บัวบก/ใบบัวบก (Gotu kola) ประโยชน์ และสรรพคุณใบบัวบก

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

บัวบก หรือเรียก ใบบัวบก (Gotu kola) จัดเป็นวัชพืชเขตร้อนชนิดหนึ่ง และจัดเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งการรับประทานสดโดยตรง การใช้ประกอบอาหาร การแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม และใช้สารสกัดเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางหลายชนิด

อนุกรมวิธาน
• อาณาจักร : Plantae
• อาณาจักรย่อย : Magnoliophyta
• ชั้น : Magnoliophyta
• อันดับ หรือ ตระกูล : Apiales
• วงศ์ : Apiaceae หรือ Umbelliferae
• สกุล : Centella L.
• ชนิด : Centella asiatica (L.) Urban

• ชื่อสามัญ :
– Gotu kola
– Asiatic Pennywort
– Indian Pennywort
– Tiger Herbal
– Water pennywort
– Waternavel
– Hydrocotyle
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centella asiatica (L.) Urb.
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– บัวบก
– ใบบัวบก
ภาคเหนือ
– ผักหนอก
– จำปาเครือ
– กะบังนอก
– เอขาเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน)
– ปะหนะเอขาเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)
ภาคอีสาน
– ผักหนอก
– ผักแว่น
– แว่นโคก
ภาคใต้
– ผักแว่น
• จีน : เตียกำเช่า, ฮมคัก

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
บัวบกหรือใบบัวบก มีถิ่นกำเนิดเดิมในทวีปแอฟริกาใต้ ต่อมาจึงถูกนำเข้ามาปลูกในอินเดีย ประเทศอเมริกาใต้ อเมริกากลาง รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียเหนือ ปัจจุบัน แพร่แพร่กระจายทั่วโลก ทั้งในประเทศเขตร้อน และเขตอบอุ่น พบแพร่กระจายในประเทศแถบอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเรื่อยมาจนถึงทุกประเทศในเอเชีย ส่วนประเทศไทยพบบัวบกขึ้นในทุกภาค

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
บัวบกเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเป็นไหล(stolen) เลื้อยไปตามพื้นดินหรืออยู่ด้านล่างหน้าผิวดิน ไหลมีลักษณะทรงกลม ไหลอ่อนมีสีขาว ไหลแก่มีสีน้ำตาล ขนาดประมาณ 0.2-0.4 มิลลิเมตร ยาวได้มากกว่า 1 เมตร ไหลมีลักษณะเป็นข้อปล้อง บริเวณข้อเป็นจุดแทงออกของก้านใบ ส่วนด้านล่างของข้อมีรากแขนงแทงลึกลงดิน และแต่ละข้อแตกแขนงแยกไหลไปเรื่อยๆ ทำให้ต้นบัวบกขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยรอบได้อย่างหนาทึบ

ใบ
ใบบัวบกออกเป็นใบเดี่ยว และออกเป็นกระจุกจำนวนหลายใบบริเวณข้อ แต่ละข้อมีใบ 2-10 ใบ ใบประกอบด้วยก้านใบที่แทงตั้งตรงจากข้อ ก้านใบสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีลักษณะทรงกลม สีเขียวอ่อน ถัดมาเป็นแผ่นใบที่เชื่อมติดกับก้านใบบริเวณตรงกลางของใบ ฐานใบโค้งเว้าเข้าหากัน แผ่นใบมีรูปทรงกลมหรือมีรูปร่างคล้ายไต ขอบใบหยัก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบด้านใบเรียบ สีเขียวสด แผ่นใบด้านล่างมีขนสั้นๆปกคลุม และมีสีเขียวจางกว่าด้านบน ขอบใบหยักเป็นคลื่น

ดอก
ดอกบัวบกออกเป็นช่อที่ซอกใบของข้อ ช่อดอกมีรูปทรงช่อคล้ายร่ม อาจมีช่อเดี่ยวหรือมีประมาณ 2-5 ช่อ แต่ละช่อมีประมาณ 3-4 ดอก มีก้านช่อดอกยาวทรงกลม ขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกมีสีขาว ตรงกลางมีเกสรตัวผู้ขนาดสั้น

ผล และเมล็ด
ผลมีขนาดเล็ก มีลักษณะกลมแบน ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดแข็ง มีสีเขียวหรือม่วงน้ำตาล

