Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset
กระชายดำ (Black Galingale) เป็นพืชล้มลุกที่นิยมนำเหง้าหรือหัวมาใช้ประโยชน์มากในด้านสมุนไพร เครื่องสำอาง สีย้อมผ้า การประกอบอาหาร เป็นต้น จนได้สมญานามว่าเป็น โสมไทย ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
• วงค์ : Zingiberaceae Tribe Hedychieae
• สกุล : Kaempferia
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Kaempferia parviflora Wall. ex Baker
• ชื่อสามัญ : Black Galingale
• ชื่อท้องถิ่น :
– ว่านกระชายดำ
– กระชายเลือด
– กระชายม่วง
– ว่านเพชรดำ
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กระชายดำมีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ ทั้งในประเทศไทย ลาว พม่า อินเดีย และจีน ในประเทศไทยพบแพร่กระจายทั่วไปในเขตป่า และเชิงเขาด้านล่าง พบปลูกมากในจังหวัดเลย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ น่าน กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ และเชียงราย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
1. ลำต้น และราก
กระชายดำมีลำต้น 2 ชนิด คือ ลำต้นเหนือดิน (Aerial stem) และลำต้นใต้ดิน (Underground stem) ลำต้นเหนือดิน กลางลำต้นเป็นแกนแข็ง มีกาบใบล้อมรอบแน่น กาบใบหรือโคนใบมีสีแดง มีลักษณะอ่อนอวบ นุ่ม หุ้มแกนลำต้นไว้ ลักษณะคล้ายขมิ้นชันใบเดี่ยว แต่มีลำต้นเล็กกว่า และเตี้ยกว่าขมิ้นมาก
ลำต้นใต้ดินหรือเรียก เหง้าหรือหัว มีลักษณะเป็นรูปวงกลมหรือวงรี เหง้ามีการเจริญเติบโตในแนวระนาบแผ่ขนานตามพื้นดิน เหง้าแก่มีแง่ง แตกออกด้านข้างจำนวนมาก แง่งมีลักษณะแตกเป็นแขนงย่อย มีรูปร่างไม่แน่นอน ลักษณะทั่วไปเป็นรูปกระบองหรือรูปหลอด ยาว 1.5-10 เซนติเมตร หนา 1-2 เซนติเมตร เปลือกด้านนอกมีสีออกสีน้ำตาลแกมสีส้มหรือสีแดง เหง้าที่แก่จะเปลี่ยนเป็นสีเทา เนื้อภายในมีสีน้ำตาลอ่อน สีน้ำเงินหรือสีดำ กลางเหง้ามีตาเจริญเป็นลำต้นเหนือดินหรือช่อดอก
ราก เป็นรากฝอยแตกออกจากข้อบริเวณโคนเหง้า มีหน้าที่ช่วยหาอาหาร และสะสมอาหารที่บริเวณปลายราก เมื่อหัวแก่ รากจะสร้างสำหรับสะสมอาหาร โดยพองออกเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ สีขาวนวล เรียกว่า “รากน้ำนม”
2. ใบ
ใบ เป็นใบเดี่ยว (Simple leaf) รูปกรวย แทงออกบริเวณโคนเหง้า เรียงสลับห่อหุ้มแกนลำต้น เมื่อใบแก่ ก้านใบจะกางแยกออกจากกัน ใบมีลักษณะเป็นรูปรี ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบรูปหัวใจ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ก้านใบเป็นกาบ สีเขียวอ่อน ใบอ่อนมีมีสีเข้มม่วงอมแดง และเมื่อใบโตแผ่ขยายออกจะค่อยๆ จางเป็นสีเขียว ขอบใบมีแถบเล็กๆ สีแดงใส เส้นแขนงใบนูน ที่กลางใบเป็นทางสีม่วงอมแดง เรียกว่า เส้นกลางใบ
3. ดอก
ดอกออกเป็นช่อ ที่เกิดจากลำต้นเหนือดิน หุ้มด้วยกาบใบ 2 ใบ ใบประดับมีกลีบ 2 กลีบ สีเขียวอ่อน ก้านช่อดอกมีสีเขียว ช่อดอกมีดอกประมาณ 10-20 ดอก ดอกที่ปลายยอดจะบานก่อน ดอกที่บานจะประกอบด้วยกลีบดอก 3 กลีบ มีกลีบใหญ่ 1 กลีบ และกลีบเล็ก 2 กลีบ กลีบดอกบริเวณตรงกลางมีสีม่วง ดอกประกอบด้วยเกสรตัวผู้ อับเรณูอยู่ใกล้เกสรตัวเมีย รังไข่มีขนอ่อนปกคลุม และก้านเกสรเป็นรูปเส้นด้าย
