Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset
เห็ดนางรม (Oyster Mushroom) เป็นเห็ดสกุลหนึ่งที่นิยมรับประทานมากในปัจจุบัน ลักษณะเด่นของเห็ดประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
1. หมวกเห็ด (cap หรือ pileus) เป็นส่วนด้านบนสุดของดอกเห็ด มีลักษณะโก่งโค้งลงด้านล่างคล้ายกับหอยนางรม ผิวเรียบ เว้าเป็นแอ่งลงตรงการดอก สี และขนาดจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์แต่ละชนิด
2. ครีบดอก (gill) เป็นส่วนที่อยู่ด้านล่างใต้หมวกเห็ด มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เรียงซ้อนกันตามแนวตั้งของดอก มักพบเป็นสีขาวหรือสีเทาหรือสีอื่นๆตามแต่ละสายพันธุ์ ทำหน้าที่สร้างสปอร์เห็ด
3. ก้านดอก (stalk) เป็นส่วนที่ชูดอกเห็ดที่งอกออกจากโคนเห็ด ก้านมักโค้งงอ และไม่อยู่ตรงกลางของดอกเห็ด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-10 เซนติเมตร ตามแต่ละชนิดสายพันธุ์
การเพาะเห็ดนางรมในปัจจุบันมีทั้งการเพาะเพื่อค้าขายหลายโรงเรือนหรือเพาะ เพื่อ กินในครัวเรือนเอง ซึ่งหากเป็นการเพาะเพื่อใช้กินในครัวเรือนไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนซื้อ วัสดุ/อุปกรณ์อะไรให้มากนักเพียงแต่ใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นก็เพียง พอ
ปัจจุบันการเพาะเห็ดนางรมได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีรสชาติอร่อย สามารถเพาะได้ง่าย และมีหลายสายพันธุ์ให้เลือกเพาะกัน ได้แก่
1. เห็ดนางรมขาว
2. เห็ดนางรมเทา
3. เห็ดนางรมดอย
4. เห็ดนางรมฮังการี
5. เห็ดนางฟ้า
6. เห็ดนางฟ้าภูฐาน
7. เห็ดเป๋าฮื้อ
8. เห็ดนางรมทอง
9. เห็ดนางรมหลวง
10. เห็ดนางรมหัว
11. เห็ดนางนวล
วัสดุ/อุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ (ตัวอย่างสูตรตามฟาร์มเห็ด)
1. ขี้เลี่อยหรือฟางข้าวหรือชานอ้อยบด หากเป็นไม้ควรเป็นไม้เนื้ออ่อน 100 กก.
2. รำข้าว 2 กก.
3. ปูนขาวหรือยิปซั่ม 1 กก.
4. เชื้อ EMหรือน้ำหมักชีวภาพ 2 ลิตร
5. มันแห้งบดหรือแป้งข้าว 1 กก.
6. ถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7×11 หรือ 12หรือ13 นิ้ว
7. ปอกรัดคอถุง
8. ยางรัดคอถุง
9. หม้อนึ่ง
รายการ ที่ 3-5 หากไม่มีไม่เป็นไรครับ แต่อย่างน้อยควรใส่วัสดุจำพวกแป้งหรือน้ำตาลอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นแหล่งอาหารแก่ต้นเห็ด เช่น น้ำตาล รำข้าว แป้งข้าว มันสำปะหลังบด เป็นต้น
ขั้นตอนการเตรียมก้อนเชื้อ
1. นำขี้เลื่อยใส่ในถังหรือกะละมังหรือภาชนะผสมตามขนาดที่พอเหมาะกับปริมาณที่ต้องการเพาะ
2. ใส่รำข้าว ปูนขาว มันบด สำหรับรำข้าว มันบดหรือแป้งมันหากไม่มีไม่เป็นไร เพราะถือว่ามีรำข้าวแล้ว หรือ อาจใช้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างรำข้าวกับแป้งมันหรือมันบด
3. เติมน้ำเชื้อ EM หรือน้ำหมักชีวภาพ พร้อมคลุกผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งข้อควรระวังในการใช้น้ำผสม ไม่ควรให้น้ำมากจนเนื้อก้อนเชื้อเปียกชุ่มมากเกินไป การสังเกตให้ใช้วิธีการกำด้วยมือให้แน่น แล้วคลายออก หากเป็นก้อนติดกันไม่แตกออกถือเป็นใช้ได้