ชนิดบัวบกในไทย
1. บัวบกไทย
บัวบกไทยมีลักษณะเด่น คือ ไหลหรือลำต้นเลื้อยตามผิวดินหรืออยู่ด้านล่างผิวดินเล็กน้อย ไหลมีขนาดใหญ่ ข้อปล้องของไหลห่าง ทำให้ก้านใบค่อนข้างห่างกัน แต่ก้านใบยาว แผ่นใบมีขนาดใหญ่ หนา สีเขียวเข้ม

2. บัวบกศรีลังกา
บัวบกศรีลังกา มีลักษณะเด่น คือ ไหลเลื้อยตามผิวดินหรือลงหน้าผิวดินเล็กน้อยเช่นกัน ต่อข้องปล้องถี่ ไหลมีขนาดเล็ก ทำให้ก้านใบอยู่ชิดกัน แต่ก้านใบสั้น อยู่ใกล้หน้าผิวดิน ส่วนใบมีขนาดเล็ก สีเขียวสดหรือเขียวอมเหลือง เพิ่มเติมจาก [10]

ประโยชน์บัวบก
1. รับประทานสดคู่กับอาหารต่างๆ อาทิ ลาบ ซุบหน่อไม้ ก๋วยเตี๋ยว และผัดไทย เป็นต้น
2. ใบบัวบกล้างน้ำให้สะอาด ก่อนใช้ปั่นผสมกับน้ำตาลดื่ม หรือนำไปต้มน้ำดื่ม หรือที่เรียกว่า น้ำใบบัวบก
3. ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารคาว ช่วยในกระปรับปรุงรส และช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อ คาวปลา
4. น้ำต้มเคี่ยวจากใบบัวบกใช้เป็นส่วนผสมสำหรับทำเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สบู่ ครีมอาบน้ำ แซมพูสระผม
5. สารสกัดจากใบบัวบกใช้เป็นส่วนผสมของครีมทาผิว มีส่วนช่วยลดเม็ดสีเมลานินในเซลล์ผิว ทำให้ผิวขาวขึ้น
6. ใช้เป็นส่วนผสมหรือทำยาสมุนไพรขนานปัจจุบัน ได้แก่
– ยาครีมใบบัวบก ลดอาการฟกซ้ำ ที่มีสารสกัดของใบบัวบกประมาณร้อยละ 7
– ยาใช้ภายนอก สำหรับสมานแผล และรักษาแผล
– ยาชงใบบัวบกสำหรับดื่ม และยาแคปซูลสำหรับรับประทาน ใช้แก้ไข้ แก้ร้อนใน และแก้อาหารฟกช้ำ
7. น้ำต้มจากใบบัวบกใช้ชโลมผมหรือผสมกับแซมพูสำหรับสระผม ช่วยลดอาการผมร่วง ทำให้ผมดกดำ และชะลอการหงอกของเส้นผม
– ฯลฯ

คุณค่าทางโภชนาการใบบัวบก (ใบสด 100 กรัม)

• Proximates
น้ำ กรัม 86
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 54
โปรตีน กรัม 1.8
ไขมัน กรัม 0.9
คาร์โบไฮเดรต กรัม 9.6
ใยอาหาร กรัม 2.6
เถ้า กรัม 1.7
• Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 146
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 30
เหล็ก มิลลิกรัม 3.9
• Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 15
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.24
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.09
ไนอะซีน มิลลิกรัม 0.8
เบต้า แคโรทีน ไมโครกรัม 2,428
วิตามิน A, RE ไมโครกรัม 405

ที่มา : [5]

สารสำคัญที่พบ
• Asiaticoside
• Phellandrene
• Madecassic acid
• D-Arabinose
• L-Rhamnose
• Kaempferol
• Madasiatic acid
• Betulinic acid
• Isothankunic acid
• Bicycloelemene
• γ – Terpinene
• Campesterol
• β-Sitosterol
• β – Trans – farnesene
• Madecassoside
• Stigmasterol
• Quercetin

ที่มา : [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ส่วนประกอบของแร่ธาตุในใบบัวบก

