Last Updated on 10 มีนาคม 2020 by puechkaset
บร็อคโคลี่ (Broccoli) เป็นผักในตระกูลกะหล่ำหรือคะน้าที่นิยมนำดอกอ่อน และก้านดอกมารับประทาน นอกจากนั้น ยังพบสารต้านอนุมูลอิสระ ซัลโฟราเฟน (sulforaphane) ที่สามารถออกฤทธิ์ต้านการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด ซึ่งปัจจุบัน บร็อคโคลี่ที่รับประทานส่วนมากในไทยจะนำเข้ามาจากออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น เพราะการปลูกในประเทศยังมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการบริโภค
บร็อคโคลี เป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็น ดังนั้น ในระยะแรกที่มีการปลูกในประเทศไทยจะปลูกได้เฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น และต้องปลูกบนดอยหรือบนภูเขาสูงในภาคเหนือจึงจะเติบโตให้ผลผลิตได้ ต่อมามีการปรับปรุงพันธุ์ทำให้สามารถปลูกได้ในทุกฤดู และในทุกพื้นที่
การปลูกบร็อคโคลีในปัจจุบันถึงแม้จะปลูกได้ในทุกพื้นที่ และทุกฤดู แต่ก็ยังประสบปัญหาในด้านผลผลิต โดยเฉพาะการปลูกในฤดูแล้ง และฤดูฝนที่มักให้ผลผลิตต่ำกว่าฤดูหนาว และพื้นที่ลุ่มมักให้ผลผลิตต่ำกว่าการปลูกบนพื้นที่สูง และบร็อคโคลีที่ปลูกในฤดูฝนมักเกิดโรครากเน่าได้ง่าย ทำให้บร็อคโคลีขาดแคลนอย่างมากในฤดูฝนจนมีราคาสูงกว่าในทุกฤดู
• ตระกูล : Brassicaceae (Cruciferae)
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica oleracea var. italica
• ชื่อสามัญ :
– Broccoli
– Calabrese
– Sprouting broccoli
– Asparagus broccoli
– Italian broccoli
– Green sprouting broccoli
• ชื่อท้องถิ่น :
– บล็อกโคลี่
– กะหล่ำดอกอิตาเลี่ยน
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
บล็อกโคลี่ เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลีหรือคะน้า มีแหล่งกำเนิดในแถบประเทศฝั่งตะวันออกของเมดิเตอร์เรเนียนในฝั่งของทวีปยุโรปแถบประเทศอิตาลี ปัจจุบัน พบปลูกมาในแถบประเทศเอเชีย และอเมริกาเหนือ
ที่มา : (2)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
บล็อกโคลี่ มีลำต้นใหญ่ อวบ เป็นทรงกลม สูงประมาณ 30-75 เซนติเมตร ลำต้นแตกใบ และดอกออกเป็นทรงพุ่มกว้าง 20-80 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งพันธุ์เบาที่ปลูกในไทยจะเป็นพันธุ์ขนาดเล็ก ส่วนระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง รากหยั่งลึกประมาณ 25-35 เซนติเมตร
ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกันถี่บริเวณโคนลำต้น ก้านใบยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร ก้านใบมีหูใบ 1 คู่ ที่โคนก้าน ส่วนแผ่นใบมีลักษณะกว้าง และหนา โคนใบตัด ปลายใบมน แผ่นใบมีสีเทาอมเขียว มีเส้นกลางใบสีขาวขนาดใหญ่ ขอบใบบิดเป็นลูกคลื่น
ดอก
บล็อกโคลี่ ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่ มีขนาดช่อดอกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยพันธุ์หนักที่ปลูกในต่างประเทศจะใหญ่กว่า ช่อดอกมีก้านช่อสีเขียวอมเทา ปลายช่อเป็นดอกย่อยสีเขียวเข้ม ดอกย่อยแต่ละช่อมีมากกว่า 30 ดอกขึ้นไป ซึ่งซ้อนกันหนา แต่เกาะกันหลวมๆ
ดอกบร็อคโคลีที่เรานำมารับประทาน คือ ส่วนของดอกอ่อน ประกอบด้วยดอกย่อยที่แต่ละดอกจะมีอายุแตกต่างกัน มีก้านดอกเป็นแกนกลางร่วมกัน ดอกอ่อนจะมีปลายดอก หรือเรียกว่า เฮด (Head) เป็นสีเขียว ก้านดอกด้านล่างมีสีขาว เมื่อดอกแก่ ก้านดอกจะแทงขึ้นสูง และดอกจะบานออก ตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอกขนาดเล็ก สีเหลือง จำนวน 4 กลีบ ด้านในมีเกสรเพศผู้ 6 อัน รังไข่มี 2 ห้อง
