กล้วยหอม และการปลูกกล้วยหอม

Last Updated on 8 ธันวาคม 2016 by puechkaset

กล้วยหอม เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานเป็นอย่างมากทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ เนื่องจาก มีเนื้อนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอมแรงกว่ากล้วยอื่นๆ จึงทำให้นิยมปลูก และส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมากในแต่ละปี โดยมีตลาดหลักที่ประเทศทางยุโรป และอเมริกา

กล้วยหอมในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด คือ กล้วยหอมทอง และกล้วยหอมเขียว ซึ่งมีลักษณะผลคล้ายกัน และขนาดใกล้เคียงกัน แต่จะแตกต่างกันที่ลักษณะของลำต้น และกล้วยหอมเขียวจะสุกรับประทานได้ในขณะที่ผลยังเขียว ส่วนกล้วยหอมทองจะเริ่มสุก และรับประทานได้เมื่อผลเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แต่โดยทั่วไปเมื่อนึกถึงกล้วยหอมมักจะเข้าใจเฉพาะกล้วยหอมทองเป็นส่วนใหญ่

อนุกรมวิธาน
• Order : Scitamineae
• Family : Musaceae
• Genera : Musa
• Section : Eumusa

• ชื่อวิทยาศาสตร์ :
– Musa Sapientum
– Musa (โคโมโซม AAA group)
• ชื่อสามัญ :
– Gros Michel
– Hom Thong Bana
• ชื่อท้องถิ่น :
– กล้วยหอม
– กล้วยหอมทอง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก
รากกล้วยหอมทอง เป็นแบบ adventitious root ที่แตกออกจากหน่อ ซึ่งหน่อจะแตกออกจากเหง้า รากมีความยาวได้มากกว่า 5 เมตร แทงลึกลงดินได้ถึง 5-7.5 เมตร

ลำต้น
กล้วยหอมทองมีลำต้นจริงที่เป็นหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดิน มีลำต้นเทียมที่อยู่เหนือดินสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีสีเขียว และมีแถบประสีดำ ด้านในสีเขียวอ่อน และมีเส้นลายสีชมพู

ใบ
ใบกล้วยหอมทองเป็นใบเดี่ยว เป็นแบบขนาน มีก้านใบที่มีร่องค่อนข้างกว้าง และมีปีก เส้นกลางใบมีสีเขียว ใบยาวได้มากถึง 3 เมตร

ดอก/ปลี
ดอก หรือ ปลี จะแทงออกจากหยวกตรงกลางปลายยอด เมื่อแทงออกช่วงแรกจะตั้งตรง และค่อยๆโค้งงอลงด้านล่าง ก้านเครือมีขนอ่อนปกคลุม ปลีมีรูปไข่ ค่อนข้างแหลมยาว และมีปลายแหลม มีกาบหุ้มด้านนอกสีแดงอมม่วง ด้านในสีแดงซีด ปลีกล้วยหอมทองมีความยาวประมาณ 1-1.5 เมตร

ผล
กล้วยหอมทองเครือหนึ่งมีประมาณ 6 –10 หวี แต่ละหวีมี 10 – 16 ผล หรือมากกว่าหากดินมีความสมบูรณ์ ผลกว้าง 3 – 4 เซนติเมตร และยาว 21 – 25 เซนติเมตร ปลายผลมีจุก เปลือกบางแต่หนากว่ากล้วยไข่ ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองทอง แต่จุกที่ปลายผลยังเป็นสีเขียว แล้วค่อยเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองเมื่อสุกมาก เนื้อสีเหลืองเข้ม มีรสหวาน และมีกลิ่นหอมแรง

