Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
ดีปลี (Long Pepper) เป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้าน มีลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยคล้ายต้นพริกไท ปัจจุบันนิยมปลูกมากขึ้นเพื่อการขายกล้าพันธุ์ และส่งออกดอกดีปลีแห้งไปต่างประเทศ สำหรับทำยา และเครื่องเทศ
• วงศ์ : Piperaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper retrofractum Vahl.
• ชื่อสามัญ :
– Java Long Pepper
– Long Pepper
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– ดีปลี (ทุกภาค)
– ประดงข้อ
– ปานนุ
ภาคใต้
– ดีปลีเชือก
อินโดนีเซีย
– cabe jawa
มาเลเซีย
– chabai jawa
ลาว
– Sali
• ถิ่นกำเนิด : เกาะ Moluccas ในอินโดนีเซีย และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณภาคใต้ของไทย และมาเลเซีย รวมถึงประเทศอินเดีย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เป็นไม้เถาหรือไม้เลื้อย มีรากงอกตามข้อ คล้ายต้นพริกไท ลำต้นมีรูปทรงกระบอก ผิวเรียบ สีเขียวเข้ม ส่วนเนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน เปราะหักง่าย
ใบ
ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับกันบนกิ่ง มีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาวรี แกมขอบขนาน ส่วนโคนใบมีลักษณะมนค่อนข้างกลม ปลายใบแหลม ใบคล้ายใบพริกไท และใบชะพลู ใบกว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 7-16 เซนติเมตร ก้านใบสั้น ยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร แผ่นใบทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน ผิวใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันวาว เส้นกลางใบมีเส้นแยก 2 คู่ เส้นที่ฐานใบ 3-5 คู่
ดอก
ดอกมีลักษณะเป็นช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยอัดกันแน่น เป็นดอกแยกเพศ ช่อดอกแต่ละเพศจะแยกกันอยู่ในต่างต้นกัน
ผล
ผลมีลักษณะอัดกันแน่น ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอมเหลือง ผลแก่มีสีเขียวเข้ม เมื่อสุกผลจะเปลี่ยนสีเป็นสีแดง เมื่อรับประทานจะให้รสเผ็ดร้อน และออกขมนิดๆ รวมถึงมีกลิ่นฉุนแรง
การนำมาใช้ประโยชน์
ส่วนที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ ส่วนของใบ และผลแห้ง โดยผลดีปลีแห้งประกอบด้วยสารอัลคาลอยด์ ชื่อ Piperine ประมาณ 4 – 6%, Chavicine และน้ำมันระเหยหอม 1% สามารถนำผลแห้งหรือส่วนอื่นๆมาใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้
1. ผลแห้งถือเป็นสินค้าสำคัญในการส่องออกสำหรับอุตสาหกรรมยา และเครื่องเทศ
2. การใช้ผลแห้งสำหรับตำรับยาพื้นบ้าน ได้แก่ การนำผลแห้งประมาณ 5-10 ผล ต้มน้ำดื่มหรือผสมมะนาวเล็กน้อย ช่วยแก้อาการไอ เจ็บคอ มีเสมหะ
3. ส่วนของใบสามารถนำมาต้มน้ำดื่มเป็นน้ำสมุนไพร นอกจากนั้น ยังใช้สารสกัดจากใบ และผลสำหรับเป็นยากำจัดแมลงศัตรูพืช
4. สารสกัดจากผลนำมาเป็นส่วนผสมของยาคุมกำเนิด
5. ผลดีปลีแห้ง นิยมใช้เป็นเครื่องเทศในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดหรือทอดต่างๆ
6. ราก และเถาดีปลีนำมาต้มย้อมผ้าที่ให้สีน้ำตาล
สารสำคัญที่พบ
ผล
– Piperine ประมาณ 4-6%
– Chavicine
– น้ำมันหอมระเหย ประมาณ 1%
– Methyl piperate
– Guineensine
– Piperside retrofacetamide C
– Piperlonguminine
– Pipernonaline
– Piperidine
– Piperoctadecalidine
– Pipereicosalidine
น้ำมันหอมระเหย
– Terpinolene
– Caryophyllene
– P-Cymene
– Thujene
– Dihydrocarveol
– β-c- 22 -aryophyllene
– β-bisabolene
– α-curcumene
– Pentadecane
– Caryophyllene oxide
– Heptadec-8-ene
– Heptadecane
ที่มา : 1), 2)
สรรพคุณดีปลี
หากกินสด ดีปลีจะมีรสเผ็ดร้อนเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อได้เป็นอย่างดี ส่วนที่ใช้เป็นยา คือ รากใบ เถา ดอก ผลแก่จัดที่ยังไม่สุก หรือนำมาตากแดดให้แห้ง บดอัดใส่แคปซูลหรือนำมาทำเป็นยาดองยาหรือต้มน้ำดื่ม ให้สรรพคุณในด้านต่างๆ ได้แก่
ผลดีปลี
– สามารถใช้รักษาแก้พิษงู