ผล และเมล็ด
ผลบร็อคโคลี เรียกเป็นฝัก (silique) มีก้านฝักขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ฝักมีลักษณะเรียวยาว คล้ายกับฝักผักกาดทั่วไป ฝักกว้างประมาณ 3-5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ฝักมีร่องหรือรอยตะเข็บ 2 อัน ซ้าย-ขวา ตามแนวยาวด้านข้างฝัก ด้านในฝักมีเมล็ด ฝั่งละ 10-20 เมล็ด โดยฝักส่วนปลายจะไม่มีเมล็ด เพราะเป็นส่วนที่พัฒนามาจากก้านเกสรตัวเมีย ทั้งนี้ ฝักจะแก่ประมาณ 50-90 วัน หลังดอกบาน จำนวนฝักต่อต้นประมาณ 200-300 ฝัก หรือมากกว่า
เมล็ดมีลักษณะทรงกลมขนาดเล็ก เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลแดง และแก่มากเป็นสีดำ ขนาดเมล็ดประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เมล็ด 1,000 เมล็ด จะหนักประมาณ 3-4 กรัม
คุณค่าทางโภชนาการของบล็อกโคลี่ (100 กรัม)
ดอกบร็อคโคลี่สด | ใบบร็อคโคลี่สด | ||
Proximates | |||
น้ำ | กรัม | 89.30 | 90.69 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี | 34 | 28 |
โปรตีน | กรัม | 2.82 | 2.98 |
ไขมัน | กรัม | 0.37 | 0.35 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 6.64 | 5.06 |
เส้นใย | กรัม | 2.6 | 2.3 |
Minerals | |||
แคลเซียม | มิลลิกรัม | 47 | 48 |
เหล็ก | มิลลิกรัม | 0.73 | 0.88 |
แมกนีเซียม | มิลลิกรัม | 21 | 25 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 66 | 66 |
โพแทสเซียม | มิลลิกรัม | 316 | 325 |
โซเดียม | มิลลิกรัม | 33 | 24 |
สังกะสี | มิลลิกรัม | 0.41 | 0.40 |
Vitamins | |||
วิตามิน C, (กรมแอสคอบิค) | มิลลิกรัม | 89.2 | 93.2 |
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.071 | 0.065 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 0.117 | 0.119 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 0.639 | 0.638 |
วิตามิน B-6 | มิลลิกรัม | 0.175 | 0.159 |
โฟเลต, DFE | ไมโครกรัม | 63 | 71 |
วิตามิน B-12 | ไมโครกรัม | 0.00 | 0.00 |
วิตามิน A, RAE | ไมโครกรัม | 31 | – |
วิตามิน A, IU | IU | 623 | 16,000 |
วิตามิน E | มิลลิกรัม | 0.71 | – |
วิตามิน D | IU | 0 | 0.00 |
วิตามิน K | ไมโครกรัม | 101.6 | – |
Lipids | |||
กรดไขมัน | กรัม | 0.039 | 0.054 |
คอลเลสเตอรอล | มิลลิกรัม | 0 | 0.00 |
ที่มา :ดอก USDA Nutrient Database, ใบ USDA Nutrient Database
สรรพคุณบล็อกโคลี่
– ป้องกันการเกิดมะเร็ง
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
– ช่วยลดคอเรสเตอรอลในเส้นเลือด โดยเฉพาะ pectin fiber หรือเรียก calcium pectate มีคุณสมบัติลดการปล่อยคอเรสเตอรอลจากตับสู่กระแสเลือดได้
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
– ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– ต้านอนุมูลอิสระ
สารต้านอนุมูลอิสระ(antioxidant) ซัลโฟราเฟน (sulforaphane) พบมากในบร็อคโคลี่ สามารถออกฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็งได้ ได้แก่
– มะเร็งปอด
– มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
– มะเร็งเต้านม
– มะเร็งต่อมลูกหมาก
– มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
