กล้วย และการปลูกกล้วย

Last Updated on 3 ธันวาคม 2015 by puechkaset

กล้วย (Banana) จัดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆของกล้วยในปริมาณมาก อาทิ การรับประทานผล การใช้ประโยชน์จากใบตอง และลำต้น

กล้วย เป็นไม้พันธุ์เขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชีย โดยพบมากบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเชีย มาเลเชีย และไทย และมีการแพร่กระจายไปปลูกทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

ประเภทของกล้วย
ในที่นี้ได้จัดกลุ่มของกล้วยออกตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ กล้วยรับประทาน กล้วยประดับ และกล้วยธรรมชาติ
1. กล้วยรับประทาน
กล้วยที่รับประทานได้ เป็นกล้วยที่มาจากพันธุ์ดั้งเดิมเป็นกล้วยป่า 2 ชนิด คือ Musa acuminata และ Musa balbisiana ทำให้เกิดกล้วยที่มีชุดโคโมโซมต่างๆ เช่น AA, AB,AAA และABB
กลุ่มของกล้วยที่มีการปลูก และนิยมนำมารับประทานมากในปัจจุบัน ได้แก่
กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยพื้นเมืองที่นิยมปลูกทั่วไปในทุกครัวเรือน เนื่องจาก นิยมนำส่วนต่างๆของต้นมาใช้ประโยชน์มากที่สุดในบรรดากล้วยทุกชนิด เช่น ใบตองนำมาใช้ประโยชน์ในการห่อของ ห่อขนมหรืือใช้ห่อทำอาหาร รวมถึงนิยมนำแก่นหรือหยวกกล้วยมารับประทาน นอกจากนั้น ยังนิยมใช้ผลมารับประทานเป็นผลไม้ และใช้ทำขนมหวานต่างๆ อาทิ กล้วยบวชชี ข้าวต้มมัด เป็นต้น

กล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า มีลักษณะลำต้นใหญ่ ใบใหญ่ ให้ผลดก ผลมีขนาดใหญ่ และอวบสั้น ผลมีลักษณะเป็นเหลี่ยมเมื่อดิบ และสุกเหลี่ยมผลจะน้อยลงจนค่อนข้างกลม  อ่านเพิ่มเติม

กล้วยหอมหรือกล้วยหอมทอง
กล้วยหอม หรือ บางครั้งเรียกว่า กล้วยหอมทอง เป็นกล้วยที่นิยมปลูกเพื่อการรับประทานผลสุกเป็นหลัก และเป็นกล้วยหลักที่ส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมากในแต่ละปีเหมือนกับกล้วยไข่

กล้วยหอมทอง

กล้วยหอม มีลักษณะลำต้นค่อนข้างเพรียวสูง ใบตั้งตรง คล้ายหับกล้วยไข่ ให้ผลดก ผลมีลักษณะใหญ่ ทรงกลม และยาวมากกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ผลสุกมีสีเหลืองทอง เนื้อผลเหนียวนุ่ม มีรสหวาน และมีกลิ่นหอมแรง อ่านเพิ่มเติม

กล้วยไข่
กล้วยไข่ มีลำต้นค่อนข้างเพรียวสูง และสูงกว่ากล้วยหอม แต่จะต่ำกว่ากล้วยน้ำว้าเล็กน้อย และมีขนาดลำต้นเล็กกว่ากล้วยน้ำว้า ให้ผลดก แต่ผลมีขนาดเล็ก และสั้น ทรงกลม ผลสุกมีสีเหลืองสดใส บางครั้งอาจมีกระดำขึ้นบนผล เปลือกผลบางกว่าทุกพันธุ์ เนื้อผลเหนียวแน่น ให้รสหวาน และมีกลิ่นหอมแรง นิยมใช้รับประทานผลสุก และจัดเป็นกล้วยที่ปลูก และส่งออกไปต่างประเทศพอๆกับกล้วยหอม อ่านเพิ่มเติม

กล้วยเล็บมือนาง
กล้วยเล็บมือนาง หรือ เรียกว่า กล้วยข้าว กล้วยเล็บมือ กล้วยดอกทองหมาก หรือกล้วยหมาก เป็นกล้วยท้องถิ่นของภาคใต้ นิยมปลูกมากเพื่อรับประทาน และเพื่อการค้าสำหรับเป็นของฝาก กล้วยชนิดนี้มีลำต้นค่อนข้างเล็ก แต่เพรียวสูง เหมือนกล้วยไข่ ติดผลดก ให้หวีจำนวนมาก ผลมีขนาดเล็ก และเพรียวยาว แต่ยังสั้นกว่ากล้วยหอม