พันธุ์กระชายดำ
พันธุ์กระชายดำ จำแนกตามสีที่พบบริเวณท้องใบ ก้านใบ ขอบใบ และสีเนื้อหัว ดังนี้
1. พันธุ์ใบแดง
เป็นกระชายดำที่นิยมมากที่สุด มีลักษณะเหมือนกับกระชายดำทั่วไป แต่มีสีของใบที่เด่นสวยงาม คือ ด้านหลังใบมีสีแดงอมม่วง ด้านหน้าใบมีสีเขียว ขอบใบมีเส้นสีน้ำตาลอมแดง ลำต้น และก้านใบมีสีแดงอมม่วงเข้ม หัวมีลักษณะกลม สีเนื้อหัวเป็นสีม่วงเข้มจนถึงดำเหมือนสีลูกหว้า ทั้งนี้ ความเข้มของสีใบและสีเนื้อหัวจะขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และการดูแลรักษา เป็นพันธุ์ที่มีราคาแพงกว่าพันธุ์อื่นๆ ชาวบ้านมักเรียกว่า “สายพันธุ์ตัวผู้”
2. พันธุ์ใบเขียว
เป็นกระชายดำที่ได้รับความนิยมเหมือนกับพันธุ์ใบแดง พันธุ์นี้มีความแตกต่างกับพันธุ์ใบแดงที่สีใบจะเป็นสีเขียวนวลทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ลำต้น และกาบใบมีสีเขียวอย่างเดียว ก้านดอกมีสีเขียว กลีบดอกมีสีม่วงสวยงาม มีเส้นรอบกลีบดอกเป็นสีขาว เนื้อมีสีน้ำตาลจนถึงน้ำตาลเข้ม ลักษณะหัวกลมรีน้อยกว่าพันธุ์ใบแดง และราคาจะถูกกว่า ชาวบ้านมักเรียก “พันธุ์ตัวเมีย”
3. พันธุ์กระชายขาวหรือว่านเพชรกลับ
เป็นพันธุ์ที่พบมากตามป่า ลักษณะต่างจากกระชายดำ คือ มีลักษณะลำต้นทอดสูงเหมือนต้นขิง ความสูงประมาณ 80-90 เซนติเมตร กาบใบ และใบขึ้นสลับด้านข้างลำต้น ก้าบใบ และใบมีสีเขียว ด้านหลังใบมีสีม่วงเข้ม ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว กลีบดอกด้านนอกมีสีขาวด้านในมีสีแดงแกมม่วง
หัวมีลักษณะเหมือนกระชายดำทั่วไป แต่จำนวนแง่งต่อเหง้าน้อยกว่า สีเนื้อหัวมีสีขาว เป็นที่มาของชื่อ “กระชายขาว” หัวมีกลิ่น และรสชาติยังเหมือนกระชายดำ และมีสรรพคุณเหมือนกระชายดำทุกประการ
ตามความเชื่อของคนชนบท หากนำหัวว่านกระชายขาวติดตัวเวลาเดินป่า ว่านจะช่วยไม่ให้หลงป่า และนำทางกลับ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ว่านเพชรกลับ” หรือ “ว่านชักกลับ” จากการสำรวจพบมากที่ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
4. พันธุ์กระชายหอม/ว่านหอม/กระชายเหลือง
เป็นพันธุ์ที่หายากในปัจจุบัน ไม่พบการปลูก และขายพันธุ์ให้เห็น ต้องเสาะแสวหาตามป่าลึก จึงทำให้มีราคาสูงกว่ากระชายดำพันธุ์ใบแดง และพันธุ์อื่นๆ ประมาณ 3-5 เท่าตัว เนื่องจากหายาก และเชื่อว่าสรรพคุณเหนือกว่ากระชายดำพันธุ์อื่นๆ
กระชายหอมมีลักษณะต้น ใบ และราก เหมือนกับกระชายดำพันธุ์ใบเขียวทุกประการ แต่สีเนื้อหัวจะมีสีขาวอมเหลืองอ่อน ๆ และมีเอกลักษณ์ที่มีกลิ่นหอม ชวนรับประทานมากกว่ากระชายดำ
กระชายดำ (เนื้อดำแท้) กับ กระชายม่วง (เนื้อสีดำแกมม่วง)
กระชายดำ (ดำแท้) จะมีใบเขียวเกือบเข้ม และทรงใบเรียวยาวมากกว่ากระชายม่วง ใต้ใบ และขอบใบมีสีม่วงแกมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนใบกระชายม่วงมีสีเขียวอ่อน ปลายค่อนข้างมน ขอบใบ และใต้ใบมีสีม่วงแกมเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
สารสำคัญที่พบ
หัวกระชายดำ
