Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
กระเทียมต้น (Leek) เป็นกระเทียมพันธุ์ที่ไม่มีการขยายของหัว และไม่มีการแบ่งกลีบ มีลำต้นใต้ดินขนาดใกล้เคียงกับลำต้นเหนือดิน นิยมนำลำต้น และใบมารับประทานสด รับประทานคู่กับอาหาร หรือใช้ประกอบอาหาร ทั้งเมนูผัด แกงต่างๆ เนื้อสัมผัสกรอบ ค่อนข้างเหนียวเล็กน้อย มีกลิ่นฉุนของกระเทียม ช่วยเพิ่มความเผ็ด และดับกลิ่นคาวของอาหารได้ดี
• วงศ์ : Alliaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Allium ampeloprasum L.
• ชื่อสามัญ : Leek
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– กระเทียมต้น
ภาคเหนือ
– กระเทียมใต้
• จีน
– ซึง
– ปักทาง
– เสิง
– ฮวงซาง
• ถิ่นกำเนิด : แถบประเทศเมดิเตอเรเนียน
ที่มา : [1], [2]
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
กระเทียมต้นเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นคล้ายกับกระเทียมทั่วไป มีต้นใต้ดิน แต่ลำต้นใต้ดินไม่ขยายใหญ่ และไม่มีการแบ่งกลีบ ส่วนกลิ่นจะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่ากระเทียมพันธุ์อื่นๆ มีลำต้น 2 ส่วน คือ
1. ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดินของกระเทียมต้น เป็นส่วนที่เจริญอยู่ใต้ดิน มีลักษณะทรงกระบอกที่ประกอบด้วยแผ่นหุ้มสีขาว มีกลิ่นฉุนเล็กน้อย ขนาดลำต้นใต้ดินจะใหญ่กว่าลำต้นเหนือดินเล็กน้อย ฐานลำต้นแตกรากฝอยเป็นกระจุกแทงลึกลงดิน
2. ลำต้นเหนือดิน
ลำต้นเหนือดิน เป็นส่วนที่ต่อเนื่องจากลำต้นใต้ดิน มีลักษณะทรงกลม สีขาว สูงประมาณ 20-50 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และหากรวมความสูงของใบด้วยจะสูงประมาณ 40-80 เซนติเมตร และสูงได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะพันธุ์ต่างประเทศในแถบยุโรป
ใบ
กระเทียมต้น ออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับตรงข้ามกัน มีกาบใบหุ้มแนบติดโคนต้น โคนแผ่นใบหุ้มแนบชิดลำต้น หลายเป็นส่วนหนึ่งของลำต้นเทียม แผ่นใบช่วงต่อมาเรียบ และคลี่กางออกเป็นรูปตัว V ยาวประมาณ 15-40 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ไม่มีก้านใบ และหูใบ ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา และมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย นิยมรับประทานสดหรือใช้ทำผักดอง
ดอก
กระเทียมต้นออกดอกเป็นช่อ คล้ายกับดอกกระเทียมทั่วไป มีก้านดอกทรงกลม แทงออกตรงกลางของลำต้น ยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ก้านดอกไม่มีแกน ด้านในเป็นรูกลวง ปลายก้านดอกประกอบด้วยดอกย่อยเรียงกันเป็นกระจุกทรงกลม ดอกตูมมีลักษณะทรงระฆังหรือคล้ายกับดอกบัวตูม ที่หุ้มด้วยกลีบเลี้ยง เมื่อดอกบาน กลีบเลี้ยงจะแยกออก
