Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset
กล้วยเล็บมือนาง (Kluai Leb Mu Nang) เป็นกล้วยประจำท้องถิ่นของภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจาก ผลกล้วยมีลักษณะเรียวเล็ก ทำให้มีขนาดเหมาะแก่การเคี้ยว ผลมีสีเหลืองทอง เนื้อมีความนุ่มคล้ายกับกล้วยหอม มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม
คำว่า เล็บมือนาง เป็นชื่อที่ตั้งมาจากลักษณะก้านเกสรตัวเมียที่แห้งติดบริเวณปลายผล ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนของเล็บ ส่วนมือนั้น มาจากลักษณะของผลกล้วยที่มีรูปร่างเล็ก และเรียวยาว เหมือนนิ้วสตรี ทั้งนี้ คนโบราณเชื่อว่า การเก็บผลกล้วยเล็บมือนางจะต้องให้มีก้านเกสรตัวเมียนั้นห้อยติดมาด้วย เพราะจะช่วยให้กล้วยมีความสมบูรณ์ มีรสหวาน และมีกลิ่นหอม
อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Metaphyta
• Division : Trachaeophyta
• Class : Angiospermae
• Order : Scitamineae
• Family : Musaceae
• Genera : Musa
• Species : Musa (AA group) / Kluai Leb Mu Nang
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Musa sapientum Linn. (AA group)
• ชื่อสามัญ :
– Musa; AA group
– Kluai Leb Mu Nang
• ชื่อท้องถิ่น :
ทุกภาค และทั่วไป
– กล้วยเล็บมือนาง
ภาคใต้
– กล้วยเล็บมือ (ชุมพร และสุราษฎร์ธานี)
– กล้วยข้าว (พังงา และภูเก็ต)
– กล้วยทองดอกหมาก (พัทลุง)
– กล้วยกินดิบ (กล้วยเล็บมือนางที่มีขน)
– กล้วยหมาก (กล้วยเล็บมือนางที่ไม่มีขน)
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ พม่า ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดเนีย และฟิลิปปินส์
พันธุ์ และการแพร่กระจาย
สายพันธุ์กล้วยเล็บมือนางที่พบในภาคใต้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
1. กาบลำต้นสีเขียว ผลไม่มีขน
2. กาบลำต้นสีเขียว ผลมีขน
3. กาบลำต้นสีม่วงแดง ผลไม่มีขน
4. กาบลำต้นสีม่วงแดง ผลมีขน
กล้วยเล็บมือนางที่มีกาบลำต้นสีเขียวจะคล้ายกล้วยทั่วไป แต่อาจมีประสีม่วงแดงอยู่บ้าง ส่วนกล้วยที่มีกาบลำต้นสีม่วงแดงพบว่า ต้นที่มีอายุน้อยกาบลำต้นจะยังมีสีเขียว แต่ต้นที่มีอายุมากกาบลำต้นจะมีสีม่วงแดง
กล้วยสายพันธุ์ที่ผลมีขน พบขนเกิดขึ้นตั้งแต่ผลยังอ่อน และคงอยู่จนผลแก่ ผลดิบจะมีขนอ่อนสีขาว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลมากขึ้นตามอายุผล ทำให้ผลกล้วยที่สุกมีสีเหลืองปนน้ำตาลหรือสีเหลืองอ่อน ซึ่งสีจะเข้มมากว่าสายพันธุ์ที่ไม่มีขน
– กล้วยเล็บมือนางที่มีกาบลำต้นสีเขียว และสีม่วงแดง พบที่จังหวัดชุมพร
– กล้วยเล็บมือนางที่มีกาบลำต้นสีเขียว และผลไม่มีขน พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
– กล้วยเล็บมือนางที่มีกาบลำต้นสีเขียว และผลมีทั้งที่มีขน และไม่มีขน และกาบลำต้นสีม่วงแดง และผลมีขน พบที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
– กล้วยเล็บมือนางที่มีกาบลำต้นสีเขียว และผลไม่มีขน พบที่จังหวัดภูเก็ต
แหล่งปลูกที่สำคัญ
– อำเภอหลังสวน สวี และท่าแซะ จังหวัดชุมพร
– อำเภอเมือง และพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
– อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช
– อำเภอกระทู้ และอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
– อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
กล้วยเล็บมือนางทอง มีระบบรากเป็นแบบ adventitious root ที่มีลักษณะเป็นเส้นกลมยาว แตกออกด้านล่างของหัวหรือเหง้ากล้วย ขนาดรากประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร หยั่งลึกลงดินได้ยาวกว่า 5 เมตร
