กล้วยไข่ ประโยชน์ และการปลูกกล้วยไข่

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

กล้วยไข่ (Kluai Khai) เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญที่นิยมรับประทาน และส่งออกต่างประเทศ เนื่องจาก ให้เนื้อแน่น นุ่มหวาน เปลือกบาง และมีกลิ่นหอม ซึ่งถือว่าเป็นกล้วยที่นิยมรับประทาน และปลูกมากเป็นอันดับแรกๆเหมือนกับกล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม

• ชั้น : Monocotyledonae
• ลำดับ : Scitamineae
• วงศ์ : Musaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Musa sapientum, Linn. ‘Kluai Khai’
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Musa acuminata
• ชื่อสามัญ :
– Pisang Mas
– lady finger banana
• ชื่อท้องถิ่น :
– กล้วยไข่
– กล้วยกระ
– กล้วยเจ็กบอง
– กล้วยกำแพงเพชร
– ไข่พัทลุง
– ไข่แท้

แหล่งที่ปลูก ได้แก่ ภาคกลาง และภาคกลางตอนบน ได้แก่ สระบุรี กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย ภาคใต้ ได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ภาคตะวันตก ได้แก่ ราชบุรี ภาคอีสาน ได้แก่ สุรินทร์

ลักษณะทางพฤกษศาตร์
ลำต้น
กล้วยไข่เป็นไม้ยืนต้นประเภท perennial herb มีลำต้นแท้ที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน มีลำต้นเทียมสูง 2.5-3.0 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนญ์กลางประมาณ 16 เซนติเมตร หรือ มีเส้นรอบวงลำต้นประมาณ 50 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียวปนเหลือง กาบด้านในมีสีชมพูแดง มีประดำหนา โคนใบมีปีกสีชมพู

ใบ
ใบเป็นแบบ lanceolate ใบมีสีเขียวปนเหลือง ใบไม่เป็นนวล ก้านใบสีเขียวอมเหลือง ใบกว้างประมาณ 70-75 เซนติเมตร ยาว 180-195 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านมีความกว้างไม่เท่ากัน มีร่องกว้าง

ดอก
ดอกเป็นแบบดอกรวม เรียกว่า ปลี ดอกเพศผู้และเพศเมียแยกกันโดยดอกเพศเมียอยู่ด้านบน
ส่วนดอกเพศผู้อยู่ด้านล่าง ส่วนกลางเป็นดอกกระเทย ดอกกระเทยมีค่อนข้างน้อยมาก มีขนอ่อนปกคลุมที่ก้านช่อดอก ใบประดับดอกมีรูปไข่ มีลักษณะม้วนงอขึ้น โดยมีส่วนปลายค่อนข้างแหลม ด้านล่่างมีสีแดงอมม่วง ด้านบนมีสีซีดดอกย่อยมีกลีบเชื่อมติดกัน 2 กลีบ ได้แก่ กลีบรวม มีจำนวน 5 กลีบมีลักษณะสีขาวปลายสีเหลือง และกลีบรวมเดี่ยว 1 กลีบ มีลักษณะขาวใส เกสรเพศผู้ และเพศเมียมีความยาวใกล้เคียงกัน เกสรเพศเมียสูงกว่าเกสรเพศผู้เล็กน้อย เกสรเพศเมียมีสีเหลือง ส่วนเกสรเพศผู้มีสีชมพู

ผล
ส่วนของปลีกล้วยไข่ที่รวมกันจะเรียกว่า เครือ ซึ่งจะแบ่งเป็นหวีๆ ประมาณ 7-10 หวี แต่ละหวีมีผลกล้วยประมาณ 10-14 ผล ผลมีขนาด กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร มีก้านผลค่อนข้างสั้น เปลือกผลค่อนข้างบาง เมื่อสุกมีสีเหลือง แต่อาจพบจุดดำเล็ก ๆ ประปรายบนเปลือกผล เนื้อกล้วยมีสีครีมอมส้ม ให้รสหวาน และมีกลิ่นหอม

กล้วยไข่

เครือกล้วยไข่

ประโยชน์จากกล้วยไข่
– ผลสุกนิยมใช้รับประทานเป็นผลไม้
– ใบตอง ใช้สำหรับห่อขนม ห่อหมกทำอาหาร
– กาบกล้วยใช้ทำเป็นเชือกรัดของ
– ต้นกล้วยใช้ทำเป็นเยื่อกระดาษ