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการคันคอ ลดอาการไอ
– ช่วยลดไข้หวัด
– แก้อาการปวดฟัน
– แก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต
– แก้อาการปวดเมื่อย แก้เส้นเอ็นดึงรั้ง
– แก้ท้องร่วง
– ช่วยขับลมในลำไส้หรือระบบทางเดินอาหาร
– แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ
– แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
– แก้หอบหืด
– แก้ริดสีดวง
– แก้เป็นลมวิงเวียนศีรษะ
– ช่วยบำรุงธาตุ
– ใช้เป็นยาขับระดูและยาธาตุ
รากดีปลี
– แก้พิษอัมพฤกษ์ อัมพาต
– ช่วยลดไข้
– แก้พิษคุดทะราด
– แก้ท้องร่วง
– แก้อาการจุกเสียด
– แก้โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ
– แก้ธาตุไม่ปกติ
– ช่วยระบายแก๊สในกระเพาะอาหาร
เถาดีปลี
– ขับเสมหะ
– แก้ปวดฟัน
– ปวดท้อง
– จุกเสียด
– แก้ท้องขึ้น
– แก้อืดเฟ้อ
– แก้ท้องร่วง
– ฝนน้ำทาแก้ฟกช้ำ
– แก้ปวดเมื่อยตามตัว
– แก้ทางเดินปัสสาวะไม่ปกติ
– อัมพฤกษ์
– แก้พิษงู
ใบดีปลี
– แก้หืดไอ
– แก้ปวดเมื่อย
– แก้เส้นเอ็น
ดอกดีปลี
– แก้อาการคลื่นไส้
– แก้ลมวิงเวียน
– แก้อัมพาต
– แก้เส้นอัมพฤกษ์
– ใช้เป็นยาธาตุ
– ช่วยขับลมในลำไส้
– แก้ท้องร่วง
– แก้ปวดท้อง
– แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
– แก้โรคหืดหอบ
– ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ
– แก้โรคหลอดลมอักเสบ
– แก้โรคริดสีดวงทวาร
เพิ่มเติมจาก : 1), 2)
งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาผลดีปลี พบว่า สาร piperlonguminine ในผลสดของดีปลีสามารถต้านการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินในผิวหนังได้ และยังพบว่า สารสกัดจากผลดีปลีสามารถออกฤทธิ์ลดอาการระคายเคืองของเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคกระเพาะอาหารได้
2. ในประเทศอินเดีย มีรายงานว่ามีการใช้ดีปลีในการนำมาปรุงอาหาร เพราะดีปลีมีคุณสมบัติช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และยังแนะนำว่า ผลดีปลีแห้งควรนำมาใช้ทันที และไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 ปี เพราะหากเก็บไว้นานกว่านี้สรรพคุณ และฤทธิ์ทางยาจะน้อยลง
3. จากการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าดีปลีมีฤทธิ์ต้านการอ็อกซิไดส์ของเซลล์ได้ จึงนิยมใช้ผลดีปลีเป็นส่วนประกอบของยาต้านเซลล์มะเร็ง และรักษาโรคมะเร็ง
4. โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับดีปลี พบว่า สารสกัดที่ได้จากผล และลำต้นของดีปลีสามารถกำจัด และลดการแพร่กระจายของลูกน้ำยุงได้ดี
5. การวิจัยสารสกัดจากผลดีปลี พบสารหลายชนิด และนำสารต่างๆมาทดสอบฤทธิ์ในการฆ่าแมลง พบว่า guineensine และ piperine สามารถฆ่าหนอนกระทู้ผักได้
6. จันทร์ทิพย์ (2535) ได้ศึกษานำสารสกัดของผลดีปลีมาทดสอบฤทธิ์ในการฆ่าแมลง พบว่า guineensine และ piperine สามารถฆ่าหนอนกระทู้ผักได้
7. ศูนย์วิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ กล่าวถึงสารสกัดจากดีปลีมีฤทธิ์ในการขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และสามารถนำมาใช้สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด
ข้อควรระวัง
ผู้ที่ตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานผลดีปลีหรือส่วนต่างๆของดีปลี เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้ ส่วนคนทั่วไปไม่ควรรับประทานในปริมาณที่มาก หรือรับประทานติดติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เป็นร้อนในได้ หรือเกิดการอักเสบของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหารจนเกิดเลือดออกได้
การปลูกดีปลี
ดีปลีเป็นไม้เลื้อยที่ชอบพื้นที่ชุ่ม ดินร่วนซุย ไม่มีน้ำท่วมขัง สามารถเติิบโตได้ดีในทุกสภาพดิน จึงเห็นได้ในทุกภาคของไทย
การขยายพันธุ์ดีปลีนิยมใช้วิธีการปลูกด้วยเมล็ด และการปักชำเถา โดยการปักชำจะใช้การตัดเถาดีปลีปักเพาะชำในถุงพลาสติก แล้วค่อยย้ายปลูกในแปลง พร้อมทำเสาสำหรับให้เถาเกาะเลื้อย โดยมีระยะห่างของเสาประมาณ 1.5-2 เมตร
เอกสารอ้างอิง