– มะเร็งลำ ไส้ใหญ่
– โรคมะเร็งกระเพาะ (ซัลโฟราเฟนเข้าไปยับยั้ง และทำลายแบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่เป็นสาเหตุมะเร็งกระเพาะ)
– ซัลโฟราเฟน สามารถป้องกัน retina และผิวหนัง จากการเข้าทำลายของรังสี UV ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งที่ผิวหนังได้
– การรับประทานดอกอ่อนบร็อคโคลีในระหว่างการตั้งครรภ์ จะช่วยให้มารดามีสุขภาพแข็งแรง ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือดทั้งในมารดา และทารกในครรภ์ รวมถึงช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ดี
เพิ่มเติมจาก (1), (4), (5) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
การปลูกบล็อกโคลี่
บร็อคโคลี เติบโตได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 15.60-18.30 องศาเซลเซียส แต่พันธุ์เบาที่ปลูกในไทยสามารถเติบโตได้ในอุณหภูมิที่สูงกว่า แต่หากอุณหภูมิสูงมากหรือต่ำมากก็จะทำให้ดอกมีขนาดเล็กลง เพราะออกดอกเร็วกกว่าปกติ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การปลูกในประเทศไทยคือ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงที่มีอากาศหนาวไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ช่วง 18-27 องศาเซลเซียส จึงนิยมปลูกในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในภาคเหนือหรือภาคอีสานตอนบน แต่ก็สามารถปลูกได้ในภาคอื่นๆได้เช่นกัน แต่จะให้ผลผลิตต่ำกว่า ดอกบานเร็วกว่ากำหนด ดอกมักไม่มีคุณภาพ ดอกมีขนาดเล็ก และมีสีเหลือง
พันธุ์บร็อคโคลี่
พันธุ์บร็อคโคลี่ จำแนกตามสีดอก
1. กลุ่มดอกสีม่วง (purple sprout) ได้แก่ พันธุ์ Christmas Purple Sprout
2. กลุ่มดอกสีขาว (white sprout) ได้แก่ พันธุ์ Early White Sprout
3. กลุ่มดอกสีเขียว (green sprout) ได้แก่ พันธุ์ Green Comet
พันธุ์บร็อคโคลี่ที่จำหน่ายในประเทศไทย (พันธุ์เบา เพราะต้องการอุณหภูมิสูงกว่าพันธุ์หนัก)
1. พันธุ์ Di Cico
– อายุเก็บเกี่ยว 60 วัน หลังย้ายปลูก เป็นพันธุ์ที่ให้ผลดีมาก
2. พันธุ์ Morakot
– อายุเก็บเกี่ยว 55 วัน หลังย้ายปลูก เป็นพันธุ์ลูกผสม (F1)
3. พันธุ์ Negro
– อายุเก็บเกี่ยว 55 วัน หลังย้ายปลูก เป็นพันธุ์ลูกผสม (F1)
4. พันธุ์ Toro
– อายุเก็บเกี่ยว 55 วัน หลังย้ายปลูก เป็นพันธุ์ลูกผสม (F1)
5. พันธุ์ Top Green
– อายุเก็บเกี่ยว 55 วัน หลังย้ายปลูก
6. พันธุ์ ตราช้าง เบอร์ 12
– อายุเก็บเกี่ยว 56 วัน หลังย้ายปลูก
7. พันธุ์ ตราช้าง เบอร์ 30
– อายุเก็บเกี่ยว 49 วัน หลังย้ายปลูก
8. พันธุ์ โคย่า
– อายุเก็บเกี่ยว 56 วัน หลังย้ายปลูก
ที่มา : (1)
พันธุ์หนัก และพันธุ์เบา
1. พันธุหนัก มีอายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 86-150 วัน
2. พันธุเบา มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 50-85 วัน แต่ส่วนมากไม่เกิน 60 วัน เป็นพันธุ์ที่ปลูกในไทย ได้แก่
– พันธุ์ท็อปกรีน (Top greens)
– พันธุ์กรีนโคเมท ไฮบริด (Green comet hybrid, Takkii)
– พันธุ์กรีนดุก เบอร์ 4 ไฮบริด (Green duke No. 4, hybrid)
– พันธุ์กรีนเบลเล่ไฮบริด (Green bella hybrid, Kyowa)
– พันธุ์เออลี่แวลู ไฮบริด (Early value hybrid, Known you)
ที่มา : (2)
ลักษณะพันธุ์บร็อคโคลีที่เหมาะสมในไทย
1. เป็นพันธุ์เบา และมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น
2. ดอกย่อยรวมตัวกันแน่น
3. ดอกอ่อนสีเขียวเข้ม
