การปลูกมะละกอ อาชีพเงินล้าน

Last Updated on 7 มีนาคม 2015 by puechkaset

มะละกอ จัดเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุดชนิดหนึ่ง ถือเป็นผลไม้ที่สามารถแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายประเภท ทั้งในลักษณะของอาหารคาวในรูปผลดิบ อาทิ ส้มตำ แกงส้ม และในรูปผลสุกที่เป็นของหวานเป็นผลไม้รับประทาน

มะละกอจัดเป็นไม้ล้มลุก สูงประมาณ 3-4 เมตร บางสายพันธุ์ และต้นที่มีอายุหลายปีอาจมีความสูงมากกว่า 10 เมตร ลำต้นเรียวตรงไม่แตกกิ่ง แต่อาจพบการแตกกิ่งสาขาในกรณีที่ยอดอ่อนถูกทำลายขณะเจริญเติบโต ใบมีลักษณะเป็นฟันเลื่อย เว้าลึกเป็นแฉก ดอกมีสีขาวออกเหลืองนวล มีกลิ่นหอม ผลมีทั้งลักษณะเรียวยาว กลมอ้วน ขึ้นกับสายพันธุ์ที่ปลูก

มะละกอสามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพดินที่มีความชื้นเล็กน้อย หน้าดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบพื้นที่น้ำท่วมขัง สภาพดินเป็นกรดเล็กน้อย

มะละกอ

สายพันธุ์มะละกอ
พันธุ์มะละกอที่นิยมปลูกส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ที่มีการพัฒนา และผสมข้ามสายพันธุ์ จนได้ลักษณะเด่นตามต้องการ อาทิ พันธุ์พื้นเมือง, พันธุ์ปากช่อง 1, พันธุ์ท่าพระ 50, พันธุ์โกโก้, พันธุ์แขกดำ, พันธุ์แขกนวล, พันธุ์สายน้ำผึ้ง และพันธุ์โซโล สายพันธุ์มะละกอ

การขยายพันธุ์
การขยาย และเพาะพันธุ์มะละกอสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน คือ การเพาะด้วยเมล็ด การปักชำ การติดตา การตอนกิ่ง แต่ปัจจุบันใช้วิธีการเพาะเมล็ดเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เพราะง่าย สะดวกรวดเร็ว และขยายพันธุ์ได้ครั้งละจำนวนมาก

การเพาะพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นวิธีที่สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมากๆในครั้งเดียว โดยจะต้องใช้เมล็ดจากต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น และสมบูรณ์ที่สุดในแต่ละสายพันธุ์ที่ปลูก

ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการอื่นๆ ไม่ถือเป็นที่นิยม แต่มีการนำไปใช้ในกรณีต่างๆ อาทิ การตอนกิ่งเพื่อขยายต้นแม่พันธุ์ที่มีลักษณะเด่น เป็นต้น

การเตรียมต้นกล้า
การเตรียมต้นกล้าใช้วิธีการเพาะเมล็ด ซึ่งสามารถทำได้ 3 แบบ คือ
1. การเพาะเมล็ดใส่ถุง
2. การเพาะเมล็ดลงแปลงเพาะแล้วย้ายใส่ถุง
3. การเพาะเมล็ดลงกะบะพลาสติก

การเตรียมพื้นที่
มะละกอสามารถปลูก และโตได้ดีในทุกสภาพดิน แต่พื้นที่ปลูกต้องมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขังหรือชื้นแฉะ เพราะมะละกอจะเหี่ยวตายภายในไม่ถึงสัปดาห์หากพื้นดินมีความชื้นมากหรือมีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ หากพื้นที่ปลูกไม่สามารถมีระบบระบายน้ำได้ก็ควรเป็นพื้นที่ที่อยู่ในที่สูงหรือมีความลาดชันเล็กน้อย ก่อนการปลูกควรทำการไถกลบ 1 รอบ และไถดะ 1 รอบ โดยเว้นระยะเวลาประมาณ 1 อาทิตย์หลังการไถเพื่อกำจัดวัชพืช และตากหน้าดินเสียก่อน สำหรับแปลงปลูกควรทำการยกร่องสำหรับพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมขัง ส่วนพื้นที่สูงหรือเป็นพื้นที่ลาดเอียงอาจปลูกเป็นแนวโดยไม่ต้องยกร่องปลูกก็ได้

การเตรียมหลุมปลูก
สำหรับหลุมปลูกในพื้นที่ที่หน้าดินตื้น และแน่น ให้ทำการขุดหลุม กว้าง ยาว ลึก อย่างละประมาณ 40-50 เซนติเมตร และปล่อยตากแดดประมาณ 4-7 วัน ก่อนปลูกให้รองพื้นด้วยปุ๋ยหมักหรือมูลสัตว์ สำหรับพื้นที่ที่มีหน้าดินลึก ดินมีสภาพร่วนซุ๋ยเนื้อดินไม่แน่น อาจใช้วิธีขุดหลุม และรองด้วยปุ๋ยหมักในขั้นตอนข้างต้นหรือให้ใช้ปุ๋ยหมักหรือมูลสัตว์หว่านโรยก่อนในขั้นตอนการเตรียมแปลง ซึ่งการปลูกอาจไม่ต้องขุดหลุมลึกก็ได้ ส่วนระยะปลูกแนะนำที่ 3×3 เมตร หรือ 2.5×3เมตร ต่อหลุมหรือต้น

