ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) ประโยชน์ และการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

ข้าวโพดฝักอ่อน (Baby corn) เป็นผลผลิตทางการเกษตรของข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวฝักในระยะฝักอ่อน เพื่อนำมาบริโภค เนื่องจากข้าวโพดฝักอ่อนจะมีความหวาน กรอบ มีเมล็ดเป็นไข่ขนาดเล็ก และรับประทานง่ายทั้งในรูปฝักสดหรือใช้ประกอบอาหาร

ประโยชน์ข้าวโพดฝักอ่อน

คุณค่าทางอาหารข้าวโพดฝักอ่อน  (100 กรัม)
– ความชื้น 84.10 กรัม
– ไขมัน 0.20 กรัม
– โปรตีน 1.90 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 8.20 กรัม
– เถ้า 0.60 กรัม
– แคลเซียม 28.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 86.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.10 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ 64.00 ไอยู
– ไธอามีน 0.05 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน 0.08 มิลลิกรัม
– กรดแอสคอร์บิก 11.00 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน 0.30 มิลลิกรัม

SONY DSC

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชในวงศ์เดียวกับหญ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ Zea mays L. อยู่ในวงศ์ (Family) GRAMINEAE
ราก
รากข้าวโพด เป็นพืชที่ไม่มีรากแก้ว มีเฉพาะรากฝอยที่แตกออกบริเวณโคนต้นใต้ดิน และอาจพบรากบางส่วนแตกออกจากข้อเหนือดิน ยั่งลึกลงดินที่ข้อที่ 1-2 เหนือดิน

ลำต้น
ข้าวโพดมีลำต้นแข็งแรง ลำต้นไม่กลวง สูงตั้งแต่ 60-200 เซนติเมตร หรือมากกว่า แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ ข้อของข้าวโพด สามารถเกิดราก และลำต้นใหม่ได้ ลำต้นมีปล้อง โดยปล้องส่วนที่อยู่โคนต้นจะสั้น และหนา ส่วนปล้องที่สูงขึ้นมาจะยาว และเล็กลงเรื่อยๆ

ใบ
ใบประกอบด้วยกาบใบ และหูใบ ที่แตกออกบริเวณข้อของแต่ละปล้อง ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายแหลม สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้มตามอายุของใบ

ดอก และเมล็ด
ดอกข้าวโพดจะมีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียแยกคนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดอกตัวผู้จะรวมกันเป็นช่อดอก อยู่บนสุดของลำต้น หรือที่เกษตรกรเรียกกันว่า ดอกหัว ดอกหนึ่งจะมีอับละอองเกสร 3 อัน ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร ซึ่งมีละอองเกสรเป็นจำนวนมาก ละอองเกสรจะสลัดออกก่อนการออกไหมของดอกตัวเมีย ประมาณ 1-3 วัน ดอกตัวผู้จะบานอยู่หลายวันหลังจากที่ไหมโผล่ ลักษณะอากาศที่ร้อน และแห้งแล้ง มีลมแรงจะช่วยให้ละอองเกสรสลัดออกได้เร็วขึ้น

ดอกตัวเมียจะมีลักษณะเป็นช่อ แตกออกที่ฝักบริเวณข้อกลางๆ ของลาต้น ดอกตัวเมียประกอบด้วยรังไข่ และเส้นไหม ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร ซึ่งจะยื่นโผล่รวมกันเป็นกระจุกตรงปลายช่อดอกที่มีเปลือกหุ้ม โดยจะพร้อมผสมพันธุ์ทันทีที่ไหมพ้นเปลือก เส้นไหมจะมียางเหนียว ๆเคลือบ นานประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อรับละอองเกสรตัวผู้ที่ปลิวมาสัมผัสสำหรับเข้าผสมกับไข่ การผสมละอองจะใช้เวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง และหลังจากผสมแล้วประมาณ 20-40 วัน ไหมจะแห้ง ช่อดอกตัวเมียที่ได้รับการผสมแล้วเรียกว่า ?ฝัก? แกนกลางของฝักเรียกว่า ซัง และรังไข่จะเติบโตเป็นเมล็ด

read-corn2

พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อน
พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่ดี เป็นปัจจัยที่สาคัญที่ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี พันธุ์ข้าวโพดฝักอ่อนที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่
1. พันธุ์ผสมเปิดต่าง ๆ ได้แก่ สุวรรณ 1, สุวรรณ 2, สุวรรณ 3, รังสิต 1 และเชียงใหม่ 90 โดยพันธุ์สุวรรณ 1, 2 และ 3 เป็นข้าวโพดไร่ที่มีข้อดี คือ มีความต้านทานโรคราน้ำค้าง และโรคอื่นๆได้ดี สามารถเจริญเติบโต และปรับตัวได้ดี เมล็ดพันธุ์มีราคาถูก