3. ดอกมีขนาดสม่ำเสมอ
4. ดอกประธาน 10-15 เซนติเมตร
5. เติบโตเร็ว และผลผลิตต่อไร่สูง
6. ไม่แตกแขนงก่อนเก็บเกี่ยว
7. ทนทานต่อโรค
ที่มา : (3)
การเตรียมแปลงเพาะกล้า
แปลงสำหรับเพาะกล้าพันธุ์ สามารถเตรียมด้วยการไถพรวนหรือขุดพรวนด้วยจอบ 1 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด จากนั้น ตากแปลงนาน 5-7 วัน จากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3 กิโลกรัม/ตารางเมตร ก่อนพรวนให้เข้ากัน
การเตรียมกล้าพันธุ์
การเพาะกล้าบร็อคโคลี่ สามารถเพาะได้ทั้งในแปลงเพาะ และเพาะในถาดหลุม การเพาะในแปลงเพาะใช้วิธีการหว่านเมล็ดลงแปลง ส่วนการเพาะในถาดหลุมจะใช้วิธีหยอดเมล็ด 2-3 เมล็ด ลงเพาะ หลังจากนั้น ให้น้ำ และดูแลจนกล้ามีอายุ 25-30 วัน
การย้ายกล้าลงปลูกมีผลต่อขนาดดอกบร็อคโคลี่ หากย้ายกล้าช้าก็จะทำให้ดอกมีขนาดเล็กลง โดยอายุกล้าบร็อคโคลี่ ที่เหมาะแก่การย้ายปลูก ประมาณ 25-30 วัน หลังเมล็ดงอก ซึ่งต้นกล้าจะแตกใบจริงแล้ว 4-5 ใบ แล้วจึงย้ายปลูกลงแปลง
การเตรียมแปลงปลูก
แปลงปลูกจะต้องไถพรวนดิน และตากดิน นาน 7-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชหรือเศษซากพืชเก่าออกให้หมด จากนั้น ไถยกร่องแปลง ระยะห่างประมาณ 50-60 เซนติเมตร ก่อนนำปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตัน/ไร่ หว่านโรยตามแนวร่อง พร้อมปุ๋ยเคมีสูตร 27-6-6 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนจะเกลี่ยดินด้านข้างลงผสม
วิธีการปลูก
นำต้นกล้าลงปลูกในร่องที่เตรียมไว้ ปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 40 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวที่ยกร่องไว้ 50-60 เซนติเมตร จากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม
การให้น้ำ
หลังการปลูกในระยะ 1 สัปดาห์แรก ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ครั้ง แล้วค่อยเพิ่มระยะห่างเป็นวันเว้นวัน และ 2-3 ครั้ง/อาทิตย์ และในระยะเริ่มออกดอก เพิ่มการให้น้ำเป็นวันละ 1 ครั้ง หรือ วันเว้นวัน
การกำจัดวัชพืช
หลังจากปลูกแล้ว ประมาณ 15 วัน ให้เริ่มกำจัดวัชพืช และกำจัดวัชพืชต่อเนื่องในทุกๆ 20 วัน ด้วยการใช้จอบถาก
การใส่ปุ๋ย
หลังจากปลูกบล็อกโคลี่แล้ว 5 วัน ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ โดยโรยให้ห่างจากโคนต้น 15-20 เซนติเมตร หลังจากนั้น ให้ใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรก 15 วัน ในสูตร 15-15-15 ในอัตรา 5-10 กิโลกรัม/ไร่ และอีกครั้งหลังจากใส่ครั้งที่ 2 ประมาณ 20-25 วันในอัตราเดียวกันกับครั้งที่ 2
ทั้งนี้ ควรสังเกตสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยเฉพาะธาตุโมลิบดินัม และโบรอน ซึ่งบร็อคโคลี่เป็นพืชที่ต้องการ 2 ธาตุนี้สูงที่สุดในบรรดาธาตุอาหารเสริมทั้งหลาย หากดินมีธาตุโมลิบดินัมจนบร็อคโคลี่ขาดจะทำให้เกิดโรคไส้ดำ ส่วนการขาดธาตุโบรอนจะทำให้ดอกมีสีน้ำตาล ดังนั้น เวลาซื้อปุ๋ยควรมีแร่ธาตุเหล่านี้เสริมมาด้วย
การตัดแต่งใบ
หลังย้ายปลูกแล้วประมาณ 15 วัน ให้เริ่มการตัดแต่งใบ และตัดแต่งใบในทุกๆ 10 วัน
การเก็บดอก และการเก็บรักษา
บร็อคโคลี่ สามารถเก็บดอกอ่อนได้ภายใน 50-60 วัน หลังย้ายกล้าปลูก การเก็บเกี่ยว ควรเก็บในช่วงเช้าหรือเย็น โดยเลือกเก็บเฉพาะดอกอ่อนที่ยังไม่ปริบานเท่านั้น และขนาดดอกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ขึ้นไป ทั้งนี้ จะต้องเก็บให้ทันก่อนที่ดอกจะบาน
