Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
ดอกคำฝอย (safflower) เป็นพืชให้ดอกที่นิยมนำมาต้มน้ำดื่มเหมือนชาหรือทำน้ำดอกคำฝอย เนื่องจากมีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้น ยังใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อาทิ การทำสีย้อม การผสมอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ดอกคำฝอย หรือชื่ออื่น ดอกคำ (อีสาน) คำยอง คำยุง คำหยุม (เหนือ) ชื่อภาษาอังกฤษ safflower ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Carthamus tinctorius Linn. อยู่ในวงศ์ Compositae มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศตะวันออกกลาง มีทั้งพันธุ์ที่มีหนาม และไม่มีหนาม แบ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกและเติบโตได้ดีในเขตหนาว และเขตร้อน สำหรับประเทศไทยมีการนำมาปลูกมากในภาคเหนือ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น
เป็นไม้ล้มลุก ตั้งตรง สีเขียว สูงประมาณ 40-150 เซนติเมตร อยู่ในตระกูลเดียวกันกับต้นทานตะวัน แตกกิ่งแรกประมาณ 15-20 ซม. จากความสูงของต้น
• ใบ
ลักษณะใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบสีเขียว รูปวงรีหรือรูปใบหอก คล้ายใบกรรณิการ์ ขอบใบหยัก ปลายเป็นหนามแหลม
• ดอก
ดอกออกเป็นช่อ ออกรวมกันที่ปลายยอด ดอกมีลักษณะกลม ขนาดดอก 2.5-4 ซม. มีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก 20-180 ดอก เพศของดอกเป็นชนิดสมบูรณ์เพศ แต่ดอก 2 วงรอบนอกเป็นชนิดดอกเพศเมียเป็นหมัน ดอกอ่อนมีสีเหลืองและจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีส้ม จนแก่จัดจะกลายเป็นสีแดง ใบประดับแข็งเป็นหนามรองรับช่อดอก
• เมล็ด
เมล็ดมีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว มีสีขาวออกเทา ผิวเรียบเป็นมัน ไม่มีขน ดอกหนึ่งจะให้เมล็ดประมาณ 20-110 เมล็ด
ดอกคำฝอยในสมัยที่ได้บันทึกไว้ในกระดาษปาปิรัสของอียิปต์ พบมีการปลูกบริเวณลุ่มน้ำยูเฟรติสสำหรับใช้เป็นสีผสมน้ำมันสำหรับพิธีกรรมการทำมัมมี่ ปัจจุบันมีการปลูกในพื้นที่อียิปต์ อินเดีย จีน และประเทศใกล้เคียงรวมถึงในแถบเอเชียบริเวณประเทศจีน รัสเซีย และแถบประเทศที่มีอากาศเย็นแถบยุโรปเพื่อใช้สำหรับเป็นสีผสมอาหาร ผสมเนยแข็ง สีย้อมผ้า
คุณค่าทางอาหาร
ปริมาณกรดไขมัน โปรตีน และเถ้า พบมากในส่วนของใบเลี้ยง เส้นใยพบมากที่เปลือกเมล็ด ส่วนเมล็ดคำฝอยประกอบด้วย
– เปลือก 50 เปอร์เซ็นต์บางสายพันธุ์อาจมีมากกว่า 55-70 เปอร์เซ็นต์ เนื้อเมล็ด 30-50 เปอร์เซ็นต์
– น้ำมัน 35-45 เปอร์เซ็นต์
– โปรตีน 8-17 เปอร์เซ็นต์
– โปรตีน 20-35
– กรดโอเลอิก 10-60 เปอร์เซ็นต์
– กรดลิโนเลอิก 60-80 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกลีบดอกคำฝอย 100 กรัม ประกอบด้วย
– มีน้ำมัน 0.83 เปอร์เซ็นต์
– โปรตีน 5.0 เปอร์เซ็นต์
– เถ้า 1.9 เปอร์เซ็นต์
– เส้นใย 10.4 เปอร์เซ็นต์
– แคลเซียม 530 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม 287 มิลลิกรัม
– เหล็ก 7.3 มิลลิกรัม
– สารคาร์ทามีดีน (carthamidine) ให้สีเหลือง
– สารคาร์ทามีน (carthamine) ให้สีแดง
สรรพคุณดอกคำฝอย
ส่วนของต้นคำฝอยที่นำใช้ในทางยาสามารถได้ทั้งดอก เกสร เมล็ด นำมาชงกับน้ำร้อน เพื่อกินแทนน้ำ หรือนำเมล็ดมาสกัดเพื่อเอาน้ำมันจากเมล็ดได้