การปลูก
การปลูกมะละกอนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือกลางฤดูฝนเพื่อให้ต้นกล้ามะละกอตั้งตัวได้เร็ว ส่วนพื้นที่ที่มีระบบน้ำชลประทานสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี สำหรับต้นกล้าที่นำมาปลูกควรมีอายุประมาณ 1 เดือน หลังงอกหรือมีใบแท้อย่างน้อยประมาณ 4-6 คู่ เสียก่อน

การปลูกนั้น สำหรับการปลูกแบบหลุมให้ฝังกลบดินจนถึงปากหลุมหรือดินเดิมเสียก่อน แล้วทำการขุดหลุมบริเวณกลางหลุมในระดับความลุกเท่ากับระดับถุงเพาะกล้าหรือระดับเดียวกันกับระดับรากจนถึงโคนต้นพร้อมฝังกลบดินให้กลบโคนต้นกล้ามะละกอ

ส่วนการปลูกแบบไม่ยกร่อง ให้ขึงเชือกหรือกะแนวปลูกให้เป็นแนวเดียวกัน และทำการขุดเป็นหลุมในระดับความลึกกับการปลูกแบบหลุมดังที่กล่าวมาขั้นต้นพร้อมกลบดินในระดับโคนต้น

การกลบดินไม่ควรกลบให้แน่นมาก เพียงใช้ฝ่ามือกดหน้าดินรอบโคนต้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นให้ทำการรดน้ำหลังปลูกทันที

การให้น้ำ และปุ๋ย
ต้นกล้ามะละกอที่ปลูกใหม่จะต้องทำการให้น้ำจนต้นมะละกอสามารถตั้งตัวได้ โดยในช่วงแรกควรให้น้ำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หลังจากมะละกอตั้งต้นได้ประมาณหลังเดือนที่ 2 อาจให้น้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หรือไม่ให้ในวันฝนตกหรือขึ้นกับปริมาณน้ำฝน

สำหรับช่วงก่อนออกดอกจนถึงติดผล1-2เดือน ให้ทำการให้น้ำมากขึ้นอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพราะหากมะละกอขาดน้ำในช่วงออกดอกจะทำให้ดอก และผลไม่สมบูรณ์ และร่วงล่นได้ง่าย

การให้ปุ๋ยจำเป็นต้องให้ทั้งปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน และเพิ่มแร่ธาตุให้แก่มะละกอ

ปุ๋ยอินทรีย์อาจใช้ปุ๋ยอินทรีย์อินทรีย์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดที่มีการเติมแร่ธาตุหรือปุ๋ยเคมีร่วมด้วย แต่อาจใช้ปุ๋ยหมักหรือมูลสัตว์ที่หาได้ในท้องถิ่นซึ่งอาจมีราคาที่ถูกกว่า สำหรับการให้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักจะให้ประมาณ 5 กิโลกรัม/ต้น โดยแบ่งการให้เป็น 3 ระยะ คือ ในระยะหลังปลูกที่มะละกอตั้งต้นได้ ระยะก่อนมะละกอออกดอกรุ่นแรก และระยะติดลูก หลังจากนั้น การให้ปุ๋ยอินทรีย์หลังจากเก็บลูกในรุ่นแรกอาจให้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมักในระยะ 2 เดือน/ครั้ง ก็ได้

ปุ๋ยเคมี อาจให้เป็นสูตรน้ำฉีดพ่นทางใบ สูตร 21-21-21 ในอัตราต้นละ 50 กรัม หลังจากย้ายปลูกประมาณ 1 เดือน และให้ทุกเดือนตลอดอายุ 3 เดือน โดยเพิ่มในอัตรา 50 กรัม ทุกๆ 1เดือน

การให้ปุ๋ยเคมีทางดินอาจให้สูตร 24-12-12 หลังจากย้ายปลูก 1 เดือน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและให้ตลอดจนถึงระยะออกดอก หลังจากนั้นให้เปลี่ยนสูตรเป็น 13-13-21 หรือให้สูตรอื่นที่เลขสองตัวหน้ามีตัวเลขน้อยกว่าตัวเลขสุดท้าย เพื่อให้ติดผล และผลมีมีความสมบูรณ์ หลังการเก็บเกี่ยวผลรุ่นแรกให้ใช้สูตร 15-15-15 ตลอดอายุของมะละกอก็ได้

การเก็บผลผลิตมะละกอสามารถเก็บได้ตามความต้องการของตลาด และความต้องการที่จะจำหน่ายทั้งในรูปมะละกอดิบ และมะละกอสุก สำหรับระยะเวลาการเก็บเก็บเกี่ยวจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก ดังนั้น หากต้องการผลิตเร็วอาจต้องใช้สายพันธุ์ที่ให้ผลิตเร็ว และควรพิจารณาความเหมาะสมหรือความต้องการของท้องตลาดทั้งในรูปมะละกอดิบ และมะละกอสุกอีกด้วย