หลังจากที่เก็บดอกมาแล้ว ให้ทำความสะอาดดอกบร็อคโคลี่ด้วยการเช็ดด้วยผ้าสะอาด หรือใช้แปรงปัด หรือจุ่มดอกลงในน้ำ หลังจากนั้น ตัดก้านใบบริเวณโคนช่อออกให้หมด ให้เหลือไว้เฉพาะใบที่ติดอยู่กับดอก ก่อนจะบรรจุถุงพลาสติกเตรียมส่งจำหน่าย
บร็อคโคลี เป็นผักที่มีอัตราการหายใจสูง ทำให้ดอกที่เก็บมาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเร็ว คือ ภายใน 2-3 วัน แต่หากเก็บไว้ในตู้เย็นจะยืดอายุการเก็บได้ประมาณ 5-7 วัน หรือเก็บที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จะเก็บไว้ได้นาน 10-14 วัน
โรค และแมลงศัตรู
1. โรคใบเน่า
โรคใบเน่า มีสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas campestris อาการที่พบ คือ ขอบใบแห้ง เว้าเป็นรูปสามเหลี่ยมเข้าลุกในแผ่นใบ ปลายแหลมหันไปทางเส้นกลางใบ และลุกลามไปทั่วไป ทำให้ใบแห้งเหลือง และใบร่วง การเติบโตหยุดชะงัก ทำให้ยืนต้นตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด : ไถพรวนแปลง และตากดินก่อนปลุก พร้อมกำจัดวัชพืชหรือเศษผักอื่นออกให้หมด หากพบแพร่ระบาด ให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเชื้อรา
2. โรคใบจุด
โรคใบจุด มีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Alternaria brassicae พบเกิดในระยะต้นอ่อนของบร็อคโคลี อาการที่พบ คือ เกิดจุดช้ำที่ใบ แล้วกลายเป็นแผลวงกลมขนาดเล็ก จุดแผลมีสีน้ำตาลอ่อนหรือม่วงจางๆ ผิวใบขอบแผลตาย หากระบดมากจะทำให้ใบเปื่อยยุ่ย แลหลุดร่วง ทำให้ต้นหยุดเติบโต และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด : ทำแบบเดียวกันกับโรคใบเน่า และหากพบการแพร่ระบาดให้ฉีดพ่นยากำจัดเชื้อรา
3. หนอนกระทู้หอม
หนอนกระทู้หอม เป็นตัวอ่อนระยะหนอนของผีเสื้อที่มีสีน้ำตาลอมปนเทา ชอบวางไข่ใต้ใบบร็อคโคลี่ เมื่อฟักออกจะเป็นตัวหนอน ลำตัวส่วนบนมีหลายสี อาทิ สีเขียวอ่อน สีเทาอมดำ หรือสีน้ำตาลอมดำ ส่วนด้านข้างลำตัวมีแถบสีขาวพาดตามความยาว ข้างละ 1 แถบ ซึ่งจะเข้ากัดกินใบจนหมดลำต้น ทำให้การเติบโตหยุดชะงัก และลำต้นเหี่ยวตาย
การป้องกันกำจัด : รีบทำลายต้นที่ระบาด หรือใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น
4. หนอนกระทู้ผัก
หนอนกระทู้ผัก เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อขนาดกลาง ลำตัวอ้วนป้อม ยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ลำตัวมีจุดสีดำขนาดใหญ่บริเวณปล้องที่ 3 ซึ่งจะเข้ากัดกินใบ และยอดอ่อน รวมถึงช่อดอกอ่อน
การป้องกันกำจัด : รีบทำลายต้นที่มีการระบาด หรือใช้สารฆ่าแมลงฉีดพ่น เมื่อพบการแพร่ระบาด
ขอบคณภาพจาก siam-care.com/, spokedark.tv/, BlogGang.com/, backyardbutterflygarden.com/, julinc.com/
เอกสารอ้างอิง
(1) ปรัศนีย์ วังหล่อ. 2551. สภาวะที่เหมาะสมในการลดอุณหภูมิเฉียบพลัน-
ของบร็อคโคลี่โดยใช้ระบบสุญญากาศ-
และสุญญากาศร่วมกับน้ำ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(2) สุนทร เรืองเกษม, 2539, คู่มือการปลูกผัก.
(3) ไฉน ยอดเพชร, 2536, พืชผักในตระกูลครูซิเฟอร์ (Cruciferous crops).
(4) ญาณี โปธาดี, 2555, การคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมระหว่างคะน้า-
และบร็อคโคลีเพื่อเพิ่มปริมาณสารซัลโฟราเฟน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(5) การทดสอบการติดเมล็ดของบร็อคโคลีพันธุ์การค้า.