1. borneol (มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ)
2. sylvestrene (มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ)
3. สาร 5,7-ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-dimethoxyflavone หรือ 5,7 DMF) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ และต้านการอักเสบ
4. 5,7,4 – trimethoxyflavone
5. 5,7,3, 4 – tetramethoxyflavone
6. 3,5,7,4 –tetramethoxyflavone
7. Chavicinic acid
8. Boesenbergin A
9. Cardamonin
10. Pinostrobin
11. Alpinetin
12. Chalcone
13. Essential oil
ที่มา : (4)
ประโยชน์กระชายดำ
1. ให้คุณค่าทางโภชนาการ
2. ใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และยาบางชนิด
– ครีมทาผิวกระชายดำที่เป็นส่วนผสมของสารสกัดกระชายดำ ความเข้มข้น 7% w/w และ eucalyptus oil 1.5% w/w
– กระชายดำนำมาปั่น แล้วคั้นเอาน้ำ หรือ นำหัวกระชายดำมาต้มเอาน้ำ ก่อนใช้เป็นส่วนผสมของแซมพู และสบู่
3. กระชายดำเป็นพืชสมุนไพรประจำเผ่าม้งในแถบจังหวัดพิษณุโลก และเลย ซึ่งนิยมพกติดตัวเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาเดินทางเข้าป่า เพราะเชื่อกันว่า กระชายดำจะช่วยขับไล่ และป้องกันภูตผี และอันตรายต่างๆ รวมถึงช่วยให้ผู้เดินป่ามีความทรหด และกำลังวังชามาก
สรรพคุณกระชายดำ
– ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงหัวใจ แก้ใจสั่น
– แก้ลมวิงเวียน แน่นหน้าอก
– แก้แผลในปาก
– รักษาโรคความดันโลหิตสูง
– ช่วยบำรุงหัวใจ และขยายหลอดเลือดหัวใจ
– บำรุงโลหิต ทำให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น
– ช่วยกระตุ้นประสาท ทำให้กระชุ่มกระชวย
– ช่วยขับเลือดประจำเดือน ช่วยปรับประจำเดือนให้มาปกติ
– ใช้เป็นยาในสตรีหลังคลอด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
– ช่วยกระตุ้นให้น้ำนมของแม่หลังคลอดดีขึ้น
– ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ
– ช่วยขับลม
– แก้โรคกระเพาะอาหาร
– แก้ฝีอักเสบ ช่วยรักษาบาดแผล
– รักษากลากเกลื้อน
– แก้บิดมูกเลือด
– น้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีคุณสมบัติแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ลดอาการปวดท้อง ท้องเดิน
– แก้ซางตาลขโมยในเด็ก
– ช่วยฟื้นฟูอาการกามตายด้าน และบำรุงกำหนัด
– ใช้รักษาโรคเบาหวาน เพราะมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด
– ช่วยลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– แก้ปวดหลัง ปวดเอว
– แก้ปวดท้องมาน
– บรรเทาอาการท้องเสีย
– รักษาโรคบิด
– แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
– ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
– รักษาโรคริดสีดวงทวาร
– ช่วยบรรเทาโรคเก๊าต์
– น้ำมันหอมระเหย (Volatile oil) ที่ได้จากส่วนต่างๆของกระชายดำมีคุณสมบัติช่วยขับลม แก้อาการจุกเสียด แน่นท้อง
– สารสำคัญหลายชนิดในยางที่ได้จากเปลือกหรือเหง้า ประกอบด้วยสารที่มีรสฝาด ชื่อ Carboxyacidphanole มีฤทธิ์ช่วยในการขับถ่าย ช่วยขับปัสสาวะ และรักษาไข้
