กาฝาก และสรรพคุณกาฝาก

Last Updated on 21 กรกฎาคม 2019 by puechkaset

กาฝาก (parasitic plant/mistletoe) เป็นพืชที่ดำรงชีวิตอยู่บนต้นไม้อื่น โดยมีรากเบียน (haustoria) ที่แทงทะลุเปลือกไม้เข้าไปถึงท่อลำเลียงแย่งน้ำและธาตุอาหารจากพืชให้อาศัย มีความสำคัญในการนำมาเป็นยาสมุนไพร

กาฝากที่พบในประเทศไทยมักพบเกาะตามไม้ทุกชนิดที่มีทรงพุ่มใหญ่ มีร่มเงามาก เปลือกลำต้น และกิ่งค่อนข้างหนา และจะเรียกชื่อกาฝากตามชนิดของต้นไม้ที่พบอาศัยอยู่ เช่น กาฝากมะม่วง กาฝากมะนาว กาฝากมะขาม กาฝากประดู่ เป็นต้น ทั้งนี้ กาฝากที่พบในประเทศไทยส่วนมากจะอยู่ในวงศ์ Loranthaceae, Santhalaceae และViscaceae

ลักษณะกาฝาก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกาฝากจะแตกต่างกันไปตามชนิดสายพันธุ์ ทั้งในส่วนของลำต้น ใบ ดอก และผล บางชนิดมีลำต้นแตกเป็นข้อปล้อง บางชนิดมีลำต้นแตกออกเป็นกิ่งสาขาคล้ายกับไม้ยืนต้นทั่วไป และบางชนิดมีทั้งลำต้น ใบ ดอก และผลสวยงาม สามารถปลูกเป็นไม้ประดับได้

ราก
รากกาฝากจัดเป็นรากเบียน (haustorium) ใช้เกาะยึดกับลำต้นหรือกิ่งของไม้ชนิดอื่น ด้วยการแทงรากเชื่อมกับระบบลำเรียงน้ำ และอาหารในชั้นโฟเอ็ม และไซเล็มของไม้อื่น รากนี้จะคอยดูดน้ำ และสารอาหารที่ลำเลียงผ่านท่อลำเลียง แล้วส่งมาเลี้ยงลำต้น และใบของตนเองให้เจริญเติบโต

รากกาฝาก

ลำต้น
ต้นกาฝากมีลักษณะเป็นเถาเลื้อย ลำต้นมีขนาดเล็ก ยาวประมาณ 50-100 ซม. หรือมากกว่า ลำต้นแตกกิ่งขนาดเล็กออกจำนวนมาก

ใบ
กาฝาก เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ใบแทงออกใบเดี่ยวบนกิ่งสลับข้างกัน ใบมีรูปไข่ ค่อนข้างหนา และมีสีเขียวเข้ม โคนใบเรียว ปลายใบมนหรือบางชนิดปลายใบแหลม ขนาดกว้างประมาณ 3-5 ซม. ยาวประมาณ 5-7 ซม. แผ่นใบเรียบ และค่อนข้างเป็นมัน

กาฝาก

ดอก
ดอกกาฝากมีขนาดเล็ก แทงออกเป็นช่อบริเวณปลายยอด ดอกมีกลีบดอกสีเหลืองหรือส้มแดง แลดูสวยงาม ดอกกาฝากเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียทำให้ผสมตัวเองในดอก และผสมข้ามดอกได้ ดอกจะออกต่อเนื่องในช่วงเดือนกรกฎาคม-มกราคม ทั้งนี้ ในช่วงที่ออกดอกมักจะได้รับการผสมเกสรจากนกที่มาดูดน้ำหวานจากดอก เช่น นกกินปลี และนกเขียวตอง เป็นต้น

