ตะลิงปลิง สรรพคุณ และการปลูกตะลิงปลิง

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

ตะลิงปลิง (Bilimbi) เป็นจัดเป็นไม้ผลที่ให้รสเปรี้ยวจัด นิยมรับประทานผลสด และนิยมนำมาแปรรูปเป็นตะลิงปลิงดอง ตะลิงปลิงแช่อิ่ม นอกจากนั้น ยังนิยมผลนำมาปรุงอาหารในเมนูจำพวกต้มยำ เนื่องจาก ให้รสเปรี้ยวได้ดี รวมถึงยังมีสรรพคุณทางยาที่ได้จากผล และส่วนต่างๆของต้น

• วงศ์ : Averrhoaceae อยู่ในวงศ์เดียวกันกับมะเฟือง
• สกุล : Phyllanthus
• ถิ่นกำเนิด : ภาคใต้ของไทย, ประเทศมาเลเชีย อินโดนีเชีย และสิงคโปร์
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Averrhoa bilimbi L.
• ชื่อสามัญ :
– Bilimbi
– Bilimbing
– Cucumber Tree
– Tree Sorrel
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ตะลิงปลิง (ทุกภาค)
ภาคใต้
– มูงมัง
– กะลิงปริง
– ลิงปลิง
– ปลีมิง
– เฟืองเทศ
– มะเฟืองตรน

การแพร่กระจาย
ตะลิงปลิง เป็นพืชท้องถิ่นในแถบจังหวัดภาคใต้ พบมากในป่าดิบชื้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ และแถบประเทศด้านล่างของไทย เช่น มาเลเชีย และอินโดนีเชีย

ผลตะลิงปลิง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ตะลิงปลิงเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นสูงประมาณ 3-8 เมตร กิ่งหลักมีน้อย กิ่งแขนงมีมาก และมีกานใบยาว ใบดก ทำให้มีทรงพุ่มค่อนข้างหนา โดยลำต้นมีลักษณะคล้ายต้นมะยม และมีขนาดใกล้เคียงกัน เปลือกลำต้นสีน้ำตาล ผิวเปลือกค่อนข้างเรียบ ส่วนเนื้อไม้มีความแข็งน้อย ส่วนกิ่งค่อนข้างเปราะ และหักง่าย จึงไม่ค่อยนิยมเก็บผลด้วยวิธีการปีนต้น เพราะอาจทำให้กิ่งหัก และร่วงต้นตะลิงปลิงได้

ใบ
ตะลิงปลิง เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ใบเป็นใบประกอบชนิดใบเดี่ยว (มีใบหลายใยบนก้านใบหลักเดียวกัน และใบสุดท้ายมีใบเดียว) ประกอบด้วยก้านใบหลักที่แตกออกบริเวณส่วนปลายของกิ่ง ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ก้านใบหลักประกอบด้วยใบย่อยเรียงซ้อนกันเป็นคู่ๆ ประมาณ 15-25 คู่ ใบอ่อนมีสีส้มแดง เมื่อใบอายุมากจะมีสีเขียวสด และเป็นมันเล็กน้อย

ใบย่อยบนก้านใบหลักมีรูปปลายหอก คล้ายกับใบมะยม แต่ใบตะลิงปลิงจะยาวกว่าเล็กน้อย มีก้านใบยาว 3-5 มิลลิเมตร ใบมีส่วนโคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม ขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นใบมีขนสีเหลืองปกคลุม

ดอก
ดอกตะลิงปลิงแทงออกเป็นช่อ ออกเป็นกระจุกหลายช่อตามลำต้น และโคนกิ่ง แต่ละจุดจะมีช่อดอก 2 – 10 ช่อ ช่อดอกมีก้านดอกสีน้ำตาลอมม่วง ยาว 5-15 เซนติเมตร ส่วนปลายช่อมีดอก 2-10 ดอก

ตัวดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงจำนวน 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ กลีบเลี้ยงมีสีแดงเรื่อ ส่วนกลีบดอกมีสีแดงอมม่วง ทั้งนี้ ดอกตูมตะลิงปลิงอ่อนจะมีสีเขียวอ่อน และเมื่อใกล้บานจะมีสีม่วงเข้ม เมื่อดอกบานออกจะมีสีกลีบดอกเป็นสีแดงอมม่วง

ดอกตะลิงปลิง

ขอบคุณภาพจาก www.wattano.ac.th

ผล และเมล็ด
ผลตะลิงปลิงมีลักษณะทรงกระบอก และค่อนข้างเป็นเหลี่ยม และมีร่องตื้นที่ผล 5 ร่อง ขั้วผล และก้นผลมีลักษณะมน กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร ผลที่โคนช่อมีขนาดเล็กกว่าผลที่ปลายช่อ ผลอ่อนมีผิวด้านนอกเป็นสีเขียวสด เนื้อผลด้านในมีสีเขียวอ่อนอมขาว ผลสุกมีสีผล และเนื้อผลค่อนข้างเหลือง ถัดมาตรงกลางเป็นที่อยู่ของเมล็ด 1-2 เมล็ด

ตะลิงปลิง

ผลอ่อนตะลิงปลิงสามารถรับประทานได้ทุกส่วน แต่ผลแก่จะมีเมล็ดแข็ง และค่อนข้างขมจะต้องแยกออก เนื้อผลให้รสเปรี้ยวจัดพอๆกับมะม่วงหาวมะนาวโห่ หรือ มะยม

