Last Updated on 17 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset
กีวี (Kiwi) เป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของประเทศแถบอากาศหนาว เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเฉพาะวิตามินซี สามารถนำมารับประทานสด และใช้ประกอบอาหาร เช่น แยม เยลลี่ ไอศครีม น้ำผลไม้กีวี เป็นต้น
กีวี (Kiwi) หรือ กีวีฟรุต (Kiwifruit) เป็นไม้ผลัดใบ ประเภทไม้เลื้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ Actinidia deliciosa (A.Chev.) C.F. Liang et A.R. Ferguson อยู่ในวงศ์ Actinidiaceae มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณหุบเขาแยงซีทางตอนกลาง และตอนใต้ในประเทศจีน มีชื่อเรียกอื่นว่า mihoutao เป็นชื่อที่ใช้มากอีกชื่อหนึ่ง, yangtao นิยมใช้ทั่วไป ส่วน chinese gooseberry เป็นชื่อที่ใช้เรียกชื่อสามัญทั่วโลก ส่วน kiwifruit หรือเรียกสั้นว่า kiwi เป็นชื่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ตั้งขึ้น สำหรับส่งผลกีวีให้แก่สหรัญอเมริกา ในปี ค.ศ. 1960 ที่ได้มาจากชื่อของนกกีวี (Apteryx spp.) ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศนิวซีแลนด์ ถือเป็นชื่อที่นิยมใช้ทั่วโลกในปัจจุบัน (Ferguson, 1984)(1)
ประวัติกีวี
กีวีที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เริ่มมีการปลูกครั้งแรกในมณฑลซีเจียง ต่อมามีการนำเมล็ดเข้ามาปลูกในทวีปยุโรปครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1910 โดย จนมีการปลูกมากขึ้นเป็นผลไม้ส่งออกของประเทศ และในปี ค.ศ. 1960 ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ส่งจำหน่ายผลกีวีให้แก่สหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อผลไม้ที่เรียกว่า kiwifruit หรือเรียกสั้นว่า kiwi ในปัจจุบัน (Schroeder และFletcher, 1967)(2)
ในประเทศไทยเริ่มมีการปลูกกีวีครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2519 โดยนำพันธุ์เข้ามาจากประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อทดลองปลูกเป็นพืชทดแทนฝิ่นที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ. ฝาง จ. เชียงใหม่ ประกอบด้วยพันธุ์ที่ไม่มีอับเรณู 4 พันธุ์ ได้แก่ Hayward, Monty, Bronu และ Abbott และพันธุ์ที่มีอับเรณู 2 พันธุ์ ได้แก่ Tomori และ Matua ผลการทดลองปลูก พบว่า มีบางสายพันธุ์ที่สามารถออกดอก และติดผลได้ดี โดยเฉพาะพันะุธุ์ Bronu ที่สามารถปลูกได้ในระดับความสูงตั้งแต่ 1000 เมตร และต้องการช่วงอากาศหนาวที่สั้นกว่าพันธุ์อื่นๆ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น และกิ่ง