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยไข่
– พลังงาน 116 กรัม
– ความชื้น 70.2 กรัม
– โปรตีน 1.2 กรัม
– ไขมัน 0.1 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 27.5 กรัม
– เส้นใย 2.9 กรัม
– เถ้า 1.0 กรัม
– น้ำตาลทั้งหมด 20.4 กรัม
– น้ำตาลฟรุกโตส 7.2 กรัม
– น้ำตาลกลูโคส 7.3 กรัม
– น้ำตาลซูโคส 5.9 กรัม
– วิตามิน C 6 มิลลิกรัม
– วิตามิน E 0.6 มิลลิกรัม
– วิตามิน B1 0.01 มิลลิกรัม
– วิตามิน B2 0.02 มิลลิกรัม
– ไนอะซีน 0.8 มิลลิกรัม
– เบต้า-แคโรทีน 247 ไมโครกรัม
– แคลเซียม 4 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
– โซเดียม 23 มิลลิกรัม
– โพแทสเซียม 268 มิลลิกรัม
– แมกนีเซียม 29.8 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.20 มิลลิกรัม
– ทองแดง 0.12 มิลลิกรัม
– สังกะสี 0.2 มิลลิกรัม

ที่มา : เบญจมาศ และคณะ, (2551)(1)

การปลูกกล้วยไข่
การปลูกกล้วยไข่นิยมปลูกในช่วงฤดูฝนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เพื่อหลีกเลี่ยงการตดเครือในหน้าแล้ง เพราะหากกล้วยขาดน้ำจะทำให้ดอกร่วงง่าย เครือ และผลมีขนาดเล็ก

พันธุ์ที่นิยมปลูก คือ กล้วยไข่กำแพงเพชร มีลักษณะเด่น คือ ลำต้น และใบมีสีเขียวออกเหลือง ใบตั้งตรง ไม่มีนวล ร่องก้านกว้าง แผ่นใบขยายกว้าง ผลมีลักษณะโค้งเล็กน้อย ปลาผลทู่ นอกจากนั้น ปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์จนได้พันธุ์ใหม่ และเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ได้แก่ พันธุ์เกษตรศาสตร์

การปลูกเพื่อรับประทานเองในจำนวนไม่มากอาจไม่จำเป็นต้องปฏิบัติให้ยุงยากเหมือนการปลูกในแปลงใหญ่เพื่อการค้า แต่ใช้หลักการปฏิบัติที่เหมือนกัน ดังนี้

การเตรียมดิน และเตรียมหลุม
สำหรับการปลูกในแปลงขนาดใหญ่จำเป็นต้องไถเตรียมดิน และกำจัดวัชพืชก่อน ด้วยการไถ และตากดินทิ้งไว้ประมาณ 20-30 วัน หลังจากนั้น ขุดหลุมปลูกให้มีขนาดประมาณ 50 เซนติเมตร ทั้งในด้านกว้าง ยาว และลึก โดยให้แถว และต้นห่างกันที่ 2×2-2.5×2.5 เมตร พร้อมรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3-5 กิโลกรัม/หลุม และปุ๋ยเคมี 1-2 กำมือ/หลุม (สูตร 15-15-15) หลังจากนั้น เกลี่ยดินคลุกผสม หรือนำดินลงก่อนแล้วค่อยเติมปุ๋ยก่อนคลุกผสม ทั้งนี้ ให้ดินกับปุ๋ยที่ใส่สูงจากก้นหลุมจนเหลือความลึกประมาณ 15-30 เซนติเมตร แต่อาจต้องปรับความสูงตามขนาดความสูงของต้นพันธุ์ที่ใช้

การปลูก
การปลูกจะใช้เหง้าพันธุ์หรือหน่อที่ขุดจากกอพ่อแม่พันธุ์ ความสูงของหน่อประมาณ 50-120 เซนติเมตร วางหน่อลงก้นหลุมบริเวณกลางหลุม โดยหันด้านของเหง้าที่มีรอยตัดจากเหง้าแม่ให้หันไปในทิศตะวันตก เพราะปลีจะแทงออก และห้องลงในทิศตรงข้ามกับรอยตัด

