ต้นหมี่/หมี่เหม็น ประโยชน์ สรรพคุณ และวิธีปลูกต้นหมี่

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ต้นหมี่ หรือ หมี่เหม็น (Indian laurel ) เป็นไม้ที่พบได้ทุกภาค ซึ่งจัดเป็นไม้เด่นที่ถูกใช้ประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะใบที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมยาสระผมหรือใช้สระผมที่เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน รวมถึงทุกส่วนถูกใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาหรือบรรเทาโรคได้หลายชนิด

อนุกรมวิธาน [1], [2], [4]
• อาณาจักร (kingdom): Plantae
• ดิวิชั่น (Division): Magnoliophyta
• ชั้น (class): Magnoliopsida
• อันดับ (order): Laurales
• วงศ์ (family): Lauraceae
• สกุล (genus): Litsea
• ชนิด (species): glutinosa

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Litsea glutinosa (Lour.) C.B. Rob.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Litsea chinensis Lam., Litsea sebifera Pers.
• ชื่อสามัญ: Indian laurel
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– หมี่
– ต้นหมี่

ภาคอีสาน
– หมี
– หมี่
– หมีเหม็น

ภาคเหนือ
– ดอกจุ๋ม (ลำปาง)
– ตังสีไพร (พิษณุโลก)
– เส่ปึยขู้ (กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน)
– หมูเหม็น (แพร่)
– มะเย้อ
– ยุบเยา
– อีเหม็น

ภาคใต้
– ทังบวน (ปัตตานี)
– มือเบาะ (มลายู– ยะลา)
– มัน (ตรัง)

ภาคตะวันออก
– กาปรนปราย (ชอง จันทบุรี)
– หมูทะลวง (จันทบุรี)

ภาคตะวันตก
– อีเหม็น (กาญจนบุรี, ราชบุรี)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ต้นหมี่ เป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมในแถบเอเชีย พบได้มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย โดยในไทยพบได้ในทุกภาค พบได้ทั้งในป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ต้นหมี่ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 5-10 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม เปลือกลำต้นมีสีเทาอมดำ และแตกสะเก็ดเป็นแผ่นขนาดเล็ก-กลาง ลำต้นแตกกิ่งในระดับล่าง กิ่ง และใบมีมากทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนา

ใบ
ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับตามความยาวของกิ่ง มีก้านใบสีเขียว ยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร แผ่นใบมีรูปพัด สีเขียวอ่อน (ใบอ่อน) และสีเขียวเข้ม (ใบแก่) โคนใบสอบ ปลายใบกว้าง และมน ขนาดใบกว้างประมาณ 5-10เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นบนด้านบนเป็นมัน ส่วนแผ่นใบด้านล่างมีขนอ่อนปกคลุม

ดอก
ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบใกล้ปลายยอด ดอกเป็นดอกแยกเพศ แยกอยู่คนละต้นกัน ช่อดอกเพศผู้จะมีดอกย่อยประมาณ 8-10 ดอก/ช่อ ตัวดอกมีสีเหลือง ตัวดอกแต่ละดอกอาจพบกลีบดอกเพียง 1-2 กลีบ หรือไม่มีกลีบดอก ภายในดอกตรงกลางมีเกสรตัวผู้ 9-20 อัน ส่วนช่อดอกเพศเมียมีดอกจำนวนน้อยกว่า ตัวดอกมีสีเหลือง และอาจพบกลีบดอกหรือไม่พบเช่นกัน ภายในดอกมีเกสรตัวเมียตรงกลาง

ผล
ผลต้นหมีมีลักษณะกลม ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ผิวผลเกลี้ยง และเป็นมัน เปลือกผลบาง ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีดำ ด้านในเป็นเปลือกผลทรงกลม มีลักษณะแข็ง