2. พันธุ์ลูกผสมของทางราชการ และบริษัทเอกชน ได้แก่ พันธุ์ SG 17 ซุปเปอร์, พันธุ์แปซิฟิค 116, พันธุ์แปซิฟิค 283 , พันธุ์จี 5414, พันธุ์ เอสจี 18, พันธุ์ยูนิซิดส์ บี 65 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 2 ซึ่งพันธุ์เหล่านี้มีข้อดี คือ มีความสม่ำเสมอของลักษณะต้น อายุเก็บเกี่ยว และจำนวนฝักอ่อน ซึ่งได้มาตรฐานสูงกว่าพันธุ์ผสมเปิด

ข้าวโพดฝักอ่อนลูกผสมเดี่ยวพันธุ์ SG 17 ซุปเปอร์ เป็นพันธุ์ที่พัฒนาเพื่อข้าวโพดฝักอ่อนโดยเฉพาะ สามารถให้จำนวนฝักเกรดเอ เฉลี่ยสูงถึง 71 เปอร์เซ็นต์ และให้คุณภาพฝักสูง มีความทนทานไม่หัก หรือดำช้ำง่าย สีฝักสวย เหมาะกับตลาดแพ็คสด และโรงงานแปรรูป

ลักษณะประจำพันธุ์ SG 17 ซุปเปอร์ คือ ความสูงต้นเฉลี่ย 155 เซนติเมตร ความสูงฝักแรกที่ 95 เซนติเมตร อายุเก็บเกี่ยวครั้งแรกเฉลี่ย 55 วัน เก็บเกี่ยวนาน 5-6 วัน ความยาวไหมที่เหมาะสมต่อการเก็บเกี่ยวที่ 5-10 เซนติเมตร มีลักษระฝักสีเหลือง ทรงกรวยปลายแหลม เมล็ดคล้ายไข่ปลาละเอียด มีน้ำหนักฝักสดรวมเปลือกประมาณ 2,100-2,400 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตฝักสดเมื่อปอกเปลือก 300-430 กิโลกรัม/ไร่

ปัจจัยต่อการเติบโต
สภาพของดิน
ข้าวโพดฝักอ่อนสามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ควรปลูกในดินร่วน ดินร่วนเหนียว และดินร่วนทราย พื้นที่ระบายน้ำดี น้ำไม่ขัง เพราะข้าวโพดฝักอ่อนไม่จะเติบโตได้ไม่ดีในดินเปียกแฉะ pH ของดินประมาณ 6.5-7.0 แต่สามารถปลูกในดินกรดจัดได้

ความต้องการแสง
ข้าวโพดฝักอ่อนต้องการช่วงแสงประมาณ 12 ชั่วโมง สำหรับการเจริญเติบโต และกระตุ้นให้การออกดอกเร็วขึ้น พื้นที่ปลูกควรเป็นที่ได้รับแสงตลอดทั้งวัน โดยในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบว่า มีช่วงแสงที่เหมาะสมสาหรับปลูกข้าวโพดฝักอ่อนได้ตลอดทั้งปี

อุณหภูมิ
อุณหภูมิที่เหมาะสมจะอยู่ประมาณ 24-30 องศาเซลเซียส และต้องการอุณหภูมิค่อนข้างต่ำในช่วงกลางคืน หากมีอุณหภูมิที่สูง และขาดน้ำจะทำให้การเจริญเติบโตชะงัก และแห้งตาย

แหล่งปลูก และผลผลิต
แหล่งปลูกข้าวโพดฝักอ่อนที่ปลูกกันมาก ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร ลำพูน พิจิตร ลำปาง พะเยา เชียงราย และเชียงใหม่

การปลูกข้าวโพดฝักอ่อน
การเตรียมดิน
ให้ขุดดินหรือพรวนดินให้ร่วนด้วยการไถพรวนดิน ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร แล้วยกร่องสูง 25 เซนติเมตร ก่อนไถพรวนดิน ควรหว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย

การปรับปรุงดิน
ใส่ปูนขาวกรณีที่ดินเป็นกรด อัตรา 100-200 กิโลกรัม/ไร่ รวมถึงการใส่หินฟอสเฟตเพื่อแก้ความเป็นกรด และให้ธาตุฟอสฟอรัสแก่พืช นอกจากนี้ ควรใส่ปุ๋ยคอกก่อนการไถพรวนดินเพื่อปรับคุณสมบัติร่วมด้วย

