Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset
ถั่วพู (Wing Bean) จัดเป็นพืชตระกูลถั่วที่นิยมนำฝักอ่อนมารับประทาน ทั้งจิ้มน้ำพริก และประกอบอาหารจำพวกแกง เนื่องจาก เนื้อฝักมีความกรอบ และให้รสมัน ซึ่งแต่ก่อนเป็นผักที่ปลูกตามครัวเรือนสำหรับรับประทานเอง แต่ปัจจุบัน มีการปลูกในแปลงใหญ่สำหรับการค้ามากขึ้น เนื่องจากเป็นที่ต้องการรับประทานมาก
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus Linn.
• ชื่อสามัญ :
– Wing bean
– Princess bean
– Goa bean
– Manila bean
– Four angled bean
– Four angled bean
– Cornered bean
• ชื่อท้องถิ่น : ถั่วพู
การแพร่กระจาย
ถั่วพูเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเขตร้อน ได้แก่ ป่าในแถบปัวปัวนิวกีนี และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งทั่วโลกมีมากกว่า 122 สายพันธุ์ โดยในประเทศไทยสามารถพบถั่วพูได้ในทุกภาพ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น และราก
ต้นถั่วพูเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเถายาวเลื้อยเกาะตามวัสดุหรือต้นไม้อื่น ลำต้นมีลักษณะกลม โคนต้นหรือโคนเถามีสีน้ำตาลอมเขียว ส่วนเถาส่วนปลายมีสีเขียวสด ลำต้นแตกกิ่งสาขาจำนวนมาก ขนาดความยาวของเถาได้มากกว่า 3-4 เมตรโดยเฉพาะลำต้นที่มีค้างให้เลื้อย
รากถั่วพูมีลักษณะเป็นปมหรือกลายเป็นหัวอยู่ใต้ดินจำนวนหลายหัว และมีรากแขนงแตกออกเล็กน้อย ส่วนปลายด้านล่างของหัวจะเป็นรากยาวแทงลงดิน หัวหรือปมรากนี้สามารถนำมารับประทานหรือประกอบอาหารได้
ใบ
ถั่วพู เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ชนิดใบประกอบที่ออกเยื้องสลับกันตามเถา และกิ่งแขนง ก้านใบมีขนาดเล็กสีเขียวสด ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนปลายของก้านใบประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ แตกออกส่วนปลายสลับกันเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยมีใบย่อยคู่แรกตรงข้ามกัน และมีขนาดใบใกล้เคียงกัน ส่วนอีก 1 ใบ จะอยู่ระหว่างใบย่อยทั้งสองใบ
ใบย่อยคู่แรกที่มีขนาดใกล้เคียงกันจะมีก้านใบสั้นหรือโคนใบติดกับส่วนยอดของก้านใบหลัก ใบมีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ มีฐานใบกว้าง ปลายใบแหลม ส่วนอีกใบจะมีก้านใบยาวออกมา และขนาดใบใหญ่กว่า 2 ใบแรก
ใบย่อยแต่ละใบจะมีแผ่น และขอบใบเรียบ แผ่นใบมีสีเขียวสด มีเส้นกลางใบเป็นสีเหลืองมองเห็นชัดเจน และมีเส้นแขนงใบเรียงสลับออกจากเส้นกลางใบ 6-8 เส้น
ดอก
ถั่วพูจะออกดอกเป็นช่อ แต่ละช่อมีดอก 3-12 ดอก แต่จะบานได้เพียง 2-4 ดอก เท่านั้น ดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวสดหุ้มบริเวณฐานดอก ส่วนกลีบดอกมีสีต่างกันตามสายพันธุ์ กลีบดอกเรียงซ้อนกันเป็นกระจะ ไม่เลี้ยงซ้อนเป็นวงกลมเหมือนดอกไม้อื่น ด้านในมีเกสรตัวผู้ 10 อัน ทั้งนี้ ดอกถั่วพูจัดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ สามารถผสมเกสรได้ในดอกตัวเอง ดอกมักจะบานในช่วงเช้า 08-10.00 น. และเกสรตัวผู้จะปล่อยละอองเกสรในช่วงเวลา 01.00-02.00 น.