เมล็ดตะลิงปลิงมีสีน้ำตาล เมล็ดมีรูปทรงกระบอก และแบน ขนาด 2.5-4.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ประโยชน์ตะลิงปลิง
1. ผลตะลิงปลิงดิบหรือสุกให้รสเปรี้ยวจัด นำมารับประทานเป็นผลไม้สด หรือ รับประทานจิ้มกับพริกเกลือก็ยิ่งเข้ากันได้ดี
2. ผลดิบนำมาใส่อาหารจำพวกต้มยำ เพียงใส่ 2-3 ลูก ก็ให้รสเปรี้ยวได้ดีมาก
3. ผลตะลิงปลิงนำมาแปรูปเป็นน้ำตะลิงปลิง ตะลิงปลิงดอง ตะลิงปลิงแช่อิ่ม หรือไวน์ตะลิงปลิง เป็นต้น
4. ทุกส่วนนำมาใช้ทำยาสมุนไพร
5. เนื่องจากต้นตะลิงปลิงมีทรงพุ่มหนา ลำต้นไม่สูงมาก จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาภายในบ้าน
6. ดอกตะลิงปลิงนำมาบดผสมน้ำ และคั้นเอาน้ำสำหรับใส่ทำขนม ซึ่งจะให้สีแดงม่วงหรือสีม่วง นอกจากนั้น ยังสามารถนำไปย้อมกระดาษเพื่อทำกระดาษสีได้ด้วย
7. น้ำคั้นจากผลตะลิงปลิงนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิว แชมพู และสบู่ เป็นต้น

ตะลิงปลิงเชื่อม

ขอบคุณภาพจาก www.bloggang.com

สรรพคุณตะลิงปลิง
ผล
– ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง
– แก้อาการตัวร้อนเป็นไข้
– ช่วยในการย่อยอาหาร เพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร
– ปกป้องการเสื่อมของผิวหนังจากแสงแดด
– ป้องกันอวัยวะภายในจากสารพิษ สารเคมีต่างๆ และช่วยขับสารพิษ
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
– แก้อาการคันคอ แก้อาการไอ
– ลดอาการอักเสบบริเวณคอ
– ช่วยละลายเมหะ ช่วยให้ดันเสมหะออกง่าย
– แก้เมารถ เมาเรือ
– ช่วยให้ส่างเมา ช่วยขับแอลกอฮอล์ออกทางปัสสาวะ
– ช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน
– บรรเทาอาการหอบหืด
– รักษาแผลในช่องปาก
– ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ด้วยการรับประทานผล 5-10 ผล และดื่มน้ำตามมากๆ
– นำผลมา 2-3 ผล มาฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนใช้วางประคบบนใบหน้า ช่วยรักษาสิว รอยฟ้า กะ และรอยผิวด่างดำได้
– นำน้ำคั้นจากผล และผสมน้ำเล็กน้อย ใช้หยอดตา ช่วยรักษาตาอักเสบหรือรักษาโรคตาแดงได้

ดอก
– ช่วยแก้ไอ ลดอาการคันคอ และอาการอักเสบบริเวณหลอดคอ
– นำดอกมา 1-2 กำมือ มาตำบดให้ละเอียด ก่อนใช้พอกหน้า ช่วยรักษาสิว ลดรอยกะ รอยฟ้า และรอยด่างดำได้

ใบ
– นำใบ 10-20 ก้าน มาต้มน้ำ ก่อนใช้อาบ ช่วยแก้ผดผื่นคัน และรักษาโรคผิวหนัง
– ใบนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วย
– นำใบ 1-2 กำมือ มาตำบดผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนนำมาพอกฝี พอกคางทูม ช่วยให้ฝีหรือคางทูมยุบตัว
– ใบที่บดแล้วนำมาพอกหน้า ช่วยรักษาสิว และช่วยผลัดเซลล์ผิว
– นำใบ 1-2 กำมือ มาต้มน้ำดื่ม ช่วยรักษาอาการท้องเสีย
– ช่วยลดไข้ ลดอาการตัวร้อน
– แก้อาการลำไส้ อักเสบ
– รักษาซิฟิลิส
– แก้อาการปวดตามข้อ กระดูก

เมล็ด (นำมาต้มน้ำดื่ม)
– ช่วยขับพยาธิ
– แก้อาการท้องอืด และช่วยขับลม

เปลือกลำต้น และแก่น
– นำมาต้มดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ
– แก้อาการปัสสาวะขุ่น
– น้ำต้มนำมาอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง

ราก
– รากนำมาต้มดื่ม ช่วยแก้อาการร้อนใน
– ช่วยไม่ให้กระหายน้ำ
– ช่วยลดไข้
– ช่วยลดอาการโรคกระเพาะ
– แก้ลำไส้อักเสบ
– แก้โรคริดสีดวงทวาร
– รากนำมาต้มน้ำอาบ แก้คันตามผิวหนัง แก้โรคผิวหนัง
– รากนำมาตำบด ใช้สำหรับทาพอกแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว

ที่มา : 1)

ฤทธิ์สำคัญทางยาที่พบ
– ขับ และกำจัดสารพิษ
– ต้านเชื้อจุลินทรีย์
– ต้านเชื้อไวรัส
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านการอักเสบ
– กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
– ลดไขมัน
– ปกป้องเซลล์ถูกทำลายจากแสงแดด กัมมันตภาพรังสี และสารพิษ

การปลูกตะลิงปลิง
การปลูกตะลิงปลิง นิยมปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด ซึ่งจะได้ต้นสูงปกติ และแตกกิ่งมาก ส่วนการปลูกด้วยวิธีอื่น เช่น การตอนกิ่ง และการเสียบยอด จะได้ต้นค่อนข้างเตี้ย แต่แตกกิ่งน้อย ผลผลิตอาจน้อยกว่าการปลูกด้วยเมล็ด

ต้นตะลิงปลิง

เอกสารอ้างอิง
5