Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset
ถั่วงอก คือ ต้นอ่อนของถั่วที่ได้จากการเพาะเมล็ดถั่วเขียวโดยไม่ให้ถูกแสง นิยมนำมาประกอบอาหารชนิดต่างๆ อาทิ ผัดถั่วงอก ใส่ก๋วยเตียว ยำถั่วงอก รวมถึงเป็นผักรับประทานสด
การเพาะถั่วงอก ถือเป็นอาชีพหนึ่งทางการเกษตรที่สามารถให้ผลตอบแทนในระยะเวลาที่รวดเร็วที่ สุด และมีขั้นตอนการเพาะ และการดูแลรักษาง่าย ไม่ต้องให้ปุ๋ย เพียงให้น้ำอย่างเดียว ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเพาะเพียง 4 วัน เท่านั้นก็สามารถเก็บผลผลิตส่งขายได้
การเพาะถั่วงอกในปัจจุบันจะใช้เมล็ดถั่วเขียว 2 สายพันธุ์ คือ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ แต่ที่นิยมในการเพาะถั่วงอกมากที่สุดคือ เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวผิวดำ ที่มีอัตราการงอกที่ดีกว่า อายุการเก็บเกี่ยวสั้น และมีคุณค่าทางอาหารสูง ทั้งนี้ เมล็ดสายพันธุ์ทุกชนิดสามารถนำมาเพาะเป็นถั่วงอกได้ แต่จะมีลักษณะของถั่วงอกที่แตกต่างตามสายพันธุ์ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วฟักยาว ถั่วอัลฟัลฟ่า เป็นต้น
ถั่วงอกบางแห่งมีการใช้สารฟอกขาว พวกโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ และสารรักษาความสดพวกฟอร์มาลิน ก่อนจำหน่ายให้แม่ค้า ซึ่งสารพวกนี้มีผลเป็นพิษต่อผู้บริโภคอย่างมาก หากได้รับในปริมาณที่สูงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งสามารถสังเกตุได้ง่ายหากถั่วงอกมีการฟอกสี เมื่อทิ้งไว้นานลำต้นจะช้ำ และดำคล้ำ
พันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน ได้แก่ พันธุ์กำแพงแสน 1 และ2 พันธุ์ชัยนาท 36 และ72
พันธุ์ถั่วเขียวผิวมัน ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2 และพันธุ์ KABA
อุปกรณ์ และวัสดุ
– ตะกร้าพลาสติกหรือตะกร้าไม้ไผ่ตาถี่
– ถังน้ำหรือกะละถัง
– ถังเพาะพลาสติก ตามปริมาณที่ต้องการเพาะ โดยเจาะรูที่ก้นถัง ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ระยะห่างต่อรูประมาณ 1 นิ้ว
– ตาข่ายพลาสติกตาถี่
– ท่อนไม้หรืออิฐก้อน
– อุปกรณ์การให้น้ำ
– กระด้ง รูขนาด 0.5 เซนติเมตร
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ควรมีความสมบูรณ์ และมีอัตราการงอกสูง มักจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เก็บในระยะที่แก่แล้ว และควรเก็บไม่นานเกิน 2-3 เดือน
– เมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาต้องเก็บรักษาในที่ปราศจากความชื้น อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่สัมผัสกับไอฝนหรือน้ำฝนได้
– นำเมล็ดพันธุ์ใส่ตะกร้าพลาสติกหรือตะกร้าไม้ไผ่ตาถี่
– นำลงแช่น้ำ และร่อน เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่แห้งไม่สมบูรณ์ลอยน้ำ
– แยกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ออก ให้เหลือเฉพาะเมล็ดสำหรับใช้เพาะ
การเพาะเมล็ด
– นำเมล็ดพันธุ์หลังจากการเตรียมแล้วแช่น้ำนาน 6-12 ชั่วโมง
– นำท่อนไม้หรืออิฐก้อนเรียงตามจุดที่ตั้งของถัง
– นำถังเพาะตั้งบนท่อนไม้หรืออิฐที่เตรียมไว้ เรียงเป็นแถว หากมีการเพาะต่างวันกันให้แยกเป็นกลุ่มที่เพาะในวันเดียวกัน
