ถั่วแปะยี (Lab lab Bean) ประโยชน์ และสรรพคุณถั่วแปะยี

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ถั่วแปะยี (Lab lab Bean) เป็นพืชตระกูลถั่วที่พบปลูกทั่วไปในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมใช้ประกอบอาหาร ทำขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยว เพราะให้คุณค่าทางอาหารสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี

• วงศ์ : Leguminosae/Fabaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dolichos lablab Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Lablab Bean
– Dolichos bean
– Hyacinth Bean
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ถั่วแปะยี
– ถั่วแปจี
– ถั่วแปบ
– ถั่วแปะหล่อ
– ถั่วหลวง

ที่มา : [1]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ถั่วแปะยี มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศ เอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งพบปลูกมากทางภาคเหนือของไทย [1]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
ถั่วแปะยี เป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยประเภทกึ่งเลื้อย ลำเถามีลักษณะกลม ค่อนข้างใหญ่ เถาโคนต้นมีสีน้ำตาล เถาส่วนกลาง และปลายมีสีเขียว มีขนปกคลุม เถาสามารถเลื้อยยาวได้มากกว่า 2 เมตร

ระบบรากถั่วแปะยีประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง มีระบบรากลึก แตกรากแขนงมาก รากมีการสร้างปม และตรึงไนโตรเจนได้เช่นเดียวกับถั่วอื่นๆ

ใบ
ใบถั่วแปบออกเป็นชุด คล้ายถั่วพู ออกบริเวณข้อของเถา ประกอบด้วยก้านใบหลัก บนก้านใบหลักมีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยมีก้านใบสั้น แผ่นใบย่อยมีรูปไข่ ใบย่อยตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าสองใบด้านข้าง ขนาดใบกว้าง และยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างบาง มีสีเขียวเข้ม

ดอก
ถั่วแปบ ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ แต่ละช่อมีดอกย่อย 3-20 ดอก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น สีเขียว กลีบเลี้ยงมีสีเขียวห่อหุ้มเป็นกรวยที่โคนดอก กลีบดอกมีสีขาวนวล แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกบานออกเต็มที่ ถัดมาชั้นในมี 2 กลีบ ประกบกันอยู่ ส่วนอีกกลีบมีลักษณะงองุ้มเข้าตรงกลางดอก และหุ้มส่วนของเกสรไว้

ฝัก
ถั่วแปบ/ถั่วแปะยี มีฝักเป็นรูปแบน งองุ้มเล็กน้อย ปลายฝักเรียวแหลม กว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาว 5-10 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียวหรือม่วง เมื่อจับดูจะรู้สึกมีน้ำมันเคลือบฝัก ฝักแก่มีสีน้ำตาล ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลอมแดงหรือสีครีมหรือสีอื่นๆตามสายพันธุ์เรียงขวางซ้อนกัน เมล็ดมีลักษณะกลม ผิวเรียบ และเป็นมัน ทั้งนี้ ถั่วแปบจะมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 175-185 วัน หลังปลูก [2]

ประโยชน์ถั่วแปะยี
1. เมล็ดแห้งถั่วแปะยีใช้คั่วรับประทานเป็นขนมขบเคี้ยว
2. เมล็ดใช้ประกอบอาหาร จำพวกต้มหรือต้มซุปต่างๆ
3. เมล็ดใช้ทำขนมหวานหรือบดเป็นแป้งทำขนมหรือไส้ขนม
4. ฝักอ่อนใช้ประกอบอาหาร อาทิ ผัด แกง ยำหรือซุป หรือรับประทานฝักสดเป็นอาหารคู่กับข้าว
5. ฝักอ่อนใช้ประกอบอต้มใส่น้ำตาลรับประทาน ต้มทำซุป และทำไส้ขนม เป็นต้น
6. เมล็ดถั่วแปะยีแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ซอสถั่ว และถั่วเน่า เป็นต้น
7. ทุกส่วนทั้งใบ ยอดอ่อน และเมล็ดถั่วแปะยี ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์

คุณค่าทางโภชนาการเมล็ดถั่วแปะยี (เมล็ด 100 กรัม)

ถั่วแปะยีดิบ ถั่วแปะยีคั่ว
Proximates
น้ำ กรัม 10.3 6.4
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 350 370
โปรตีน กรัม 31.1 29.2
ไขมัน กรัม 0.8 2.9
คาร์โบไฮเดรต กรัม 54.5 56.8
ใยอาหาร กรัม 1.3 0.9
เถ้า กรัม 3.3 4.7
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 33
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 398 481
เหล็ก มิลลิกรัม 8.4
Vitamins
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.52 0.16
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.35 3.63
ไนอะซีน มิลลิกรัม 4.1 2.1

ที่มา : [3]

สรรพคุณถั่วแปะยี
– ช่วยลดไข้
– บำรุงร่างกาย
– แก้อาการอ่อนเพลีย
– กระตุ้นการขับถ่าย
– แก้อาการท้องผูก
– ป้องกันโรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร
– รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยลดความอ้วน ช่วยให้ร่างกายสมส่วน

เพิ่มเติมจาก [4]

ขอบคุณภาพจาก http://deebeans.lnwshop.com/, thespruce.com/, rareseeds.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] เดชา ศิริภัทร. (2540). ถั่วแปป ผักพื้นบ้านชื่อไทยโบราณ. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอ
ชาวบ้าน. เล่ม 221.
[2] ฝ่ายเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์, 2536, บทบาทพันธุ์ไม้พืชตระกูลถั่วต่างๆ, วารสารชาวเกษตร, ปีที่ 13 ฉบับที่ 142.
[3] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
[4] จันทนา บุญประภา และศรีสุดา เตชะสาน, ถั่วแป๊ะยี, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2561, เข้าถึงได้ที่ : http://www.agriman.doae.go.th/home/news3/news3_1/rai/010_lablab%20bean(31.08.11).pdf/.