Last Updated on 2 พฤศจิกายน 2023 by puechkaset
ดอกดิน เป็นพืชเบียนราก ไม่มีใบ นิยมใช้ทำเป็นสีผสมอาหาร ให้สีแดงหรือชมพูอมม่วง เช่น ใช้หุงข้าว ส่วนสรรพคุณเด่น ได้แก่ ช่วยลดไข้ แก้ไอ แก้โรคเหี่ยวกับข้อกระดูก และต้านมะเร็ง เป็นต้น
• Family (วงศ์) : Orobanchaceae
• ชื่อท้องถิ่น : ดอกดิน
ดอกดินเป็นพืชเบียนรากพืชให้อาศัย (root parasite) โดยดูดธาตุอาหาร คาร์โบไฮเดรต และน้ำจากรากพืชที่
ให้อาศัย และเป็นพืชที่ไม่มีใบ ทำให้ขาดแคลนคลอโรฟิลล์ จึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ จึงจัดเป็นพืชเบียนประเภท holoparasite
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ดอกดินในประเทศไทยพบ 2 สกุลได้แก่ สกุล Aeginetia L. มี 2 ชนิด คือ ดอกดินแดง (Aeginetia indica L.) ) เป็นชนิดที่พบมากที่สุด และ เอื้องดิน (A.pedunculata Wall.) และสกุล Christisonia Gardner พบ 1 ชนิด คือ C. siamensis Craib หรือว่านดอกสามสี
โดยว่านดอกสามสีนั้นเป็นพืชถิ่นเดียวของไทย ได้รับการยอมรับว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกจากการสำรวจของ ดร. Arthur Francis George Kerr พบบริเวณป่าไผ่สบงาว จังหวัดลำปาง เมื่อพุทธศักราช 2455 และเก็บเป็นตัวอย่างพรรณไม้ต้นแบบ Kerr 2406 ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Bulletin of Miscellaneous Information, Royal Botanic Gardens, Kew คริสต์ศักราช 1914 โดยศาสตราจารย์ William Grant Craib นักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งคำระบุชนิด “siamensis” นั้นตั้งตามชื่อประเทศไทย
ที่มา : [1]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
พืชในวงศ์ดอกดินเป็นพืชเบียนรากพืชชนิดอื่น ไม่มีเนื้อไม้ ไม่มีคลอโรฟิลล์ โดยปกติลำต้นไม่แตกแขนง แต่บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นเกล็ด
ใบ
เป็นพืชไม่มีใบ
ดอก
ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อแบบช่อกระจะ (raceme) ดอกมีสมมาตรด้านข้าง (irregular) กลีบเลี้ยง (sepal) มี 5 กลีบ เชื่อมติดกัน บางครั้งเป็นรูประฆัง (campanulate) ที่มีปลายหยักแหลม 2-5 หยัก หรือมีลักษณะคล้ายกาบ (spathaceous) กลีบดอก (corolla) เป็นหลอดบางครั้งอาจมีลักษณะโค้งงอ กลีบดอกติดเป็นหลอดรูปปากเปิด กลีบบน 2 กลีบ กลีบล่าง 3 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวน 4 อัน (เฉพาะชนิดที่พบในประเทศไทย) ติดอยู่ด้านในหลอดกลีบดอก อับเรณูมี 1-2 ช่อง และมีเดือยที่โคน รังไข่ (ovary) มี 2 คาร์เพล ออวุล (ovule) มีจำนวนมาก ก้านเกสรเพศเมีย (style) ยาว ยอดเกสรเพศเมีย (stigma) มี 2 พู แบบก้นปิด (peltate)
ผล
ผลดอกดิน เป็นแห้งแตก (capsule) เมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก
สรรพคุณดอกดิน
ดอกดินเป็นสมุนไพรพื้นบ้านไทยที่มีสรรพคุณใช้เป็นยาชงรักษาโรคเบาหวาน และยาต้มเพื่อแก้อาการบวมตามผิวหนังมาแต่โบราณ นอกจากนี้ ยังพบว่าสารสกัดจากต้นสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง ในขณะที่สารสกัดจากดอกสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณในการลดไข้ แก้ไอ รักษาโรคไขข้อและโรคตับเรื้อรัง รวมถึงพบรายงานในจังหวัดลพบุรีมีการนำดอกดินมาใช้สำหรับการขับเหงื่อ
สารสกัดจากดอกดินแดง สารสกัดจากเมล็ด และสารสกัดจากทั้งต้นนั้นไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ แต่จะมีพิษต่อเซลล์เนื้องอกโดยตรง โดยสารสกัดจากต้นสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้ และไม่มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ประโยชน์จากดอกดินสกุล Aeginetia 2 ชนิด ว่า Aeginetia indica L. นั้นนำมาใช้ในทางสมุนไพรโดยใช้ทั้งต้นมาบดเป็นผงรักษาอาการแผลเปื่อย และยังพบว่าในเกาะนิวกินีมีการนำมาใช้บรรเทาอาการเจ็บหัวเข่า
นอกจากนี้ ยังพบผลการศึกษาสารสกัดจากเมล็ดของ Orobanche cumana ซึ่งเป็นดอกดินชนิดที่เบียนอยู่กับรากของทานตะวันพบว่า ในขณะที่เมล็ดกำลังงอกอยู่บนรากของทานตะวันนั้น มีการสร้างสาร guaianestrigolactones (GELs.) ซึ่งเป็นสารใหม่ที่ไม่เคยพบในพืชชนิดใดมาก่อน
ที่มา : [1]
การใช้ประโยชน์ดอกดิน
ดอกดิน นิยมนำมาใช้เป็นสีผสมอาหารใส่ลงในข้าว และขนม โดยจะให้สีแดงหรือสีชมพูอมม่วง ขึ้นอยู่กับระยะของดอก สำหรับวิธีนำมาใช้ คือ นำดอกดินมาตำบดให้ละเอียดผสมกับน้ำหรือขยำด้วยมือร่วมกับน้ำ จนได้น้ำที่มีสี จากนั้น กรองแยกกากออก ก่อนนำน้ำที่ได้มาแช่ข้าวเหนียว หรือ ใช้เป็นน้ำหุงข้าวสวย ซึ่งจะได้ข้าวสุกที่มีสีแดงหรือสีชมพูอมม่วง
ที่มา : [1]
เอกสารอ้างอิง
[1] ศิวเชษฐ ชัยโรจน์. 2555. สัณฐานวิทยา นิเวศวิทยา และกายวิภาคของดอกดิน (Orobanchaceae) ในประเทศไทย.