แร่ธาตุ รูปสารที่พบ
ไนโตรเจน No3¯NH4¯
ออกซิเจน O2, H2O
คาร์บอน CO2
ไฮโดรเจน H2O
โพแทสเซียม K+
แคลเซียม Ca2+
แมกนีเซียม Mg2+
ฟอสฟอรัส H2PO4¯
ซัลเฟอร์ SO4 2-
คลอไรด์ Cl¯
กรดบอริก H3BO3
แมงกานีส Mn2+
สังกะสี Zn2+
ทองแดง Cu¯
โมลิบดินัม Mo O4 2-
นิเกิล Ni2+

ที่มา : [9] อ้างถึงใน Vohra และคณะ (2011)

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสำคัญในบัวบก

สารที่พบ สรรพคุณ
• Asiaticoside 1. ช่วยป้องกันเซลล์ประสาท แต่ก็เป็นพิษต่อเซลล์ประสาทเช่นกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของ asiaticoside และระยะเวลาที่เซลล์สัมผัส
2. เสริมสร้างความจำ ในภาวะเสื่อมของสติปัญญาบางรูปแบบที่ได้จากคุณสมบัติ Asiaticoside เป็นสารต้าน oxidation
3. เร่งการสมานแผล
4. ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะของหนูขาว
• Asiatic acid และ Derivatives 1. รักษาโรคสมองเสื่อม เพิ่มการเรียนรู้ และปกป้องเซลล์ประสาทจาก oxidative damage ที่เกิดจาก glutamate
2. มีคุณสมบัติที่อาจใช้รักษาโรคมะเร็งผิวหนังได้ โดยพบว่า asiatic acid ทำให้ความสามารถในการอยู่รอดของเซลล์มะเร็งผิวหนังของคนลดลง
• Pectin มีฤทธิ์ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ที่มา : [4] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาใบบัวบก
1. ฤทธิ์ในการสมานบาดแผล
สารสกัดจากบัวบก ซึ่งมีสารสำคัญในการออกฤทธิ์ ได้แก่
– อะเซียติโคไซด์
– อะเซียติก แอซิด
– มาเดคาสโซไซด์
– มาเดคาสซิก แอซิด

เมื่อใช้สารสกัดจากบัวบกทาที่บาดแผลในหนูขาว พบว่า แผลบนร่างกายของหนูขาวมีการเจริญเติบโตของผิวหนังบนแผล ทำให้แผลหายเร็วขึ้น

2. ฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย
น้ำต้มจากใบบัวบกสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการเกิดหนองในแผลได้หลายชนิด ได้แก่
– Staphylococcus aureus
– Pseudomonas aeruginosa
– Bacillus subtilis

แต่น้ำต้มใบบัวบกไม่มีผลต่อเชื้อ Escherichia coli นอกจากนั้น ยังพบว่า สารออกซีอะเซียติโคไซด์ (Oxyasiaticoside) ในใบบัวบกสามารถต้านการเติบโตของเชื้อวัณโรคได้

3. ฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา
สารสกัดจากบัวบก สามารถต้านการเติบโตของเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคกลากได้ ได้แก่
– Trichophyton mentagrophytes
– Trichophyton rubrum

4. ฤทธิ์ในการยับยั้งเซลมะเร็ง
การทดสอบน้ำสกัดจากใบบัวบกต่อเซลล์มะเร็ง พบว่า น้ำสกัดของใบบัวบกสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ รวมถึงยับยั้งเซลมะเร็งชนิด CA-9KB ได้อีกด้วย

การทดลองนำสารสกัดใบบัวบกให้แก่หนูขาวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หลังจากที่ได้รับน้ำสกัดจากใบบัวบก พบว่า เซลล์มะเร็งในหนูขาวมีขนาดเล็กลง และเมื่อนำน้ำสหกัดที่ได้ไปทดลงองกับเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง พบว่า น้ำสกัดใบบัวบกสามารถทำลายเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

5.ฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์
การใช้สารสกัดจากใบบัวบกกับเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตไว คือ SVK-14 keratinocytes ในหลอดทดลอง พบว่า สารสกัดจากใบบัวบกออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ได้ ดังนั้น หากนำสารสกัดจากใบบัวบกมาประยุกต์ใช้กับการแบ่งเซลล์บริเวณเกิดโรคน่าจะได้ผล โดยเฉพาะการใช้ต้านการลุกลามของโรคสะเก็ดเงิน