ดอกกาฝาก

ผลกาฝาก
ผลกาฝากมีลักษณะรูปไข่ ด้านในประกอบด้วยเนื้อผล และเมล็ดขนาดเล็กแทรกอยู่ เมล็ดมีสีส้มอมน้ำตาล เมล็ดมีขนาดเล็ก และเบา ไม่มีเปลือกหุ้มเมล็ด แต่จะมีเมือกเหนียวหุ้มเมล็ด เมล็ดมักติดมากับนกชนิดต่างๆที่มาเกาะบนต้นไม้ หรือ ผลของกาฝากบางชนิดมีรสหวาน นกสามารถกินเป็นอาหารได้ ทำให้เมล็ดถูกขับถ่ายออกมาปนกับมูลนก จากนั้น เมล็ดจะเกาะติดเปลือกไม้ และงอกบนเปลือกของลำต้นหรือกิ่งของไม้อื่นเพื่ออิงอาศัย

ชนิดของกาฝาก
แบ่งตามคลอโรฟิลล์
1. ชนิดที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ (holoparasites) จัดเป็นปริสิตต้นไม้แท้ ที่ไม่มีการสังเคราะห์ด้วยแสง และสร้างอาหารเองไม่ได้
2. ชนิดมีคลอโรฟิลล์ (hemiparasites) มีการสังเคราะห์ด้วยแสงสำหรับการเติบโตของลำต้น และใบ แต่จะเกาะเชื่อมกับต้นไม้อื่นเพื่อดูดน้ำ และสารอาหารบางชนิดจากไม้อื่นเท่านั้น

แบ่งตามลักษณะการเติบโต
1. ชนิดไม่อิงอาศัย (facultative hemiparasites) เป็นชนิดที่สามารถเติบโตได้โดยไม่จำเป็นต้องเกาะพืชอื่นเติบโตตลอดวงจรชีวิต
2. ชนิดอิงอาศัย (Obligate hemiparasites) เป็นชนิดที่เจริญเติบโตไม่ได้หากไม่ได้เกาะพืชอื่นอาศัย เมื่อต้นไม้ที่อาศัยตายลง กาฝากที่เกาะจะตายไปพร้อมด้วย

ประโยชน์ของกาฝาก
1. กาฝากที่มีลำต้น ใบ ดอก และผลสวย สามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้
2. ใบนำมาตากแห้ง ใช้ชงเป็นชาดื่ม
3. ลำต้น และกิ่ง ใช้ทำเครื่องรางของขลัง เป็นเมตตามหานิยม ช่วยให้คนรัก คนหลง
4. ใช้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า โดยเฉพาะนก และกระรอก

สรรพคุณกาฝาก
ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นพื้นที่ที่มีกาฝากเจริญเติบโต และแพร่กระจายมากพื้นที่หนึ่ง ซึ่งประเทศต่างๆ อาทิ ไทย ลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย และเวียดนาม ได้นำใบ และลำต้นกาฝากมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรในหลายด้าน ได้แก่
การนำใบ และลำต้นมาต้มน้ำดื่มหรือคั้นน้ำจากใบ
– ใช้รักษาอาการ และบรรเทาอาการไอ
– ใช้รักษาโรคเบาหวาน และลดความดันโลหิตสูง
– ใช้ลดน้ำตาลในเลือด และลดอาการโรคเบาหวาน และป้องกันการเป็นเบาหวาน
– การดื่มน้ำต้มจากส่วนต่างๆมีสรรพคุณต้านการลุกลาม และช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
– น้ำคั้นจากใบรักษาโรคดีซ่าน
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
– ใช้ดื่มรักษาไข้หวัด
– สารสกัดหรือน้ำต้มทั้งใบ และลำต้นออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้าง T-lymphocyte ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายสูงขึ้น
– ใช้รักษาอาการทางจิต
– ใช้รักษาอาการปวดเมื่อตามร่างกาย ปวดข้อ ปวดเอว
– หญิงหลังคลอดใช้น้ำต้มจากใบ และลำต้มดื่ม ช่วยรักษาแผลรักคลอด ทำให้มดลูกกระชับ
– น้ำต้มจากใบหรือน้ำคั้น ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงเซลล์ การเสื่อมของเซลล์ และช่วยให้ผิวพรรณแลดูสดใส