ประโยชน์ต้นหมี่
1. ใบหมี่ มีส่วนประกอบของสารเมือก (mucilage) ชาวบ้านในชนบทจึงนิยมนำใบหมี่มาบด และคั้นเอาน้ำสำหรับใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางต่างๆ อาทิ ใช้เป็นส่วนผสมของยาสระผม ครีมนวดผม และสบู่ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนำน้ำคั้นมาใช้สำหรับสระผมโดยตรง ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำรุงเส้นผม ช่วยให้ผมดกดำ ป้องกันการหลุดร่วงของเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังนิยมใช้ส่วนอื่นมาสระผมเช่นกัน อาทิ ผลดิบ และผลสุก


2. ใบนำมาตำพอกศรีษะสำหรับฆ่าเหา หรือ รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อราบนศรีษะ เช่น เกลื้อน กลาก ชันตุ เป็นต้น
3. เปลือกลำต้นใช้ต้มฟอกย้อมไหม แห อวน และผ้าต่างๆ ให้สีแดงเรื่ออ่อนๆ
4. ใบ หรือ เปลือก บดเป็นผง ก่อนผสมกาว ใช้ทำเป็นธูปสำหรับจุดไล่ยุงหรือแมลงรบกวน
5. ยางจากเปลือกนำมาทาเครื่องจักรสาน ช่วยป้องกันแมลงเข้ากัดทำลาย ช่วยให้เครื่องจักรสานมีความคงทน
6. ดอกนำมาตากแห้งก่อนนำไปสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยสำหรับใช้เป็นยาหรือส่วนผสมของเครื่องสำอาง
7. ใบใช้รองอาหาร ใช้ห่อขนม เป็นต้น
8. แก่นใช้ทำเป็นช่อฟ้าอุโบสถ
9. ในด้านความเชื่อ ใบถูกใช้ประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญ และใช้ประกอบพิธีขับไล่ภูตผี ส่วนลำต้นมักเชื่อว่ามีภูตผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ จึงมักถากเปลือกทาแป้งเพื่อการขอหวยเช่นกัน รวมถึงเชื่อว่าคนท้องที่สระผมด้วยใบหมี่ที่ขยำผสมกับน้ำซาวข้าวแล้วจะทำให้คลอดลูกง่าย
10. เนื้อไม้ใช้ประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์ใช้สอยในครัวเรือน อาทิ ด้ามจอบ ด้ามเสียม ด้ามมีด เขียง เป็นต้น
11. เนื้อไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้สอยในครัวเรือน อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ เตียงนอน เป็นต้น
12. เนื้อไม้ใช้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง อาทิ ไม้วงกบ ไม้แปร ไม้ฝ้า ไม้แผ่นปูพื้น เป็น รวมถึงทำเป็นเสาหรือส่วนประกอบอื่นๆของบ้าน
13. เนื่องจากเป็นไม้ไม่ผลัดใบ ใบเขียวสดตลอดทั้งปี ทรงพุ่มหนาทึบ ทำให้เป็นร่มเงาได้เป็นอย่างดี ซึ่งอาจใช้ปลูกภายในบ้านหรือตามไร่นาสำหรับพักอาศัยเป็นร่มกันแดดกันฝน
14. ผลสุกมีรสหวาน จึงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าได้อย่างดี โดยเฉพาะนก และกระแต กระอก

สารสำคัญที่พบ [1], [3]
• B-sitosterol (เปลือก)
• Kaempferol-7-glucoside (เปลือก)
• Pelargonidin-5-glucoside (เปลือก)
• Naringenin-7-monorhamnoside (เปลือก)
• Arabinoxylan (เปลือก)
• Actinodaphnine (แก่น)
• Boldine (แก่น)
• Laurelliptine (แก่น)
• N-acetyl-laurelliptine (แก่น)
• litseglutine A (ใบ)
• litseaglutine B (ใบ)
• Rutin (ใบ)
• Quercetin (ใบ)
• E-Beta-ocimene (ในน้ำมันหอมระเหย)
• Cis-verbenyl acetate (ในน้ำมันหอมระเหย)
• 9-epi-E-caryophyllene (ในน้ำมันหอมระเหย)
• Iso-boldine
• Laruotetanine
• N-acetyl-laurotetanine
• N-methyl-laurotetanine
• Liriodenine
• Litsea Arabinoxylan PPS
• Litseferine
• Polysaccharide
• Reticuline
• Sebiferine

