พลู ใบพลู ประโยชน์ และสรรพคุณพลู

Last Updated on 14 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

พลู (Betel Piper) เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณที่รู้จักกันในคำพูด พลูกับหมาก ที่นิยมใช้ส่วนใบที่มีรสเผ็ดร้อนมาเคี้ยวกับปูนขาวหรือปูนแดง ร่วมกับหมาก และใบยาสูบ สำหรับรักษาฟัน และบำรุงเหงือก จึงมักพบว่า คนเคี้ยวหมากมักมีฟันแข็งแรง แม้อายุถึงวัยชรา

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper betle Linn.
ชื่อวงศ์ : Piperaceae
ชื่อสามัญ : Betel Piper
ชื่อท้องถิ่น :
– พลู
– พลูจีน
– เปล้าอ้วน ซีเก๊าะ (ใต้)
– ซีเก๊ะ
– ซีเก
– เปล้ายวน
– ปู
– ดื่อเจี่ย

พลู มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย มีหลายชนิด คือ พลูจีน พลูเหลือง พลูเขียว และพลูทองหลาง สำหรับประเทศไทยมีแหล่งปลูกพลูที่ปลูกมากในแถบจังหวัดภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักปลูกเพื่อการบริโภคในท้องถิ่น และปลูกเพื่อการค้า และส่งออกต่างประเทศในบางส่วน (ส่งไปยังอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง)

พลู

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
รากพลู
รากใต้ดินของพลู เป็นระบบรากฝอย (ต้นจากการปักชำ) โดยพลูประกอบด้วยราก 2 ชนิด คือ รากหาอาหาร และรากยึดเกาะ โดยรากยึดเกาะบางครั้งเรียกว่า รากตุ๊กแก แตกออกตามข้อของลำต้นเพื่อยึดเกาะวัสดุสำหรับช่วยพยุงลำต้นเลื้อยขึ้นที่สูงได้ และทำให้ลำต้นไม่หลุดร่วงลงสู่พื้นได้ง่าย ส่วนรากใต้ดินประกอบด้วยรากขนาดใหญ่ และรากแขนงที่แตกออกเป็นวงกว้างตามขนาดทรงพุ่ม

ลำต้น
พลูเป็นไม้เลื้อย ลำต้นเป็นปล้อง และมีข้อ ขนาดลำต้น 2.5-5 ซม. ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ และมีร่องเล็กๆสีน้ำตาลอมแดงตามแนวยาวของลำต้น สันร่องมีสีเขียว โดยลำต้นส่วนปลายจะมีสีเขียว ส่วนลำต้นส่วนต้นจะมีสีเขียวอมเทา

ต้นพลู

ใบพลู
ใบพลู เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีรูปไข่หรือรูปวงกลมแกมรูปไข่ ใบกว้าง 4-10 ซม. ยาว 5-18 ซม. ผิวใบเรียบ ผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้มมากกว่าด้านล่าง ใบเป็นร่องบุ๋มด้านใบ มีเส้นใบประมาณ 5-7 เส้น โคนใบมีลักษณะกลมเบี้ยวหรือมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม มีเส้นใบนูนเด่น ใบอ่อนมีสีเหลืองอ่อน และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมัน และมีกลิ่นฉุน ใบด้านล่างมักมีขนาดใหญ่กว่าใบด้านบน

ดอก
ดอกพลู มีสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อ มีช่อดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละต้น ประกอบด้วยช่อดอกตัวเมีย และดอกตัวผู้ มีใบประดับดอกขนาดเล็กรูปวงกลม ช่อดอกตัวผู้ยาว 2-12 ซม. ก้านช่อดอกยาว 1.5-3 ซม. ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ 2 อัน มีขนาดสั้นมาก ส่วนช่อดอกตัวเมียมีความยาวเท่ากับช่อดอกตัวผู้ แต่มีก้านช่อดอกยาวกว่า ดอกมักบานไม่พร้อมกัน จึงทำให้ไม่ค่อยพบเห็นผลของพลู เพราะมีโอกาสผสมเกสรน้อย

ผล และเมล็ด
ผลของพลูมีลักษณะอัดแน่นที่เกิดจากดอกในช่อดอก ผลของพลูมีลักษณะค่อนข้างนุ่ม ด้านในประกอบด้วย 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม ขนาดยาวประมาณ 2.25-2.6 มม. กว้างประมาณ 2 มม.