กล้วยหอม

ประโยชน์ของกล้วยหอม
กล้วยหอมที่มีการปลูกในปัจจุบัน ทั้งกล้วยหอมทอง และกล้วยหอมเขียว จะมีจุดประสงค์หลักเพื่อการรับประทานผลสุก แต่ทั้งนี้ ก็มีการใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆในหลายด้านด้วยกัน ได้แก่
– ใบตองนำมาห่อขนมของหวานหรือใช้ห่ออาหารทำห่อหมก
– หยวกกล้วยจากต้นกล้วยอ่อนนำมาประกอบอาหาร รวมไปถึงปลีกล้วยหลังการตัดปลีที่ใช้ทำอาหารได้หลายเมนู และสามารถจำหน่ายเป็นรายได้ส่วนหนึ่งได้
– ก้าน และใบ จากการตัดแต่งใบนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ โค กระบือ
– หน่อ และลำต้น หลังเก็บเกี่ยวหรือการตัดทิ้งนำมาเลี้ยงหมู
– เปลือกกล้วยหรือผลกล้วยเน่า รวมถึงลำต้น ใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
– กาบลำต้น ฉีกเป็นเส้นๆ ใช้สำหรับรัดสิ่งของแทนเชือก

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยหอมทองสุก (100 กรัม)
– ความชื้น 77.19 กรัม
– ไขมัน 0.73 กรัม
– โปรตีน (N x 6.25) 1.82 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 18.42 กรัม
– เถ้า 0.65 กรัม
– แคลเซียม 14.27 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 21.09 มิลลิกรัม
– เหล็ก 8.71 มิลลิกรัม
– บีตา-แคโรทีน 589.40 มิลลิกรัม
– กรดแอสคอบิค 11.06 มิลลิกรัม

ที่มา : เบญจมาศ (2545)(1)

การปลูกกล้วยหอมทอง
การเตรียมหน่อพันธุ์
หน่อพันธุ์ที่ใช้ปลูกควรอยู่ในระยะที่เรียกว่า หน่อใบดาบ มีใบแคบ 2-3 ใบ มีความยาวหน่อ 60-120 เซนติเมตร ควรเป็นหน่อที่สมบูรณ์ ไม่มีรอยโรคหรือแมลงกัดกิน หากซื้อตามฟาร์มกล้วย ควรตรวจสอบประวัติการระบาดของโรคหรือด้วงแมลงก่อน

การเตรียมดิน และหลุมปลูก
การเตรียมดิน หากเป็นพื้นที่ที่ปลูกครั้งแรกให้ไถพรวนดินให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร พร้อมกำจัดวัชพืช และตากดินทิ้งไว้ประมาณ 7–10 วัน หลังจากนั้น หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา 2–4 ตัน/ไร่ แล้วไถพรวนดินอีกรอบ หากเป็นพื้นที่เดิมให้หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยได้เลย แล้วไถพรวนดินกลบ

ทำการขุดหลุมปลูกให้ลึก กว้าง และยาว ประมาณ 45-50 เซนติเมตร มีระยะห่างระหว่างหลุมที่ 2.50×2.50 เมตร ซึ่งจะได้ประมาณ 500 หลุม/ไร่ เมื่อเตรียมหลุมเสร็จให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 5 กิโลกรัม/หลุม และปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 200 กรัม/หลุม พร้อมเกลี่ยดินผสม โดยให้ระดับดินสูงขึ้นจนเหลือความลึกของหลุมประมาณ 15-30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นพันธุ์

ขั้นตอนการปลูก
ให้ตั้งหน่อพันธุ์บริเวณตรงกลางหลุม โดยให้หันรอยแผลของหน่อไปในทิศตะวันตก เพราะเครือกล้วยจะแทงออก และห้อยไปในทิศตรงกันข้ามกับรอยแผลที่ตัดจากต้นแม่ ทั้งนี้ ให้หันหน่อพันธุ์ทุกหลุมในทิศเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจัดการ

เมื่อวางหน่อพันธุ์แล้วจึงค่อยเกลี่ยดินกลบ โดยให้ดินกลบส่วนเหง้าสูงประมาณ 15-30 เซนติเมตร แล้ววางฟางข้าวปิดรอบโคนต้น