ลำต้น
กล้วยเล็บมือนาง มีลำต้น 2 ส่วน คือ
1. ลำต้นแท้
ลำต้นแท้ของกล้วยเล็บมือนาง คือ ส่วนเหง้าที่อยู่ใต้ดิน มีลักษณะทรงกลมสั้น ขนาดประมาณ 12-18 เซนติเมตร เปลือกหุ้มเหง้ามีสีดำ
2. ลำต้นเทียม
ลำต้นเทียมของกล้วยเล็บมือนาง เป็นส่วนที่อยู่เหนือดินที่มักเรียกทั่วไปว่า ต้นกล้วย ซึ่งประกอบด้วยกาบใบที่เรียงซ้อนกันแน่นเป็นวงกลม ขนาดกว้างประมาณ 12-15 เซนติเมตร สูงประมาณ 2-2.5 เมตร ผิวกาบด้านนอกสุดมีสีม่วงอมแดง และมีจุดประสีดำกระจายทั่ว หรือบางชนิดมีสีเขียว
ใบ
ใบกล้วยเล็บมือนางออกเป็นใบเดี่ยว ประกอบด้วยก้านใบ และแผ่นใบ ก้านใบมีลักษณะเรียวยาว ยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร ผิวก้านใบมีสีชมพูอมแดง และมีร่องตรงกลางในด้านบน ถัดมาเป็นแผ่นใบ เป็นรูปขอบขนาน สีเขียวอ่อน กว้างประมาณ 40-60 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-4 เมตร
ดอก/ปลี
ดอกกล้วย เรียกว่า ปลี ปลีของกล้วยเล็บมือนางจะแทงออกตรงกลางของลำต้นเทียม ประกอบด้วยก้านดอกทรงกลม ปลายก้านดอกเป็นช่อดอกหรือปลีกล้วย ที่ประกอบด้วยกาบหุ้มด้านนอกสีแดงอมม่วง กาบหุ้มด้านในมีสีแดงซีด โคนปลีใหญ่ ปลายปลีแหลม เมื่อบานกาบหุ้มจะกางออกจนมองเห็นดอกด้านใน ทั้งนี้ ปลีกล้วยจะออกหลังการปลูกแล้ว 7-8 เดือน
ผล
ผลของกล้วยมีหลายผลรวมกันบนก้านผลหลักอันเดียว กัน เรียกว่า เครือ กล้วยแต่ละลูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ เรียกว่า หวี หวีกล้วยเล็บมือนางจะมีประมาณ 5-8 หวี แต่ละหวีของกล้วยเล็บมือนางมีผลกล้วย 10-16 ผล ผลมีก้านผลสั้น แต่ละผลมีขนาดเล็ก และเรียวยาว กว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ผลมีลักษณะโค้งงอ ปลายผลเรียวแหลม และมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ เปลือกผลค่อนข้างหนา เมื่อดิบเปลือกผลมีสีเขียวเข้ม เมื่อสุกจะมีสีเหลืองทอง ผิวเปลือกมีทั้งชนิดที่มีขน และไม่มีขนส่วนเนื้อด้านในมีสีเลืองอ่อนหรือสีครีม เนื้อนุ่ม รสหวาน และมีกลิ่นหอม ทั้งนี้ กล้วยเล็บมือนางจะสามารถเก็บผลได้หลังการตกเครือแล้วประมาณ 3-3.5 เดือน
ประโยชน์ของกล้วยเล็บมือนาง
ประโยชน์ของกล้วยเล็บมือนาง ทุกส่วนมีประโยชน์เหมือนกับกล้วยชนิดอื่นๆ ได้แก่
– ผลกล้วยสุกนิยมรับประทานกันมาก เนื่องจากผลเล็กกะทัดรัด เนื้อนุ่ม รสหวาน และมีกลิ่นหอม เป็นที่ชื่นชอบของชาวใต้ และนักท่องเที่ยว ส่วนผลดิบไม่นิยมนำมาแปรรูปเหมือนกล้วยชนิดอื่น เพราะมีขนาดผลเล็ก
– ใบตองใช้ห่อข้าวหรือใช่อประกอบอาหาร
– หยวกกล้วยอ่อนนำมาประกอบอาหาร อาทิ แกงหยวกกล้วยใส่ปลา ใส่เนื้อ ใส่หมู เป็นต้น
– ก้าน และใบ ใช้เลี้ยงโค กระบือ หรือสุกร
– หยวกกล้วย และหน่ออ่อนนำมาเลี้ยงหมู
– กาบลำต้นที่แห้งแล้ว นำมากรีดเป็นเส้นใช้แทนเชือกรัดของ
การปลูกกล้วยเล็บมือนางทอง
การปลูกกล้วยเล็บมือนาง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกเป็นพืชแซมในสวนผลไม้ สวนปาล์ม และสวนยางพารา รวมถึงการปลูกเป็นสวนขนาดเล็กใกล้บ้าน
การขยายพันธุ์กล้วยเล็บมือนาง
1. การใช้หน่อ
วิธีนี้ ทำได้โดยการขุด และตัดแยกหน่อจากต้นแม่ ก่อนจะตัดรากออก แล้วนำปลูกลงหลุม
2. การใช้เหง้า
วิธีนี้ เกษตรกรไม่ค่อยนิยม เพราะใช้เวลามาก วิธีการยุ่งยาก และค่าลงทุนมากกว่าการใช้หน่อ รวมถึงต้องใช้เวลาดูแลนานกว่าจะให้ผลผลิต วิธีนี้ ทำได้โดยการขุดเหง้ากล้วยที่มีขนาดใหญ่หรือเหง้ากล้วยต้นแม่ ก่อนนำมาตัดลำต้นให้เหลือเพียงเหง้า แล้วผ่าเหง้าออกเป็นซีกๆ 2-4 ซีก ก่อนนำปักชำเพื่อให้เหง้าแทงยอดใหม่ แล้วค่อยนำปลูกลงหลุม
3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