6. ฤทธิ์ในการลดการอักเสบ
สาระสำคัญในใบบัวบกที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี ได้แก่
– asiaticoside
– madecassic acid
– madecassosid
– asiatic acid
จากการใช้สารสกัดในกลุ่มดังกล่าวป้อนให้แก่หนูขาวที่มีแผลในกระเพาะอาหาร พบว่า สารสกัดสามารถสามารถลดอาการอักเสบของแผลในกระเพาะอาหารได้

7. ฤทธิ์ต่อระบบประสาท
สารสกัดบัวบกด้วยแอลกอฮอล์เข้มข้น 95% นำไปฉีดเข้าช่องท้องหนูขาว พบว่า สารสกัดออกฤทธิ์เป็นยาระงับประสาทได้ โดยมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ คือ บราโมไซด์ (brahmoside) ที่ออกฤทธิ์คล้ายกับคลอโพรมาซีน (Chlorpromazine) และเมโพรบาเมท (meprobamate)

8. ฤทธิ์แก้ปวด
สารที่ออกฤทธิ์กล่อมประสาทในใบบัวบก คือ triterpenoids แต่สารส่วนใหญ่ที่สกัดได้จากแอลกอฮอล์สามารถออกฤทธิ์กดประสาทอย่างอ่อนได้ ส่วนสารสกัดจากเอทานอลเข้มข้น และมีปริมาณที่เพียงพอจะสามารถออกฤทธิ์ระงับอาการปวดในหนูขาวได้

9. ฤทธิ์ต้านฮีสตามีน
สารสกัดใบบัวบกที่ใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำ 1:1 ทำการสกัด เมื่อนำไปใช้กับคนที่มีอาการแพ้จากแมลงกัดต่อย พบว่า สารสกัดที่ได้สามารถบรรเทาอาการแพ้ได้ รวมถึงช่วยระงับอาการปวด และอักเสบของแผลได้ดี

10. ฤทธิ์ต่อระบบสืบพันธุ์
การฉีดสารสกัดจากใบบัวบกให้แก่หนูถีบจักรผ่านทางผิวหนัง ปริมาณ 0.2 ซีซี พบว่า การฝังตัวของตัวอ่อนในหนูขาวถูกการยับยั้ง นอกจากนั้น ยังพบว่า สารสกัดจะออกฤทธิ์ลดอัตราการปฏิสนธิของหนูถีบจักรได้ แต่ทั้งนี้ เมื่อนำสารซาโปนินที่สกัดได้จากใบบัวบกใส่ในเชื้ออสุจิหนูถีบจักร พบว่า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆของอสุจิ

11. ฤทธิ์ต่อกล้ามเนื้อเรียบ
สารสกัดใบบัวบกที่ใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำ 1:1 ทำการสกัด เมื่อให้แก่หนูตะเภา พบว่า สารสกัดที่ได้ออกฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า มีสามารถออกฤทธิ์ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ในกระต่าย และกล้ามเนื้อมดลูกในหนูขาวได้เช่นกัน

12. ฤทธิ์ในการลดความดันโลหิต
การฉีดสารสกัดจากใบบัวบกเข้าที่หลอดเลือดดำให้แก่หนูขาวที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ และน้ำในอัตราส่วน 1:1 พบว่า สารสกัดดังกล่าวสามารถลดความดันเลือดของหนูขาวได้

13. ฤทธิ์ในการลดไข้
สารสกัดจากใบบัวบกที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์เข้มข้น 95% เมื่อทดลองฉีดเข้าที่ช่องท้องของหนูขาวที่กำลังเป็นไข้ พบว่า หนูขาวมีอาการเป็นไข้ลดลง จากอุณหภูมิที่ลดลงได้ 1.2 ºF

14. ฤทธิ์ในการฆ่าแมลง
สารสกัดจากใบบัวบกที่ใช้ปิโตรเลียมอีเทอร์เป็นตัวสกัด เมื่อนำไปใช้กับตัวอ่อนของแมลง Pierisrapae cruciflora พบว่า สารสกัดทำให้ตัวอ่อนของแมลงดังกล่าวตายได้ ส่วนสารสกัดจากบัวบกที่ใช้น้ำร้อนเป็นตัวสกัด เมื่อนำไปใช้กับแมลงสาบพันธุ์อเมริกัน Periflaneta americana พบว่า สารสกัดทำให้แมลงสาบดังกล่าวตายได้เช่นกัน