1. ดอก และเกสรมีรสหวาน มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคผิวหนัง บำรุงหัวใจ บำรุงระบบประสาท สลายลิ่มเลือด แก้ผื่นคันตามผิวหนัง รักษาแผลกดทับ กระตุ้นการหายของแผล แก้น้ำเหลืองเสีย ขับเสมหะ นอกจากนี้ น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดของดอกคำฝอยสามารถทาแก้อัมพาต ลดอาการบวมตามข้อกระดูก บรรเทาอาการอัมพฤกอัมพาต ลดอาการเป็นไข้
2. สารสกัดจากเมล็ด และดอก รวมถึงน้ำมันช่วยลดไขมันในเส้นเลือด คอลเลสเตอรอล ช่วยลดการอุดตันในเส้นเลือด และช่วยบรรเทาโรคเบาหวาน ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด
3. สารสกัดจากดอก และเกสรช่วยขับโลหิตประจำเดือน ขับระดู ลดการปวดท้องเมน โดยเฉพาะสตรีคลอดบุตรใหม่ช่วยลดการบวมของมดลูด อาการไข้หลังคลอด
ประโยชน์คำฝอย
1. ตากแห้งสำหรับชงน้ำร้อนดื่มแทนชา หรือ ต้มผสมน้ำตาลเล็กน้อย ให้กลิ่นหอม
2. ตากให้แห้ง และบด เพื่อสกัดเป็นสีย้อมผ้าที่ได้จากสีเหลืองของสารคาร์ทามีดีน (carthamidine)
สีแดงสารคาร์ทามีน (carthamine) สามารถย้อมติดได้ดีในเส้นใยฝ้ายหรือเส้นใยจากพืช
3. ใช้ผสมอาหาร อาทิ ผสมเนยแข็ง และปรุงอาหาร เป็นต้น
4. น้ำมันจากเมล็ดดอกคำฝอย และกลีบดอกสามารถนำมารับประทาน บำรุงเส้นผม บำรุงผิว เสริมสุขภาพ
5. ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์เลี้ยง
6. ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม
– น้ำมันคำฝอยใช้เป็นวัตถุดิบผลิต Alkyd resins สำหรับเป็นสารตั้งต้นในการผลิตสี และกาวเหนียว
– ใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทอผ้า เป็นต้น
– ใช้เป็นน้ำมันเคลือบผิววัสดุให้มีความมันเงา ป้องกันสนิม เช่น งานไม้ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในอินเดียใช้เคลือบรักษาคุณภาพหนังสัตว์ เสื้อผ้าผลิตภัณฑ์เครื่องทอป้องกันการเปียก
7. กากของเมล็ด ใบ ลำต้นแห้ง ใช้หมักผสมกับมูลสัตว์เป็นปุ๋ยคอกหรือทำเป็นปุ๋ยพืชสด
ในประเทศจีนนิยมใช้น้ำมันจากเมล็ดหรือกลีบดอกคำฝอยสำหรับประกอบอาหาร เพราะสามารถให้กรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง มากกว่า 90% และให้ชื่อน้ำมันคำฝอยว่า king of the linoleic acid เพราะประกอบด้วยกรดไขมันลิโนเลอิกมากถึง 80% ที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง (arteriosclerosis) และลดคลอเรสเตอรอล และไขมันไตรกลีเซอไรด์
งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
– Kim และคณะ ได้ศึกษาสารสกัดเมล็ดคำฝอยในประเทศเกาหลี (Carthamus tinctorious L.) ต่อการเสริมสร้างกระดูกในหนูทดลอง พบว่า ผลของการใช้สารสกัดจากดอกคำฝอยสามารถเสริมสร้างกระดูก ด้วยการกระตุ้นกระบวนการสร้าง และซ่อมแซมกระดูกในหนูทดลองได้
– Moon และคณะ ได้ศึกษาการใช้สารสกัดเมล็ดคำฝอยต่อปริมาณคอเลสเทอรอลในหนูทดลอง
พบว่า การให้สารสกัดเมล็ดคำฝอยที่สกัดด้วยน้ำ และเอธานอล ในช่วง 5 สัปดาห์ สามารถลดระดับคอเลสเทอรอล และไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
– Rallidis และคณะ ได้ทดลองให้อาหารที่ผสม alpha linolenic acid (ALA, 18:3n-3) จากน้ำมันลินสีด (linseed oil) และ linoleic acid (LA, 18:2n-6) จากน้ำมันเมล็ดคำฝอยแก่ผู้ป่วย dyslipidaemic patients พบว่า อาหารที่ผสม ALA จากน้ำมันลินสีดสามารถลด C-reactive protein (CRP), interleukin-6 (IL-6) และ serum amyloid A (SAA) อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนอาหารที่ผสม LA จากน้ำมันเมล็ดคำฝอยไม่มีผลต่อความเข้มข้น CRP, IL-6 และSAA แต่สามารถลดระดับคอเลสเทอรอลได้
– Koji และคณะ ได้ศึกษาผลของ conjugated linoleic acid (CLA) จากน้ำมันคำฝอยต่อเมทาบอลิซึม (metabolism) ในหนูทดลองด้วยอาหารที่มีน้ำมันคำฝอยร้อยละ 9 ผสมกับร้อยละ 1 ของ CLA เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ปริมาณไตรเอซิลกลีเซอรอล (triacylglycerol) ในเลือด และตับของหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ CLA ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดย CLA ช่วยเพิ่มอัตราการใช้ออกซิเจน และการใช้พลังงาน ส่วนการทดลองที่ 2 ที่ให้อาหารร้อยละ 9 ของน้ำมันคำฝอยผสมกับร้อยละ 1 ของ 9c,11t-CLA-rich oil หรือ 10t,12c-CLA และอาหารร้อยละ 9 น้ำมันคำฝอยผสมกับร้อยละ 1 ของ 10t,12c-CLA-rich oil พบว่า ปริมาณไตรเอซิลกลีเซอรอลในเลือด และตับของหนูทดลองในกลุ่มที่ได้รับ 10t,12c-CLA ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ 9c,11t-CLA
– Nishizonoและคณะ ได้ศึกษาการสะสม triacylglycerols ในลำไส้หนูทดลองด้วยการเก็บอุจจาระหนูทดลองก่อน และหลังการให้อาหาร AIN-76 ที่ผสมน้ำมันคำฝอยร้อยละ 5 ที่เลี้ยงประมาณ 4 เป็นเวลา 1, 3, และ 6 เดือน พบว่า อัตราการดูดซึมไขมันของหนูทดลองดีขึ้นร้อยละ 95
– มีการศึกษาเรื่องการวิจัยการสกัดกรดไลโนเลอิกจากดอกคำฝอยด้วยตัวทำละลายต่างๆ ซึ่งผลที่ได้พบว่า เอธานอลความเข้มข้นร้อยละ 95 เป็นตัวทำละลายที่ดีในการสกัดสารจากดอกคำฝอย และในประเทศจีน มีการใช้ดอกคำฝอยเป็นยาที่เกี่ยวข้องกับสตรี ใช้รักษาสตรีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาการปวดบวม ฟอกช้ำดำเขียว
– สหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองในผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการให้รับประทานน้ำมันจากดอกคำฝอย ผลการทดลองพบว่า น้ำมันจากดอกคำฝอย สามารถช่วยลดระดับความดันโลหิต และระดับไขมันหรือคอเลสเตอรอลได้
– มีรายงานทางคลินิก พบว่า สารสกัดจากดอกคำฝอย มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเพศหญิง มีฤทธิ์กระตุ้นมดลูก และฮอร์โมนเพศหญิง ช่วยทำให้มดลูก และกล้ามเนื้อเรียบหดตัวได้ แต่ถ้าหากใช้ในปริมาณมากจนเกินไป อาจจะทำให้มดลูกเป็นตะคริวได้
ข้อแนะนำ
1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากดอกคำฝอยมีผลต่อเลือดและการขับประจำเดือน รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก อาจส่งผลต่อการแท้งลูกได้
2. ควรระมัดระวังในการใช้ดอกคำฝอยร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด
การปลูกดอกคำฝอย
ดอกคำฝอยเติบโตได้ดีในอากาศหนาวหรือแห้งแล้งตามลักษณะของสายพันธุ์ เติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนปนทราย ไม่มีน้ำขัง อายุการปลูกถึงเก็บเกี่ยว 120-200 วัน จึงนิยมปลูกในพื้นที่ภาคเหนือ การขยายพันธุ์จะใช้วิธีการเพาะเมล็ด ด้วยหว่านเมล็ดหรือเพาะชำในถุงเพาะชำก่อนนำปลูกลงหลุม ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก คือ ช่วงต้นฤดูฝนจนถึงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงเดือนกันยายน แต่ถ้าหากพื้นที่ใดมีน้ำชลประทาน ก็สามารถปลูกได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงกลางเดือนตุลาคม และควรเตรียมดินให้มีความชื้นที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของดอกคำฝอยด้วย
