Last Updated on 12 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset
การใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากให้ความสะดวก และสามารถกำจัดศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เกษตรทั่วไปมักคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดตามมา โดยเฉพาะสารตกค้างที่สามารถเป็นอันตรายต่อตัวเกษตรกร และต่อผู้บริโภค รวมถึงการตกค้างของสารพิษในสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อดิน สัตว์ และแมลงที่มีประโยน์
การจัดการแมลงศัตรูพืชตามหลักธรรมชาตินั้น เกษตรกรบางรายอาจเข้าใจถึงการใช้สารสกัดสมุนไพรมาช่วยในการควบคุมแมลงศัตรูพืช ซึ่งถือเป็นวิธีหนึ่งที่อาศัยธรรมชาติเข้าช่วย ซึ่งวิธีนี้เพียงวิธีเดียวไม่สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้กับทุกชนิด ซึ่งการจัดการศัตรูพืชยังต้องอาศัยหลักการตามธรรมชาติช่วยในการจัดการ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการใช้ศัตรูแมลงศัตรูพืชที่เป็นตัวห้ำตัวเบียนคอยควบคุมประชากรของแมลงหรือศัตรูพืชอีกขั้นหนึ่ง
ศัตรูแมลงศัตรูพืชเป็นศัตรูที่คอยควบคุมแมลงชนิดต่างๆ โดยส่วนมากจะเป็นสัตว์ผู้ล่าที่คอยจับกินสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร นอกจากนั้น ยังรวมถึงจุลชีพที่สามารถฆ่าแมลงศัตรูพืชได้ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1. แมลงศัตรูธรรมชาติที่เข้าจับกินแมลงศัตรูพืชในทุกระยะตั้งแต่ระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัยเป็นอาหาร เรียกแมลงกลุ่มนี้ว่า “ตัวห้ำ”แมลงพวกนี้มีทั้งชนิดที่กินแมลงเพียงชนิดเดียว และชนิดที่กินแมลงได้หลายชนิด เช่น ด้วงเต่าจะจับกินเพลี้ยหอยนวมฝ้าย ส่วนแมงมุมสามารถจับกินแมลงเกือบทุกชนิด
2. แมลงศัตรูธรรมชาติที่เข้าจับกินไข่หรือตัวอ่อนแมลงศัตรูพืช รวมไปถึงการเข้ารุกรานหรือทำลายถิ่นที่อยู่ของแมลงศัตรูพืช เรียกแมลงกลุ่มนี้ว่า “ตัวเบียน”รูปแบบการทำลายของตัวเบียนจะเข้าทำลายแมลงศัตรูพืชทั้งชนิดเจาะจงชนิดเดียวหรือทำลายได้หลายชนิดพร้อมๆกัน เช่น แตนเบียนชนิดที่เข้าเบียนเฉพาะเพลี้ยอ่อน แตนเบียนชนิดที่เข้าเบียนหนอนกระทู้ ส่วนแมลงวันก้นขนสามารถเข้าทำลายแมลงได้หลายชนิดพร้อมกัน
3. กลุ่มของเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในแมลง ทำให้แมลงไม่เจริญเติบโตหรือตาย เรียกว่า เชื้อโรคของแมลง ซึ่งได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และไส้เดือนฝอย โดยปัจจุบันมีการศึกษา และพัฒนาหาเชื้อโรคแมลงที่สามารถกำจัดแมลงได้เป็นอย่างดี อาทิ ไวรัส NPV แบคทีเรีย BT เชื้อราบิวเวอร์เรีย เป็นต้น ซึ่งเชื้อเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ตกค้างในธรรมชาติ สามารถเพาะขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว และในปริมาณมาก
สำหรับแมลงตัวห้ำ ตัวเยียนโดยในธรรมชาติจะมีแมลงทั้งสองชนิดนี้คอยควบคุมสมดุลของประชากรแมลงซึ่งกันและกันอยู่เสมอ แต่หากมีการทำลายแมลงศัตรูธรรมชาติชนิดหนึ่งก็ย่อมส่งผลต่อประชากรแมลงอีกชนิดหนึ่ง
ในบางพื้นที่มีการนำแมลงตัวห้ำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชทางการเกษตร และประสบผลสำเร็จ เช่น การใช้ด้วงเต่าลายทำลายเพลี้ยแป้งในสวนส้ม จนมีการผลิตด้วงเต่าลายเพื่อเป็นการค้าในกลุ่มของเกษตรกรได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้แมลงช้างปีกใส โดยมีการขายในลักษณะที่เป็นไข่ใช้ปล่อยในสวนประเภทต่างๆเพื่อกำจัดเพลี้ยอ่อน
สำหรับแนวทางในการจัดการแมลงศัตรูพืชด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติจึงถือเป็นการอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชบางชนิด ซึ่งมีแนวทาง ดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี และสารกำจัดวัชพืช รวมถึงสารพิษอื่นๆทางการเกษตร เนื่องด้วยสารเหล่านี้มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีการสะสมในดิน และส่งผลต่อสัตว์ จุลินทรีย์ และความหลากหลายทางชีวภาพของแปลงเกษตร
2. หลีกเลี่ยงการใช้สารกำจัดแมลงศัตรูพืชในกลุ่มของยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา และหันมาใช้สมุนไพรจากธรรมชาติแทน เนื่องด้วยสารเหล่านี้มักมีกำจัดหรือส่งผลกระทบต่อแมลงหลายชนิดในวงกว้างทั้งที่มีโทษ และเป็นประโยชน์ซึ่่งไม่สามารถควบคุมให้เกิดผลอย่างจำเพาะได้
3. ปลูกพืชให้มีความหลากหลายของชนิดในพื้นที่ว่างหรือรอบพื้นที่แปลงเกษตร เพื่อเพิ่มความหลากหลายของแมลงธรรมชาติ และรักษาระบบนิเวศ
4. หลีกเลี่ยงการจับหรือไล่สัตว์กินแมลงชนิดต่างๆ อาทิ นก กบ เขียด คางคก อึ่งอ่าง กิ้งก่า แย้ และสัตว์อื่นๆ รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการทำลายรังหรือถิ่นที่อยู่อาศัยโดยรอบ
5. ศึกษา และสังเกตแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ หากมีปริมาณมากเกินไปหรือทำลายผลผลิตทางการเกษตรมาก ให้เพิ่มแมลงธรรมชาติหรือสัตว์กินแมลงที่สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชชนิดนั้นๆ ด้วยการเพิ่มปริมาณด้วยการนำมาปล่อยในแปลง และพื้นที่โดยรอบ