ดอกย่อย เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยกลีบดอก 6 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีรูปไข่หรือรูปหอก มีสีขาวหรือสีขาวอมชมพู ด้านในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน แต่เกสรตัวผู้จะเจริญก่อนเกสรตัวเมีย ทำให้ไม่สามารถผสมเกสรได้ทันในดอกเดียวกัน ดังนั้น การผสมเกสรจึงอาศัยการผสมข้ามช่อดอกด้วยแมลง
ผล และเมล็ด
ผลกระเทียมต้น เจริญรวมกันเป็นกลุ่ม แต่ละผลแบ่งเป็น 3 พู ด้านในมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก แต่ละเมล็ดมีลักษณะทรงกลม สีน้ำตาลอมดำ
ประโยชน์กระเทียมต้น
1. ทั้งลำต้น และใบใช้รับประทานสดคู่กับน้ำพริก ผัดไทย ลาบ ซุบหน่อไม้ ให้รสเผ็ด และมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย
2. ลำต้น และใบ ใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ ซุป แกงจืด ผัดน้ำมันหอย และสตู เป็นต้น จัดเป็นส่วนประกอบของอาหารที่ช่วยเพิ่มความเผ็ด ให้กลิ่นฉุนเล็กน้อย ช่วยดับกลิ่นคาวได้ดี
3. ลำต้น และใบ ใช้หมักทำผักดองหรืออีสานเรียกว่า ส้มผัก
สรรพคุณกระเทียมต้น
ลำต้น และใบ (รับประทานหรือต้มดื่ม)
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– ช่วยขับเสมหะ
– ช่วยบำรุงร่างกาย
– บรรเทาอาการโรคไขข้ออักเสบ
– ช่วยป้องกันโรคตับ
– แก้โรคหอบหืด
– ช่วยฆ่าเชื้อในลำไส้
– ช่วยรักษาอาการท้องเสีย ท้องร่วง
– แก้อัมพฤกษ์ อัมพาต
– ช่วยบำรุงปอด
– แก้วัณโรค
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
– ป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด
– ป้องกันเลือดจับตัวเป็นลิ่ม
– ช่วยขับปัสสาวะ
ลำต้น และใบ (ใช้ภายนอก)
– แก้โรคผิวหนัง รักษากลาก เกลื้อน โดยใช้หัวใต้ดินบดหรือฝานเป็นแผ่นทา
– ขยำหัวหรือลำต้นทาบริเวณบาดแผล ช่วยป้องกันการติดเชื้อ ต้านแผลอักเสบ
เพิ่มเติมจาก : [2]
การปลูกกระเทียมต้น
การเตรียมดิน
ไถพรวนแปลง และกำจัดวัชพืช และทิ้งตากแดดนาน 7-10 วัน หว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 ตัน/ไร่ หรือใช้ 2-4 กำมือ/ตารางเมตร แล้วไถยกร่อง กว้างประมาณ 1.5 เมตร ส่วนความยาวตามความเหมาะสม
การเตรียมเมล็ด และเพาะกล้า
นำเมล็ดห่อใส่ผ้าขาวบาง ก่อนแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนปลูก ให้นำห่อผ้ามาแช่น้ำที่ผสมกับกับน้ำยากันเชื้อรา นาน 5-10 นาที ก่อนนำเมล็ดไปหว่านลงแปลง แล้วคาดเกลี่ยหน้าดินถมเล็กน้อย หรือ ขีดเป็นร่องตื้น แล้วค่อยหยอดเมล็ด จากนั้น รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้น ดูแลให้น้ำจนเมล็ดงอก และต้นกล้าสูงได้ประมาณ 10 เซนติเมตร หรือประมาณ 20 วัน หลังเมล็ดงอก ย้ายลงปลูกในแปลงต่อ
วิธีปลูก