การให้น้ำ
ในฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำหากฝนตกสม่ำเสมอ แต่หากฝนทิ้งช่วงจนหน้าดินแห้ง ควรสูบน้ำเข้าแปลงเป็นระยะ และในหน้าแล้งจำเป็นต้องสูบน้ำเข้าแปลงอย่างสม่ำเสมอ โดยสูบน้ำเป็นประจำเมื่อหน้าดินที่ระดับ 5-10 เซนติเมตร เริ่มแห้ง

การใส่ปุ๋ย
• ปุ๋ยคอก ให้ปุ๋ยอินทรีย์ประเภทปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตราการใส่ปุ๋ย 3 – 5 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง หรือ ปุ๋ยเคมี อัตราการใส่ปุ๋ย 1 กิโลกรัม/ต้น/ครั้ง โดยใส่ปุ๋ยหลังปลูก 1 เดือน และครั้งที่ 2 ในเดือนที่ 5 หลังปลูก หรือในช่วงก่อนกล้วยใกล้ออกปลี 2-3 เดือน

• ปุ๋ยเคมี
–  ใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 หลังจากปลูก 1 และ 3 เดือน ตามลำดับ สูตรปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 150-250 กรัม/ต้น
– ใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 3 และครั้งที่ 4 หลังจากปลูก 5 และ 7 เดือน สูตรปุ๋ย 12-12-24 อัตรา 150-250 กรัม/ต้น

การกำจัดวัชพืช
การกำจัดวัชพืชทำได้โดยการใช้จอบถากรอบโคนต้น ควรทำอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนั้น เกษตรกรอาจใช้วิธีการไถกลบรอบโคนต้น

สวนกล้วยหอมทอง

การตัดแต่งหน่อ
หลังปลูกกล้วยแล้ว 3-4 เดือน ต้นกล้วยจะเริ่มแตกหน่อใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำเป็นต้องคอยตัดหน่อทิ้งให้เหลือ 2 หน่อ โดยให้หน่อที่แรกมีอายุห่างจากหน่อที่ 2 ประมาณ 2-3 เดือน

การตัดหน่อกล้วยไว้สำหรับปีต่อไป
หลังการเก็บผลกล้วยต้นแม่แล้ว ให้คงเหลือหน่อใต้ดินที่มีลำต้นโพล่จากดินแล้วประมาณประมาณ 10 นิ้ว จำนวนประมาณ 2 หน่อ โดยให้อยู่ในตำแหน่งต่างทิศหรือห่างกัน แต่หากระยะปลูกชิดกันมาก เช่น 2×2 เมตร ให้คงเหลือจำนวนหน่อเดียว ซึ่งจะรวมกับต้นกล้วยเก่าแล้วประมาณ 3-4 ต้น โดยแต่ละต้นจะมีอายุต่างกันประมาณ 2-3 เดือน

การตัดแต่งใบ
การตัดแต่งใบ โดยเฉพาะใบแห้งหรือใบแก่ออกจะช่วยลดการเกิดโรค และแมลง รวมถึงทำให้แสงแดดส่องถึงใบกล้วยทุกใบได้ดี ซึ่งควรตัดแต่งใบเป็นประจำทุกเดือน โดยให้ตัดแต่งใบเหลือประมาณต้นละ 7 – 12 ใบ

การออกปลี
หลังปลูกกล้วย 6-8 เดือน ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ซึ่งช่วงนี้ กล้วยจะเริ่มแทงปลีแล้ว โดยสังเกตได้จากการแทงใบกล้วยใบสุดท้ายจะมีขนาดสั้น และเล็กมาก ซึ่งเรียกว่า“ใบธง” หลังจากนั้น กล้วยจะเริ่มแทงปลีออกมา ซึ่งจากระยะเริ่มแทงปลีจนถึงปลีบานแล้วจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน หลังจากปลีบานแล้ว 2-3 วัน หรือ มองเห็นผลมีขนาดสม่ำเสมอกันแล้ว หรือ เรียกหวีนั้นว่า “หวีตีนเต่า” จึงให้ตัดปลีออกได้ โดยหวีที่ต่ำกว่าหวีตีนเต่าจะมีขนาดผลเล็ก ผลไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อเริ่มเห็นหวีลักษณะนี้ก็เริ่มตัดปลีได้ โดยตัดในตำแหน่งที่ตำกว่าหวีตีนเต่าลงมา 1 หวี เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จะทำให้ผลในหวีอื่นๆเติบโตช้า และผลไม่สม่ำเสมอได้

