ชะมวง/ใบชะมวง สรรพคุณ และการปลูกชะมวง

Last Updated on 9 มกราคม 2019 by puechkaset

ชะมวง (Cha Muang) เป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบ นิยมปลูกเพื่อนำยอดอ่อนมาปรุงอาหาร และใช้สำหรับเป็นยาสมุนไพร ทั้งในส่วนราก ลำต้น ใบ ดอก และผล ที่มีสารหลายชนิดที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ และเป็นยาระบาย

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Garcinia cowa Roxb.
• วงศ์ : Guttiferae/Clusiaceae
• ชื่อท้องถิ่น
กลาง และทุกภาค
– ชะมวง

ภาคใต้
– มวง
– กะมวง
– ส้มมวง
– มวงส้ม
– กานิ

อีสาน
– ส้มโมง
– หมากโมก

เขมร
– ตระมูง

ชะมวง เป็นพืชท้องถิ่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งประเทศพม่า มาเลเชีย ลาว เวียดนาม อินโดนีเชีย และไทย โดยพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย แต่พบได้มากในแถบพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากเป็นไม้ที่ชอบดินชื้น ส่วนภาคอื่นๆจะพบเติบโตได้ดีบริเวณใกล้แหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำห้วย ลำคลอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น
ชะมวงเป็นไม้ยืนต้นไม่พลัดใบ ลำต้นสูงประมาณ 15-20 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา ต้นอายุมากมีเปลือกแตกเป็นสะเก็ด มียางสีเหลือง ต้นแตกกิ่งในระดับต่ำ เปลือกลำต้นมักเกิดไลเคนเกาะหรือมีราเติบโตทำให้มองเห็นเป็นสีขาวของรา และสีเขียวของไลเคน โดยเฉพาะต้นที่โตบริเวณป่าดิบชื้นหรือใกล้แหล่งน้ำ เมื่อถากเปลือกจะพบเนื้อเปลือกเป็นสีแดงหรือออกชมพูเข้ม และมีน้ำยางไหลออกมา

2. ใบ
ใบชะมวง เป็นใบเดี่ยว แตกใบมากบริเวณปลายกิ่ง ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน เป็นมุมฉาก มีรูปรี ค่อนข้างหนา แต่กรอบ กว้างประมาณ 2.5-5 ซม. ยาว 8-13 ซม. ปลายใบแหลม โคนใบมน แผ่นใบเรียบ เป็นมัน ขอบใบเรียบ มองเห็นเส้นใบไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 0.5-1 ซม. ใบอ่อนหรือยอดอ่อนมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้มตามอายุใบ เมื่อเคี้ยวจะมีรสเปรี้ยว

Chamuang

3. ดอก
ดอก เป็นดอกเดี่ยว ขนาดเล็ก ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ และกิ่ง ดอกมีสีเหลืองนวล ด้านในดอกมีสีชมพูหรือม่วงแดง กลีบดอกมี 4 กลีบ ค่อนข้างแข็ง ขนาดกลีบเท่ากับกลีบเลี้ยง ดอกบานมีกลิ่นหอม ดอกตัวผู้ และตัวตัวเมียแยกต้นกัน ดอกตัวผู้มักออกตามซอกใบ และกิ่ง 3-8 ดอก ส่วนดอกตัวเมียออกบริเวณปลายยอด 2-5 ดอก ติดดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

4. ผล
ผลมีลักษณะกลม เบี้ยวเล็กน้อย ผลเรียบเป็นมัน มีร่องเป็นพู ขนาดผลประมาณ 2.5-6.0 ซม. ตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลแก่หรือสุกมีสีเหลือง และสุกจัดมีสีเหลืองออกส้ม เปลือกผลมียางสีเหลือง เนื้อหุ้มเมล็ดสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เนื้อผลดิบมีรสฝาดอมเปรี้ยว เมื่อสุกออกเปรี้ยวมากกว่า เมล็ดแบนรี 4-6 เมล็ด

Chamuang3

พืชในสกุล Garcinia ที่พบในประเทศไทย
– รงทอง
– ชะมวง
– ชะมวงช้าง
– ชะมวงป่า
– ชะมวงเล็ก
– ส้มแขก
– มังคุดป่า
– มะพูด
– พะวาป่า
– มะดันป่า
– หมักแปม
– รง
– วา
– ส้มกุ้งใหญ่
– มังคุด
– มะดะ
– นวล
– มะพูดป่า
– ม่วงลาย
– มะดัน
– พะวา
– มะป่องต้น
– มะดะขี้หนอน
– พะวาใบใหญ่
– มะดะหลวง

ที่มา : เต็ม สมิตินันท์, 2544(1)

ประโยชน์
• ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ใช้นำมาปรุงอาหารประเภทต้มยำ แกงส้ม หมูชะมวง และแกงชนิดต่างๆ เมื่อถูกความร้อนใบจะกรอบนุ่ม
• ใบชะมวงอ่อน และยอดอ่อน ใช้รับประทานสดหรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก
• ผลมีรสเปรี้ยว ใช้รับประทานเป็นผลไม้
• เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง สร้างบ้านเรือน
• เนื้อไม้นำมาแปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ชนิดต่างๆ
• เนื้อไม้ และกิ่ง ใช้เป็นฝืนหุงหาอาหาร
• ใช้ปลูกเพื่อให้ร่มเงา และเป็นพืชผักสมุนไพรพื้นบ้าน

Chamuang2

คุณค่าทางอาหาร (ใบ 100 กรัม)
• พลังงาน 51 กิโลแคลอรี่
• เส้นใย 3.2 กรัม
• แคลเซียม 27 มิลลิกรัม
• ฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม
• เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม
• วิตามินเอ 7333 IU
• วิตามินบีหนึ่ง 0.7 มิลลิกรัม
• วิตามินบีสอง 0.04 มิลลิกรัม
• ไนอาซีน 0.2 มิลลิกรัม
• วิตามินซี 29 มิลลิกรัม

ที่มา : กัญจนา, 2542(2)

สารสำคัญ

ภัทรภูมิ, (2550)(3) รายงานการศึกษาชนิดสารในรากชะมวง และอ้างถึงในเอกสารหลายฉบับที่มีการศึกษาชนิดสารต่างๆในลำต้น และผลชะมวง ได้แก่
1. ราก
• β-sitosterol
• sitgmasterol
• cowanin
• cowagarcinone E
• cowaxanthone
• cowanol

2. ลำต้น และใบชะมวง
• 1,7-dihydroxyxanthone
• 1,3,6,7-tetrahydroxyxanthone
• dulxanthone A
• cowaxanthone
• cowanin
• cowanol
• norcowanin
• 7-O-methylgarcinone E
• β-mangostin
• cowagarcinone A-E
• mangostinone

3. ผล
• hydroxycitric acid
• oxalic acid
• citric acid
• cowaxanthone A-E
• fuscaxanthone C
• 7-Omethylgarcinone E
• β–mangostin
• cowanol
• 6-O-methylmangostanin
• cowanin
• α-mangostin
• cowaxanthone

สรรพคุณ
• ยอดอ่อน และใบอ่อนชะมวง นำมารับประทานสด หรือต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณ
– ใช้เป็นยาลดไข้
– ต้านเชื้อจุลินทรีย์ทั้งในระบบทางเดินอาหาร และราก่อโรคผิวหนัง
– ต้านเชื้อ และรักษามาลาเลีย
– แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยให้ชุ่มคอ
– แก้โรคบิด
– แก้ไอ
– ช่วยเป็นยาระบาย
– ลดเสมหะ และช่วยขับเสมหะ
– แก้ท้องเสีย
– ฟอกเลือด และขับสารพิษ
– ต้าน และป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

• เปลือก และแก่นลำต้น ใช้บดทาหรือต้มน้ำอาบ มีสรรพคุณ
– ใช้ประคบรักษาแผล แก้แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง
– น้ำต้มใช้อาบ ช่วยป้องกัน และรักษาโรคผิวหนัง

• เปลือก และแก่นลำต้น ใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณ
– ใช้เป็นยาระบาย
– รักษาโรคท้องร่วง
– ช่วยแก้กระหายน้ำ
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ

• เปลือก และแก่นลำต้น ใช้บดทาหรือต้มน้ำอาบ มีสรรพคุณ
– ใช้ทารักษาแผล
– น้ำต้มใช้อาบ ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรีย รักษาโรคผิวหนัง

• ผลใช้รับประทานเป็นผลไม้ มีสรรพคุณ
– ใช้เป็นยาระบาย
– ช่วยการย่อยอาหาร

– ต้านเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร
– ป้องกันโรคเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวเหี่ยวย่น เกิดฝ้า กระ
– ช่วยบำรุงสายตา ทำให้มองเห็นในที่มืดได้ดี รวมถึงช่วยป้องกันโรคตาชนิดต่างๆ

• ดอก นำมาตากแห้งใช้ต้มน้ำดื่ม มีสรรพคุณ
– ใช้เป็นยาระบาย
– ช่วยบำรุงผิวพรรณ ป้องกันการเกิดฝ้า กระ

เพิ่มเติมจาก : นันทวัน .2539(4)

การนำมาใช้ประโยชน์
• ราก
– รากสดนำมาบดใช้ทา
– รากสดนำมาต้มน้ำ
– รากนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก หรือหั่นเป็นแว่น และตากแห้ง

• เปลือก และแก่น
– เปลือกสดหรือแก่นสดนำมาบดใช้ทา
– เปลือกสดหรือแก่นสดนำมาต้มน้ำ
– เปลือกหรือแก่นนำมาสับเป็นชิ้นเล็ก และตากแห้ง

• ดอก
– นำมาตากแห้งใช้ต้มน้ำดื่มหรือบดชงเป็นชาดื่ม
– นำำดอกสดมาต้มน้ำ

• ผล
– ผลใช้รับประทานสด
– เปลือกผลนำมาตากแห้งใช้ต้มน้ำดื่ม

สารออกฤทธิ์
สารสกัดจากเปลือกผล ลำต้น และใบที่ส่วนมากเป็นสารในกลุ่มแซนโทนหลายชนิด ออกฤทธิ์ในทางเภสัชกรรมหลายด้าน อาทิ
– ออกฤทธิ์ยับยั้งพิษ aflatoxin B1
– ออกฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง
– ออกฤทธิ์ต้านการเสื่อมของเซลล์ กระตุ้นการทำงานของเซลล์ เช่น เซลล์ผิวหนัง เซลล์ตา เซลล์ตับ เป็นต้น
– ออกฤทธิ์ปกป้องเซลล์จากสารพิษ โดยเฉพาะเซลล์ตับ
– ออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่น แบคทีเรียก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น Staphylococcus aureus และเชื้อราก่อโรคผิวหนัง
– สาร 7-O-methylgarcinone E, cowaxanthone, cowanin, cowanol และ β-mangostin ออกฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ของโรคมาลาเลีย
– สาร cowaxanthone, cowanin, cowanol และสาร fuscaxanthone มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

การปลูก
ชะมวงสามารถปลูกด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง สามารถเติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่มักชอบดินชุ่มชื้น และปลูกได้ในทุกภาค

Chamuang5

การเพาะเมล็ดจะใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ร่วงจากต้น นำมาแกะเปลือก และนำเมล็ดตากแห้ง 5-7 วัน หลังจากนั้นจึงนำไปเพาะในถุงเพาะชำ โดยใช้ดินผสมกับวัสดุเพาะเช่นแกลบ ขี้เถ้า ขุยมะพร้าว เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
1