กล้วยเล็บมือนาง

กล้วยหอมเขียว
กล้วยหอมเขียว เป็นกล้วยที่นิยมปลูกเพื่อการรับประทานผลสุกเป็นหลัก แต่ไม่นิยมปลูกเท่ากล้วยหอมทอง พบปลูกทั่วไปตามสวนบ้านเรือน

กล้วยหอมเขียว

ขอบคุณภาพจาก www.bloggang.com

กล้วยหอมเขียว มีลักษณะลำต้นค่อนข้างเตี้ยมาก ส่วนของลำต้น และใบมีขนาดใหญ่ ให้ผลดก ผลมีลักษณะคล้ายกล้วยหอมทอง ต่างกันที่ผลจะสุก และสามารถรับประทานในขณะที่เปลือกผลมีสีเขียว เนื้อผลเหนียวนุ่ม มีรสหวาน และแต่ไม่มีกลิ่นหอมเหมือนกล้วยหอมทอง

กล้วยนางพญา
กล้วยนางพญา เป็นกล้วยที่พบได้ในภาคใต้ มีลักษณะลำต้นค่อนข้างใหญ่เหมือนกล้วยน้ำว้า แต่ปลีกล้วยจะใหญ่กว่ามาก และให้ผลที่มีขนาดใหญ่มาก

กล้วยหักมุก
กล้วยหักมุก มีลักษณะลำต้นคล้ายกับกล้วยน้ำว้า แต่ให้ผลดกน้อยกว่า และผลเป็นเหลี่ยมชัดเจนกว่าในขณะสุก แต่ขนาดผลใกล้เคียงกัน ผลสุกมีสีเหลืองสด ผลเป็นเหลี่ยม ปลายผลเพรียวแหลมลง ปัจจุบัน พบในบางพื้นที่ นิยมใช้ประโยชน์จากใบตอง และนำหยวกกล้วยมารับประทาน

นอกจาก กล้วยที่กล่าวมาแล้วยังมีกล้วยอีกหลายชนิดที่มีการปลูก และนำผลมารับประทาน ซึ่งเป็นชนิดที่ค่อนข้างหายาก หรือ พบในบางพื้นที่เท่านั้น ได้แก่

กล้วยนวล
เป็นกล้วยที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเท่านั้น จัดเป็นกล้วยที่หายาก พบเติบโตเองตามธรรมชาติ พบมากในพื้นที่ภาคเหนือ และอีสาน เครือมีกาบหุ้มผลปกคลุมมิดชิด ผลดก ผลมีลักษณะใหญ่ อวบ เป็นเหลี่ยม และค่อนข้างสั้น เนื้อผลค่อนข้างฝาดปนหวานเล็กน้อย ไม่นิยมรับประทานมากนัก เพราะเนื้อมีเมล็ดจำนวนมาก

กล้วยนวล

กล้วยอื่นๆ ได้แก่ กล้วยส้ม กล้วยคร้าว กล้วยคลองจัง กล้วยสา กล้วยขมหนัก กล้วยน้ำฝาด และกล้วยทองกาบดำ

2. กล้วยประดับ
กล้วยประดับ เป็นพันธุ์กล้วยที่มุ่่งเน้นเพื่อการปลูกประดับ เนื่องจากลักษณะของพันธุ์ไม่มีการให้ผลหรือติดผลน้อย รวมถึงมีรูปร่างลำต้นที่แปลก และหายาก ซึ่งได้แก่
– กล้วยบัวสีส้ม
– กล้วยบัวสีชมพู
– กล้วยบัวสีม่วง
– กล้วยบัวหลวง
– กล้วยรุ่งอรุณ
– กล้วยรัตกัทลี
– กล้วยพัด

3. กล้วยเพื่อประโยชน์อย่างอื่น
กล้วยประเภทนี้ เป็นประเภทของกล้วยที่ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการรับประทานผล และเพื่อการปลูกประดับ หรืออาจมีการใช้ประโยชน์บ้างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งเป็นกล้วยที่พบตามธรรมชาติ ได้แก่

กล้วยป่า
กล้วยป่า เป็นกล้วยป่าพันธุ์ดั้งเดิมของกล้วย กล้วยชนิดนี้พบได้ทั่วไปตามป่าเขา เป็นกล้วยที่ไม่นิยมรับประทานผล เนื่องจากผลมีขนาดเล็ก มีเนื้อเละ และมีเมล็ดมาก ส่วนมากชาวเขานิยมนำมาเลี้ยงสัตว์หรือใช้ประโยชน์จากใบตองหรือลำต้น