15. ฤทธิ์ในการรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
เมื่อนำสารสกัดจากผลแห้งบัวบกให้คนไข้ทั้งเพศชาย และหญิงรับประทาน พบว่า สารสกัดสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารให้หายเป็นปกติได้ ทั้งนี้ การรักษาแผลในกระเพาะจะได้ผลดีขึ้น หากใช้สารสกัดจากผลแห้งบัวบกร่วมกับยาลดกรด และยาซีเมตาดีน (Cimetadine) ที่ช่วยลดปริมาณการหลั่งกรดได้โดยตรง

การป้อนสารสกัดจากทั้งต้นของบัวบก ขนาดเข้มข้น 0.05, 0.1 และ 0.25 กรัม/กิโลกรัม และสารสกัด asiaticoside ขนาดเข้มข้น 1, 5 และ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ให้แก่หนูขาวที่ใช้กรดอะซีติกทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร พบว่า สารสกัดออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหารให้หายได้เป็นอย่างดี โดยช่วยลดขนาดของแผล ช่วยกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดขนาดเล็กในเนื้อเยื่อ รวมถึงช่วยลดการแพร่กระจายของเซลล์ที่แผลได้

นอกจากนี้ ลำต้น และใบบัวบกยังพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ เช่น ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทาน ฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และฤทธิ์กระตุ้นการเต้นของหัวใจ เป็นต้น [1] และ[6] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณใบบัวบก
ใบ และลำต้น (ใช้รับประทานหรือต้มดื่ม)
– ช่วยรักษาอาการช้ำใน บรรเทาอาการตกเลือดในช่องท้อง และเลือดคั่งในเนื้อเยื่อ
– บรรเทาอาการปวดศีรษะ และเป็นไข้
– แก้อาการมึนศีรษะ
– ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง
– ช่วยรักษาอาการร่างกายอ่อนเพลีย ร่างกายเมื่อยล้า
– บรรเทาอาการปวดตามข้อ ตามกล้ามเนื้อ
– แก้อาการท้องผูก กระตุ้นระบบขับถ่าย
– แก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
– ช่วยการย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร
– แก้โรคซาง แก้โรคดีซ่านในเด็ก
– ช่วยบำรุงตับ และไต แก้โรคตับอักเสบ
– ช่วยบำรุงสายตา แก้ตาพร่ามัว
– ช่วยบำรุงประสาท บำรุงสมอง และกระตุ้นความจำ
– ช่วยให้ผ่อนคลาย จิตในสงบ ไม่ว้าวุ่น
– รักษาโรคอาการทางประสาท
– รักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ
– เป็นยาขับโลหิตเสีย
– ใช้เป็นยาแก้ร้อนใน
– แก้กระหายน้ำ บรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ
– แก้อาการเจ็บคอ รักษาโรคหลอดลมอักเสบ
– รักษาอาการหืดหอบ แก้โรคลมชัก
– ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน
– รักษาโรคปากเปื่อย
– ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะเล็ด
– แก้โรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
– ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– แก้โรคบิด โรคอาหารเป็นพิษ
– รักษาโรคริดสีดวงทวาร
– แก้อุจจาระเรื้อรัง แก้อุจจาระเป็นเลือด
– ช่วยขับระดู กระตุ้นประจำเดือนให้มาปกติ และแก้อาการปวดประจำเดือน
– รักษาฝี ช่วยให้ฝียุบ
– รักษาโรคฝีดาษ โรคเรื้อน โรคอหิวาต์ โรคซิฟิลิส โรครูมาตอยด์ และวัณโรค

ใบ และลำต้น (บด ขยำ หรือต้มน้ำสำหรับใช้ภายนอก)
– รักษาโรคผิวหนังอักเสบ
– ช่วยถอนพิษจากแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการบวม และปวดจากแผลถูกต่อย
– ใช้เป็นยาช่วยห้ามเลือด
– ช่วยรักษาตาปลา
– รักษาโรคผิวหนังอักเสบ
– แก้โรคหัด ช่วยรักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน โรคเรื้อน
– ช่วยรักษาบาดแผล แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเปื่อย และแผลสด

