Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
ถั่วลาย (Butterfly pea) จัดเป็นถั่วประเภทเถาเลื้อย นิยมใช้เมล็ดเป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ รวมถึงใช้สำหรับประกอบอาหารของมนุษย์ นอกจากนั้น ลำต้นมีประโยชน์เป็นพืชคลุมดิน และช่วยบำรุงดิน เพราะสามารถตรึงไนโตรเจนไว้ในปมรากได้
• วงศ์ : Fabaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Centrosema pubescens Benth.
• ชื่อสามัญ : Butterfly pea
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ถั่วลาย
ภาคตะวันออก
– ถั่วสะแดด (ปราจีนบุรี)
ที่มา : [5]
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ถั่วลาย มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอเมริกากลาง อเมริกาใต้ และหมู่เกาะคาริเบียน เป็นถั่วที่เติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อนชื้น รวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยนำถั่วลายเข้ามาปลูกครั้งแรกจากประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ. 2498 แต่ก็เคยมีการพบเห็นถั่วลายเติบโตอยู่ในสวนยางทางภาคใต้มาก่อนนี้แล้ว ซึ่งใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชคลุมดิน และช่วยบำรุงดิน รวมถึงนำเมล็ดมาใช้ประกอบอาหารหรือใช้เป็นอาหารสัตว์ ต่อมามีการนำถั่วลายเข้ามาจากหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ [1]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ถั่วลาย เป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ลำเถาทรงกลม เป็นข้อๆ ค่อนข้างแห้ง และเหนียว เถาเลื้อยพาดตามพุ่มไม้หรือกิ่งไม้อื่น เถามีขนาดเล็ก 1.4-2 มิลลิเมตร เลื้อยยาวได้ 0.5-1.5 เมตร เถาแตกเถาย่อยตามข้อ ส่วนระบบรากเป็นระบบรากแก้ว รากแขนง และรากฝอย รวมถึงมีระบบรากแตกออกบริเวณข้อของโคนต้น
ใบ
ใบถั่วลายออกเป็นชุด บริเวณข้อลำต้น ประกอบด้วยก้านใบหลัก ทรงกลม ยาวประมาณ เซนติเมตร บนก้านใบหลักมีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยด้านข้าง ใบมีหูใบเป็นแผ่นเล็กๆ ใบมีรูปไข่ ค่อนข้างยาว และแคบ ปลายใบมนหรือเรียวแหลม และค่อยๆแผ่กว้างออกจากฐานใบ แผ่นใบมีสีเขียวเข้ม เป็นมัน มีขนปกคลุม และค่อนข้างหยาบเหนียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบกลาง กว้างประมาณ 3.3-4.2 เซนติเมตรยาวประมาณ 4.5-7.7 เซนติเมตร ส่วน 2 ใบ ด้านข้าง กว้างประมาณ 2.3-3.3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4.4-5.4 เซนติเมตร ทั้งนี้ ดอกจะออกในช่วงเดือนตุลาคม – กันยายน
ดอก
ถั่วลายออกดอกเป็นช่อบริเวณมุมใบ จัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ผสมเกสรได้ในดอกเดียวกัน แต่ละช่อมีดอกย่อย 3-5 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายกับดอกอัญชัน แต่ดอกถั่วลายจะมีสีขาวอมม่วงหรือม่วงอ่อน ซึ่งอ่อนกว่าดอกอัญชันที่มีสีม่วงเข้มหรือน้ำเงินอมม่วง
ดอกประกอบด้วยก้านช่อดอกทรงกลม ยาวประมาณ 2.5-7 เซนติเมตร ถัดมาเป็นใบประดับ มีรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยง มีรูประฆัง ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก ถัดมาเป็นกลีบดอก แบ่งเป็นกลีบดอกตรงกลางที่มีลักษณะกลม แผ่นกลีบมีสีขาวอมม่วง ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โคนกลีบมีขนปกคลุม ส่วนกลีบล่างแบ่งเป็น 2 กลีบ มีลักษณะครึ่งวงกลมหรือเป็นรูปไต ขนาดใหญ่กว่ากลีบกลาง แผ่นกลีบมีสีขาวอมม่วง ส่วนด้านในมีเกสรตัวผู้ 10 อัน ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 อัน มีรังไข่อยู่ด้านล่าง
