ประคำดีควาย (Soapberry) สรรพคุณ และพิษประคำดีควาย

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ประคำดีควาย (Soapberry) เป็นไม้ขนาดกลางที่คนโบราณนิยมนำผลมาใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพร อาทิ ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาสระผม บำรุงผมให้ดกดำ ยาฆ่าเหา ฆ่าเชื้อราบนหนังศรีษะ เป็นต้น

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sapindus rarak DC.
• ชื่อวงศ์ : Sapindaceae
• ชื่ออังกฤษ : Soapberry
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– มะคำดีควาย
ภาคเหนือ
– มะชัก
– ส้มป่อยเทศ
– ชะแช, ชะเหล่เด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้น ความสูงประมาณ 5-10 เมตร มีลักษณะเปลือกเป็นสีน้ำตาลอมเทา ค่อนข้างเรียบ มีเรือนยอดเป็นทรงพุ่มหนาทึบ

ใบ
ใบอ่อนออกเป็นช่อ เรียงสลับกัน ช่อใบมีใบย่อยประมาณ 5-9 คู่ ใบย่อยมีลักษณะรูปหอก โคนใบสอบเข้าหากัน ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้างประมาณ 0.6 -1.2 นิ้ว ยาวประมาณ 2.5- 4 นิ้ว ใบมีสีเขียวเข้มเหมือนใบทองหลาง

ดอก
ดอกออกเป็นช่อ ตามปลายกิ่ง มีลักษณะดอกขนาดเล็ก สีขาวนวล หรือสีเหลืองอ่อน ดอกมีกลีบรองกลีบดอกขนาดเล็ก ประมาณ 4 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน มีกลีบดอกประมาณ 5 กลีบ กลีบด้านนอกมีขนสั้น สีน้ำตาลปนแดง ขึ้นประปราย มีเกสรตัวผู้ตรงกลางดอก ประมาณ 10 อัน

ผล
ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม สีเขียวเมื่ออ่อน สีเหลืองฉ่ำเมื่อสุก และผลมีสีน้ำตาล และดำตามลำดับเมื่อแก่แห้ง เปลือกหุ้มมีลักษณะแข็ง ข้างในประกอบด้วยเมล็ด ผลหนึ่งมี 1 เมล็ดเท่านั้น ออกผลหลาบผลเป็นพวง ขนาดผลเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.6 นิ้ว

ประคำดีควายดิบ

ประคำดีควายแก่

สารที่พบ
สารเคมีที่พบในผลประคำดีควาย คือ saponin, Emarginatonede, o- Methyl-Saponin, Quercetin, Quercetin-3-a-L-arabofuranoside และ beta– sitosterol เป็นต้น

สารที่สำคัญ คือ saponin เป็นสารประเภท glycoside ที่เป็นสารพวก Steroid หรืออาจเป็น triterpene มีรสเฝื่อน มีคุณสมบัติทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เมื่อละลายน้ำ และเขย่า จะทำให้เกิดฟองรูปรวงผึ้ง ทำให้ชาวบ้านมักใช้ผลมาแทนสบู่สำหรับซักล้างทั่วไป สารนี้มีความคงตัวได้นาน และเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็น เช่น ปลา หอย และแมลงต่างๆ สารนี้เป็นสารสำคัญที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากมาย มีสรรพคุณฆ่าเชื้อรา แก้โรคชันนะตุ รักษาโรคผิวหนัง บาดแผลได้ และใช้เป็นสารสกัดสำหรับกำจัดแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ

สรรพคุณประคำดีควาย
• ราก : ใช้ขับเสมหะ แก้ริดสีดวง แก้หืด

• เปลือกลำต้น : นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยา แก้พิษไข้ แก้พิษร้อน แก้ฝีอักเสบ แก้ฝีหัวคว่ำ และเป็นยาแก้กษัยเป็นต้น

• ใบ : นำมาปรุงใช้เป็นยาแก้พิษกาฬ แก้ทุราวาส ใบตากแห้งชงน้ำดื่มบำรุงร่างกาย ลดปริมาณคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด

• เมล็ด และเมล็ด : ใช้เมล็ดสดหรือแห้งนำมาตำให้ ละเอียด ใช้พอกหรือเอามาละลายน้ำล้างแผล แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาถ่านพยาธิ ผสมยาสระผม ใช้บำรุงผมให้ดกดำ ยากำจัดเหา ฆ่าเชื้อรา รังแคบนหนังศรีษะ ใช้ผลที่แห้งนำมาคั่วให้เกรียม จาก นั้นใช้ปรุงเป็นยาดับพิษได้ทุกชนิด แก้กาฬภายใน แก้ไข้ แก้หืด หอบ แก้โรคผิวหนัง และแก้เสลดสุมฝีที่เปื่อยพัง

พิษประคำดีควาย
สารเคมีในผลประคำดีควายที่เป็นพิษ คือ saponin, emerginatonede และ o-methyl-saponin มีรสเฝื่อน ขม และกลิ่นฉุน เป็นสารที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็น ออกฤทธิ์ทำลายเม็ดเลือดแดงได้ ถ้าเป็นผงแห้ง หากสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองเยื่อบุจมูก ขนาดที่เจือจางที่เป็นพิษ เช่น 1:200,000 สามารถฆ่าปลาได้

พิษต่อสัตว์เลือดอุ่นหรือมนุษย์ หากกินสารนี้จะเกิดการระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร น้ำลายออกมาก มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง หากดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะมีอาการปวดศีรษะ กระหายน้ำ มีไข้ จนถึงทำให้เม็ดโลหิตแดงแตก หากได้รับพิษมากจะทำให้กล้ามเนื้อเปลี้ย อ่อนแรง หน้าซีด และม่านตาขยาย การไหลเวียนโลหิตผิดปกติ และมีอาการชักได้

มีการทดสอบความเป็นพิษจากสารสกัดของผลประคำดีควายโดยใช้แอลกอฮอล์ 50% เป็นตัวทำละลายนขนาด 10 g/ kg ในหนูทดลอง ผ่านทางสายยางเข้าช่องท้อง พบว่า ความเป็นพิษที่ทำให้หนูตายในปริมาณครึ่งหนึ่ง คือ 2.0 g/ kg

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ทวีเทพ ได้ศึกษาประสิทธิภาพของใบยาสูบร่วมกับลูกประคำดีควาย พบว่า หากใช้ใบยาสูบ 60 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้ 74.03 เปอร์เซ็นต์ และหากใช้ผสมกับลูกประคำดีควาย 60 กรัม ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดหอยเชอรี่เป็น 100 เปอร์เซ็นต์

ปราสาททอง และคณะ ได้ศึกษาใช้สารสกัดลูกประคำดีควาย ความเข้มข้นเพียง 0.05 และ 0.1% สามารถกำจัดหอยเชอรี่ได้มากถึง 100%

แม้นสรวง และคณะ ได้ทดสอบใช้สารสกัดจากประคำดีควายทดสอบการต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนัง พบว่ามีผลการการต้านเชื้อราสายพันธุ์ต่างๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวยา ketoconazole ยังมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

การขยายพันธุ์
ประคำดีควายพบขึ้นกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้งตามในภาคต่าง ๆ ออกดอก และติดผลในช่วงเดือน มีนาคม-มิถุนายน

ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดแก่เพาะในถุงเพาะชำหรือหยอดเมล็ดปลูกตามดินที่ว่าง