– วางตาข่ายพลาสติกรองก้นถัง
– นำเมล็ดพันธุ์ใส่ในถังเพาะ ประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของถัง
– ให้น้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง นาน 2-5 นาที และให้น้ำสัมผัสกับถั่วทุกเมล็ด
– ในช่วงการเพาะควรให้มีอุณหภูมิของโรงเรือนประมาณ 20-25 องศา หากอุณหภูมิสูงเมล็ดถั่วจะงอก และโตเร็วทำให้ได้ถั่วงอกที่เรียวยาวไม่สวยงาม ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของโรงเรือนต้องอาศัยการจัดการตั้งแต่การออกแบบโรง เรือน และการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การเก็บถั่วงอก
การเก็บถั่วงอกสามารถเก็บขายได้หลังการเพาะประมาณ 4 วัน เมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม เมื่อเพาะแล้วจะสามารถเพิ่มน้ำหนักได้ประมาณ 5-7 เท่า
– วันที่ 1 เมล็ดถั่วมีลักษณะอิ่มน้ำ พองตัว และเปลือกเมล็ดปริแตก
– วันที่ 2 เปลือกเมล็ดปริแตก เห็นส่วนด้านในเมล็ด และมีรากงอก
– วันที่ 3 เมล็ดงอก และแทงลำต้นยาวประมาณ 1-5 เซนติเมตร
– วันที่ 4 ถั่วงอกโตยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร เป็นระยะพร้อมจำหน่าย
ในบางครั้งลูกค้าต้องการถั่วงอกที่มีขนาดยาว ก็ต้องทิ้งไว้อีกประมาณ 2-3 วัน ก็สามารถเก็บถั่วงอกที่ได้ขนาดยาวตามต้องการได้
การ จำหน่ายสามารถจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางหรือส่งขายให้แม่ค้าโดยตรง โดยอาจขายขณะที่ถั่งอกยังอยู่ในถังด้วยการชั่งกิโลหรือนำถั่วงอกมาคัดแยก และบรรจุถุงจำหน่าย
การจำหน่ายที่ต้องแยกเปลือกเมล็ดออก สามารถใช้กระด้งในการผัดเหมือนการผัดข้าว แต่การผัดถั่วงอกเเพื่อแยกเปลือกออก เปลือกถั่งงอกที่ยังติดที่ยอดถั่วงอกจะหลุดออก และตกลงด้านล่างตามรูของกระด้ง
ข้อแนะนำสำหรับโรงเรือน น้ำ และอุปกรณ์ให้น้ำ
1. โรงเรือน
– โรงเรือนต้องกันด้านข้าง และด้านท้าย ด้วยการก่ออิฐหรือใช้ผ้าพรางแสงกั้นก็ได้ โดยเฉพาะในเวลากลางวันไม่ควรให้แสงส่องถึง
– ต้องทำรางด้านข้างเพื่อระบายน้ำหรือเทราดปูนในลักษณะที่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
– ด้านหน้าต้องมีประตูปิดหรือปิดด้วยพลาสติกกันแมลง
2. อุปกรณ์การให้น้ำแบบรดมือ
– นิยมใช้บัวรดน้ำ ขนาดรูเล็ก
– อาจใช้วิธีตักน้ำจากบ่อ และรดด้วยมือ
– อาจเชื่อมต่อหัวบัวรดน้ำกับหอสูงหรือปั๊มน้ำด้วยสายยาง เพื่อง่ายต่อการให้น้ำ
3. อุปกรณ์การให้น้ำแบบอัตโนมัติ
– ต้องมีบ่อพักน้ำ พร้อมกับปั๊มแรงดันหรืออาจใช้วิธีตั้งหอสูงส่งน้ำขึ้นพักด้วยปั๊มแรงดัน
– ต่อท่อ และสายส่งน้ำจากปั๊มแรงดันหรือหอสูง
– ใช้ระบบหัวสเปรย์ในการกระจายน้ำ และสามารถกระจายน้ำได้ครอบคลุมปากถังเพาะ
– ทำการต่อเชื่อมหัวสเปรย์น้ำเข้ากับฝาปิดถัง
4. คุณภาพน้ำ
– หากใช้น้ำคลองหรือน้ำจากบ่อน้ำ ควรทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียก่อน เช่น การตกตะกอน การฆ่าเชื้อ เป็นต้น เพาะอาจทำให้ถั่งงอกไม่สะอาดได้ง่าย รวมถึงเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนสู่ผู้บริโภค
– ควรใช้น้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพหรือน้ำสะอาด เช่น น้ำประปา หรือน้ำฝน