ฝัก
ฝักถั่วลาย มีลักษณะกลม ค่อนข้างแบน ตรง เรียวยาว และปลายฝักเป็นจะงอย โดยทั่วไปจะคล้ายกับฝักถั่วแดง แต่เล็ก และยาวกว่า ขนาดฝักกว้าง ประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9.5-11.5 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล และแก่จัดเป็นน้ำตาลอมดำ ภายในฝักมีเมล็ดเรียงซ้อนกันตามแนวยาวของฝัก จำนวนเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นสีเหลี่ยมขอบเหลี่ยมมน เปลือกเมล็ดมีพื้นสีเทาอมน้ำตาล และมีลายประของสีดำประ ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร เมล็ด 1 กิโลกรัม มีน้ำหนักประมาณ 33,000-40,000 เมล็ด [2], [5]
ประโยชน์ถั่วลาย
1. เมล็ดถั่วลายใช้ต้มใส่น้ำตาลรับประทาน ต้มทำซุป และทำไส้ขนม เป็นต้น
2. เมล็ดถั่วลายนำมาบดแป้งดิบหรือนึ่งสุก ก่อนตากแห้ง และบดทำแป้งสุก แป้งถั่วลายใช้ทำขนมหรือไส้ขนมต่างๆ
3. เมล็ดถั่วลายแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ซอสถั่ว และถั่วเน่า เป็นต้น
4. เมล็ดถั่วลายแปรรูปเป็นอาหารเสริมผสมกับเมล็ดธัญพืชอื่นๆ
5. เมล็ดถั่วลายใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์หรือใช้เลี้ยงสัตว์โดยตรง โดยเฉพาะไก่ และสุกร
คุณค่าทางโภชนาการเมล็ดถั่วลาย (เมล็ด 100 กรัม)
ถั่วลายรวมเปลือก | ถั่วลายแยกเปลือก | ||
Proximates | |||
น้ำ | กรัม | 9.5 | 11.1 |
พลังงาน | กิโลแคลอรี่ | 360 | 354 |
โปรตีน | กรัม | 23.8 | 25.1 |
ไขมัน | กรัม | 2.4 | 2.3 |
คาร์โบไฮเดรต | กรัม | 60.9 | 58.2 |
ใยอาหาร | กรัม | 3.8 | 1.8 |
เถ้า | กรัม | 3.4 | 3.3 |
Minerals | |||
เหล็ก | มิลลิกรัม | 6.6 | 7.2 |
ฟอสฟอรัส | มิลลิกรัม | 37 | 44 |
Vitamins | |||
ไทอะมีน | มิลลิกรัม | 0.29 | 0.28 |
ไรโบฟลาวิน | มิลลิกรัม | 1.25 | 1.39 |
ไนอะซีน | มิลลิกรัม | 4.4 | 3.7 |
ที่มา : [3]
สารสำคัญ และคุณสมบัติพิเศษ
ถั่วลายมีสารสำคัญชนิดเดียวกับถั่วอื่นๆหลายชนิด คือ ที่ชื่อ ฟาซีสโอลามีน (phaseolamin) มีคุณสมบัติต้านการทำงานของเอนไซม์อะไมเลส คือ ทำให้เอนไซม์มีคุณสมบัติเป็นกลาง ทำให้การย่อยสลายแป้งได้น้อยลงหรือเป็นไปอย่างช้าๆ ปริมาณน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มนาน นอกจากนั้น ร่างกายยังดึงไขมันบางส่วนออกมาชดเชยพลังงานส่วนขาดไป จนไขมันในร่างกายลดลง สรีระสมส่วน และช่วยลดความอ้วน
สรรพคุณถั่วลาย
– กระตุ้นการขับถ่าย
– แก้อาการท้องผูก
– ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร
– รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยลดความอ้วน ช่วยให้ร่างกายสมส่วน
– เสริมสร้างการเติบโต ซ่อมแซมเนื้อเยื่อ
การปลูกถั่วลาย
