Last Updated on 16 มิถุนายน 2016 by puechkaset
กานพลู (Clove) ถือเป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักกันทั่วโลก นิยมนำมาใช้เพื่อเป็นส่วนผสมของตัวยา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพหลายชนิด เช่น ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น รวมถึงเป็นสมุนไพรสำคัญที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารในหลายประเทศ โดยที่นิยมใช้มากคือส่วนของดอกตูมที่ใช้นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยสำหรับไปใช้ในด้านต่างๆ
อนุกรมวิธาน
Kingdom : Plantae
Phylum : Angiosperms
Class : Eudicots
Order : Myrtales
Family : Myrtaceae
Genus : Syzygium
Species : S.aromaticum
ชื่อท้องถิ่น : กานพลู (ทั่วไป) จันจี่ (ภาคเหนือ)
ชื่อสามัญ : Clove, Clove tree
ชื่อพ้อง :
– Eugenia caryophyllata Thunb.
– Eugenia aromatica Kuntze
– Eugenia caryophyllus
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium aromaticum (L.) Merrill & Perry
วงศ์ : MYRTACEAE
ลักษณะทั่วไป
• ลำต้น
กานพลูเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูง 5-20 เมตร เรือนยอดทึบ เป็นรูปกรวยคว่ำ แตกกิ่งต่ำ ลำต้นตั้งตรง เปลือกเรียบมีสีน้ำตาลอ่อน มีต่อมน้ามันมาก
• ใบ
ใบกานพลู เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม มีก้านใบเล็กเรียว ยาว 1-3 เซนติเมตร รูปใบขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 6-13 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม ขอบเรียบ โคนสอบเป็นรูปลิ่ม แผ่นใบด้านบนเป็นมัน ตอนล่างของใบมีต่อมจำนวนมาก ใบมีเส้นใบจำนวนมาก
• ดอก
ดอกกานพลูออกเป็นช่อดอกสั้นๆ แทงออกบริเวณปลายยอดหรือง่ามใบบริเวณยอด ดอกแตกแขนงออกเป็นกระจุก 3 ช่อ มีจำนวน 6-20 ดอก ดอกมีใบประดับรูปสามเหลี่ยม ยาว 2-3 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียวอมเหลือง และมีสีแดงประปราย โคนติดกันเป็นหลอดยาว 5-7 มิลลิเมตร กลีบดอก 4 กลีบ กลีบดอกมีรูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ยาว 7-8 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันมาก กลีบดอกมักร่วงง่าย ด้านในมีเกสรเพศผู้ ก้านชูเกสรยาว 3-7 มิลลิเมตร ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร ยอดเกสรตัวเมียแบ่งเป็น 2 พู มีรังไข่ 2-3 ห้อง แต่ละห้องมีไข่จำนวนมาก
• ผล
ผลกานพลู เป็นผลเดี่ยว มี 1 เมล็ด มีรูปไข่กลับแกมรูปรี ยาว 2-2.5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะมีสีแดงเข้มออกคล้ำ
ประวัติกานพลู
กานพลู (Eugenia caryophyllus) เป็นพืชพื้นเมืองของหมู่เกาะ Molucca เป็นหมู่เกาะแถบตะวันออกของประเทศอินโดนีเชีย พบบันทึกประวัติการใช้ดอกตูมของกานพลูในประเทศจีนมาตั้งแต่ 207 ปี ก่อนคริสต์กาล ที่มีบันทึกไว้ว่าจักรพรรดิจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นใช้ดอกกานพลูอมไว้ในปากเพื่อดับกลิ่นปาก นอกจากนั้น ถูกนำมาใช้ในการปรุงตำรับยาจีนหลายแขนงสำหรับเป็นยาช่วยย่อยอาหาร ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ไส้เลื่อน ยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และฮ่องกงฟุต
ในช่วงต่อมา ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4 ซึ่งช่วงนั้นถือเป็นสมุนไพรที่มีราคาสูง และหายากมาก กานพลูถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในทวีปยุโรป โดยหมอชาวเยอรมันได้นำดอกกานพลูมาใช้สำหรับรักษาอาการของโรคเก๊าต์
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กานพลูถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยนำมาใช้ในทางการแพทย์สำหรับเป็นยาช่วยย่อยอาหาร และใช้ผสมในยาสำหรับดับรสขมของยา รวมถึงการกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากดอกกานพลูเพื่อใช้ในการรักษาโรคเหงือก และระงับอาการปวดฟัน
ส่วนของกานพลูที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลัก คือ ดอกกานพลู เพื่อใช้สำหรับการปรุงยา และสกัดน้ำมันหอมระเหย ส่วนกานพลูในประเทศไทยถูกนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์ ได้แก่ ดอก เปลือก ลำต้น ใบ และผล
กานพลูในไทย
ในประเทศไทยพบมีการนำมาปลูกในบางท้องถิ่น แต่มีจำนวนน้อยมาก พบเพียงการปลูกสำหรับใช้เป็นยาในครัวเรือนเท่านั้น แต่ความต้องการกานพลูในการผลิตเครื่องเทศ และสมุนไพรมีความต้องการสูง กานพลูในประเทศจึงไม่เพียงพอกับความต้องการ
ปัจจุบัน การใช้กานพลูในประเทศถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นหลัก มีปริมาณการนำเข้ามากกว่า 100 ตัน/ปี โดยนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเชียเป็นหลัก ส่วนประเทศอื่นมีเพียงเล็กน้อย เช่น จีน บัลแกเรีย และอินเดีย
