ผักก้านจอง (ตาลปัตรฤาษี) ผักพายเล็ก และสรรพคุณ

Last Updated on 5 ตุลาคม 2016 by puechkaset

ผักก้านจอง/ตาลปัตรฤาษี และผักพายเล็ก จัดเป็นพืชน้ำชนิดขึ้นริมน้ำ และเป็นผักสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นิยมรับประทานลำต้น และใบ ทั้งรับประทานสด และลวกจิ้มน้ำพริก เนื่องจากมีความกรอบ และให้รสหวาน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ผักทั้ง 2 ชนิด กำลังเป็นที่นิยมของคนทุกภาค และในบางพื้นที่มีการเพาะปลูกเพื่อส่งจำหน่ายสร้างรายได้งามทีเดียว

คำเรียก ผักพาย นั้น เป็นชื่อเรียกผัก 2 ชนิด คือ
1. ตาลปัตรฤาษี หรือ เรียกชื่ออื่น ผักก้านจอง ผักคันจอง ผักตะบัน บอนจีน และผักพาย (ใหญ่)
2. ผักพายเล็ก หรือ บางครั้งเรียกว่า ผักพาย โดยคำว่า ผักพาย จะเป็นชื่อเรียกมากในภาคอีสาน ส่วนคำว่า ผักพายเล็ก นิยมเรียกมากในภาคกลาง เพื่อให้แตกต่างจากตาลปัตรฤาษีที่ครั้งเรียก ผักพายหรือผักพายใหญ่

ทั้งนี้ คำว่า พาย สันนิษฐานว่า น่าจะตั้งมีจากลักษณะของก้านใบ และใบ ที่คล้ายกับไม้พายเรือ

ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง
ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เป็นผักสมุนไพรพื้นบ้านที่นิยมนำยอดอ่อนทั้งส่วนก้าน และใบอ่อนมารับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก รวมถึงนิยมใช้เป็นผักคู่ส้มตำ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buch
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ตาลปัตรฤาษี
– ผักพาย
– ผักพายใหญ่
– ตาลปัตรยายชี
– ผักตะบัน
– นางกวัก
– บัวลอย
ภาคอีสาน
– ผักก้านจอง
– ผักคันจอง

ดอกผักคันจอง

การแพร่กระจาย และการเติบโต
ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เป็นพืชที่พบได้ในทุกภาค มักพบเติบโตในพื้นน้ำขังบริเวณชายน้ำหรือริมขอบแหล่งน้ำขัง หนองบึง หรือบ่อน้ำ ที่ระดับน้ำตื้น ประมาณ 30-50 เซนติเมตร แต่ไม่สามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำลึก เพราะลำต้นจะต้องโผล่พ้นน้ำสำหรับการสังเคราะห์แสง ทั้งนี้ ลำต้นสามารถแตกหน่อเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ แต่หากน้ำแห้ง และดินไม่มีความชื้น ผักก้านจองก็จะตายทันที

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ลำต้นของตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เป็นเหง้าที่เติบโตอยู่ในดินใต้น้ำ สามารถแตกออกเป็นไหลสั้นๆ และแตกเหง้าหรือลำต้นใหม่ได้

ใบ
ใบตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยก้านใบ และแผ่นใบ ซึ่งเป็นส่วนที่เรามองเห็นเหนือดินหรือเหนือน้ำ

ก้านใบ เป็นส่วนที่แทงออกจากเหง้า 3-5 ก้าน แต่ละก้านจะมีรูปทรงสามเหลี่ยม โดยขอบแต่ละด้านเป็นสันบาง และสั้นๆที่เป็นลูกคลื่นยื่นออกมาเล็กน้อย ภายในประกอบด้วยเหยื่อที่เป็นร่างแหของโพรงอากาศ เมื่อจับบีบจะยุบตัวได้ง่าย โดยก้านใบมีความยาวถึงปลายก้านประมาณ 40-60 เซนติเมตร ขนาดลำก้านประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งเติบโตโคนก้านมีสีน้ำตาลอมม่วง และค่อยเป็นสีเขียวสดขึ้นมาจนถึงปลายก้าน

แผ่นใบ เป็นส่วนที่ต่อกับก้านใบ มีรูปไข่ โคนใบสอบ กลางใบกว้าง และสอบแหลมที่ปลาย ใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร กว้างมากสุดบริเวณกลางใบ ประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีสีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมองเห็นเส้นใบนูนเด่นที่มีสีเดียวกันกับแผ่นใบตามแนวยาวของใบ

ทั้งนี้ ทั้งส่วนก้านใบ และแผ่นใบ เมื่อฉีกขาดจะพบยางสีขาวไหลออกมา

ดอก
ดอกของตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองแทงออกเป็นช่อ ประกอบด้วยก้านดอกหลักที่แทงออกจากกลางลำต้น ก้านดอกหลักมีรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับก้านใบ และมีความยาวน้อยกว่าก้านใบเล็กน้อย โดยส่วนปลาสุดของก้านดอกหลักจะประกอบด้วยดอกย่อย 8-12 ดอก เรียงเป็นชั้น ประมาณ 3 ชั้น ชั้นแรกมีประมาณ 5 ดอก ชั้นที่ 2 และ3 มีประมาณ 2-3 ดอก แต่ละดอกย่อยจะมีก้านดอกที่คล้ายกับดอกหลัก แต่จะสั้นกว่ามากที่ประมาณ 5-10 เซนติเมตร โดยปลายสุดของก้านดอกย่อยจะเป็นตัวดอก

ดอกตูมของตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมปลายแหลมที่หุ้มด้วยกลีบรองดอกสีเขียว เมื่อบาน กลีบรองดอกจะกางออก แล้วกลีบดอกจะแผ่ออกมา โดยแต่ละดอกจะมีกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละกลีบมีมีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา สีเหลืองสด ขอบกลีบย่นเป็นลูกคลื่น ถัดมาตรงกลางเป็นส่วนของก้านเกสรสีเหลืองสดที่เรียงกันเป็นวงกลม โดยตรงกลางล่างสุดจะเป็นรังไข่ ทั้งนี้ ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองจะออกดอกในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน

ผล และเมล็ด
ผลมีลักษณะเป็นรูปครึ่งวงกลม ที่ประกอบด้วยผลย่อยจำนวนมาก กว้าง 1.2-2 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และแก่เต็มที่เป็นสีดำ ภายในผลประกอบด้วยเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดมีรูปเกือกม้า เปลือกมีสีน้ำตาลเข้ม ยาว 1.2-1.5 มิลลิเมตร

ผักคันจอง

ผักพาย/ผักพายเล็ก
ผักพายเล็ก เป็นพืชที่พบมากในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ ซึ่งคนท้องถิ่นนิยมเก็บมารับประทานคู่กับส้มตำหรือใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก โดยผักพายเล็กจะมีให้เก็บกินเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น ทั้งนี้ บางพื้นที่ที่มีผักพายเล็กมาก ก็จะพบการเก็บมาจำหน่ายตามตลาดสดหรือตลาดหมู่บ้านได้ทั่วไป

• ชื่อท้องถิ่น
ภาคกลาง
– ผักพายเล็ก
ภาคอีสาน
– ผักพาย

ทั้งนี้ จากการรวบข้อมูลภาพทางอินเตอร์เน็ตจะพบว่า ผักพายเล็กหรือที่เรียกผักพายจะพบ 2 ชนิด คือ
1. ชนิดต้นเล็ก ที่พบมากในภาคอีสาน บริเวณแปลงนาในฤดูที่ข้าวกำลังเติบโต ซึ่งจะกล่าวในลักษณะทางพฤกษศาสตร์ต่อไป
2. ชนิดต้นใหญ่ ที่พบมากในทุกพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำหรือมีน้ำขังตลอดปี

ผักพาย
ผักพายเล็ก-ต้นใหญ่
ผักพายเล็ก-ต้นเล็ก
ผักพายเล็ก-ต้นเล็ก

การแพร่กระจาย และการเติบโต
ผักพาย/ผักพายเล็ก เป็นพืชน้ำที่พบได้ในทุกภาค ซึ่งจะพบได้เฉพาะในแหล่งน้ำขังตื้นๆ เช่น แปลงนา และพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ทั้งนี้ ผักพายเล็ก-ต้นเล็ก จะสามารถพบเห็นได้เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น คือ ช่วงหน้าฝน และเมื่อออกดอก และติดผลจนผลแก่แล้ว ลำต้นก็จะเหี่ยวแห้งตายไปในช่วงฤดูหนาว ส่วนเมล็ดจะร่วงลงดิน พร้อมฝังอยู่ในดินตื้นๆหลังน้ำลด และเมล็ดจะงอก พร้อมเติบโตอีกครั้งในช่วงฤดูฝนของปีถัดไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ผักพายเล็กต้นใหญ่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับผักพายเล็ก-ต้นเล็ก แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น โดยผักพายเล็ก-ต้นเล็ก เป็นพรรณไม้น้ำล้มลุกที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี คือ มีอายุอยู่ในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาวเท่านั้น
ลำต้น
ลำต้นผักพายเล็กมีลักษณะเป็นเหง้าเล็กๆ อยู่ใต้น้ำ ไม่มีไหล แต่จะเป็นกอเดียวที่เกิดจาก 1 เมล็ด ซึ่งลำต้นจะเริ่มเติบโตหลังจากที่มีน้ำขังประมาณเดือนกรกฎาคม และเติบโตจนสังเกตเห็นลำต้นสูงประมาณเดือนสิงหาคม หลังจากเติบโต ออกดอก และติดผลแล้ว ลำต้นก็จะเหี่ยวตายลงในช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งช่วงนั้นน้ำจะแห้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ใบ
ใบผักพายเล็ก ประกอบด้วยส่วนก้านใบ และแผ่นใบ โดยก้านใบจะเจริญรอบลำต้นโผล่พ้นน้ำขึ้นมา 2-4 ก้าน ก้านใบมีลักษณะทรงกลม โคนก้านมีสีดำม่วง แล้วค่อยเป็นสีเขียวเข้ม แต่ละก้านยาวประมาณ 10-40 เซนติเมตร