นำใบมาบด น้ำลำต้นมาฝน
– นำลำต้นมาฝนหรือนำใบมาดขยี้ ใช้ทารักษาแผลติดเชื้อ
– นำใบมาบด ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง

วิธีการปลูกกาฝาก
กาฝากจะเติบโตได้เฉพาะบนลำต้นหรือกิ่งก้านของไม้ยืนต้นชนิดชนิดใบเลี้ยงคู่เท่านั้น ส่วนพันธุ์ไม้อื่นไม่สามารถเติบโตได้ เช่น พืชชนิดใบเลี้ยงเดี่ยว

แม้ว่ากาฝากจะเป็นพืชที่ไม่ต้องการของใครหลายคน เพราะเป็นพืชที่ต้องเกาะเติบโตอยู่บนไม้ชนิดอื่น แต่กาฝากบางชนิดมีใบ และดอกสวยงาม อีกทั้งบางชนิดมีความโดเด่นที่มีใบ และลำต้นดูแปลกตาจึงทำให้บางพันธุ์เป็นที่นิยมปลูกหรือต้องการให้เติบโตอยู่บนต้นไม้ในบ้านตนเออง

การปลูกหรือขยายพันธุ์กาฝากนั้นทำได้ด้วยการเก็บผลสุกของกาฝาก ซึ่งผลกาฝากมักจะสุกในช่วงเดือนเดือนมีนาคมหรือเมษายน ก่อนนำผลมาฝังลงบนเปลือกของไม้ยืนต้นที่ต้องการให้กาฝากเกิด ทั้งนี้ ให้เลือกใช้เฉพาะผลสุกเท่านั้น เพราะผลที่ยังไม่สุกจะทำให้เมล็ดไม่งอก

ทั้งนี้ ควรเลือกต้นไม้ที่ต้องการปลูกกาฝากให้เป็นชนิดเดียวกับต้นไม้ที่เราเก็บผลกาฝากนั้นอิงอาศัยอยู่ หรือ เป็นชนิดต้นไม้ที่มีลักษณะเปลือกลำต้นใกล้เคียงกัน รวมถึงชนิดต้นไม้ที่เลือกควรเป็นไม้ที่มีกิ่งน้อยหรือทรงพุ่มโปร่ง เพราะกาฝากจะเติบโตได้ดีเมื่อได้รับแสงเต็มที่

การปลูกกาฝาก ให้เลือกปลูกบริเวณกิ่งของต้นไม้ ไม่ควรปลูกลงบนส่วนที่เป็นลำต้น เพราะบริเวณนี้จะไม่ค่อยได้รับแสง ทำให้ต้นกาฝากไม่งอกหรือเติบโตได้ไม่ดี

กิ่งไม้ที่ใช้ปลูกกาฝาก ไม่ควรเป็นกิ่งขาดเล็ก ควรเลือกกิ่งที่มีขนาดตั้งแต่ 2 นิ้วขึ้นไป และเป็นกิ่งส่วนบนหรือกิ่งที่สามารถยื่นออกรับแสงได้

เมื่อเลือกกิ่งที่ต้องการได้แล้วให้มองหาจุดร่องแตกของกิ่งหรือใช้มีดกรีดเปลือกกิ่งให้เป็นร่อง ก่อนนำเนื้อผลกาฝากฝังลงบนร่องแตกหรือจุดที่กรีดไว้ ทั้งนี้ ควรฝังเนื้อผลกาฝากไว้หลายจุดเพราะโอกาสการงอกของเมล็ดกาฝากค่อนข้างต่ำ

เพิ่มเติมจาก : บุษณีย์ เอื่ยมสีดา, (2550)(1)

เอกสารอ้างอิง
1. บุษณีย์ เอื่ยมสีดา, 2550. สัณฐานวิทยาและความสามารถของกาฝากต้นหว้าในการยับยั้งแบคทีเรียบางชนิด.