ระยะการปลูก
ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 50-50 เซนติเมตร จำนวน 3 ต้น/หลุม (19,000 ต้น/ไร่) หรือ 50-40 จำนวน 3 ต้น/หลุมขึ้นไป หรือเพิ่มอัตราปลูกที่ 26,000 ต้น/ไร่ แต่ไม่ควรเพิ่มมากกว่านี้ หรืออาจเพิ่มจำนวนต้นต่อหลุม หากเพิ่มจำนวนต้นต่อพื้นที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดผลเสียตามมา คือ
– น้ำหนักฝักลดลง
– ขนาดฝักลดลง ทั้งความยาว และความกว้าง
– จำนวนฝักต่อต้นลดลง
– ปริมาณต้นที่ไม่ติดฝักมากขึ้น
– ต้นอ่อนแอ ต้นล้ม และเกิดโรคเน่าคอดินมากขึ้น
– ต้นเจริญเติบโตช้า ลำต้นเตี้ยกว่าปกติ

read-corn3

อัตราการปลูก
พันธุ์รังสิต 1 สุวรรณ 1 หรือ 2 จะใช้เมล็ดพันธุ์ 6-7 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนข้าวโพดหวานจะใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 3-5 กิโลกรัม/ไร่ ขึ้นกับำนวนเมล็ดต่อหลุม

การใส่ปุ๋ย
ธาตุอาหารที่จำเป็นมาก ได้แก่ ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ส่วนโพแทสเซียมจะต้องการน้อยกว่า และไม่ต้องใส่มาก
– การปลกูกด้วยการยกร่อง ให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเพียงอย่างเดียว อัตรา 20 กิโลกรัม/ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ รองก้นหลุมตอนปลูก และโรยข้างแถว เมื่อข้าวโพดอายุ 25-30 วัน ในปริมาณที่เท่ากัน
– พื้นที่ดินนาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว อัตรา 15-30 กิโลกรัม/ไร่ โดยใส่ตามวิธีที่กล่าวข้างต้น
– พื้นที่ไร่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1?2 ตัน/ไร่ และใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 75-100 กิโลกรัม/ไร่ รองก้นหลุมตอนปลูก และปุ๋ยไนโตรเจน 10-15 กิโลกรัม/ไร่ ด้วยการโรยข้างแถวเมื่ออายุ 25-30 วัน แต่หากดินดีให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเดียว 20 กิโลกรัม/ไร่ แบ่งใส่ 2 ครั้ง ก็ได้

การให้น้ำ
การให้น้ำกับข้าวโพดฝักอ่อนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเอาใจใส่ใกล้ชิด เพราะข้าวโพดฝักอ่อนจะเติบโตได้ดี มีฝักสมบูรณ์เมื่อมีความชื้นตลอดทั้งช่วงการปลูก แต่ควรระมัดระวังอย่าให้ดินแฉะ และหากขาดน้ำหรือดินแห้งในช่วงใดช่วงหนึ่งจะทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก

การให้น้ำข้าวโพดฝักอ่อนให้พิจารณาความชื้นดินที่ระดับความลึก 0-20 เซนติเมตร ตลอดฤดูปลูก ด้วยการปฏิบัติ คือ ข้าวโพดยังเล็กในระยะแรกให้น้ำทุก 2-3 วัน เมื่อต้นสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร หรือสูงประมาณหัวเข่า จะให้น้ำทุกๆ 5-7 วัน ต่อจากนั้น การให้น้ำจะพิจารณาเมื่อดินเริ่มแห้งเป็นระยะๆ

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชอาจใช้วิธีการกำจัดด้วยจอบหรือการถอนมือทุกๆ 2-3 อาทิตย์ หรืออาจใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เช่น อลาคลอร์ตรา 600-700 ซีซี/ไร่ ฉีดพ่นหลังปลูกขณะที่ข้าวโพด และวัชพืชยังไม่งอก แต่การใช้สารเคมีอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ และคุณภาพดิน รวมถึงสารเคมีที่ตกค้างในดิน

การถอดยอด
เมื่อข้าวโพดฝักอ่อนมีอายุประมาณ 38 วัน หรือมีใบจริง 7 คู่ โดยจะมีช่อดอกตัวผู้โผล่จากใบธง (ใบยอด) ซึ่งต้องดึงส่วนนี้ทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการผสมเกสร เพราะหากมีการผสมเกสรจะทำให้ข้าวโพดฝักอ่อนมีคุณภาพด้อยลง เมล็ดโป่งพอง และไม่ได้มาตรฐานตามตลาด นอกจากนี้ การถอดยอดถือเป็นเทคนิคสำคัญที่เกษตรกรไม่ควรละเลยหากต้องการให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