ดอกถั่วพูมีหลายสีตามชนิดของถั่วพู แต่ที่พบมากในไทย คือ ดอกสีขาวอมม่วงของพันธุ์ฝักเขียว และดอกสีม่วงของพันธุ์ฝักม่วง ทั้งนี้ดอกจะเริ่มออกในช่วงปลายฤดูฝนจนถึงต้นหนาว และดอกจะเริ่มบานหลังจากปลูกแล้วประมาณ 100-120 วัน
ผล/ฝัก
ผลถั่วพูเรียกเป็นฝัก ยาวประมาณ 10-35 เซนติเมตร สีของฝักมีหลายสีจามชนิดพันธุ์ แต่ส่วนมากมักปลูกฝักสีเขียว ฝักสีเขียวนี้ เมื่อแก่มีสีเขียวอมเหลือง สีเหลือง และแห้งจนเป็นสีน้ำตาล ลักษณะของฝักแบ่งเป็น 4 แฉก ขอบแฉกเป็นแผ่นบางๆ และหยักเป็นฟันเลื่อย ตรงกลางฝักเป็นที่อยู่ของเมล็ด เรียงชิดกันตามความยาวของฝัก ทั้งนี้ ชนิดฝักหรือพันธุ์ที่พบปลูกในไทยจะมี 2 ชนิด คือ พันธุ์ฝักสีเขียว และพันธุ์ฝักสีม่วง
เมล็ดถั่วพูมีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วเหลือง มีลักษณะค่อนข้างกลม และแบนเล็กน้อย เปลือกเมล็ดแข็ง และมีตาต้นอ่อนสีขาวอยู่ขอบด้านในของเมล็ด เปลือกเมล็ดมีหลายสีตามชนิดพันธุ์ อาทิ สีขาว สีน้ำ และสีดำ เมล็ดในฝักเขียวอ่อนจะมีเปลือกสีเขียว เนื้อเมล็ดมีสีขาว สามารถเคี้ยวรับประทาน เมื่อแก่หรือเมื่อฝักแห้งจะมีเปลือกเมล็ดเป็นสีน้ำตาล เปลือกเมล็ดเป็นมันวาว ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดได้ประมาณ 5-20 เมล็ด
ขอบคุณภาพจาก www.pantip.com และ www.biogang.net
ประโยชน์ถั่วพู
1. ฝักถั่วพูอ่อน ถือเป็นผักอีกชนิดที่นิยมนำมารับประทานคู่กับน้ำพริก เนื้อฝักมีความกรอบ เนื้อให้รสมันอร่อย อีกทั้งทุกส่วนยังให้โปรตีนสูง
2. เมล็ดถั่วพูนาสกัดน้ำมันสำหรับใช้ประกอบอาหาร ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องสำอาง โดยน้ำมันในเมล็ดจะสกัดได้ประมาณ 16-18%
3. เมล็ดถั่วพูนำมาบดเป็นผงสำหรับทำขนมหวาน รวมถึงใช้ต้มน้ำรับประทานเป็นอาหารเสริม
4. ถั่วพูในทุกส่วนทั้งหัว ลำต้น ใบ ดอก และฝัก สามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี เนื่องจากให้โปรตีนค่อนข้างสูง อาจเก็บฝักให้สัตว์หรือปลูกปล่อยให้สัตว์กินทั้งแปลง
5. ถั่วพู สามารถปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันการชะหน้าดินได้ดี รวมถึงช่วยในการบำรุงดิน โดยเฉพาะการเสริมธาตุไนโตรเจนให้แก่ดิน
6. รากปมหรือหัวถั่วพูนำมาใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงต่างๆ รวมถึงนำเนื้อหัวมาสับ และตากแห้ง ก่อนจะบดทำเป็นแป้งถั่วพูสำหรับใช้ทำขนม
7. แป้งจากหัวถั่วพูนำมาหมักทำไวน์หรือเหล้าสาโท
คุณค่าทางโภชนาการฝักถั่วพูอ่อน (ร้อยละใน 100 กรัม)
คุณค่าทางอาหาร |
ฝักอ่อน |
เมล็ด |
ใบ |
หัว |
ความชื้น | 90.4 | 8.5 | 78.9 | 9.0 |
โปรตีน | 2.9 | 41.9 | 6.3 | 24.6 |
ไขมัน | 0.2 | 13.1 | 1.0 | 1.0 |
คาร์โบไฮเดรต | 5.8 | 31.2 | 7.9 | 56.1 |
กาก | 1.3 | – | 4.1 | 5.4 |
ขี้เถ้า | 0.7 | 5.3 | 1.8 | 3.9 |
โพแทสเซียม | 205 | – | – | – |
แคลเซียม | 63 | – | 0.37 | – |
ฟอสฟอรัส | 37 | – | 0.12 | – |
เหล็ก | 0.3 | – | – | – |
โซเดียม | 3.1 | – | – | – |
ไทอามีน | 0.24 | – | – | – |
ไรโบฟลาวิน | 0.09 | – | – | – |
กรดนิคโคตินิค | 1.2 | – | – | – |
กรดแอสคอร์บิค | 19 | – | – | – |
ไวตามินเอ | 595 IU/100 กรัม | – | – | – |
ที่มา : 1)
สรรพคุณถั่วพู
ฝักถั่วพู
– กระตุ้น และเสริมสร้างการเติบโต
– กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์
– กระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน
– ช่วยในการขับถ่าย แก้อาการท้องผูก
– แก้อาการอักเสบในปากหรือแผลในปาก
