การปลูกกุยช่าย

Last Updated on 23 กุมภาพันธ์ 2015 by puechkaset

กุยช่าย เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน บางท้องถิ่นเรียกว่า ผักแป้น มีลักษณะลำต้นที่เป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ส่วนใบจะมีสีเขียวคล้ายใบกระเทียมเป็นส่วนที่อยู่เหนือดิน สูงประมาณ 30-45 เซนติเมตร ดอกจะแทงออกกลางลำต้น ก้านดอกมีลักษณะกลม เรียวยาว สูงกว่าใบเล็กน้อย ส่วนดอกจะอยู่ปลายสุด ดอกตูมด้านนอกมีลักษณะสีเขียว เมื่อบานจะมีลักษณะสีขาวหรือม่วง

กุยช่ายที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทุกวันนี้ ประกอบด้วย 3 ชนิด ซึ่งใช้การปลูกในขั้นตอนเดียวกัน แต่จะอาศัยการจัดการเพื่อให้ได้ผลผลิตกุยช่ายที่ต่างกัน ได้แก่
1. กุยช่ายเขียว เป็นกุยช่ายที่ปลูกเพื่อการตัดเก็บใบเขียว โดยตัดใบในระยะที่ใบเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนระยะการออกดอก ลักษณะใบเรียวยาวสีเขียว นิยมนำมาบริโภคทำขนมกุยช่าย ใส่ผัดไท ทำผักดอง และอาหารอื่นๆ

กุยช่ายเขียว
กุยช่ายเขียว

2. กุยช่ายขาว มีลักษณะใบสีเหลืองอ่อน ถือเป็นผลผลิตที่ได้จากการตัดใบเหมือนกุยช่ายเขียว แต่ใช้วิธีการบังแสงแดด โดยวิธีการคลุมต้นด้วยวัสดุทึบแสง เพื่อไม่ให้ใบสังเคราะห์ และผลิตสารคลอโรฟิลด์ที่เป็นรงค์วัตถุสีเขียวเหมือนกุยช่ายเขียว ซึ่งจะใช้เวลาการเก็บเกี่ยวน้อยกว่ากุยช่ายเขียว ผลผลิตที่ได้จึงมีสีเหลืองอ่อน ถือเป็นที่นิยมในตลาด เพราะให้รสหวานกรอบกว่ากุยช่ายเขียว สีสวยงาม ปราศจากโรค และรอยของแมลง นิยมทำเมื่อเก็บเกี่ยวกุยช่ายเขียวหรือทำสลับแปลงกัน

กุยช่ายขาว
กุยช่ายขาว

3. กุยช่ายดอก เป็นผลผลิตของกุยช่ายที่เป็นเฉพาะส่วนดอก ซึ่งดอกจะแทงยอดดอกเมื่อต้นกุยช่ายเจริญเติบโตเต็มที่โดยไม่มีการตัดใบเขียวหรือตัดใบกุยช่ายเขียว

ดอกกุยช่าย
ดอกกุยช่าย

การเพาะขยายพันธุ์
1. การเพาะเมล็ด ถือเป็นวิธีที่นิยม และใช้ในการผลิตกุยช่ายเขียว และกุยช่ายดอก และเพื่อเตรียมต้นกล้าสำหรับผลิตกุยช่ายขาว ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ 1 ถุง/กก. ราคาประมาณ 3,000-4,000 บาท อัตราการปลูกที่ 1 กก./ 4 ไร่
2. การแยกเหง้าปลูก ใช้ในการปลูกทั้งกุยช่ายเขียว และกุยช่ายขาว ด้วยการสลับผลิตกุยช่ายแต่ละชนิดในแปลงเดียวกัน วิธีนี้จำเป็นต่อการปลูกกุยช่ายขาว เพราะการปลูกจากเหง้าให้เป็นกอๆ จะสามารถใช้วัสดุทึบแสงคลุมกอได้ อัตราการปลูกที่ 400 กก./ไร่

การเตรียมแปลง
1. พื้นที่ที่มีระบบน้ำขังตลอด
– ทำการยกร่องสูงประมาณ 1 เมตร กว้าง 3-5 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 1.5-2 เมตร
– ไถพรวนแปลงเพื่อตากแดด 1 ครั้ง ตากแดดประมาณ 5-10 วัน
– ทำการหว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยมูลสัตว์ ร่วมด้วยกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ในอัตราส่วนปุ๋ยหมักต่อปุ๋ยเคมี 15:1 ใส่ในอัตรา 1000 กก./ไร่ พร้อมไถแปรอีกครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน ก่อนปลูก

2. พื้นที่ดอนหรือไม่มีน้ำท่วมขัง
– ทำการยกร่องสูงประมาณ 30 เซนติเมตร กว้าง 1.5-2 เมตร ความกว้างของร่องประมาณ 50-70 เซนติเมตร
– ไถพรวนแปลง และหว่านปุ๋ยตามวิธีขั้นต้น