การเก็บเกี่ยวฝักอ่อน
ข้าวโพดฝักอ่อนเป็นพืชอายุสั้น ประมาณ 55-60 วัน และจะเก็บเกี่ยวหลังดึงช่อดอกตัวผู้แล้วประมาณ 3-5 วัน แต่มีข้อควรระวัง คือ ฝักอ่อนจะโตเร็ว ซึ่งควรเก็บเกี่ยวฝักอ่อนในระยะที่เหมาะสม หากปล่อยนานจะทำให้ฝักอ่อน มีขนาดโตเกินมาตรฐานที่โรงงานหรือตลาดต้องการ การเก็บเกี่ยวมีข้อพึงปฏิบัติ ดังนี้
– สังเกตไหมที่เริ่มโผล่ปลายฝัก จะมีความยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวที่สุด
– ให้เก็บจากฝักบนสุดเป็นฝักแรก และฝักที่ถัดต่ำลงมาตามลำดับ และควรหักลำต้นไปด้วยเพื่อจะทำให้มองเห็นต้นที่เก็บเกี่ยวแล้ว
– ให้เก็บฝักทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝักแก่เกินไป
– หากใช้พันธุ์ใหม่ ๆ ที่ยังไม่ปลูก ควรสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวโพดที่มีไหมยาวแตกต่างกัน และกรีดดูลักษณะฝัก ขนาดของฝัก พร้อมเก็บข้อมูล และพิจารณาระยะที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้กำหนดระยะการเก็บของทั้งแปลง
– การเก็บฝักสดเพื่อส่งออก ควรเก็บ 2 ฝัก/ต้น โดยไม่ควรเก็บฝักที่ 3 เนื่องจากฝักมักจะไม่สมบูรณ์ไม่ได้คุณภาพ

read-corn4

มาตรฐานข้าวโพดฝักอ่อน
1. ขนาดข้าวโพดฝักอ่อน แบ่งตามขนาดเป็น 4 เกรด คือ
– ฝักใหญ่ ขนาด 9-13 เซนติเมตร ขนาด (L)
– ฝักกลาง ขนาด 7-9 เซนติเมตร ขนาด (M)
– ฝักเล็ก ขนาด 4-7 เซนติเมตร ขนาด (S)
– ฝักคละ ไม่จำกัดขนาด (ต่ำกว่า 4 เซนติเมตร)
ฝักใหญ่ กลาง และเล็ก จะกำหนดให้มีความผิดพลาดได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนฝักในแต่ละกระป๋อง ซึ่งเหมาะสำหรับผลิตส่งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตเกรดเล็ก และกลาง มากกว่าเกรดใหญ่

2. คุณภาพข้าวโพดฝักอ่อน
สีของฝักจะมีสีเหลืองหรือครีม ฝักสมบูรณ์ มีการเรียงของไข่ปลาที่มีลักษณะตรง ไม่หักง่าย เน่าง่าย และแก่เกินไป ฝักต้องไม่มีรอยกรีด ไม่มีเศษไหม ฝักมีความสด ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่ผ่านการแช่น้ำ และผ่านการตัดแต่งระหว่างรอยขั้นกับฝักเรียบร้อย

การรักษาคุณภาพข้าวโพดฝักอ่อนหลังการเก็บเกี่ยว
1. เมื่อเก็บฝักเสร็จ ควรรีบนำฝักเข้าร่มหรือโรงเรือนที่ระบายอากาศดี พยายามจัดวางเรียงกันเป็นแถว ไม่ควรวางเป็นกองสูง และไม่ควรทิ้งไว้หลายวัน และควรปลอกเปลือกทันทีหลังการเก็บเกี่ยว
2. การขนส่งควรทำโดยเร็วที่สุด และการจัดเรียงใส่รถบรรทุกควรใส่ในภาชนะก่อน โดยเฉพาะข้าวโพดที่ปอกเปลือกแล้ว ควรใส่ในกล่องกระดาษหรือตะกร้าพลาสติกที่มีรูระบายอากาศ
3. การปอกเปลือกข้าวโพด ต้องกรีดเปลือกโดยไม่ให้เกิดบาดแผล
4. การทำความสะอาดเพื่อลดปริมาณเชื้อรา ตั้งแต่มีดกรีด หีบห่อบรรจุ และเครื่องมือที่ใช้ รวมถึงโรงเรือน ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้สารเคมีในรูปของแก๊สหรือสารละลายที่ฆ่าเชื้อโรค เช่น ฟอร์มาดีไฮด์ อัตรา 1-2 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำฉีดพ่น เป็นต้น
5. การส่งออก ควรลดอุณหภูมิข้าวโพดฝักอ่อนโดยเร็วที่สุด ด้วยวิธีการอัดลมเย็น (forced – air cooling) เพื่อลดการเน่า ลดการสูญเสียน้ำ และความหวาน ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น อุณหภูมิที่ใช้ในระหว่างการขนส่ง คือ 5 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์