การปลูกคำฝอยมี 2 วิธีคือ
– การปลูกแบบหว่าน ใช้เมล็ดในอัตรา 0.8-2.0 กิโลกรัมต่อไร่
– การปลูกเป็นแถว ด้วยการหยอดเมล็ด ระยะระหว่างแถว 30-60 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 3.0-3.5 กิโลกรัมต่อไร่
ระยะการเจริญเติบโต แบ่งออกเป็น 5 ระยะ
– ระยะแรก หรือเรียกว่า ระยะพุ่มแจ้ (rosette stage) เป็นระยะเติบโตหลังจากการงอกของเมล็ดจนถึงช่วงที่ลำต้นยืดปล้อง ระยะนี้ต้นคำฝอยจะสร้างใบเป็นจำนวนมาก และซ้อนกันแน่นเป็นกลุ่ม (cluster) เป็นระยะที่ตอบสนองต่อสภาพอากาศอุณหภูมิต่ำ ซึ่งทำให้การเจริญเติบโตนานขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพแวดล้อมในการปลูก
– ระยะที่ 2 เป็นระยะยืดตัวของลำต้น (elongation) หลังระยะพุ่มแจ้ ซึ่งความสูงลำต้นจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโต 4.5 เซนติเมตร/วัน ในระยะนี้จึงต้องการน้ำ และธาตุอาหารอย่างเพียงพอ
– ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีการสร้างตา (bud stage) โดยสร้างตาข้างที่มุมใบเจริญเป็นกิ่ง ซึ่งตายอดของลำต้นหลัก และของกิ่งแต่ละกิ่งจะพัฒนาเป็นตาดอกสำหรับสร้างช่อดอก ระยะนี้ต้นคำฝอยจะมีอายุประมาณ 40-50 วัน หลังเมล็ดงอก
– ระยะที่ 4 ระยะดอกบาน (flowering stage) เป็นระยะที่ช่อดอกบาน 50 เปอร์เซ็นต์ จำนวนช่อดอกต่อต้น 3-100 ช่อดอก โดยที่มีการเจริญเติบโตแบบทอดยอด (indeterminate) ช่อดอกที่ลำต้นหลักจะบานก่อนช่อดอกที่กิ่งแขนงของการบานของดอกแรกจนถึงดอกสุดท้าย ประมาณ 17-40 วัน
– ระยะที่ 5 ระยะเมล็ดสุกแก่ (seed maturation stage)
เป็นระยะที่มีการผสมเกสรจนถึงเมล็ดสุกแก่ การสะสมน้ำหนักแห้งของเมล็ดเกิดขึ้นในระยะ 15 วัน หลังผสมเกสร และระยะการสะสมน้ำหนักแห้งสูงสุดที่ 28 วัน หลังผสมเกสร ระยะที่เมล็ดมีน้ำหนักแห้งสูงสุด ความชื้นในเมล็ดประมาณ 22-25 เปอร์เซ็นต์ เป็นที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมัน และค่าไอโอดีนสุงสุด
พันธุ์ที่ส่งเสริม
คำฝอยไร้หนามพันธุ์พานทอง
เป็นคำฝอยพันธุ์แท้ ที่ปรับปรุงโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากสายพันธุ์ Acc393
ลักษณะประจำพันธุ์
– อายุออกดอก 68 วัน
– ความสูง 100 เซ็นติเมตร
– จำนวนดอก 40 ดอก/ต้น
– จำนวนเมล็ด 18 เมล็ด/ดอก
– ผลผลิตเมล็ด 138 กิโลกรัม/ไร่
– น้ำหนัก เมล็ด (100 เมล็ด) ที่ 4.13 กรัม
– มีสีดอกส้มแดง
– กลีบดอกแห้ง 8-10 กิโลกรัม/ไร่
– น้ำมัน 24.69 %
ปริมาณกรดไขมัน
– กรดไขมันอิ่มตัว (SATURATED FATTY ACID) 9.15 %
– กรดปาล์มมิติก (PALMITIC ACID) 6.94 %
– กรดสเตียริก (STEARIC ACID) 2.21 %
– กรดไขมันไม่อิ่มตัว (UNSATURATED FATTY ACID) 90.39 %
– กรดโอลิอิก (OLEIC ACID) 14.48 %
– กรดไลโนลีอิก (LINOLEIC ACID) 75.91 %
การเก็บผลผลิต
การเก็บเกี่ยวเมล็ดคำฝอยจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120-200 วัน ซึ่งสามารถเก็บได้ทั้งลำต้น ใบ ดอก และเมล็ด โดยเก็บเกี่ยวทั้งต้นหรือเฉพาะดอก และเมล็ดก็ได้
สำหรับเมล็ดที่เก็บเกี่ยวต้องมีลักษณะแห้ง และแข็ง เมื่อแกะเปลือกจะต้องมีเนื้อของเมล็ดอยู่เต็มหรือเกือบเต็ม สำหรับต้นที่แก่ และแห้งเกินไปจากสาเหตุการขาดน้ำหรือเก็บเมื่อเลยอายุการเก็บอาจทำให้มีลักษณะเมล็ดไม่เต็ม เมล็ดร่วงง่าย ดังนั้น ระยะเก็บเมล็ดที่เหมาะสมควรมีลักษณะต้นแห้ง ลำต้นสี
น้ำตาล