ประโยชน์กานพลู
1. ดอก และผลนำมาใช้เป็นเครื่องเทศ
2. ดอกใช้เป็นยาชาเฉพาะที่
3. น้ำมันหอมระเหยจากดอกใช้เป็นส่วนผสมยาฆ่าแมลงหรือใช้ฉีดพ่นกำจัดแมลงโดยตรง โดยมี สารยูจีนอล (Eugenol) เป็นตัวที่ออกฤทธิ์สำคัญในการขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ทำให้โปรตีนอื่นๆเสียสภาพไป
4. น้ำมันหอมระเหยของกานพลูใช้สำหรับทำให้ปลาสลบ โดยมีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ ยูจีนอล (Eugenol) ใช้โดยการหยด
5. น้ำมันกานพลูใช้เป็นส่วนผสมหรือใช้เป็นยาต้านเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด
6. น้ำมันจากก้านดอก และดอกกานพลูใช้ในการเตรียมสาร eugenol, isoeugenol และvanillin และน้ำมันที่เหลือใช้สำหรับการทำสบู่
7. น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูใช้เป็นส่วนผสมของยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก
8. น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูใช้สำหรับแต่งกลิ่นรสอาหาร และใช้เป็นวัตถุกันเสีย
สารสำคัญที่พบ
• ดอก
– Eugenol 72-90 %
– Eugenyl acetate 2-27 %
– β-caryophyllene 5-12 %
– trans-β-caryophyllene 6.3-12.7 %
– Vanillin
• ใบ
– Eugenol 94.4 %
– β-caryophyllene 2.9 %
สารอื่นๆ ได้แก่ methyl salicylate, methyl eugenol, benzaldehyde, methyl amyl ketone และ rhamnetin
ที่มา : สุนีย์ และวรรณนรี (2543) รวบรวมจากเอกสารหลายฉบับ(2)
สรรพคุณกานพลู
• ดอก
ดอกนำมาใช้รักษาอาการแน่นจุกเสียด อาการปวดฟัน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย ช่วยบรรเทาอาการของโรคในระบบทางเดินหายใจ รักษาหู ช่วยบรรเทาอาการไอ
• เปลือกต้น
ใช้รักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย ช่วยขับลม
• ใบ
– ช่วยรักษาอาการปวดท้อง
• ดอก
– ช่วยขับลม
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง
– แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เลือดเสีย
– แก้โรคหืด
– ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ
– แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้รำมะนาด
– ใช้อมดับกลิ่นปาก
– บรรเทาอาการปวดฟัน
ตัวอย่างการนำไปใช้
• แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และแก้ปวดท้อง โดยใช้ดอกตูม 4-6 ดอก หรือดอกแห้ง 0.25 กรัม
– ผู้ใหญ่ ใช้ดอก 4-6 ดอก ทุบหรือกดให้ช้ำ แล้วนำมาต้มน้ำดื่ม
– เด็ก ใช้ 1 ดอกสดหรือแห้ง ทุบให้ช้ำหรือแตก แล้วใส่ในขวดน้ำร้อนดื่ม
– เด็กอ่อน ใช้ 1 ดอกสดหรือแห้ง ทุบให้ช้ำหรือแตกใส่ในขวดน้ำร้อนดื่ม
• ยาแก้ปวดฟัน
– ใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำมันกานพลู แล้วทาบริเวณฟันที่ปวด
– นำดอกสดทุบให้ช้ำ แล้วอมไว้บริเวณที่ปวดฟัน
• ใช้ดอกกานพลูแห้ง ทุบให้แตก แล้วใช้ผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย หลังจากนั้น นำเศษดอกกานพลูจิ้มหรืออุดบริเวณที่ปวด
• ใช้ดอกตูมกานพลู 2-3 ดอก อมไว้ในปากสำหรับระงับกลิ่นปาก
• น้ำมันหอมระเหยที่ใช้สำหรับขับลม และบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ 0.05-0.2 ซีซี หรือใช้ดอกแห้ง 120-300 มิลลิกรัม
ฤทธิ์ทางด้านอื่นๆ
• สาร eugenol ในน้ำมันหอมระเหยสามารถต้านอาการของโลหิตจางในกระต่ายได้
• สาร eugenol ในน้ำมันหอมระเหยสามารถต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราได้ถึง 6 ชนิด รวมถึงสามารถต้านเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้ โดยหากใช้ที่ความเข้มข้นเจือจางที่ 1:8,000-1:16,000 ไม่มีผลต่อการดื้อยา และการระคายเคืองแต่อย่างใด
• สาร eugenol สามารถออกฤทธิ์เร่งการขับน้ำดีได้
ความเป็นพิษ
• การใช้สาร eugenol ขนาด 1.93 กรัม/กิโลกรัม ที่ให้แก่หนูขาวทางปาก สามารถทำให้หนูขาวตายครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดได้
ข้อควรระวัง
• สาร eugenol จากน้ำมันกานพลูมีความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังได้หากใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกัน
• การใช้น้ำมันกานพลูเพื่อรักษาอาการปวดฟันหรือใช้เพื่อระงับกลิ่นปากโดยตรง และใช้ในปริมาณสูงหรือใช้ติดต่อกันบ่อยครั้ง อาจทำให้ระคายเคืองต่อเหงือก และเยื่อบุในช่องปากได้
• สาร eugenol สามารถออกฤทธิ์ต้านการทำงานของเกล็ดเลือดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาในกลุ่ม anticoagulant
รวบรวมจาก กันยารัตน์ ศึกษากิจ (2557)(1), สุนีย์ และวรรณนรี (2543)(2)
ขอบคุณภาพจาก www.parngkhaw.com
เอกสารอ้างอิง