การค้ำยัน
การทำค้ำยันจะเริ่มทำหลังจากตัดปลีออกแล้ว ด้วยการใช้ไม้ที่มีง่ามหรือใช้ไม้ไผ่ตีตะปูประกอบกัน บริเวณปลายไม้ แล้วถ่างแยกเป็นง่ามใช้ค้ำยันบริเวณลำต้นก่อนถึงก้านเครือ

การหุ้มเครือ และตัดใบธง
การหุ้มเครือเป็นการหุ้มด้วยผ้าพลาสติก แบบเปิดด้านล่างไว้ ซึ่งจะทำหลังการตัดปลีแล้วประมาณ 25-30 วัน ทั้งนี้ เครือกล้วยที่มีการหุ้มเครือจะได้ผลกล้วยที่มีผิวสวย ไม่มีรอยแมลงทำลาย  ส่วนการตัดใบธง จะตัดเพื่อไม่ให้ใบมาเสียดสีกับผลกล้วย เพราะอาจทำให้ผลมีรอยหรือเกิดโรคเชื้อราได้ โดยจะเริ่มตัดเมื่อใบธงเริ่มหัก

การเก็บผลผลิต
กล้วยหอม หลังจากการปลูกแล้วประมาณ 10-11 เดือน จะเริ่มเก็บเครือได้ โดยมีระยะหลังปลูกถึงแทงปลี 7-8 เดือน และหลังจากแทงปลีจนเก็บเครือได้ 70-80 วัน โดย 1 เครือ จะมีหวีประมาณ 6 –10 หวี และ 1 หวี มีประมาณ 10 – 16 ผล หรือมากกว่า หากดินมีความสมบูรณ์

หลังจากตัดปลี ประมาณ 70-80 วัน จะเริ่มเก็บเครือหรือผลได้ ทั้งนี้ หากเป็นการส่งจำหน่าย จำเป็นต้องเก็บก่อนผลสุกหรือผลเหลือง ประมาณ 3 วัน ซึ่งเวลานิยมเก็บในช่วงเช้าตรู่

ระยะการสุกของกล้วยหอม
– ระยะที่ 1 เปลือกเขียว (ดิบ 100%) ผลแข็ง ไม่มีการสุก
– ระยะที่ 2 เปลือกเขียว (ดิบ 95%) เริ่มสุก และเปลี่ยนเป็นสีเหลือง (5%)
– ระยะที่ 3 เปลือกเขียว (ดิบ 70%) เริ่มสุก และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมากขึ้น (30%)
– ระยะที่ 4 เปลือกเขียว (ดิบ 30%) เริ่มสุก และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมากขึ้น (70%)
– ระยะที่ 5 เปลือกเหลือง มีการสุกมาก (95%) ปลายยังเป็นสีเขียว (ดิบ 5%)
– ระยะที่ 6 ทั้งผลมีสีเหลือง มีการสุกเต็มที่ (100%)
– ระยะที่ 7 ผิวสีเหลือง และเริ่มมีจุดสีน้ำตาล (สุกเต็มที่ มีกลิ่นหอม และเริ่มเปลี่ยนแปลง)
– ระยะที่ 8 ผิวสีเหลือง และมีจุดสีน้ำตาลมากขึ้น (สุกมากเกินไป เนื้อเริ่มอ่อนเละ และมีกลิ่นแรง)

เอกสารอ้างอิง
1. เบญจมาศ ศิลาย้อย. 2545. กล้วย. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ.