Last Updated on 22 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
กระทือ (Shampoo ginger) จัดเป็นไม้ประดับที่นิยมปลูกประดับต้น และดอก เนื่องจากดอกมีลักษณะแปลกตา และมีสีสันสวยงาม นอกจากนั้น ยังนิยมนำแก่นลำต้นหรือยอดอ่อนรวมถึงหัวอ่อนมารับประทาน
• วงศ์ : Zingilberaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber zerumbet (L.) Smith
• ชื่อสามัญ :
– Shampoo ginger
– Wild ginger
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
กระทือ
กระทือป่า
ภาคเหนือ
กะแวน
กะแอน
แสมดำ
เฮียวดำ (แม่ฮ่องสอน)
เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน)
การแพร่กระจาย
กระทือ พบแพร่กระจายทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ชอบขึ้นบริเวณดินร่วน โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้นข้างลำน้ำ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กระทือจัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุข้ามปี มีลำต้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ลำต้นเหนือดิน
ลำต้นเหนือดิน จัดเป็นไม้เนื้ออ่อน มีแกนเป็นเส้นใยในแนวตั้งตรง มีลำต้นสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม ถูกหุ้มด้วยกาบใบ ทั้งนี้ ลำต้น และใบเหนือดินจะเหลือง และแห้งในหน้าแล้ง แล้วหน่อใหม่จะทยอยเติบโตขึ้นใหม่ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน
2. ลำต้นใต้ดิน
ลำต้นใต้ดินหรือที่เรียกว่า เหง้า หรือ หัว จัดเป็นลำต้นที่อยู่ใต้ดิน เหง้ามีลักษณะกลม แยกออกเป็นแง่ง และมีรากแขนงแทงลึกลงดิน คล้ายเหง้าข่า แต่ละปลายแง่งจะเจริญเป็นหน่อแทงขึ้นกลายเป็นลำต้นเหนือดิน เหง้าอ่อนหรือหน่อหน่ออ่อนมีกาบหุ้มหน่อสีม่วง เนื้อเหง้ามีสีขาว เหง้าแก่มีสีเหลืองอมน้ำตาล เนื้อเหง้าด้านในมีสีเหลืองอ่อน มีรสขื่น เผ็ด และมีกลิ่นหอม สามารถใช้เป็นเครื่องเทศใส่ในอาหารได้ แต่ไม่นิยมนัก
ใบ
กระทือเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แทงใบออกเยื้องสลับกันตามความสูงของลำต้น ใบมีกาบใบหุ้มติดแน่นกับแกนลำต้น ใบมีก้านใบสั้นติดกับกาบใบ ใบมีรูปหอกยาว กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ ใบอ่อนมีสีเขียวสด ใบแก่มีสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลมเล็ก แผ่นใบมองเห็นริ้วเป็นเส้นตามแนวยาวรางๆ มีเส้นกลางใบขนาดใหญ่ชัดเจน
ดอก
กระทือออกดอกเป็นช่อ แทงก้านช่อดอกตั้งตรงจากเหง้าขึ้นมาเหนือดิน ก้านช่อดอกมีลักษณะกลม ยาวประมาณ 15-45 เซนติเมตร ตัวช่อดอกมีลักษณะกลม กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร โคนช่อดอกกว้าง และค่อยๆเล็กลง และมนที่ปลาย บนช่อดอกประกอบด้วยใบประดับที่ซ้อนเรียงติดกันเป็นกลีบๆ แต่ละกลีบมีรูปสามเหลี่ยม ปลายเหลี่ยมมน ขอบกลีบมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ขนาดกว้างประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร สูงประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนมีใบประดับสีเขียว จากนั้นค่อยเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงหรือสีแดงสด เมื่อดอกบาน ตัวดอกจะแทงออกจากซอกระหว่างใบประดับแต่ละอัน โดยทยอยบานออกจากด้านบนลงด้านล่าง
ดอกย่อยแต่ละดอก มีก้านดอกเป็นหลอด ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยง 3 กลีบ กลีบเลี้ยงมีรูปหอก แผ่นกลีบเลี้ยงเกลี้ยง สีขาวอมเหลือง ค่อนข้างโปร่งแสง มีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอก ถัดมาด้านในเป็นกลีบดอก จำนวน 3 กลีบ ปลายกลีบดอกแยกออกเป็น 3 แฉก แผ่นกลีบดอกเรียบ มีรูปหอก ปลายกลีบแหลม มีสีขาวอมเหลือง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 1 อัน ที่มีอับเรณูสีเหลือง ขนาดใหญ่ ด้านล่างเป็นเกสรเพศเมีย และรังไข่รูปวงรี ทั้งนี้ ดอกจะออกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน
ผล และเมล็ด
ผลกระทือจะแทรกอยู่ตรงซอกของใบประดับ มีรูปไข่กลับ ขนาดผลกว้างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีขาว ด้านในมีเมล็ด 1 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีลักษณะกลม เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีดำ ผิวเมล็ดเรียบ และเป็นมัน ทั้งนี้ จะติดผลในช่วงเดือนตุลาคม