กีวีเป็นไม้เลื้อยที่มีการผลัดใบ มีอายุได้มากกว่า 50 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นได้มากกว่า 20 เซนติเมตร และเลื้อยได้สูงกว่้า 9 เมตร ลำต้นหรือเถาปกคลุมด้วยขน ไม่มีมือเกาะ สามารถพยุงปลายเถาได้เองหรือใช้ปลายเถาสำหรับการพิงหรือม้วนพันสำหรับพยุงเถา แตกกิ่งออกด้านข้างเถา กิ่งอ่อนมีสีเขียว และเมื่อแก่มีสีน้ำตาล มีตาสำหรับเจริญเป็นดอกอบู่เหนือก้านใบ
2. ใบ
ใบกีวีจัดเป็นใบเดี่ยว เจริญออกจากข้อกิ่ง ออกเรียงสลับตามความยาวของกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ สีเขียวเข้ม มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั้งด้านบน และด้านล่าง ขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย ใบกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของใบ โดยใบที่เกิดในข้อที่สมบูรณ์ (ข้อยาว) จะมีใบขนาดใหญ่กว่าใบที่เกิดบริเวณข้อสั้น เมื่อต้นโตเต็มที่จะมีใบประมาณ 3500-5000 ใบ ใบเจริญเต็มที่เมื่ออายุ 4 สัปดาห์ และแก่เมื่ออายุ 10 สัปดาห์
3. ดอก
ดอกกีวีเกิดที่ตาเหนือก้านใบ เป็นชนิดดอกแบบไม่สมบูรณ์เพศแยกดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียอยู่คนละต้น มีทั้งออกเป็นดอกเดี่ยว และออกเป็นช่อ (ดอกหลัก 1 ดอก และดอกรอง 2 ดอก) ดอกมีขนาดใหญ่ มีกลีบดอกสีขาวครีม 3-7 กลีบ
– ดอกเพศเมีย ประกอบด้วยรังไข่แบบ carple จำนวน 25-41 อัน แต่ละ carple มีไข่ประมาณ 40 ฟอง
– ดอกเพศผู้ ภายในประกอบด้วยอับเรณูจำนวนมาก และมีรังไข่ภายใน แต่มีขนาดเล็ก และไม่ทำหน้าที่
4. ผล
ผลกีวีจัดเป็นแบบเบอรี่แบบฉ่ำน้ำ มีรูปร่างทรงกระบอกหรือรูปไข่ มีลักษณะใหญ่ที่ขั้วผล และด้านท้ายผลเล็กลง แต่มีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ ผิวเปลือกมีสีเขียวหรือสีน้ำตาล มีขนสีน้ำตาลปกคลุมทั่วผล เนื้อผลดิบจะแข็ง และเมื่อสุกจะอ่อนนิ่ม สีเนื้อมีทั้งสีเขียว สีเขียวแกมเหลืองหรือสีเหลือง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก จำนวนมาก เรียงตัวรอบแกนผล สีของเมล็ดของผลอ่อนมีสีขาว และจะมีสีดำเมื่อผลแก่หรือสุก
5. ราก
รากกีวีเป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนง และรากฝอยแตกออกโดยรอบ ความลึกของรากประมาณ 0.4-1 เมตร แต่บางพื้นที่ที่มีหน้าดินลึกอาจพบรากที่ยาวมากกว่า 1 เมตร ขึ้นไป
พันธุ์กีวี
พนธุ์กีวีที่นิยมปลูกเพื่อการค้า และนิยมปลูกในปัจจุบัน ประกอบด้วยพันธุ์เพศเมียสำหรับออกดอก และติดผล และพันธุ์เพศผู้ สำหรับการผสมเกสร ได้แก่
พันธุ์เพศเมีย
1. พันธุ์ Abbott
เป็นพันธุ์ที่ออกดอกเร็วที่สุด กลีบดอกใหญ่ แยกไม่ซ้อนทับกัน แต่ให้ผลผลิตไม่สูง ผลมีขนาดกลาง กว้างประมาณ 4.8 ซม. ยาวประมาณ 6.9 ซม. น้ำหนักผลประมาณ 90 กรัม/ผล มีขนยาว อ่อน และหนาแน่น เนื้อสีเขียวจาง มีเมล็ดมาก รสหวานอมเปรี้ยว ความหวานประมาณ 14.13 องศาบริกซ์
2. พันธุ์ Allison
เป็นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว แต่ช้ากว่า Abbott เล็กน้อย กลีบดอกใหญ่ มีขอบกลีบดอกย่น และซ้อนทับกัน ผลมีลักษณะคล้ายพันธุ์ Abbott แต่ขนาดใหญ่กว่าทั้งความกว้าง และความยาว
3. พันธุ์ Bruno
เป็นพันธุ์ที่ออกดอกเร็ว แต่ช้ากว่าพันธุ์ Allison เล็กน้อย ดอกคล้ายพันธุ์ Allison แต่กลีบดอกแคบกว่า และซ้อนทับกันน้อยกว่า ให้ผลผลิตสูง ผลมีขนาดใหญ่ ผลมีรูปร่างยาว ผลมีสีน้ำตาลเข้ม มีขนปกคลุมหนาแน่น แต่ขนสั้น และเปราะพันธุ์ Abbott น้ำหนักผลประมาณ 98 กรัม/ผล ความหวานประมาณ 13.25 องศาบริกซ์
4. พันธุ์ Hayward หรือ Chico
เป็นพันธุ์มาจากนิวซีแลนด์ มีความนิยมบริโภคมากที่สุด มีลักษณะออกดอกช้า ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ (ดอกบานในขณะที่พันธุ์ Abbott กลีบดอกร่วงแล้ว) กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย ซ้อนทับกัน ผลเป็นรูปไข่ ใหญ่ที่ขั้วผล และปลายผลแบน ผลกว้างประมาณ 4.3 ซม. ยาวประมาณ 5.96 ซม. น้ำหนักผลประมาณ 80-120 กรัม/ผล ผลมีสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียวจาง มีขนปกคลุมหนาแน่น ให้รสหวานเปรี้ยว ความหวานประมาณ 13.69 องศาบริกซ์
5. พันธุ์ Monty
เป็นพันธุ์ที่ออกดอกช้า ออกดอกก่อนพันธุ์ Hayward ติดผลเป็นจำนวนมาก ผลมีนาดกลางถึงเล็ก โดยเฉพาะถ้าติดผลมาก ผลจะมีขนาดเล็กลง ผลมีรูปร่างทรงกลมยาว ผลกว้างประมาณ 5.35 ซม. ยาวประมาณ 6.78 ซม. น้ำหนักผลประมาณ 80-120 กรัม/ผล ความหวานประมาณ 12.81 องศาบริกซ์
6. พันธุ์ Dexter
เป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดี แต่ให้ผลผลิตต่ำ ผลมีลักษณะกลมยาว ผลกว้างประมาณ 4.5 ซม. ยาวประมาณ 6.22 ซม. น้ำหนักผลประมาณ 66 กรัม/ผล มีเมล็ดมาก ความหวานประมาณ 13.29 องศาบริกซ์
พันธุ์เพศผู้
1. พันธุ์ Matua
มีดอกจำนวนมาก ออกดอกเป็นช่อ 1 ช่อมีประมาณ 1 ถึง 7 ดอก เฉลี่ยช่อละ 3 ดอก ก้านช่อดอกมีขนสั้น มีช่วงการบานนานกว่าพันธุ์ Tomori และดอกเริ่มร่วงเมื่อดอกพันธุ์ Hayward พร้อมรับการผสม ก้านช่อดอกมีขนยาว ดอกชุดหนึ่งมีตั้งแต่ 1 ถึง 7 ดอกปกติมี 5 ดอก
2. พันธุ์ Tomori
ดอกจะบานก่อนพันธุ์ Matua และดอกเริ่มร่วงก่อนพันธุ์ Matua จะบาน โดยเริ่มบานหลังพันธุ์ Abbott และก่อนพันธุ์ Allison เล็กน้อย ก้านช่อดอกมีขนสั้น 1 ช่อดอกมีดอกเฉลี่ยประมาณ 5 ดอก
ที่มา : ณรงค์ชัย, 2550.(3), นพดล, 2537.(4)
ดอกเพศผู้มักจะบานก่อนดอกเพศเมียเสมอ โดยเกสรเพศผู้จะมีชีวิตประมาณ 2-3 วันหลังดอกบาน ส่วนดอกเพศเมียจะมีช่วงการผสมเกสร 7-9 วัน แต่มีเพียง 2-3 วันแรก ที่ดอกจะดึงดูดให้ผึ้งมาช่วยผสมเกสรได้ ดังนั้น เพื่อให้การผสมเกสรอยู่ในระยะที่เหมาะสม และมีอัตราการผสมติดมากขึ้น จึง ควรช่วยผสมเกสรด้วยมือหรือวิธีการอื่นๆ
คุณค่าทางโภชนาการ (100 กรัม)
– พลังงาน: 42 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน: 0.8 กรัม
