กลอย/ว่านกลอยจืด

Last Updated on 12 มีนาคม 2016 by puechkaset

กลอย หรือ ว่านกลอยจืด เป็นว่านที่รับประทานได้ โดยนำส่วนหัวมาต้มรับประทานเหมือนกับมันป่าทั่วไป ส่วนสรรพคุณของว่าน นิยมใช้สำหรับการถอนพิษต่างๆ อาทิ พิษแมงป่อง พิษตะขาบ รวมถึงสรรพคุณในการช่วยรักษาบาดแผล

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dioscorea hispida Dennst.
• ชื่อท้องถิ่น :
– กลอย
– ว่านกลอยจืด
– มันกลอย
– กลอยข้าวเหนียว
– กลอยหัวเหนียว
– กลอยนก
– คลี้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

ชนิดของกลอย
1. กลอยจืด เป็นกลอยชนิดที่นิยมนำมารับประทาน เนื้อหัวของกลอยไม่คันคอ
2. กลอยคัน เป็นชนิดที่ไม่นิยมรับประทาน เพราะเมื่อรับประทานจะทำให้เกิดอาการคันคอ

ลักษณะทั่วไปของกลอย/ว่านกลอยจืด
หัว
หัวว่านกลอยจืด มีลักษณะคล้ายหัวมันป่าหรือกลอยทั่วไป หัวมีรูปไม่สมมาตร แต่ส่วนมากค่อนข้างกลม และแบน เปลือกหัวบาง เปลือกหัวอ่อนมีสีเหลืองครีม เปลือกหัวแก่ชั้นนอกมีสีเทาอมดำตามสีดิน เปลือกหัวแก่ชั้นในมีสีเหลืองน้ำตาล และมีรากแขนงแตกออกจำนวนมาก ส่วนบนสุดของหัวเป็นตายอดที่เจริญเติบโตเป็นเถาเลื้อย เนื้อด้านในมีสีขาวหรือสีครีม เมื่อผ่าจะมียางเมือกเหนียว เมื่อนำมาต้มจะมีรสหวาน สามารถใช้รับประทานได้ เมื่ออายุหัวมากจะแตกหัวใหม่ และเกิดตายอดของเถาใหม่

หัวกลอย1

ขอบคุณภาพจาก www.klonthaiclub.com

ลำต้น
ว่านกลอยจืด มีลำต้นเป็นเถา พาดเลื้อยตามต้นไม้ที่ขึ้นด้านข้าง เถามีขนาดเล็กประมาณ 0.3-0.5 ซม. เปลือกเถามีสีเขียว เถาแตกกิ่งเถาตามความยาวของเถา โดยในหนึ่งหัวจะมีเถาแทงออก 2-5 เถา และเถาที่โตเต็มที่จะมีหนามแหลมคมขนาดเล็ก โดยลำต้นจะแทงออกในช่วงต้นฤดูฝน

หัวกลอย

ใบ
ใบว่านกลอยจืด เป็นใบประกอบ ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาว 5-10 ซม. แต่ละก้านใบประกอบด้วยใบย่อย 3 ใบ มีก้านใบย่อยสั้น 0.5-1.5 ซม. แต่ละใบมีลักษณะคล้ายใบถั่ว ยาวประมาณ 10-25 ซม. กว้างประมาณ 8-15 ซม.โคนใบ และปลายใบสอบแหลม โดยปลายใบจะมีติ่งแหลม กลางใบกว้าง แผ่นใบสีเขียว แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีเส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน 1 เส้น และเส้นใบขนานกับเส้นกลางใบข้างละ 1 เส้น รวมมีเส้นใบ 3 เส้น ใบจะร่วงในช่วงฤดูแล้ง พร้อมกับเถาที่แห้งเหี่ยวตาย

ใบกลอย

ดอก
ดอกกลอยออกเป็นช่อ แทงออกตามซอกใบบนกิ่ง และลำต้น ปลาช่อห้อยลงดิน แต่ละช่อมีช่อย่อย 5-12 ช่อ แต่ละช่อมีดอก 20-50 ดอก แต่ละดอกมีขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว จำนวนกลีบดอก 6 กลีบ

ผล
ผลกลอยมีลักษณะเป็นแผ่น 3 แผ่น เชื่อมติดกันเป็น 3 เหลี่ยม แต่ละแผ่นกว้างประมาณ 1 ซม. ยาวประมาณ 5 ซม. ด้านในมีเมล็ดแบบมีปีกสำหรับช่วยในการลอยตามแรงลม

ผลกลอย

ขอบคุณภาพจาก www.phargarden.com

ประโยชน์ของกลอย/ว่านกลอยจืด
1. หัวกลอยใต้ดิน หรือ หัวกลอยอากาศ นิยมนำมาต้มรับประทาน เนื้อด้านในที่ต้มแล้วจะมีลักษณะเป็นเนื้อแป้งสุกสีขาวหรือสีครีม ให้รสหวาน
2. หัวกลอยใช้ทำอาหารคาว ด้วยการหั่นเป็นก้อนพอคำ เช่น แกงมันกลอยใส่ไก่ เป็นต้น
3. หัวกลอยนำมาฝานเปลือก และสับเป็นแผ่นบางๆนำไปตากแห้ง ก่อนจะนำมาบดเป็นผงสำหรับใช้ทำขนมของหวาน
4. เปลือก และหัวกลอยสดนำมาคั้นผสมน้ำ นำน้ำคั้นมาฉีดพ่นแปลงผัก ช่วยไล่ และกำจัดเพลี้ย รวมถึงแมลงศัตรูพืชต่างๆ

สรรพคุณของกลอย/ว่านกลอยจืด
1. หัวกลอยดิบนำมาต้มน้ำดื่มแก้อาการเบื่อเมา ทั้งเมาสุรา เมาพืชมีพิษ หรือ เห็ดพิษ
2. นำหัวกลอยดิบมาฝานเปลือก นำเปลือกมาขยี้ทาแผล รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ช่วยให้แผลแห้ง และหายเร็ว
3. ใบกลอยนำมามาบดใช้ทาผิวหนัง แก้อาการผื่นคัน แก้ลมพิษ

ข้อควรระวัง
กลอย/ว่านกลอยจืด มีสารไดออสคอรีนที่ออกฤทธิ์กดประสาททำให้เกิดอาการมึนเมา ดังนั้น ก่อนจะรับประทานจำเป็นต้องทำให้สุกโดยการผ่านความร้อนด้วยการต้มหรือย่างให้สุกเสียก่อน

การปลูกกลอย/ว่านกลอยจืด
กลอยเป็นพืชล้มลุกที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการแตกหัวใหม่ โดยทั่วไปนิยมปลูกด้วยการแยกหัวหรือเหง้าที่มีตายอดแยกออกมาปลูก หรือ ใช้วิธีขุดต้นอ่อนที่เกิดจากเมล็ดในป่ามาปลูก

การขุดกลอย ทั้งจากกลอยที่ปลูกเองหรือขุดตามป่า ชาวบ้านมักนิยมขุดในตั้งแต่ในช่วงหลังหมดฝนประมาณปลายเดือนตุลาคม จนถึงฤดูหนาวช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะช่วงนี้ใบจะยังไม่ร่วง ทำให้สังเกต และแยกแยะกับไม้พันธุ์อื่นออกได้ง่าย รวมถึงเป็นช่วงที่ต้นเติบโตเต็มที่แล้ว