เมล็ด
– ช่วยลดไข้ แก้อาการปวดศีรษะ
– ใช้แก้โรคบิด

ที่มา : [2], [3], [7] อ้างถึง นิรนาม (2543), [8]

ความเป็นพิษของบัวบก
1. การทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดจากใบบัวบกที่ทดลองฉีดให้แก่หนูถีบจักรที่ความเข้มข้น 250 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว กิโลกรัม พบว่า ไม่เกิดความเป็นพิษต่อหนูถีบจักรแต่อย่างใด
2. การทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ พบว่า สารไตรเทอร์ปีนที่พบในใบบัวบกสามารถออกฤทธิ์เป็นพิษต่อต่อเซลล์ไฟบรอบลาท (Fibroblast) ในคนได้
3. พิษต่อระบบสืบพันธุ์ พบว่า น้ำคั้นหรือสารสกัดจากใบบัวบกมีผลต่อการคุมกำเนิดเมื่อทดลองกับหนูถีบจักร เพราะมีการยับยั้งการฝังตัวของตัวอ่อนในหนู
4. อาการแพ้ พบว่า หากใช้สารสกัดใบบัวบกที่สกัดด้วยอีเทอร์ (Ether) นำมาทดสอบกับผิวหนังของหนูตะเภา พบว่า ผิวหนังของหนูเกิดอาการแพ้ได้ แต่เมื่อทดสอบกับมนุษย์ พบว่า หากทดสอบในรูปผงแห้งจะสามารถก่อให้เกดอาหารแพ้ได้เช่นกัน แต่อาการที่เกิดขึ้นไม่มีความรุนแรงแต่อย่างใด [7] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

การขยายพันธุ์ และการปลูกบัวบก
บัวบกสามารถปลูกขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ดหรือนำไหลใต้ดินมาปักชำ แต่วิธีที่นิยม คือ ขุดนำไหลที่มีใบติดมาชำปลูกตามจุดที่ต้องการ สามารถเริ่มเก็บใบได้ หลังปลูกแล้วประมาณ 60-90 วัน

เนื่องจาก บัวบกเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นแฉะ ต้นจะเหี่ยวตายเร็ว หากดินแห้ง ดังนั้น บริเวณปลูกบัวบกควรชื้นหรือมีแหล่งน้ำที่สามารถให้น้ำได้ตลอดเวลา

ขอบคุณภาพจาก aqua.c1ub.net/, BlogGang.com/, chariyaa.lnwshop.com/, sukkaphap-d.com/, http://เมนู.net

เอกสารอ้างอิง
[1] สมจิตร วงศ์กำชัย, 2544, ผลของการใช้คลื่นเหนือเสียงต่อ-
การสกัดสารสำคัญจากบัวบก.
[2] จันทรพร ทองเอกแก้ว, 2556, บัวบก : สมุนไพรมากคุณประโยชน์.
[3] นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร,2547, สมุนไพรไม้พื้นบ้าน(2).
[4] ธัญญรัตน์ ทวีนุต, 2550, คุณภาพทางกายภาพและเคมีของ
เครื่องดื่มบัวบกผงที่เตรียมโดยวิธี-
การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง.
[5] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
[6] นงค์คราญ สุขเกษม, 2557, ผลของการเสริมกากบัวบกต่อประสิทธิภาพ-
การผลิตและความเป็นพิษในไก่เนื้อ.
[7] วราภรณ์ กิตติพันธ์วรกุล, 2556, การสกัดสารออกฤทธิ์สำคัญจากบัวบก
โดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่สภาวะ-
เหนือจุดวิกฤตที่มีตัวทำละลายร่วม.
[8] ถิราพรรณ ขำดวง, 2553, รายงานการวิจัยการศึกษาเปรียบเทียบฤทธิ์ต้าน-
อนุมูลอิสระของบัวบกสด สารสกัด-
และผลิตภัฑณ์แปรรูป.
[9] อัจฉราพรรณ กังวานวงศ์สกุล, 2557, ผลของใบบัวบกในการลดระดับน้ำตาล-
ในผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน.
[10] เดชา ศิริภัทร, 2538, “บัวบกผู้พิชิตความช้ำใน” วารสารหมอชาวบ้าน, ปีที่ 16 ฉบับที่ 342.