– ไขมัน: 0.4 กรัม
– เส้นใย: 2.1 กรัม
– ซิตามิน ซี : 64 มิลลิกรัม
– วิตามิน เอ: 3 ไมโครกรัม
– เหล็ก: 0.2 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม: 252 มิลลิกรัม
– โฟเลท: 17 ไมโครกรัม
ที่มา : http://www.medicalnewstoday.com/
การปลูก
กีวีฟรุตที่ปลูกในประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะพลัดใบในช่วงปลายเดือนธันวาคม และเข้าสู่ระยะแตกใบใหม่ และเกิดตาดอกประมาณกลางเดือนมีนาคม ดอกจะบานเมื่อใบอ่อนคลี่เต็มที่ และทยอยบานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม โดยดอกที่มีการผสมเกสรจะติดเป็นผลประมาณต้นเดือนเมษายน ซึ่งในระยะ 8 สัปดาห์ ผลจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และจะเริ่มคงที่ประมาณเดือนกันยายน หลังจากนั้นจะเก็บผลผลิตในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม
กีวีเป็นพืชที่ชอบอากาศหนาวเย็นในบางช่วง และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วน ดินร่วนปนทรายที่มีหน้าดินลึก ไม่ชอบพื้นที่น้ำขัง หน้าดินแน่นหรือเป็นดินเหนียวมาก ดินมีลักษณะเป็นกรดเล็กน้อย
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์กีวีสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การเพาะเมล็ด การปักชำ การเสียบยอด แต่ที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำ และการเสียบยอดบนต้นตอ เนื่องจากสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ และต้นพันธุ์ที่ดีได้ และให้ผลผลิตที่เร็วกว่า
1. การปักชำ จะใช้กิ่งแก่อายุมากกว่า 1 ปี ใช้กิ่งในระยะพักตัวช่วงเดือนมากราคม โดยตัดกิ่งยาวประมาณ 15 ซม. ตัดปลายด้านต้นกิ่งให้เป็นปากฉลาม จุ่มด้วยฮอร์โมนเร่งราก และปักชำในถุงเพาะชำ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน รากจึงจะงอก และแทงใบใหม่
2. การเสียบยอด ใช้สำหรับการเปลี่ยนต้นพันธุ์ใหม่ โดยต้นตออาจเป็นต้นตอเดิมที่มีอายุมากหรือเป็นต้นตอใหม่ที่เป็นพันธุ์ไม่ต้องการ แล้วเสียบยอดพันธุ์ใหม่แทน นิยมทำสำหรับการผลิตต้นกล้า และเปลี่ยนถ่ายต้นใหม่ในแปลง
การปลูก
การปลูกต้นกีวีจะปลูกทั้งต้นเพศผู้ และต้นเพศเมียสลับแถวหรือระยะกัน เพื่อให้มีการผสมเกสรได้อย่างทั่วถึงในสัดส่วนต้นเพศผู้ 1 ต้น และต้นเพศเมีย 6-8 ต้น ในแนวเดียวกัน โดยสลับเป็นช่วงๆ และให้สลับตำแหน่งกับแถวอื่นๆ ระยะปลูกระหว่างต้นที่ 4×4 – 6×6 เมตร
การทำค้าง
การทำค้างถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกกีวี เพื่อให้กีวีสามารถแพร่กิ่งรับแสงได้เต็มที่ กิ่งไม่พันทับกัน ลักษณะค้างที่นิยม คือ รูปแบบตัว T ตามแนวยาวของแถวปลูก โดยมีหลักค้ำยันรูปตัว T ปักในระหว่างต้น ระยะห่างของเสาที่ 2-3 ต้นของต้นกีวี
เอกสารอ้างอิง