กล้วยตานี
กล้วยตานี ในประเทศไทยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กล้วยตานีเขตภาคเหนือ (ตานีเหนือ) กล้วยตานีเขตภาคอีสาน (ตานีอีสาน) และกล้วยตานีเขตภาคใต้ (ตานีใต้)

กล้วยตานี เป็นกล้วยที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นต้นไม้สิงสถิตของนางตานี จึงไม่เป็นมงคลที่จะนำมาปลูกในบ้านเรือน

ปัจจุบัน มีการปลูกกล้วยตานีเพื่อการค้าสำหรับการนำส่วนของใบตองมาใช้ประโยชน์ เช่น จังหวัดสุโขทัย เนื่องจาก เป็นกล้วยที่โตเร็ว ลำต้นไม่สูง ให้ใบดก และใบตองมีคุณภาพ ไม่แตกง่าย

ประโยชน์จากกล้วย
– ผลสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ และเป็นผลไม้สำคัญที่มีการซื้อขาย และส่งจำหน่ายต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี
– ผลสุก ใช้ทำขนมหวาน อาทิ กล้วยบวชชี
– ผลสุกใช้เป็นส่วนประกอบของขนม เช่น แค้กกล้วยไข่ ไอศครีม เป็นต้น
– ผลดิบ นำมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ
– แก่นกล้วยหรือหยวกกล้วยนำมาปรุงอาหาร เช่น หมกหยวกกล้วย แกงหยวกกล้วย เป็นต้น
– ใบตอง เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มาก เช่น ใช้ห่อขนม ใช้ห่ออาหารหรือใช้ทำห่อหมก เป็นต้น
– กาบกล้วย ใช้เป็นเชือกรัดของ
– ใบตอง และก้านกล้วย ใช้ประดิษฐ์เป็นของเล่น
– ลำต้นใช้สำหรับผลิตกระดาษสา
– ลำต้น และใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เลี้ยงโค และสุกร

สรรพคุณของกล้วย
– ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
– กล้วยมีแร่ธาตุหลายชนิด อาทิ แคลเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก เป็นต้น ซึ่งช่วยกระต้นการทำงานของระบบประสาท และสมอง ช่วยเสริมสร้างกระดูก และฟัน ช่วยกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
– กล้วยมีเส้นใยสูง ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย
– ความจากน้ำตาลที่สูง ช่วยเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย ลดอาการอ่อนเพลียของกล้ามเนื้อ
– กล้วยมีธาตุแมกนีเซียมสูง อ่าเพิ่มเติมได้ในกล้วยแต่ละชนิด ซึ่งแมกนีเซียมนี้มีส่วนสำคัญช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุ

การปลูกกล้วย
การปลูกกล้วยทุกชนิดจะมีหลักปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะกล้วยชนิดที่ใช้รับประทานผลสุก เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ และกล้วยหอม

การปลูกกล้วยเพียงเพื่อรับประทานเองจะใช้หลักการปฏิบัติเหมือนกับการปลูกในแปลงใหญ่เพื่อการค้า แต่จะไม่ต้องการดูแลอย่างพิถีพิถันเท่านั้น

การเตรียมเหง้าพันธุ์
การปลูกกล้วยนิยมปลูกด้วยเหง้าพันธุ์มากที่สุด ซึ่งสามารถขุดได้จากกอกล้วยต้นแม่พันธุ์ โดยเลือกเหง้าที่มีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ด้วยการขุดเปิดหน้าดินรอบโคนต้น แล้วใช้จอบหรือเสียมสับเหง้าส่วนที่เชื่อมกับต้นแม่ออก ทั้งนี้ ส่วนของต้นพันธุ์ต้องประกอบด้วยส่วนหัวกล้วยหรือเหง้ากล้วยที่สมบูรณ์ ห้ามมีส่วนแว่งหรือขาด ซึ่งต้องระวังอย่างมากขณะขุด

การเตรียมดิน และหลุมปลูก
การเตรียมดิน และหลุมปลูก จะเริ่มด้วยการไถพรวนดินโดยไม่ต้องไถให้ลึกมาก และกำจัดวัชพืชพร้อมตากดินนาน 20-30 วัน แต่หากปลูกเพียงไม่กี่ต้นนั้น สามารถขุดหลุมได้ทันที