สรรพคุณต้นหมี่ [1], [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
รากต้นหมี่ (ใช้ตำบดทาหรือพอกภายนอก)
– ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย
– ใช้ทารักษาฝี
– ใช้ทาแผล แผลสดหรือแผลเป็นหนอง

รากต้นหมี่ (ใช้ต้มน้ำดื่มหรือผสมเป็นตำรับยารับประทาน)
– ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ช่วยแก้อาการท้องร่วง
– แก้โรคซาง

รากต้นหมี่ (ใช้ดองเหล้าดื่ม)
– แก้ระดูมาไม่ปกติ
– แก้อาการลมชัก

เปลือกต้นหมี่ (มีรสฝาด ใช้ต้มน้ำดื่ม)
– ต้านมะเร็ง หรือ เนื้องอก
– ใช้ป้องกันเชื้อรา
– แก้อาการท้องอืด
– แก้อาการแสบร้อนบริเวณผิวหนัง
– แก้อาการเจ็บปวดหรือปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
– แก้อาการฟกซ้ำดำเขียวตามร่างกาย

เปลือกต้นหมี่ (เคี้ยวอม)
– แก้อาการปวดฟัน
– แก้กลิ่นปากเหม็น

เปลือกต้นหมี่ (ใช้บดทาภายนอก หรือต้มน้ำอาบ)
– แก้อาการระคายเคืองหรือคันตามผิวหนัง
– แก้อาการแสบร้อน อาการฟกซ้ำดำเขียวตามร่างกาย
– ทาพอกรักษาฝี

ใบหมี่ (บดรับประทานหรือต้มน้ำดื่ม)
– แก้อาการปวดมดลูก
– ช่วยบรรเทาอาการปวดฝี
– ช่วยถอนพิษไข้
– แก้อาการท้องร่วง
– แก้อาการท้องอืด

ใบหมี่ (นำมาตำพอกภายนอก)
– แก้อาการฟกช้ำดำเขียว
– ใช้ทารักษาแผลต่างๆ
– ทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ
– ทาแก้พิษแมลงกัดต่อย ช่วยลดอาการปวดบวม
– ใช้ตำบดขยำหรือพอกหนังศรีษะ แก้โรคผิวหนังบนศรีษะ เช่น รังแค

ผลหมี่ และเมล็ด (นำมาตำพอกภายนอก)
– ช่วยพอกฝี ลดอาการปวดฝี
– แก้พิษอักเสบต่างๆ
– ตำบดใช้ทาหรือสระศรีษะ ช่วยรักษารังแค และเชื้อราบนศรีษะ

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
พบรายงานการศึกษาด้วยการประเมินฤทธิ์ประสิทธิภาพการป้องกันความผิดปกติของลิ่มเลือด โดยใช้สารสกัดจากจากใบหมี่ พบว่า สารสกัดจากรากของต้นหมี่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus และสารสกัดจากเปลือกต้นหมี่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อ P. aeruginosa ได้เช่นกัน [1] อ้างถึงใน Hosamath (2011)

พบรายงานการศึกษาประสิทธิภาพการต้านเชื้อแบคทีเรีย ของใบหมี่ พบว่า สารสกัดจากใบหมี่สามารถออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ได้แก่ E.coli, Salmonella spp., S. aureus และ S. epidermis [1] อ้างถึงใน Ahmina (2014)

พบรายงานการศึกษาประสิทธิภาพฤทธิ์สารสกัดจากเปลือกต้นใบหมี่ที่มีต่อต่อการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholera, Pseudomonas aeruginosa และ Salmonella โดยพบว่าสารสกัดมีประสิทธิภาพสามารถยับยั้งแบคทีเรียทั้ง 3 ชนิดได้ โดยมีค่า MIC ในการยับยั้งเชื้อที่ 0.15 ± 0.15 x 102 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร [1] อ้างถึงใน Aronodaya et al. (2016)