ถอนต้นกล้า ตัดยอดหรือใบให้เหลือประมาณครึ่งหนึ่ง ตัดรากให้เหลือยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ก่อนนำลงปลูกในแปลงเป็นแถวๆ ระยะห่างของแถว และต้นประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ ก่อนปลูก อาจนำกล้ามาแช่น้ำน้ำหมักชีวภาพเพื่อเร่งการแตกราก (น้ำหมักชีวภาพ 1 ส่วน น้ำ 200 ส่วน)
การให้น้ำ
หลังการปลูกประมาณ 5-10 วันแรก ควรให้น้ำทุกวัน จนต้นกล้าตั้งต้นได้ จากนั้น ลดการให้น้ำเหลือประมาณ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์
การใส่ปุ๋ย
หลังย้ายกล้าปลูก 20-30 วัน ให้ใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 2-4 กำมือ/ตารางเมตร และปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 อัตรา 10-15 กิโลกรัม/ไร่ ครั้งต่อไป ให้ใส่ห่างจากครั้งแรกประมาณ 25-30 วัน ด้วยปุ๋ยสูตรเดียวกัน หรือฉีดพ่นด้วยปุ๋ยน้ำหมักมูลสุกร เดือนละ 1 ครั้ง
การกำจัดวัชพืช
มั่นกำจัดวัชพืชในแปลงทุกๆสัปดาห์ ด้วยการถอนมือ จนถึงอายุประมาณ 2 เดือน ค่อยปล่อยตามธรรมชาติ ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี เพราะจะมีผลทำให้ใบกระเทียมเหลือง
การเก็บผลผลิต
อายุกระเทียมต้นมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน หลังเมล็ดงอก หรือประมาณ 80 วัน หลังย้ายกล้าปลูก ให้ถอนเก็บกระเทียมแบบถอนทั้งต้น เก็บเฉพาะช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็น ห้ามเก็บช่วงสายหรือกลางวัน เพราะลำต้น และใบจะเหี่ยวง่าย หลังเก็บจากแปลง ให้ล้างทำความสะอาด ตัดรากเหลือ 0.5 เซนติเมตร และตัดปลายใบบางส่วนทิ้ง ก่อนวางให้สเด็ดน้ำ และบรรจุใส่ถุง
วิธีทำกระเทียมต้นดองหรือส้มผักกระเทียมต้น
วัตถุดิบ และส่วนผสม
1 กระเทียมต้นสด 1-2 กิโลกรัม
2. น้ำซาวข้าว 2 ถ้วย
3. น้ำเปล่า 1 ถ้วย
4. ข้าวเหนียวนึ่ง 1 ก้อนกำมือ
5. เกลือ 2 ช้อน
6. กระเทียมบด 3 หัวใหญ่
ขั้นตอนทำ
1. นำต้นกระเทียมต้นสดมาล้างทำความสะอาด ตัดรากทิ้ง แต่ไม่ต้องตัดปลายทิ้ง
2. นำต้นกระเทียมเทรวมในชามหรือหม้อขนาดใหญ่ ก่อนเทเกลือลงผสม และใช้มือขยำจนต้นกระเทียมช้ำ และอ่อนตัว หรือบางท้องที่จะใช้เกลือในปริมาณมากกว่านี้ ก่อนนำผักที่ขยำกับเกลือมาล้างน้ำ เพื่อลดความเค็ม
3. เทน้ำซาวข้าว ใส่ข้าวเหนียวนึ่ง และกระเทียมลงผสม ขยำให้เข้ากัน นาน 5-10 นาที
4. นำกระเทียม และน้ำที่ขยำแล้วลงใส่กระปุกหรือภาชนะดอง ปิดฝา และทิ้งไว้ประมาณ 3-5 วัน ก็พร้อมรับประทาน ทั้งนี้ อาจใส่ผักชนิดอื่นเพิ่มเติม เช่น กะหล่ำปลี และผักกาด เป็นต้น
ขอบคุณภาพจาก opensnap.com
เอกสารอ้างอิง
[1] วิลาวัลย์ คำปวน, 2535, ผลของการใช้ระบบความเย็นต่อเนื่อง-
ต่อการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของ-
กระเทียมต้นและปวยเหล็ง.
[2] โครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชฯ, กระทียมต้น, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.rspg.or.th/plants_data/plantdat/liliacea/aporru_1.htm/.