การขุดหลุมปลูกกล้วยทั่วไปจะขุดที่ระยะ 50 เซนติเมตร ทั้งด้านกว้าง ยาว และลึก โดยมีระยะห่างระหว่างหลุมที่ 2-3 เมตร โดยวัดจากกึ่งกลางของหลุม หลังจากนั้น ให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก มูลสัตว์ หรือ ปุ๋ยหมัก อัตรา 3-5 กิโลกรัม/หลุม ส่วนการปลูกแบบการค้ามักรองปุ๋ยเคมีเพิ่ม โดยใช้สูตร 15-15-15 ประมาณ 150-200 กรัม/หลุม พร้อมเกลี่ยดินคลุกผสมให้เข้ากัน พร้อมปรับก้นหลุมให้มีความลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นพันธุ์ที่ใช้

การปลูก
การปลูกกล้วยจะนิยมปลูกจากเหง้าพันธุ์ที่ขุดได้จากต้นแม่ โดยเลือกเหง้าที่ความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยการวางต้นพันธุ์ไว้กลางหลุม และให้หันบริเวณที่มีรอยแผลจากการตัดออกจากต้นแม่หันไปทางทิศตะวันตก เพราะกล้วยจะแทงปลี และห้อยเครือในทิศตรงข้ามกับรอยแผลที่ตัดจากกล้วยต้นแม่เสมอ หลังจากนั้น เกลี่ยดินกลบให้แน่น พร้อมวางฟางข้าวหรือเศษใบไม้ปิดคลุมหลุมอีกครั้ง

การใส่ปุ๋ย
– ให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ รวมถึงปุ๋ยหมัก อัตรา 3-5 กิโลกรัม/หลุม โดยแบ่งใส่ปีละ 4 ครั้ง แต่หากเป็นการปลูกเพื่อรับประทานเองอาจใส่เพียงครั้งเดียว/ปี หรือไม่ใส่เลย
– ปุ๋ยเคมี หากเป็นการปลูกเพื่อการค้าในแปลงใหญ่ ให้ใส่ 2 ครั้ง หลังการปลูกในเดือนที่ 1 และ 3 ให้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กำ/ต้น และในเดือนที่ 5 และ 7 ให้ใส่อีกครั้ง โดยใช้ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในอัตราเดียวกัน โดยหว่านโรยห่างจากโค้นต้นประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมกลบดินทุกครั้ง ส่วนการปลูกเพียงไม่กี่ต้นเพื่อรับประทานเองอาจไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยก็ได้

การเก็บเกี่ยว
กล้วยที่ให้ผลทั่วไปมักจะตกปลีภายใน 7-10 เดือน หลังการปลูก ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และชนิดของกล้วย ซึ่งปลีจะบานจนหมดใช้เวลาประมาณ 10-14 วัน ซึ่งหลังจากนี้จะค่อยตัดปลีได้

การตัดปลีจะตัดหลังจากเริ่มสังเกตเห็นหวีกล้วยที่มีลักษณะผลของหวีไม่สม่ำเสมอกัน ผลมีขนาดเล็ก และติดผลน้อย ส่วนหวีด้านบนจะมีขนาดผลสม่ำเสมอกัน และมีขนาดผลใหญ่กว่า จำนวนผลมากกกว่า ซึ่งเรียกหวีนี้ว่า หวีตีนเต่า ทั้งนี้ การตัดจะตัดหวีใต้หวีตีนเต่าออก เพื่อไม่ให้ปลีบานต่อ เพราะหากปล่อยให้ปลีบานต่อหรือปล่อยปลีจนแห้งจะทำให้ผลในหวีด้านบนใหญ่ช้า และขนาดผลไม่สม่ำเสมอ

การเก็บเกี่ยว โดยทั่วไปกล้วยจะเริ่มการเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 50 -65 วัน หลังการตัดปลี ขึ้นกับพันธุ์กล้วยแต่ละชนิด เช่น กล้วยไข่จะเริ่มเก็บเครือได้หลังการตัดปลี 45-55 วัน

หลักพิจารณาอายุการเก็บกล้วย
– นับวันหลังจากการแทงช่อดอก เช่น กล้วยไข่จะเก็บผลได้ประมาณ 60-65 วัน หลังการตัดปลี
– นับวันหลังการเห็นหวีตีนเต่า โดยปกติจะอยู่ประมาณ 50-70 เดือน
– ดูลักษณะเหลี่ยมของผล เช่น กล้วยน้ำว้าที่พร้อมตัดผลจะไม่มีเหลี่ยม ส่วนผลดิบที่ยังไม่พร้อมตัดจะมีเหลี่ยม
– ดูลักษณะแห้งของขอบใบธง หากกล้วยพร้อมตัดเครือ ใบกระธงจะเริ่มเหลลือง และเหี่ยวแห้ง
– ดูลักษณะของสีผล โดยกล้วยทั่วไปเมื่อใกล้สุก ผลจะเริ่มมีสีเหลือง