แผ่นใบมีลักษณะรียาว กว้างมากที่สุดบริเวณกลางใบ ประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบสีเขียวอมเทา

ดอก
ดอกผักพายเล็กแทงออกเป็นช่อ คล้ายกับผักก้านจอง ประกอบด้วยก้านช่อดอกที่แทงออกจากกลางลำต้นเพียง 1 ก้อนช่อดอก ก้านช่อดอกมีลักษณะกลม สีเขียวเข้ม ขนาด 2-3 มิลลิเมตร มีเนื้อหยาบ และเหนียวมาก ความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ถัดมาเป็นดอกที่ประกอบด้วยก้านดอกสั้นๆ และตัวดอกขนาดเล็ก 3-10 ดอก/ต้น ทั้งนี้ ดอกจะบานในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาวประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ผล และเมล็ด
ผลผักพายเล็กมีลักษณะเป็นทรงกลม 3-10 ผล/ช่อ ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่มีสีดำ ภายในผลมีเมล็ดสีดำขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อแก่เต็มที่ผลจะปริแตก ปล่อยให้เมล็ดแตกร่วงลงดิน

ประโยชน์ผักก้านจอง และผักพายเล็ก
1. ส่วนยอดอ่อน ดอกอ่อน นิยมเก็บมารับทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก และที่นิยม คือ รับประทานเป็นผักกับส้มตำ
2. ตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจอง เมื่อออกดอกจะออกดอกเป็นช่อ ที่ประกอบด้วยดอกเป็นกระจุกสีเหลืองสวยงาม บางคนใช้ปลูกในกระถางเพื่อเป็นไม้ประดับ
3. ทั้งผักก้านจอง และผักพายเล็ก สามารถใช้ปลูกเป็นพืชบำบัดน้ำเสีย แต่ที่ใช้จริง คือ ผักก้านจอง เพราะสามารถเติบโตได้ตลอดปี ส่วนผักพายเล็กไม่นิยมใช้ เพราะเติบโตเพียงฤดูกาลเดียว
4. ทั้งผักก้านจอง และผักพายเล็ก ถือเป็นพืชน้ำที่สำคัญในระบบนิเวศแหล่งน้ำตื้น มีประโยชน์สำหรับเป็นที่หลบอาศัยของปลาขนาดเล็ก

ทั้งนี้ ผักพายเล็กจะนิยมเก็บมารับประทานเฉพาะในช่วงยังอ่อนที่ยังไม่ออกดอก เพราะหากออกดอก ก้านใบ และใบจะหยาบเหนียว รับประทานไม่อร่อย ส่วนตาลปัตรฤาษี/ผักก้านจองสามารถนำทุกส่วนมารับประทานได้ในทุกระยะ

สรรพคุณผักก้านจอง และผักพายเล็ก
ทุกส่วนของทั้ง 2 ผัก เมื่อฉีกส่วนลำต้น และใบ จะพบยางสีขาว โดยเฉพาะผักก้านจองจะเห็นชัด ส่วนผักพายเล็กจะเห็นชัดเฉพาะส่วนใบ ทั้งนี้ รสของลำต้น และใบอ่อนของผักทั้ง 2 ชนิด จะมีรสชาติเหมือนกัน คือ เมื่อเคี้ยวเริ่มแรกจะขมเล็กน้อย ต่อมาค่อยๆรู้สึกมีความหวาน ซึ่งมีสรรพคุณ ดังนี้
– ช่วยแก้อาการท้องเสีย
– ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยลดไข้ แก้อาการปวดหัว วิงเวียนศรีษะ

การปลูกผักก้านจอง และผักพายเล็ก
การปลูกผักทั้ง 2 ชนิด สามารถเพาะปลูกได้ด้วยเมล็ด แต่จะต่างกันที่ ผักก้านจองนอกจากจะปลูกได้ด้วยเมล็ดแล้ว ยังสามารถแยกเหง้าปลูกได้ด้วย ส่วนผักพายเล็กจะปลูกด้วยการหว่านเมล็ดเท่านั้น ไม่สามารถแยกเหง้าปลูกได้ เพราะไม่มีไหล และเติบโตเพียงฤดูกาลเดียว

เมล็ดผักพาย

ขอบคุณภาพจาก http://kungsa2527.blogspot.com/2014/12/blog-post.html, treeofthai.com, 15number.weebly.com