Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
ผักชีลาว (Dill) เป็นผักพื้นบ้านในตะกูลเดียวกันกับผักชีที่นิยมรับประทานมากของชาวอีสาน และประเทศเพื่อนบ้านในฝั่งลาว จนเป็นที่มาของชื่อ โดยนิยมนำมาประกอบอาหารจำพวกแกง และห่อหมกเป็นหลัก เช่น แกงอ่อม แกงปลา ห่อหมกปลา เป็นต้น รวมถึง นิยมใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารจำพวกลาบ และยำ เช่น ลาบเนื้อ ลาบหมู ซุบหน่อไม้ เป็นต้น
เนื่องจากผักชีลาวมีกลิ่นหอมแรง และมีกลิ่นเฉพาะตัว จึงยังเป็นที่นิยมของคนในบางพื้นที่เท่านั้น โดยเฉพาะคนอีสาน และคนภาคเหนือในบางแห่ง ส่วนภาคอื่นๆ ความนิยมยังมีน้อย เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกับกลิ่น และบางคนไม่ชอบผักที่มีกลิ่นฉุนมาก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anethumgraveolens Linn.
วงศ์ : Umbelliferae
ชื่อสามัญ : Dill
ชื่อท้องถิ่น : ผักชีลาว, ผักชี, เทียนข้าวเปลือก, เทียนตาตั๊กแตน, ผักชีตั๊กแตน, ผักชีเทียน, ผักชีเมือง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
รากผักชีลาว ประกอบด้วยรากแก้วที่มีขนาดสั้น และรากแขนงแตกออกจากรากแก้ว มีความยาวรากประมาณ 10-20 ซม.รากแทงลงในแนวดิ่ง
ลำต้น
ผักชีลาวเป็นพืชล้มลุก มีอายุไม่ถึงปี มีลำต้นสูงประมาณ 40-120 ซม. ลำต้นกลม ลำต้นมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-10 มล. หรือประมาณไม้เสียบลูกชิ้นถึงเท่าแท่งดินสอ ลำต้นแตกกิ่งตั้งแต่โคนต้น ลำต้นมีสีเขียวเข้ม เนื้อลำต้นมีลักษณะอ่อน หักพับง่าย
ใบ
ใบผักชีลาว เป็นใบประกอบ ออกตรงข้ามกันบริเวณข้อกิ่ง มีก้านใบยาว 10-20 ซม. บนก้านใบประกอบด้วยใบย่อยจำนวนมาก แต่ละใบย่อยมีก้านใบยาวประมาณ 4-6 ซม. แตกออกตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ส่วนของใบมีลักษณะเป็นเส้นแบนขนาดเล็ก มีสีเขียว ยาวประมาณ 0.5-2 ซม.
ดอก
ดอกผักชีลาว ออกเป็นช่อหลายช่อในก้านดอก แทงออกบริเวณส่วนยอดของลำต้น มีก้านช่อดอกยาว 5-15 ซม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมาก ดอกประกอบด้วยกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 5 อัน บริเวณฐานดอก ภายในมีรังไข่ 2 ห้อง
เมล็ด
ผล 1 ผล เจริญมาจากดอก 1 ดอก เมล็ดมีรูปไข่ทรงรี ขนาดกว้างประมาณ 2 มล. ยาวประมาณ 4 มล. เมล็ดแห้งที่แก่จัดมีลักษณะแบน และมีลายสีน้ำตาลสลับดำอมเท่าพาดตามแนวยาวของเมล็ด ลายนี้ทำให้มองเห็นเมล็ดดูคล้ายตาตั๊กแตน จึงเป็นที่มาของบางชื่อในบางท้องถิ่น
ขอบคุณภาพจาก thai.alibaba.com
ประโยชน์ผักชีลาว
– ผักชีลาวนิยมนำลำต้น และใบมาประกอบอาหารหลายชนิด เช่น แกงอ่อม
– ลำต้น และใบ ใช้เป็นผักรับประทานสดคู่กับน้ำพริกหรือลาบ
– ผักชีลาวมีกลิ่นฉุนแรง ใช้ปลูกสำหรับไล่ และป้องกันแมลงร่วมกับผักชนิดอื่น
– เมล็ดผักชีลาวใช้นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย สำหรับประกอบอาหารหรือใช้ในด้านความสวยความงาม และสุขภาพภายนอกร่างกาย
สารสำคัญที่พบ
น้ำมันหอมระเหยในลำต้น ใบ และเมล็ด
• Carvone พบมาในเมล็ดถึง 35-60%
• d-limonene พบมากในลำต้น และใบ
• α-phellandrene พบมากในลำต้น และใบ และพบมากกว่า d-limonene
ดอก
• carotene
สรรพคุณผักชีลาว
• ลำต้น และใบอ่อน ประกอบด้วยสารคลอโรฟิลล์
– ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย
– ช่วยบรรเทาอาการไอ มีเสมหะ
– ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง
– ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย
– บำรุงตับ ป้องกันตับเสื่อมสภาพ
– ช่วยป้องกันแผลอักเสบ และระงับเชื้อ
– ช่วยป้องกันโรคมะเร็งในกระเพราะอาหาร และลำไส้ รวมถึงโรคมะเร็งอื่นๆ
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ
– ช่วยป้องกันโรคริดสีดวงทวารหนัก
– ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวพรรณแลดูสดใส
• ดอกตูม ที่มีสารแคโรทีน (carotene)
– ช่วยบำรุงสายตา ทำให้มองเห็นได้ดีในเวลากลางคืนหรือที่มืด
– ช่วยป้องกันโรคต้อกระจก ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ภายในดวงตา
– ช่วยป้องกันผิวจากแสงอาทิตย์ ลดการเกิดฟ้า และริ้วรอย
– ช่วยรักษาเยื่อบุในร่างกาย เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก ระบบทางเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ
– กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
– ช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการโรคภูมิแพ้
– ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
– ช่วยป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
การปลูกผักชีลาว
การเตรียมแปลง และวิธีปลูก
สำหรับการปลูกเพื่อรับประทานเองมักเตรียมแปลงขนาดเล็ก กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสม ด้วยการพรวนดิน และยกร่องแปลงให้สูงเล็กน้อย หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ตารางเมตร และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย อัตรา 1 กำมือ/ตารางเมตร แล้วค่อยพรวนดินให้เข้ากัน ก่อนโรยเมล็ดผักชีลาว อัตรา 2 กำมือ/ตารางเมตร แล้วคลุมด้วยฟางบางๆหรือไม่คลุม แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
สำหรับการปลูกในแปลงเพื่อนำไปจำหน่ายจะแตกต่างจากการปลูกเพื่อรับประทานเองที่มีจำนวนแปลงมากกว่าเท่านั้น แต่โดยขั้นตอน และวิธีการจะเหมือนกัน และหลังจากปลูกมักจะดูแลพิถีพิถันกว่า ด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่ม
สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีในระยะหลังการปลูก ไม่ควรใส่ในขณะต้นผักชียังเล็ก ควรใส่เมื่อต้นผักชีสูงได้ประมาณ 10-15 ซม. แล้ว แต่หากใส่ในระยะที่ยังเล็กให้ใส่ด้วยการละลายน้ำรดที่แปลงแทน เพราะหากใส่ด้วยการหว่านเมล็ดปุ๋ยโดยตรงในขณะที่ต้นยังเล็กมักจะทำให้ต้นผักชีเหลืองตายได้
การเก็บผลผลิต
ลำต้น และใบของผักชีลาวสามารถเริ่มเก็บมาประกอบอาหารได้ตั้งแต่ประมาณ 10 วัน หลังปลูก จนถึงระยะเริ่มแทงดอก หากถึงระยะที่ดอกบานแล้วจะไม่นิยมนำมาประกอบอาหาร เพราะใบ และลำต้นจะเหนียว และกลิ่นไม่ค่อยหอม จึงนิยมปล่อยเพื่อเก็บเมล็ดไว้เพาะในปีถัดไป
การเก็บเมล็ดจะเก็บได้ประมาณ 50-70 วัน หลังจากดอกบาน หากเก็บก่อนนี้เมล็ดจะมีความชื้นสูง และเปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ แต่หากปล่อยไว้เกิน 70 วัน เมล็ดจะร่วงง่าย โดยระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บจะพบลำต้นมีสีเหลืองถึงน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีลักษณะแห้ง มีสีน้ำตาลเข้ม
เอกสารอ้างอิง
1. ชยัต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาศ ชวลิต และวิเชียร จีรวงศ์, 2548. คำอธิบายตำราโอสถพระนารายณ์.