Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset
ชะอม (Climbing Wattle) เป็นพืชตระกูลถั่วที่นิยมนำยอดอ่อนมาประกอบอาหารหรือรับประทานสด เนื่องจาก ยอดอ่อนมีความกรอบหวาน แต่มักมีกลิ่นฉุนแรงคล้ายกับพืชตระกูลถั่วทั่วไป แต่กลิ่นนี้ มีประโยชน์ในการเพิ่มความน่ารับประทานของอาหารได้หากปรุงผสมกับวัตถุดิบชนิดอื่น เช่น ใส่แกงหน่อไม้ หรือ แกงเลียง เป็นต้น รวมถึงกลิ่นฉุนยังช่วยดับกลิ่นคาวได้เป็นอย่างดี
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata (L.) Will.subsp.insuavis Nielsen
• วงศ์ : Leguminosae
• ชื่อสามัญ : Climbing Wattle
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– ชะอม
ภาคเหนือ
– ผักหละ
กะเหรี่ยง
– ฝ่าเซ้งดู่, พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน)
– โพซุยโดะ (กำแพงเพชร)
ภาคใต้
– อม
ภาคอีสาน
– ผักขา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
ชะอมเป็นไม้ยืนต้นมีอายุนานหลายปี มีลำต้นสูงได้มากกว่า 5 เมตร ลำต้นแตกกิ่งน้อย ทำให้มีทรงพุ่มโปร่ง กิ่งมีขนาดเล็ก แต่ยาวได้หลายเมตร ลำต้น และกิ่งมีหนามแหลม เปลือกลำต้น และกิ่งค่อนข้างบาง เปลือกผิวเรียบ ไม่แตกสะเก็ด ผิวเปลือกมีสีเทาอมเขียว
ใบ และยอดอ่อน
ใบชะอมเป็นใบประกอบ มีก้านใบหลัก ยาว 15-20 ซม. ก้านใบหลักแตกเป็นก้านใบย่อยเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 8-12 ก้าน แต่ละก้านใบย่อยประกอบด้วยใบขนาดเล็กจำนวนมาก ใบจะอยู่ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ 15-28 คู่ ใบมีลักษณะรูปไข่ ผิวใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ใบบริเวณยอดอ่อนหุบพับเข้าประกบกัน ต่อมาค่อยแผ่กางออก
ยอดอ่อนชะอมจะมีกลิ่นฉุนแรง เป็นส่วนที่ใช้ประกอบอาหาร แต่หากเป็นใบแก่ กลิ่นฉุนนี้จะค่อยๆจางลง ไม่นิยมนำมาประกอบอาหาร
ดอก
ดอกชะอมออกเป็นช่อ แทงออกเหนือซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกมีขนาดเล็ก สีขาว มีเกสรตัวผู้เป็นเส้นเล็กๆภายในดอก
ประโยชน์ชะอม
1. ยอดอ่อนใช้ประกอบอาหารจำพวกแกงต่างๆ อาทิ แกงหน่อไม้ แกงเลียง รวมถึงนิยมใช้ใส่ไข่เจียวที่เรียกทั่วไปว่า ไข่เจียวชะอม
2. ยอดอ่อนชะอมนิยมใช้รับประทานสดคู่กับอาหารจำพวกส้มตำ ลาบ ซุปหน่อไม้ หรือลวกใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก
3. ยอดอ่อนหรือใบแก่ใช้เป็นอาหารเลี้ยงสุกร
4. การปลูกชะอม นอกจากจะมีประโยชน์จากยอดอ่อนที่นำมาประกอบอาหารแล้ว การปลูกชะอมรอบแปลงผักจะช่วยไล่ และป้องกันแมลงศัตรูเข้าทำลายพืชผักได้อีกทาง
สรรพคุณชะอม
ใบชะอม
– ช่วยขับลม
– ช่วยขับเสมหะ
เปลือกชะอม
– เปลือกชะอมบดผสมกับฟ้าทะลายโจร และสะเดา ใช้รับประทาน สำหรับช่วยขับพยาธิ
– เปลือกหรือลำต้นชะอมต้มน้ำกิน ช่วยเป็นยาขับลม ช่วยขับปัสสาวะ
– น้ำต้มจากเปลือกหรือลำต้นชะอมช่วยแก้อาหารท้องเสีย และลดอาการอาหารเป็นพิษ
รากชะอม
– รากใช้ต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับพยาธิ
– น้ำต้มจากรากชะอมช่วยแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
– นำรากมาฝนเป็นผง ใช้ทาประคบแผล ช่วยรักษาแผลติดเชื้อ ทำให้แผลแห้งหายได้เร็วขึ้น
ข้อควรระวัง
– ชะอมมีกลิ่นฉุนแรง การรับประทานชะอมสดมักทำให้เกิดกลิ่นปากแรง
– สตรีหลังคลอดบุตรหรืออยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานชะอม เนื่องจาก ยอดชะอมมักทำให้เกิดอาการแพ้ท้องหรือเกิดอาการแสลงของสตรีที่ให้นมบุตร ซึ่งทั่วไปมักทำให้มีอาการวิงเวียนศรีษะ คลื่นไส้อาเจียน แต่จะมีอาการรุนแรงกว่าปกติ
การปลูกชะอม
ชะอมเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน นิยมปลูกหรือขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่งหรือลำต้น และกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่ง
การเตรียมกิ่งพันธุ์
กิ่งพันธุ์ชะอมที่ใช้สำหรับการปักชำกิ่งต้องเป็นกิ่งแก่ อายุมากกว่า 8 เดือน กิ่งมีสีเทาอมน้ำตาล ขนาดกิ่งประมาณ 1.5-2.5 ซม. ตัดยาวประมาณ 25-35 ซม. โดยตัดปลายทั้ง 2 ข้าง ให้เฉียงเป็นปากฉลาม จากนั้น นำลงปักชำในกรถางพลาสติกหรือถุงเพาะชำ โดยเสียบกิ่งพันธุ์ลึกประมาณ 10 ซม. และปักให้เอียงประมาณ 45 องศา ทั้งนี้ วัสดุเพาะชำ ควรเป็นดินผสมกับแกลบดำหรือวัสดุอื่น เช่น ขุยมะพร้าว อัตราส่วนดินกับวัสดุผสมที่ 1:2
หลังการปักชำต้องรดน้ำเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้า และเย็น จนชะอมเริ่มแตกยอดใหม่ 2-3 ยอด และยอดใหม่มีก้านใบแล้ว 3-5 ก้าน ก็เหมาะสำหรับลงปลูกในแปลงได้
ปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่มักนิยมซื้อกิ่งพันธุ์มาปลูก เนื่องจากประหยัด และทุ่นเวลาได้ กิ่งพันธุ์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะได้จากการตอนกิ่งเป็นหลัก
การเตรียมแปลงปลูก
การปลูกชะอมในแปลงขนาดใหญ่เพื่อมุ่งการค้า จำเป็นต้องเตรียมดินเสียก่อน ด้วยการไถพรวนดิน 1-2 รอบ แต่ละรอบตากดินนาน 7-14 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด ทั้งนี้ ก่อนไถยกร่อง ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 2-4 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากนั้น ไถยกร่องแปลงที่ระยะห่างของแถวที่ 2 เมตร แต่เกษตรกรบางรายอาจไม่ไถยกร่อง เพียงหว่านปุ๋ย ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชเสร็จ แล้วปลูกเลย ซึ่งทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้
ขั้นตอนการปลูก
นำกล้าพันธุ์ชะอมที่แตกยอด และมีใบแล้ว 3-5 ใบ ลงปลูกบนร่องแปลง ระยะห่างของหลุมปลูกประมาณ 1-1.5 เมตร
การดูแลรักษา
– หลังการปลูกแล้ว 1 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีสูตร 24-8-8 อัตรา 150-200 กรัม/ต้น
– การให้น้ำจำเป็นต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยในช่วง 1-2 เดือนแรก ควรให้น้ำทุกๆ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ หลังจากนั้นค่อยให้น้ำประมาณ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์
– หลังการปลูกชะอมแล้ว 1-2 เดือน ชะอมจะเริ่มมีกิ่งยาว ระยะนี้จำเป็นต้องตัดกิ่งชะอมทิ้ง เพื่อให้มีการแตกกิ่งมากขึ้น
การเก็บยอดชะอม
หลังจากการปลูก และดูแลรักษาประมาณ 1 เดือน ต้นชะอมจะเริ่มแตกกิ่งจำนวนมาก และจะเริ่มเก็บยอดชะอมได้ประมาณเดือนที่ 1-2 ตั้งแต่ที่มีการตัดกิ่งชะอมครั้งแรก และจะเก็บต่อเนื่องในทุกเดือน จนเริ่มเก็บแบบเต็มที่ประมาณเดือนที่ 4-6 ของการปลูก
การเก็บยอดชะอมนั้น หากปลูกเพื่อจำหน่าย ควรใช้มีดหรือกรรไกรตัดยอด เพราะหากเก็บด้วยการเด็ดมือมักจะทำให้ก้านยอดชะอมซ้ำง่าย โดยความยาวของการตัดยอดที่เหมาะสมประมาณ 15-20 ซม. หรือ มีก้านใบ 3-5 ก้าน