4. ใช้ฝาปิดหรือใช้ผ้าคลุมปิดให้มิดชิดเพื่อหมักวัสดุเพาะเห็ดประมาณ 3 วัน แต่ควรให้สามารถมีช่องว่างเพื่อการระบายอากาศด้วย
5. เมื่อครบกำหนดให้ทำการคลุกกลับวัสดุเพาะเห็ด แล้วทำการบรรจุใส่ถุง
6. นำก้อนเชื้อที่บรรจุแล้วใส่หม้อนึ่ง นึ่งด้วยอุณหภูมิน้ำเดือดนานอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง นับจากน้ำเดือด พร้อมนำออก และพักให้เย็นตัว โดยควรเก็บพักบริเวณโรงเพาะที่สะอาด
การเพาะเห็ด
1. นำเมล็ดข้าวฟ่างที่เขี่ยเชื้อเห็ดนางรมแล้วใส่ในถุงเพาะเห็ด 10-20 เม็ด พร้อมเขย่าให้เมล็ดกระจายตัว
2. นำถุงเพาะเห็ดมาตั้งเรียงตามแนวนอนในโรงเรือน ประมาณ 15-30 วัน เชื้อเห็ดจะเจริญเติบโต และแพร่กระจายทั่วก้อนเชื้อเห็ด
3. ในช่วงขั้นตอนนี้ ให้ทำการรดน้ำโรงเรือนเป็นประจำเพื่อรักษาความชื้นทั้งบนหลังคา และบนพื้น โดยหากวัดอุณหภูมิอากาศได้ (ใช้เทอร์โมมิเตอร์ ราคาไม่แพง) ให้วัดอุณหภูมิอากาศ โดยให้รักษาอุณหภูมิให้ได้ในช่วง 28-35 องศาเซลเซียส
4. เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเติบโต และแพร่กระจายเป็นเส้นใยเต็มก้อนเชื้อแล้ว ในช่วง 20-30 วัน ให้ทำการเปิดถุง และดึงคอจุกออก โดยม้วนพับถุงลง และรอเห็ดออกดอก
สำหรับการเก็บผลผลิตจะมีความแตกต่างกันในแต่ละสาย พันธุ์ของเห็ดนางรม เช่น เห็ดนางรมขาวจะนิยมเก็บเมื่อดอกเห็ดบานเต็มที่ ส่วนเห็ดนางรมฮังการีจะเก็บเมื่อเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม
ปัญหาที่มักพบในการเพาะเห็ดนางรม
1. เส้นใยไม่เจริญเติบโต และแพร่เข้าก้อนเพาะเห็ด อาจเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
– เชื้อเห็ดอ่อนแอ และตาย
– เชื้อเห็ดยังอ่อนเกินไปหรือเป็นเชื้อเห็ดที่ใช้งานมาหลายครั้งแล้ว
– มีการปนเปื้อนของเชื้อราชนิดอื่นหรือเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เชื้อเห็ดตาย หรือไม่สามารถเจริญเติบโตแข่งกับเชื้ออื่นได้ รวมไปถึงวัสดุเพาะเห็ดที่มีความชื้นมากเกินไปอันเป็นสาเหตุให้เชื้ออื่น เจริญเติบโตได้ง่าย
– มีการปนเปื้อนสารเคมีจากวัสดุเพาะเห็ด เช่น ฟางข้าว รำ ปูนขาว เป็นต้น สารเคมีที่ปนเปื้อนอาจมีผลยังยั้งการเจริญของเชื้อเห็ด
2. เส้นใยมีลักษณะบาง และน้อย
– เชื้อเห็ดอ่อนหรือไม่แข็งแรง
– มีอาหารในถุงเพาะน้อย วัสดุที่ใช้ไม่ได้คุณภาพ
3. เส้นใยเห็ดเดิน และหยุด
– ก้อนเพาะเห็ดมีน้ำหรือความชื้นมากเกินไป
– ก้อนเพาะเห็ดเกิดการเน่า สังเกตจากกลิ่น และมีน้ำไหลออก
– วัสดุเพาะเห็ดมีเชื้อราหรือเชื้อจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆเจริญเติบโตได้มากกว่า
– วัสดุเพาะเห็ดมีการปนเปื้อนสารเคมี
4. ดอกเห็ดงอกช้า
– ความชื้นไม่เพียงพอ
– อากาศร้อน การระบายอากาศไม่ดี
5. ดอกเห็ดงอก แล้วไม่เจริญเติบโต
– เชื้อเห็ดที่ใช้อายุน้อยหรือไม่แข็งแรง
– อาหารจากวัสดุเพาะเห็ดมีน้อย ใช้วัสดุเพาะเห็ดที่ไม่มีคุณภาพ
– มีการปนเปื้อนสารเคมีในวัสดุเพาะเห็ด
– การพ่นน้ำสัมผัสกับดอกเห็ดโดยตรง และมากเกินไปจนเป็นสาเหตุให้ดอกเห็ดเน่า