การปลูก
1. กุยช่ายเขียว
1.1 กุยช่ายเขียวจากการหว่านแปลง
– หลังจากเตรียมแปลงเสร็จประมาณ 1 อาทิตย์ ให้หว่านด้วยเมล็ดพันธุ์ในอัตรา 1 กก./ไร่
– คราดด้วยคราด 1 รอบ พร้อมคลุมแปลงด้วยฟางข้าวหรือแกลบ
– รดน้ำให้ชุ่ม
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย จนอายุประมาณ 7-8 เดือน ก็สามารถเก็บขายได้
1.2 กุยช่ายเขียวจากการแยกเหง้าปลูก
– ใช้วิธีการปลูกแบบกุยช่ายขาว ในหัวข้อ 2.2 โดยไม่มีการคลุมด้วยวัสดุทึบแสงเท่านั้นเอง การผลิตกุยช่ายเขียวกับกุยช่ายขาวจะทำการสลับกันเป็นรุ่นๆในแปลงเดียวกัน
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย ประมาณ 4 เดือน หลังปลูกก็สามารถตัดใบขายได้

2. กุยช่ายขาว
2.1 อุปกรณ์
– การะถางพลาสติกหรือกระถางดินเผา ขนาด 11x23x30 เซนติเมตร (เส้นผ่าศูนย์กลางก้นกระถาง x เส้นผ่าศูนย์กลางปากกระถาง x ความสูง)
– ตาข่ายพรางแสง (ซาแลน)
– ไม้ไผ่

2.2 ขั้นตอนการปลูก
– ใช้กล้าพันธุ์ที่เตรียมได้จากเหง้ากุยช่ายเขียว ที่มีการตัดใบจำหน่ายแล้ว อย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ไม่ควรเกินอายุ 1 ปี หรืออาจใช้ต้นกล้าอายุตั้งแต่ 3-4 เดือน
– ทำการขุดเหง้ากุยช่าย และเก็บไว้ในที่ร่ม แต่ควรปลูกทันทีเมื่อขุดเหง้าขึ้น
– ทำการตัดรากให้ชิดเหง้าประมาณ 1 เซนติเมตร และตัดใบให้เหลือประมาณ 1 นิ้ว
– ปลูก 4-6 เหง้า/หลุม ในระยะระหว่างต้น และระหว่างแถว 30×30 เซนติเมตร เว้นขอบแปลงด้านละ 15 เซนติเมตร แปลงขนาด 1.3-1.5 เมตร จะได้ประมาณ 4-5 แถว
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวกุยช่ายเขียว กุยช่ายดอกจำหน่ายแล้ว จนถึงอายุประมาณ 1 ปี จะเหมาะสำหรับผลิตเป็นกุยช่ายขาวได้
– การตัดใบกุยช่ายเขียวจำหน่ายครั้งสุดท้าย ให้ตัดใบในระดับผิวหน้าดิน
– ใช้กระถางครอบแต่ละกอต้นกุยช่าย โดนออกแรงกดให้กระถางจมลงดินเล็กน้อยหรือให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดการล้มของกระถางได้
– ขุดหลุมฝังเสาไม้ พร้อมขึงตาข่ายพรางแสง
– รดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง ในระยะ 10 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้

3. กุยช่ายดอก
3.1 กุยช่ายดอกจากการหว่านแปลง
– การปลูกกุยช่ายดอกจากการหว่านเมล็ด ให้ทำตามขั้นตอนการปลูกกุยช่ายเขียวจากการหว่านเมล็ดในหัวข้อ 1.1
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย โดยไม่มีการตัดใบจนถึงระยะแก่ กุยช่ายจะแทงช่อดอกออกมาก็สามารถเก็บผลผลิตได้
3.2 กุยช่ายดอกจากการแยกเหง้าปลูก
– ใช้วิธีการปลูกแบบกุยช่ายขาว ในหัวข้อ 2.2 แต่ไม่มีการคลุมด้วยวัสดุทึบแสง
– ดูแล ให้น้ำ ให้ปุ๋ย โดยไม่มีการตัดใบจนถึงระยะแก่ กุยช่ายจะแทงช่อดอกออกมา
– การปลูกกุยช่ายขาวจากวิธีการแยกเหง้า สามารถทำสลับกับการเก็บกุยช่ายเขียวได้อีกด้วย

การดูแล
ทั้งกุยช่ายเขียวจากการหว่านแปลง และแยกเหง้าปลูก กุยช่ายขาว และกุยช่ายดอก มีขั้นตอนการดูและ ดังนี้
– ให้น้ำวันละ 1 ครั้ง ทุกวัน ในช่วงเช้า
– ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปุ๋ย ปุ๋ยคอก 500 กก./ไร่ ปุ๋ยเคมี 50 กก./ไร่ ในทุก 2 เดือน/ครั้ง

การเก็บผลผลิต
1. กุยช่ายเขียว
1.1 กุยช่ายเขียวจากการหว่านแปลง
– สามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 7-8 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 45 วัน
1.2 กุยช่ายเขียวจากการแยกเหง้าปลูก
– สามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 4 เดือน
– การตัดใบครั้งต่อไป สามารถทำได้ในระยะประมาณ 45 วัน

2. กุยช่ายขาว มักทำสลับกับการตัดกุยช่ายเขียว
– สามารถตัดใบจำหน่ายได้หลังคลุมด้วยกระถาง ประมาณ 10-15 วัน
– หลังจากตัดใบกุยช่ายขาวแล้ว ไม่คลุมกระถางจะตัดกุยช่ายเขียวได้อีก ประมาณ 45 วัน

3. กุยช่ายดอก
3.1 กุยช่ายดอกจากการหว่านแปลง
– สามารถตัดดอกจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 8 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง
3.2 กุยช่ายดอกจากการแยกเหง้าปลูก
– สามารถตัดดอกจำหน่ายได้หลังปลูกประมาณ 4 เดือน และครั้งต่อไปประมาณ 2 เดือนครึ่ง