ประโยชน์กระทือ
1. กระทือใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ โดยเฉพาะเมื่อยามออกดอก เพราะตัวดอกมีลักษณะแปลกตา ตัวดอกอาจตัดก้านนำมาปักแจกัญประดับตามห้องรับแขก
2. หน่ออ่อนใช้รับประทานสดหรือลวกจิ้มน้ำพริก หรือรับประทานเป็นผักคู่กับอาหาร รวมถึงใช้หน่ออ่อนหรือหน่อแก่ใส่ในต้ม แกงต่างๆ ช่วยในการดับกลิ่น และเพิ่มกลิ่นหอม
3. แกนลำต้นอ่อน และยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือลวกน้ำร้อน รวมถึงใช้ประกอบอาหารจำพวกผัดเผ็ดต่างๆ
4. ใบใช้ห่อข้าว ห่อของ ห่อปิ้งอาหาร
5. ลำต้นนำมากรีดเป็นเส้น ใช้ทำเป็นเชือกรัดของ
6. น้ำมันหอมระเหยจากดอกกระทือใช้ฆ่าตัวอ่อนของแมลง และลูกน้ำ [4] อ้างถึงใน Tewtrakul และคณะ (1997) นอกจากนั้น ยังสามารถลดการวางไข่ของด้วงถั่วเขียวได้ โดยใช้การฉีดพ่นในแปลง [4] อ้างถึงใน Keita และคณะ (2000)
สารสำคัญที่พบ
– Afzelin
– Curzerenone
– Camphene/Champhor
– Caryophyllene
– Citral
– Humulene epoxide
– Isoborneol
– Sesquiterpene
– Zerumbone
– Zerumbone Oxide
– Zingerone
– 1,8-cineol (eucalytol)
ที่มา : [1], [2], [4] อ้างถึงใน Srivastava และคณะ (2000)
สรรพคุณกระทือ
หัวหรือเหง้า (รสขม เฝื่อน และเผ็ดเล็กน้อย)
– ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร
– กระตุ้นการหลั่งน้ำย่อย
– บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
– ช่วยแก้ร้อนใน
– ช่วยบำรุงน้ำนม กระตุ้นการหลั่งน้ำนม
– แก้โรคบิด
– ช่วยในการขับลม กระตุ้นการผายลม
– แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– บรรเทาอาการปวดท้อง ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง
– ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาหารไอ ลดการระคายคอ
– แก้ฝีในจุดต่างๆ
– ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก
ราก (รสขม เฝื่อนเล็กน้อย)
– ช่วยลดไข้
– ช่วยขับเสมหะ ลดอาการไอ
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยบรรเทาอาการเคล็ดขัดยอก
ลำต้น (รสขม เฝื่อน)
– ช่วยการเจริญอาหาร
– ช่วยบรรเทาอาหารไข้
– บรรเทาอาการไอ อาการคันคอ
ใบ (รสขม เฝื่อนเล็กน้อย)
– ช่วยในการขับลม
– ช่วยขับเลือดเสียในมดลูก
– ช่วยขับน้ำคาวปลา
ดอก (รสขม เฝื่อน)
– ช่วยแก้อาการผอมเหลือง
– ช่วยลดไข้เรื้อรัง
– ช่วยขับลม
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
เพิ่มเติมจาก : [1], [2], [3]
การปลูกกระทือ
กระทือตามธรรมชาติจะแพร่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ และการงอกของเมล็ด แต่การแพร่ขยายพันธุ์จะใช้การแตกหน่อใหม่เป็นหลัก
การปลูกกระทือ นิยมขุดแยกเหง้าหรือหน่อออกจากเหง้าแม่ แล้วนำปลูกลงแปลง ซึ่งจะแตกต้นใหม่ และขยายจนเป็นกอใหญ่ โดยหน่อที่ขุดแยก ควรเป็นหน่อแก่ และให้มีลำต้นติดมาด้วย แต่ให้ตัดเหลือลำต้นสูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ก่อนนำลงปลูก
กระทือเป็นพืชที่ชอบดินเหนียวปนทรายหรือดินร่วนปนทราย ดินมีอินทรียวัตถุสูง และมีความชื้นพอประมาณ ดังนั้น การปลูกที่ได้ผลจะต้องให้น้ำเป็นประจำหรือหากปลูกตามบ้าน ควรปลูกใกล้กับบริเวณที่ใช้น้ำตลอดหรือมีความชื้นตลอด อาทิ ข้างบริเวณล้างจาน หรือหลังห้องน้ำ เป็นต้น
ขอบคุณภาพจาก pantip.com/, bloggang.com/, phargarden.com/
เอกสารอ้างอิง
[1]เกษม ตั้นสุวรรณ,2545, เปรียบเทียบผลของสารสกัดจาก-
พืชบางชนิดต่อหนอนกระทู้ผัก.
[2] www.rspg.or.th : สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, กลุ่มยาขับน้ำนม กระทือ, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_13_2.htm/.
[3] ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, กระทือ, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=200/.
[4] เบญจมาภรณ์ ฤทธิ์ไธสง , 2545, ผลของน้ำมันหอมระเหยผกากรอง (Lantana camara Linn.)-
และกระทือ (Zingiber zerumbet (Linn.) Smith)-
ที่มีต่อด้วงถั่วเขียว (Callosobruchus maculatus Fabricius)-
และด้วงงวงข้าวโพด (Sitophilus zeamais Motschulsky).