เมื่อวางเหง้าจะได้ความลึกของเหง้าประมาณ 15-30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นพันธุ์ เพราะต้นพันธุ์บางต้นอาจสูงไม่ถึง 60 เซนติเมตร หลังจากนั้น เกลี่ยดินกลบโคนต้นให้แน่น แล้ววางฟางข้าวคลุมโคนต้น และรดน้ำให้ชุ่ม

การใส่ปุ๋ย
– ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้ใส่ 4 ครั้ง/ปี อัตรา 3-5 กิโลกรัม/หลุม
– ปุ๋ยเคมี ใส่ครั้งที่ 1 หลังการปลูก 1 เดือน และครั้งที่ 2 หลังการปลูก 3 เดือน โดยใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัม/ต้น หลังจากนั้น เดือนที่ 5 และ 7 ให้ใส่อีก อัตรา 200 กรัม/ต้น สูตร 12-12-24 โดยการใส่แต่ละครั้งให้โรยห่างต้นประมาณ 30 เซนติเมตร แล้วพรวนดินกลบ

การให้น้ำ
– ในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกไม่จำเป็นต้องให้น้ำ แต่หากฝนทิ้งช่วงเมื่อหน้าดินแห้งจำเป็นต้องให้น้ำ
– ในหน้าแล้งจะทำการให้น้ำทุกๆ 2-4 สัปดาห์/ครั้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะการอุ้มน้ำของดิน และสภาพอากาศ โดยเกษตรกรมักสูบน้ำจากบ่อดิน บ่อบาดาล หรือ จากแม่น้ำ ปล่อยให้ไหลเข้าแปลง หลังจากการให้น้ำให้คอยสังเกต หากหน้าดินเริ่มแห้งก็ให้เริ่มให้น้ำอีกครั้ง

การตัดแต่ง และดูแลอย่างอื่น
– หลังการปลูก 1 เดือน ให้พรวนดิน และดายหญ้ารอบโคนต้น พร้อมโกยดินพูนโคนให้สูงขึ้นเล็กน้อย
– หลังการปลูกแล้ว 5 เดือน ให้ทำการตัดแต่งหน่อ ด้วยการใช้มีดขอตัดหน่ออื่นทิ้ง ทั้งนี้ ให้คงเหลือต้นแม่ไว้ 4 ต้น/ปี โดยแต่ละหน่อหรือต้นให้มีอายุห่างกันประมาณ 3 เดือน นอกจากการตัดหน่อทิ้งแล้ว อาจทำการขุดหน่อออกสำหรับจำหน่ายหรือย้ายปลูกในแปลงอื่น
– การตัดแต่งใบ ให้ตัดใบทิ้งในระยะที่ต้นเติบโตเต็มที่ โดยคงเหลือใบไว้ประมาณ 10 ใบ ส่วนในระยะกล้วยตกเครือให้ตัดใบเหลือประมาณ 8 ใบ โดยตัดให้ชิดลำต้น พร้อมกำจัดกาบใบแห้งออก แต่ควรทำในฤดูฝน เพราะหากทำในฤดูแล้งกล้วยจะเสียความชื้นได้ง่าย
– การค้ำเครือ หากต้นกล้วยใดมีน้ำหนักเครือมากหรือลำต้นไม่แข็งแรง ให้ใช้ไม้ง่ามปักค้ำบริเวณปลายยอดก่อนถึงเครือ

สวนกล้วยไข่

การเก็บเกี่ยวผล
กล้วยสามารถตกปลีได้หลังการปลูก 7-9 เดือน หรืออาจช้าหากต้นไม่สมบูรณ์ ระยะแทงปลีจนถึงเครือห้อยตัวลงต่ำสุดใช้เวลาประมาณ 7 วัน หลังจากนั้น ปลีจะบาน และใช้เวลาบานทั้งหมดประมาณ 7 วัน ซึ่งเมื่อดอกบานหมดแล้ว 2-3 วัน ค่อยตัดปลีออก หรือ ให้สังเกตุว่า เมื่อเห็นหวีที่มีลักษณะผลไม่เท่ากัน มีผลเล็กบ้าง และติดผลน้อยจึงให้ตัดปลีได้ โดยตัดในตำแหน่งของหวีลักษณะนี้ออก

การเก็บเกี่ยว อายุการเก็บเกี่ยวกล้วยไข่ใช้เวลาประมาณ 60 วัน นับจากแทงปลีหรือ 45 -55 วัน หลังการตัดปลี สำหรับกล้วยไข่ที่ต้องการส่งออกให้ตัดเครือก่อนการตัดเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือการตัดปกติ 2-3 วัน เพราะหากปล่่อยให้ปลีบานต่อเนื่องอีกหรือปล่อยจนปลีแห้งจะทำให้ผลในหวีต้นเครือใหญ่ช้า และผลในหวีจะไม่สม่ำเสมอ

หลังการตัดเครือกล้วย ให้เคลื่อนย้ายเข้าโรงพักหรือสถานที่ทำความสะอาดทันที โดยการวางเครือกล้วยบนพื้นที่มีวัสดุรอง เช่น แผ่นพลาสติกหรือใบตอง หลังจากนั้น ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– ทำความสะอาดด้วยการล้างด้วยน้ำ
– ตัดหวีแบ่งหวีออก โดยระวังอย่าให้ผลกล้วยถูกกระทบกระแทก
– ปลิดปลายดอกที่แห้งติดที่ปลายผลออก
– ฉีดพ่นสารป้องกันเชื้อรา
– ผึ่งหวีกล้วยให้แห้ง
– บรรจุในกล่อง โดยใช้แผ่นโฟมบางๆกันระหว่างหวี พร้อมขนส่งด้วยรถหรือเรือที่ควบคุมอุณหภูมิ (15 องศา)

ศัตรู และโรคของกล้วยไข่
1. โรคใบลาย
สาเหตุ : เชื้อรา
อาการ : มักเกิดตั้งแต่กล้วยอายุ 2-3 เดือน แพร่ระบาดมากในช่วงที่ฝนตกชุก โดยเชื้อจะเข้าทำลายใบกล้วย ซึ่งจะเห็นด้านบนของใบล่างมีแถบสีส้มปนน้ำตาลเกิดขึ้นประปราย และเกิดเส้นใยของเชื้อราบริเวณด้านล่างของใบ และหากมีการแพร่ระบาดหนัก ใบจะเป็นสีสนิมหรือสีน้ำตาลทั้งใบ และแห้งตาย
การป้องกัน และกำจัด :
– เมื่อพบใบมีอาการ ให้พ่นสารป้องกันเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม 15-20 กรัม พ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน

2. โรคผลตกกระ
สาเหตุ : เชื้อรา
อาการ : มักระบาดในช่วงฝนตกชุก มักเกิดกับผลอ่อน โดยพบจุดกระสีดำขนาดเล็กบนผล เมื่อผลแก่ จุดนี้จะเกิดการทำลายของเชื้อรา ทำให้ผลเป็นแผลที่เป็นจุดสีน้ำตาลแดงหรือเป็นแผลสะเก็ดนูน
การป้องกัน และกำจัด :
– หลังปลีเปิดจนถึงตัดปลี ให้พ่นสารป้องกันเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม 30-40 กรัม พ่น 1 ครั้ง หลังปลีเปิด
– หลังตัดปลี ให้ห่อเครือด้วยถุงพลาสติก

3. แมลงศัตรูธรรมชาติที่มักพบ ได้แก่
– ด้วงงวงกล้วยที่ชอบเจาะกินโคนต้นกล้วยทำให้โคนต้นเน่า และล้มได้ง่าย ป้องกัน และกำจัดได้โดยใช้คลอร์ไพริฟอส 5%จี ปริมาณ 12 กรัม/ต้น โรยรอบโคนต้นในทุก 4 เดือน หรือ คลอร์ไพริฟอส 40%อีจี ปริมาณ 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ราดหรือฉีดพ่นบริเวณโคนต้นในทุก 4 เดือน
– ด้วงเจาะลำต้นที่ชอบเจาะกินแกนลำต้นของต้นกล้วย ทำให้ลำต้นเน่า และหักพับ ป้องกัน และกำจัดได้โดยการฉีดพ่นคลอร์ไพริฟอส 40%อีจี ปริมาณ 40 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นในทุก 4 เดือน
– หนอนมวนใบ ที่มักพบลักษณะการมวนใบเป็นหลอดยาวเพื่อห่อหุ้มตัวหนอน และเข้ากัดกินใบ

 เอกสารอ้างอิง
1. เบญจมาศ ศิลาย้อย ฉลองชัย แบบประเสริฐ และกัลยาณี สุวิทวัส, 2551. กล้วยไข่เกษตรศษสตร์ 2 คู่มือการปลูกและการดูแล.