ถั่วลายสามารถเติบโต และปรับตัวได้ดีในประเทศเขตร้อนชื้น มีอุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วง24 – 32 ºC และไม่ทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็น เช่น ถ้าอุณหภูมิในช่วงปลูกอยู่ในช่วง 15 – 26 ºC จะมีอัตราการเติบโตลดลงได้ถึง 6 เท่า ดังนั้น เกษตรกรจึงไม่นิยมปลูกในช่วงหน้าหนาว แต่ก็มีรายงานพบการเติบโตของถั่วลายบนที่สูง 1,260 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลในประเทศปานามา นอกจากนั้น ยังเติบโตได้ดีในพื้นที่ร้อนชื้นที่มีฝนตกชุกมากกว่าปีละ 1,000 มิลลิเมตร [4] อ้างถึงใน Hutton (1970)
ส่วนสภาพดิน พบว่า ถั่วลายสามารถเติบโตได้ดีในหลายชุดดินของไทย แต่ทั่วไปจะขึ้นได้ดีในดินร่วนปนทราย และระบายน้ำดี สามารถทนต่อความเค็ม และดินเป็นกรดได้ดี แต่ไม่ทนต่อสภาพน้ำท่วมขัง
การเตรียมแปลงปลูก
– แปลงปลูกถั่วลาย ควรเป็นพื้นที่ดอนหรือมีลาดเทด้านในด้านหนึ่ง ไม่เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง เป็นดินร่วนปนทราย ไม่แนะนำปลูกพื้นที่ดินเหนียว เพราะมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังง่าย
– ไถพรวนดิน 1-2 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืช โดยหว่านด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ การการไถ หรืออาจหว่านปุ๋ยเคมีรองพื้นร่วมด้วย ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 10-15 กิโลกรัม/ไร่
การปลูก
การปลูกถั่วลายนิยมแบบหยอดเมล็ด เพราะลำต้นเลื้อยเป็นเถา โดยขีดร่องด้วยไม้หรือใช้คราดดึงมือสำหรับทำร่อง ระยะห่างของร่องประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก่อนโรยเมล็ดตามแนวยาวให้มีระยะห่างสม่ำเสมอ หรือ หยอดเป็นจุดๆ จุดละ 2-3 เมล็ดระยะห่างของจุดประมาณ 30-50 เซนติเมตร จากนั้น เกลี่ยหน้าดินลงกลบร่อง
การถอนต้น และการทำค้าง
เมื่อต้นเติบโตจนมีใบแท้ 3-5 ใบ ให้เลือกถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก เหลือต้นที่สูงใหญ่ไว้ 1-2 ต้น/หลุม พร้อมกับทำค้างปักระหว่างหลุม เช่น
– ค้างปลายไม้ไผ่ ปักระยะห่างระหว่างหลุม 2 หลุม ขึ้นกับความกว้างของแขนงไม้ไผ่
– ค้างลวด ปักเสาสูง 1.5 เมตร ระยะห่างเสา 2-4 เมตร ขึงลวดต่อกันในแต่ละเสาที่ความสูง 40, 80 และ140 เซนติเมตร ขึ้นกับความสูงของเสา
การเก็บฝัก
ฝักถั่วลาย มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 80-120 วัน โดยเริ่มเก็บฝักได้เมื่อฝักเริ่มแห้ง ฝักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และใบเริ่มเหลืองแล้ว การเก็บจะใช้การเด็ดฝักด้วยมือ ก่อนนำเข้าเครื่องแยกเมล็ด ส่วนเปลือกให้รวบรวมโรยลงแปลงตามเดิม พร้อมไถกลบพร้อมกับลำต้น และใบในแปลง ตัวอย่างการปลูกถั่วลายในดินชุดปากช่อง สามารถให้ผลผลิตเมล็ดแห้ง 2.88 ตัน/ไร่ [1]
ขอบคุณภาพจาก dnp.go.th/, pantip.com/
เอกสารอ้างอิง
[1] ชาญชัย มณีดุลย์, 2518, ถั่วลาย, ข่าวสารชมรมนักพืชอาหารสัตว์.
[2] สายัณห์ ทัดศรี, 2520, หลักการทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
[3] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544, ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.
[4] ประวิตร โสภโณดร, 2523, อิทธิพลของอัตราปุ๋ยฟอสฟอรัสต่อผลผลิต-
ของทุ่งหญ้าผสมระหว่างหญ้าบัฟเฟล ถั่วเซอราโตร-
ถั่วลาย และถั่วสไตโล.
[5] สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์, ถั่วลาย (ดอกสีขาว), ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://nutrition.dld.go.th/exhibision/native_grass/legume/Centrosema%20pubescens.htm/.