำกว่า 30% ของส่วนผสม ตัวอย่างยาเม็ดที่มีส่วนผสมของฟ้าทะลายโจรของจีน ได้แก่
– Kang Yan Tablets
– Chuanxinlian Tablets
– Chuanxinlian Antiphologistic Pill

ส่วนยาฉีดที่มีสว่นผสมของฟ้าทะลายได้แก่
– Yamdepieng
– Chuanxinlian Ruangas Injection

ตัวยาหรือสารสำคัญที่นิยมใช้ในตำรับยา คือ andrographolide ในขนาดรับประทาน 33-130 มิลลิกรัม/วัน (ผู้ใหญ่) สำหรับการแพทย์แผนไทย มีข้อกำหนดข้อบ่งใช้ในตำรายาต่างๆ คือ การรักษาอาการไข้ อาการเจ็บคอ ช่วยลดอาการเป็นหวัด แก้โรคท้องเสีย รวมถึงใช้สำหรับการรักษาโรคอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน และโรคการติดเชื้อ
สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ
– deoxyandrographolide
– andrographolide
– deoxyandrographolide
– neoandrographolide

ที่มา : (2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ และ (5)

ข้อแนะนำในการใช้
1. คนที่มีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร ควรหลีกเลี่ยงการใช้
2. อากรแพ้ฟ้าทะลายโจรมักพบการเกิดผื่นแดงหรือผื่นคัน ดังนั้น หากมีอาการแพ้ ต้องรีบหยุดรับประทานทันที
3. การรับประทานในปริมาณมาก และต่อเนื่องหลายเดือน อาจเกิดอาการชา และอ่อนแรงตามมือ และเท้า
4. หญิงตั้งครรภ์ ห้ามรับประทาน เนื่องจาก มีสารหลายชนิดที่ทำให้เกิดอาการแท้งได้

ขนาด และวิธีใช้
1. อาการท้องเสีย และติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร รับประทานครั้งละ 0.5 – 2 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร
2. อาการเจ็บคอ กลืนน้ำลายลำบาก รับประทานครั้งละ 1 – 3 กรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หากมีอาการเจ็บคออาจต้มน้ำร้อนดื่ม
3. อาการไข้หวัด ไข้มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดเมื่อยร่างกาย รับประทานครั้งละ 1 – 2 แคปซูล หรือนำใบ 1 กำมาต้มน้ำดื่ม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกัน 3-5 วัน ไม่ควรนานกว่านี้
4. การใช้เพื่อรักษาหรือบรรเทาโรคอื่น รวมถึงเพื่อบำรุงร่างกาย ควรต้มน้ำดื่มหรือรับประทาน 1-3 กรัม เช่นกัน หลังอาหาร 1-7 วัน และควรเว้นระยะการกิน 3-4 วัน เพื่อลดผลที่อาจเกิดจากการสะสมของสารหรือได้รับสารในปริมาณมากในร่างกาย

ปัญหาของรสขม และวิธีแก้
การศึกษาความขมของฟ้าทะลายโจรด้วยการชิมเปรียบเทียบกับสารมาตรฐานควินินไฮโดรคลอไรด์ พบว่า มีค่าความขม 1,042 หน่วย/กรัม ซึ่งมากกว่าชิงช้าชาลี (563 หน่วย/กรัม) และบอระเพ็ด (335 หน่วย/กรัม)

ที่มา : (2)

ฟ้าทะลายโจรจัดเป็นพืชที่มีรสขมมากเหมือนบอระเพ็ด สำหรับอินเดียมีชื่อเรียกฟ้าทะลายโจรว่า Kelmegh แปลว่า ราชาแห่งความขม รสขมนี้มีผลมาจากสารที่พบมากได้แก่
– andrographolide
– neoandrographolide
– deoxyandrographolide
– 12-didehydroandrographolide
– andrographolide (C20H30O5)

สาร andrographolide เป็นสารที่ให้รสขมมาก เป็นสารไม่มีสี สามารถตกผลึกได้ ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงรสขมในการรับประทาน ที่นิยมปัจจุบันได้แก่ การเตรียมเป็นยาแคปซูลหรือยาเม็ดเคลือบ

ทั้งนี้ การรับประทานฟ้าทะลายโจรให้ได้รับรสขมถือเป็นประโยชน์อีกด้านหนึ่ง คือ รสขมมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งน้ำลายในลำคอ ทำให้ต่อมน้ำลายขับน้ำลายออกมามาก มีความชุ่มคอ

การปลูกฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรเป็นพืชล้มลุกนานหลายปี สามารถพบเห็นได้ตามพื้นที่ทั่วไป เป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ชอบดินร่วน ดินมีความชื้น สามารถเติบโตในพื้นที่ที่มีวัชพืชขึ้นหนาได้ดี พบมากทั้งในที่โล่งแจ้งหรือแสงแดดรำไร

นิยมขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด เมล็ดที่ใช้ควรเป็นเมล็ดแก่ที่มีลักษณะสีดำ โดยการหว่านในแปลงดินหรือพื้นที่ว่างทั่วไป รวมถึงการหยอดเมล็ดในกระถาง เมล็ดจะงอกภายใน 1-2 อาทิตย์

ฟ้าทะลายโจรหลังเมล็ดงอกแล้วไม่ต้องการการดูแลมากเหมือนพืชทั่วไป เนื่องจากไม่มีโรคหรือแมลงคอยทำลายมากนัก เพียงคอยกำจัดวัชพืชรอบลำต้นก็สามารถเติบโตได้ดี และไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด แต่ควรคอยให้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และพรวนดินให้ร่วนซุยสม่ำเสมอ

การเก็บใบมาใช้ประโยชน์สามารถเริ่มเก็บได้ในระยะที่โตเต็มที่ ใบมีลักษณะสีเขียวเข้มจนถึงระยะออกดอก หรือประมาณ 110-150 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสะสมสารอาหารเต็มที่

เอกสารอ้างอิง
(1) อุไรศรี ยิ้มปรางค์. 2532. การรักษาโรคระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ-
จากการติดเชื้อโดยใช้ฟ้าทะลายโจรเปรียบเทียบกับ-
ยาแผนปัจจุบันโคตรัยมอกซาโซล. มหาวิทยาลัยมหิดล.
(2) ศุภรัตน์ เนินปลอด. 2556. การอบฟ้าทะลายโจรด้วยลมร้อน-
ร่วมกับรังสีอินฟาเรดไกลและสนามไฟฟ้าแรงดันสูง. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.
(3) กิตติมา วานิชกูล. 2553. บทบาทของสารสกัดขมิ้นชัน (Curcuma longa Linn.) –
และฟ้าทะลายโจร(Andrographis paniculata Wall. Ex Nees) –
ต่อภูมิคุ้มกันของสัตว์น้ำ และฤทธิ์ในการควบคุม –
เชื้อแบคทีเรียก่อโรค. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(4) นันทวัน บุณยะประภัศร. 2529. ก้าวไปกับสมุนไพร.
ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล.
(5) พเยาว์ เหมือนวงศ์ญาติ. 2529. ตำราวิทยาศาสตร์สมุนไพร.
(6) กิตติศักดิ์ พงศ์พิสิฐสันต์. 2549.การสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร-
ฟ้าทะลายโจรด้วยเอทิลแอลกอฮอล์. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.