ผลการศึกษาสารสกัดจากใบต้นหมี่ที่มีต่อการบำรุงเส้นผม พบว่า อาสาสมัครที่ใช้สารสกัดใบหมี่มีจำนวนเส้นผมที่หลุดร่วงน้อยลง [3]

พบรายงานการศึกษาสารสกัดจากใบหมี่มาทดสอบผลที่มีต่อลำไส้ พบว่า สารสกัดที่ได้มีผลทำลดอาการหดเกร็งของลำไส้ ช่วยแก้อาการท้องเดินได้ รวมถึงพบรายงานการออกฤทธิ์ที่สามารถยังช่วยลดการระคายเคืองตามผิวหนัง ช่วยการสมาน ช่วยป้องกันกันจับตัวของลิ่มเลือด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อีกทั้งยังออกฤทธิ์กระตุ้นความต้องการทางเพศได้อีกด้วย ส่วนน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากผลต้นหมี่ พบสามารถออกฤทธิ์ทำให้สลบได้ ส่วนการศึกษาความเป็นพิษของสารสกัดจากใบหมี่ พบว่า เมื่อฉีดสารสกัดเข้าทางช่องท้องหนูทดลอง พบว่า ขนาดความเข้มข้นต่ำสุดที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีค่ามากกว่า 1 g/kg [3] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

วิธีปลูกต้นหมี่
ต้นหมี่ตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการปลูกในปัจจุบันจะใช้วิธีนำต้นกล้าจากเมล็ดมาปลูกเท่านั้น เนื่องจาก ต้นหมี่ เป็นไม้เนื้อแข็ง ทำให้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีอื่นทำได้ยาก อาทิ การปักชำ หรือ การตอนกิ่ง อีกทั้ง การขยายพันธุ์วิธีอื่นจะได้ต้นหมี่ที่แตกกิ่งน้อย ไม่ได้ทรงพุ่มใหญ่เหมือนการปลูกจากต้นเมล็ด

การปลูกต้นหมี่จากต้นกล้าเมล็ดทำได้ด้วยการนำเมล็ดที่แก่จัด โดยเฉพาะเมล็ดที่ล่นจากต้นมาเพาะจนไดต้นกล้า สูง 20-30 เซนติเมตร จึงย้ายปลูกตามจุดที่ต้องการ หรือ ใช้วิธีหาขุดต้นกล้าตามป่าต่างๆ แต่วิธีนี้จะใช้ได้ผลเฉพาะต้นกล้าที่ยังมีขนาดเล็กที่ความสูงไม่เกิน 5-10 เซนติเมตร เพราะหากต้นสูงกว่านี้ ลำต้นจะมีรากยาวลึกลงดิน เวลาขุดมักทำให้รากขาด เมื่อย้ายมาปลูกก็จะปลูกติดได้ยาก

เอกสารอ้างอิง
[1] ฐานิดา ศรีหาวงศ์ และสุเนตร ขันมา. 2561. การศึกษาการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย-
ก่อโรคผิวหนังอักเสบในสุนัขจากสารสกัดหยาบใบหมี่สด.
[2] ณฐพัชร์ เหล่าอาภาสุวงศ์. 2557. ประสิทธิผลของสารสกัดใบหมี่ต่อการบารุงผม-
เพื่อการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์สาหรับเส้นผม.
[3] ณฐพัชร์ เหล่าอาภาสุวงศ์. 2557. ประสิทธิผลของสารสกัดใบหมี่ต่อการบำรุงผม-
เพื่อการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์สาหรับเส้นผม.
[4] สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. หมี่เหม็น. ออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2563. เข้าถึงได้ที่ : http://biodiversity.forest.go.th/index.php?option=com_dofplant&id=95&view=showone&Itemid=59/