ประโยชน์ของพลู และใบพลู
– ใช้รับประทานกับหมาก และปูนแดง สำหรับเคี้ยวให้ฟันแข็งแรง
– น้ำมันหอมระเหยจากใบพลู ใช้สำหรับปรับอากาศ ช่วยดับกลิ่นเหม็นคาว กลิ่นเหม็นอับ
– ใช้เป็นสารสกัดสมุนไพรสำหรับกำจัด และป้องกันแมลงศัตรูพืช

พลูกับหมาก

สารสำคัญที่พบ
– Fluoride
– tectrochrysin
– adunctin A
– yangonin
– fargesin
– pluviatilol
– sesamin

น้ำมันหอมระเหย/น้ำมันพลู
– eugenol
– chavicol
– chavibitol
– β-situsterol
– P-cymene
– cincole
– eugenol methyl ether
– caryophyllene
– cadinene

รวบรวมจาก : ลัดดาวัลย์ (2527)(2), ปิยะวดี (2550)(4)

สรรพคุณของพลู
รากพลู
– แก้วิงเวียนศรีษะ
– แก้เจ็บคอ และช่วยขับเสมหะ
– แก้โรคหอบหืด และโรคหลอดลมอักเสบ
– แก้อาการท้องเสีย
– ช่วยลดไข้
– ช่วยรักษาโรคริดสีดวง

ลำต้นพลู
– ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ

ใบพลู
– ช่วยกระตุ้นน้ำลาย
– ช่วยแก้ไอ
– ช่วยขับเสมหะ
– ช่วยขับเหงื่อ
– รักษาอาหารปวดท้อง
– แก้เลือดกำเดา
– แก้ลมพิษ และอาการผื่นคัน
– ฆ่าพยาธิ
– รักษาแผล และฆ่าเชื้อโรค
– ลดอาการอักเสบ อาหารบวมซ้ำ
– ช่วยเสริมสร้าง และบำรุงรักษาฟันให้แข็งแรง เนื่องจากมีสารฟลูออไรด์สูง

ดอกพลู
– ใช้บำรุงธาตุ แก้ธาตุพิการ
– ช่วยเจริญอาหาร

รวบรวมจาก : ปิยะวดี เจริญวัฒนะ (2550)(4)

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรมของใบพลู
1. ฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวเซลล์ (Antimitotic activity)
สารสกัดจากใบพลูมีผลต้านการแบ่งเซลล์ที่ปลายรากหอม ทำให้โคโมโซมผิดปกติ  นิวเคลียสมีขนาดใหญ่ขึ้น และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของไซโตพลาสซึม

2. ฤทธิ์คุมกำเนิด (Antifertility activity)
สมุนไพรผสมระหว่าง ผงสกัดแห้งของพลู 4.5 กรัม, ผงสกัดแห้งของ Embelia ribes Piper longum และAbrus precatorrius, borax 11.25 กรัม Asefoetida 4.05 กรัม และน้ำมัน Polianthes tuberosa 2,025 ซีซี เมื่อรับประทาน ครั้งละ 1 ส่วน ในจำนวนทั้งหมด 40 ส่วน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 20 วัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 ของการมีประจำเดือน และไม่การเพศสัมพันธุ์  พบว่า ยาสมุนไพรผสมออกฤทธิ์การคุมกำเนิดได้นาน 4 เดือน แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าฤทธิ์การคุมกำเนิดเ้กิดจากผงสกัดแห้งของพลู

3. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial activity)
สารสกัดจากใบพลูด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ และอัลกอฮอล์ ออกฤทธิ์ยับยั้งการแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของวัณโรค โดยมีขนาดความเข้มข้นต่ำสุดทีออกฤทธิ์ที่ 1:5,000 ส่วนความเข้มข้นต่ำสุดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของหนองในที่ 1:600 และเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากที่ 1:400 (ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร, 2523)(3)

คุณสมบัติของน้ำมันพลู
– มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคการเป็นหนองที่แผลหรือฝี และมีคุณสมบัติลดอาการบวม และการอักเสบของแผล
– ใช้รักษาอาการอักเสบของเยื่อจมูก และคอ
– ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อวัณโรค
– ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่เป็นสาเหตุของกลากเกลื้อน  และฮ่องกงฟุต
– ช่วยลดอาการเกร็งของลำไส้ ช่วยรักษาอาการปวดท้อง และท้องเสีย
– ออกฤทธิ์เป็นยากระตุ้นการทำงานของสมองอ่อนๆ ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แจ่มใส

ที่มา : บุษบาวดี (2540)(1)

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรมของน้ำมันหอมระเหยจากพลู
1. ฤทธิ์ลดความดันโลหิต (Hypotensive activity)
สุนัขที่ได้รับน้ำมันหอมระเหยของใบพลูทางหลอดเลือดดำ ขนาด 15 มก. พบว่า ทำให้ความดันโลหิตลดลงชั่วขณะหนึ่ง และการให้น้ำมันหอมระเหยใบพลูแก่สุนัขที่ได้รับการตัดเส้นประสาทเวกัสมาแล้ว ในขนาด 50 มก. พบว่า สุนัขมีความดันโลหิตลดลงอย่างถาวร  เนื่องจากสารออกฤทธิ์กดการทำงานของหัวใจ ทำให้อัตราการเต้น และแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง

2. ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ (Skeletal muscle activity)
น้ำมันหอมระเหยจากใบพลู ขนาด 2.5 มก./ล. มีผลต่อการคลายกล้ามเนื้อ rectus abdo minis ของกบได้

3. ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อลาย (Antis pasmodic activity)
น้ำมันหอมระเหยของใบพลู ขนาด 12.5 มก./ล. สามารถลดการบีบตัวของลำไส้หนูขาวได้ ส่วนขนาด 100 มก./ล. สามารถทำให้มดลูกของหนูขาวคลายตัวได้

4. ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ (Anthelmintic activity)
น้ำมันหอมระเหยของใบพลู ขนาด 1 กรัม/ลิตร มีผลสามารถฆ่าพยาธิไส้เดือนได้

ลักษณะการใช้
– ใช้ใบพลู 1-2 ใบ ตำผสมเหล้าหรือบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ ใช้ทาบริเวณผื่นคันหรือเกิดลมพิษ
– ใช้ใบพลู 2-3 ใบ บดให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการปวด อาการบวมแดง
– ใช้ใบพลู 2-3 ใบ บดให้ละเอียดผสมกับดินสอพอง ใช้ทาบริเวณที่เกิดโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน
– ใช้ใบพลูบดให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณแผลสด แผลเปื่อย แผลเป็นหนอง
– ใช้ใบพลู 1-2 ใบ มามวนคล้ายบุหรี่ แล้วขยี้ปลายข้างหนึ่งให้ซ้ำ ก่อนสอดเข้ารูจมูกที่มีเลือดกำเดาออก ทิ้งไว้สักพักเลือดกำเดาก็จะหาย
– ใช้ใบพลู 3-5 ใบ ตำหรือบดให้ละเอียด และผสมน้ำเล็กน้อย กรองเอาแต่น้ำสำหรับดื่มแก้อาการไอ อาการเจ็บคอ และมีเสมหะ

ความเป็นพิษ
การทดสอบความเป็นพิษด้วยการให้สารสกัดจากพลูแก่หนูถีบจักร พบว่า ปริมาณที่ทำให้หนูตายตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดอยู่ที่ 3.22 กรัม/กิโลกรัมหนู ส่วนความเข้มข้นที่ต่ำกว่า 2 กรัม/กิโลกรัมหนู จะทำให้หนูมีอาการซึม และหลับ แต่ไม่มีผลต่อการหายใจ และสามารถกลับมาเป็นปกติได้ ส่วนความเข้มข้นตั้งแต่ 2.5 กรัม/กิโลกรัมหนู ขึ้นไปหนูจะมีอาการซึม และหลับมากขึ้น และมีอาการอ่อนเพลีย มีอาการซึม และตายจากการหายใจไม่ออก  (บุษบาวดี, 2540)(1)

การปลูก และขยายพันธุ์
พลูสามารถปลูก และขยายพันธุ์ใหม่ด้วยการปักชำกิ่ง โดยใช้กิ่งหรือลำต้นที่มีข้อประมาณ 3-5 ข้อ ปักชำในแปลงปักชำหรือถุงปักชำ เมื่อกิ่งปักชำติดแล้วค่อยย้ายลงปลูกในแปลงปลูก

การเก็บใบพลู

การเก็บใบพลู ควรเก็บตอนสาย เพราะเป็นช่วงที่ใบมีการสังเคราะห์แสงสมบูรณ์ โดยเลือกเก็บเฉพาะใบในส่วนล่างถึงช่วงกลางของลำต้นที่มีสีเขียวเข้ม ไม่ควรเก็บใบอ่อนบริเวณยอดหรือเก็บใบแก่ที่เหลืองแล้ว เพราะใบเหล่านี้จะมีสารเคมี หรือน้ำมันหอมระเหยน้อย

เอกสารอ้างอิง
1. บุษบาวดี พุทธานุ, 2540. สารต้านเชื้อราและฆ่าลูกน้ำยุงจากใบพลู.
2. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ, 2527. การทำยารักษาโรคผิวหนังจากสารสกัดใบพลู.
3. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, 2523. ก้าวไปกับสมุนไพร เล่ม 2. ธรรมกมลการพิมพ์.
4. ปิยะวดี เจริญวัฒนะ, 2550. การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพจากสารสกัดจากสะค้านและพลูในการยับยั้งการเจริญของเชื้อราบางชนิด.