– บำรุงหัวใจ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด
– เสริมสร้างกระดูก และลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
ใบถั่วพู
– ช่วยแก้กระหายน้ำ
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยให้ผิวแลดูเปล่งปลั่ง
– ช่วยแก้อาการช้ำใน
ราก และเถาถั่วพู
– ช่วยบำรุงเลือด
– ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการท้องเสีย
ข้อแนะนำการทาน
1. การนำถั่วพูมาแช่น้ำแข็งก่อนรับประทานจะช่วยให้ได้รับความกรอบ และความสดมากขึ้น
2. ฝักถั่วพูที่เก็บมา ควรรับประทานภายใน 3 วัน หรือหากเก็บไว้นานควรแช่เย็นไว้ เพราะเก็บไว้นานจะทำให้ฝักถั่วพูเปลี่ยนเป็นสีเหลืองได้เร็ว ทำให้ไม่น่ารับประทาน และความกรอบจะน้อยลง
ข้อควรระวัง
ในทุกส่วนของถั่วพู ถึงแม้จะมีโปรตีนสูง แต่ก็มีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ทริปซิน ซึ่งจะทำให้โปรตีนที่ได้รับจากอาหารไม่ย่อยหรือย่อยได้น้อยลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายที่ช้าลงเช่นกัน ดังนั้น การรับประทานถั่วพูที่ให้ได้โปรตีนสูง ควรทำถั่วพูให้สุกก่อนทุกครั้ง
การปลูกถั่วพู
การปลูกถั่วพูใช้เพียงวิธีเดียว คือ การปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ไม่เกิน 1 ฤดูเก็บเกี่ยว จึงเปลี่ยนปลูกรุ่นใหม่
สายพันธุ์ถั่วพู
– พันธุ์เลย
– พันธุ์แพร่
– พันธุ์ภูเก็ต
– พันธุ์ราชบุรี
– พันธุ์ฟลอริดา
การเตรียมแปลง
สำหรับการปลูกในแปลงขนาดใหญ่เพื่อการค้า จำเป็นต้องเตรียมแปลงก่อนทุกครั้ง เริ่มจากการไถพรวนดิน 1 รอบ และตากดินนาน 7 วัน พร้อมกับกำจัดวัชพืชด้วย หลังจากนั้น จึงหว่านปุ๋ยคอก 2-4 ตัน/ไร่ พร้อมไถกลบทิ้งไว้ 3-5 วัน
วิธีการปลูก
หลังจากเตรียมแปลงเสร็จแล้ว ให้ใช้คราดแหลม คราดแปลงในแนวยาวเป็นร่องตื้นๆตามแนวยาวของแปลง โดยให้ระยะห่างระหว่างร่องที่ 60 เซนติเมตร จากนั้น โดยนำด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 บางๆ ตลอดแนวร่อง พร้อมหยอดเมล็ดเป็นจุดๆหรือเป็นหลุม หลุมหรือจุดละ 3-4 เมล็ด ระยะห่างของหลุมหรือแต่ละจุดประมาณ 60 เซนติเมตร เช่นกัน ก่อนจะคราดหน้าดินกลบ
การถอนต้นถั่วพู
เมื่อเมล็ดงอกแล้วจึงปล่อยให้ต้นโตได้ประมาณ 1 อาทิตย์ โดยหากหลุมใดเกิดมากกว่า 2 ต้น ให้ถอนต้นถั่วพูที่เล็กออก และคงเหลือไว้ที่ 2 ต้น/หลุม
การทำค้าง
การทำค้างเพื่อให้เถาถั่วพูเลื้อยถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ถั่วพูเติบโตได้ดีกว่าการไม่ทำค้างหรือปล่อยเลื้อยตามดิน
การทำค้างจะเริ่มทำหลังจากปลูกถั่วพูไปแล้วประมาณ 7-14 วัน หรือ ยอดถั่วพูเริ่มแทงยอดยาว ส่วนไม้ทำค้างนิยมใช้ไม้ไผ่ โดยการทำค้างสำหรับการปลูกเพียงไม่กี่หลุมจะใช้ไม่ไผ่ ปักรอบหลุมเป็น 3 เหลี่ยม และด้านบนขึงรัดด้วยไม้ในแนวนอนเป็นสามเหลี่ยมเช่นกัน แต่หากปลูกเป็นแถวยาวในแปลงใหญ่จะนิยมทำค้างในแนวยาว โดยปักเสาไม้ไผ่ค้ำยันเรียงเป็นแถว
การเก็บผลผลิต
ถั่วพูจะปลูกเพื่อรับประทานฝักอ่อนเป็นหลัก ซึ่งมักจะเก็บฝักในระยะที่ฝักยังเป็นสีเขียวอ่อนหรือมีอายุหลังการปลูกประมาณ 140-160 วัน หรือหลังจากติดฝักแล้ว 20-40 วัน ซึ่งจะต้องทยอยเก็บในทุกๆวัน เพราะถั่วพูจะมีฝักที่เติบโตไม่พร้อมกัน
ผลผลิตของถั่วพูในระยะปลูกที่ 60×60 เซนติเมตร ในพื้นที่ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตในส่วนต่างๆ ได้แก่
– เมล็ด 190-200 กิโลกรัม/ไร่
– ฝักแห้ง 250-260 กิโลกรัม/ไร่
– ใบ และเถา 290-300 กิโลกรัม/ไร่
– หัว 200-400 กิโลกรัม/ไร่
เอกสารอ้างอิง