วิธีนี้ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย เพราะต้นทุนการผลิตสูง และเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกด้วยต้นพันธุ์จากหน่อเป็นหลัก แต่วิธีนี้ พบได้ในต่างประเทศ
การเตรียมหน่อพันธุ์
หน่อกล้วยเล็บมือนางที่ใช้ปลูก ควรเป็นหน่อใบดาบที่มีใบอ่อนแตกออกแล้ว 2-3 ใบ คือ เป็นใบที่มีแผ่นใบแคบ และสั้น หน่อที่ใช้ควรสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร ใบไม่มีรอยโรค และไม่มีประวัติการเกิดโรคในแหล่งหน่อพันธุ์มาก่อน
การเตรียมแปลง และหลุมปลูก
พื้นที่ปลูกใหม่หากเป็นการปลูกในแปลงใหญ่ ควรไถพรวนดินอย่างน้อย 1 รอบ พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้โล่ง แต่หากปลูกตามหลังบ้านหรือแซมตามร่องสวนเพียงไม่กี่ต้น ให้ถางวัชพืชออกให้หมด หลังจากนั้น ขุดหลุมปลูกเตรียมไว้
หลุมปลูก ให้ขุดกว้าง และลึกไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร หรือกว้างมากถึง 1 เมตร แต่ความลึกให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลัง และความยากง่ายของดิน โดยมีระยะห่างระหว่างหลุม และแถว ประมาณ 2.5×2.5 เมตร หลังจากนั้น ตากหลุมทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วนำปุ๋ยคอกโรยรองก้นหลุม อัตรา 1-2 ถัง/หลุม ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ประมาณ 1 กำมือ/หลุม แล้วเกลี่ยดินหน้าปากหลุมลงผสมให้เข้ากัน
ขั้นตอนการปลูก
นำหน่อกล้วยวางลงหลุม โดยหันรอยแผลของหน่อกล้วยไปในทิศตะวันตก ซึ่งจะทำให้หน่อที่เกิดขึ้นใหม่หันไปทิศตะวันออก จากนั้น เกลี่ยดินกลบให้แน่น ทั้งนี้ ควรตั้งห่อกล้วยให้ตรงขณะเกลี่ยดินกลบ
การให้น้ำ
การปลูกกล้วยโดยทั่วไปนิยมปลูกในต้นฤดูฝน และไม่จำเป็นต้องให้น้ำ ซึ่งทั่วไปหลังปลูกจะปล่อยให้กล้วยเติบโตโดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติก็สามารถให้ผลผลิตได้ ทั้งนี้ การปลูกกล้วยในภาคใต้มักไม่พบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำมากนัก เพราะมีฝนตกยาวนานมากกว่าภาคอื่นๆ
การใส่ปุ๋ย
• ปุ๋ยอินทรีย์ ควรใช้เป็นปุ๋ยหลัก อาจเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือเศษวัสดุทางกรเกษตร ระยะการใส่ทุกๆ 2-3 ครั้ง/ปี อัตรา 1-2 ถัง/หลุม
• ปุ๋ยเคมี
– ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หลังการปลูก 1-3 เดือน อัตรา 1-2 กำมือ/ต้น
– ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือให้เน้นตัวเลขท้ายสุดให้มีค่ามาก ใส่ในระยะที่ต้นกล้วยมีอายุ 5-7 เดือน อัตรา 1-2 กำมือ/ต้น
การกำจัดวัชพืช
ควรกำจัดวัชพืชเป็นประจำอย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง หากแปลงใหญ่อาจใช้รถไถขนาดเล็กไถกลบ หากปลูกไม่กี่หลุมให้ใช้การถางด้วยจอบ
การเก็บผลกล้วย
กล้วยเล็บมือนาง สามารถเก็บผลได้หลังการปลูกแล้วประมาณ 9-11 เดือน ซึ่งกล้วยจะเริ่มแทงปลีประมาณ 6-8 เดือน หลังการปลูก และเก็บผลได้ประมาณ 2.5-3 เดือน เดือน หลังแทงปลี
แหล่งจำหน่ายที่สำคัญ
กล้วยเล็บมือนางสามารถหาซื้อได้ในทุกจังหวัดของภาคใต้ แต่มีจุดจำหน่ายที่พบกล้วยเล็บมือนางมากที่ถนนสายเอเชีย บริเวณโค้งพ่อตาหินช้าง ในช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ของอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มีทั้งกล้วยเล็บมือนางสุก ซึ่งนิยมขายเป็นเครือ และเป็นหวี และผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนาง ได้แก่ กล้วยอบ และกล้วยเชื่อม
ขอบคุณภาพจาก http://www.thaipost.net/, www.bhanvari.com/, http://www.aecmarket.net/