ที่มา : (1), (3), (4)
การออกฤทธิ์เฉพาะ
1. ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์
พบคุณสมบัติของสาร 5,7,4- trimethoxyflavone และสาร 5,7,3,4- tetramethoxyflavone ออกฤทธิ์ต้านเชื้อ Plasmodium Falciparum (โรคมาเลเรีย), เชื้อ Canadida albicans และเชื้อ Mycobacterium และจากการศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากกระชายดำ พบว่า สามารถต้านการเติบโตของเชื้อโรค S. aureus ได้ดี
2. พิษต่อเซลล์มะเร็ง
การใช้สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์จากกระชายดำที่มีต่อเซลล์มะเร็งไม่พบสารใดที่ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์มะเร็งได้
3. ฤทธิ์ขยายหลอดเลือดแดง
การให้สารสกัดจากกระชายดำแก่หนูทดลอง พบว่า หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) ของหนูทดลองมีการขยายตัว รวมถึงช่วยลดการหดเกร็งของลำไส้ส่วนปลาย (ileaum) และช่วยยังยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้
4. ฤทธิ์ต้านอักเสบ
สาร 5,7 –ไดเมธอกซีฟลาโวน (5,7-DMF) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบไกล้เคียงกับยามาตรฐานหลายชนิด เช่น ไฮโดรคอร์ติโซน, อินโดเมธาซิน, แอสไพริน และเพรดนิโซโลน และออกฤทธิ์ต้านการอักเสบชนิดเฉียบพลันได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าแบบเรื้อรัง นอกจากนั้น ยังพบว่าสามารถยับยั้งอาการอุ้งเท้าบวมของหนูทดลองที่ได้รับสารสารคาราจีแนน และเคโอลินได้ดี
ฤทธิ์สารสกัดกระชายดำช่วยลดการอักเสบของโรคข้อเข่าเสื่อม จากการทดลอง พบว่า สารสกัดจากเอทานอล และเฮกเซนสามารถยับยั้งการเกิดไนตริกออกไซด์ (NO) ในเซลล์เพาะเลี้ยงแมคโครฟาจได้ ซึ่งสามารถชี้บ่งถึงประสิทธิภาพสารสกัดกระชายดำในการยับยั้งสารที่ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์ และเนื้อเยื่อได้
พิษกระชายดำ
มีการศึกษาพิษเรื้อรังของกระชายดำในหนูทดลองในขนาด 20-2,000 มก./กก./วัน เทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับกระชายดำ พบว่า หนูทดลองที่ได้รับกระชายดำมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับกระชายดำ อาการ และสุขภาพไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับกระชายดำ ผลการตรวจอวัยวะภายในไม่พบการเปลี่ยนแปลง และความแตกต่างจากลุ่มที่ไม่ได้รับกระชายดำ
การศึกษาสารสกัดในกลุ่ม flavonoids จากกระชายดำ ทำให้เป็นสารบริสุทธิ์สีเหลือง โดยการทดสอบความเป็นพิษแบบเฉียบพลัน พบว่า มีค่า LD50 สูงกว่า 5,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว และไม่พบลักษณะผิดปกติของอวัยวะภายในจากการเกิดพิษแต่อย่างใด
ขนาดที่ใช้ และวิธีใช้
1. แก้ท้องร่วงท้องเดิน
การใช้ : ใช้หัวกระชายดำสด 1-2 หัว ฝานเป็นแผ่นบางๆ ก่อนนำไปปิ้งไฟแห้ง จากนั้น นำมาตำบดให้ละเอียด ก่อนผสมกับน้ำใสหรือคั้นน้ำเปล่า 3-5 แก้ว ดื่ม
2. แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ปวดมวนในท้อง
การใช้ : นำหัวกระชายดำ 2-3 หัว นำมาต้มดื่ม หรือใช้ประกอบอาหารรับประทาน
3. แก้โรคบิด
การใช้ : นำหัวกระชายดำสด 2 หัว บดให้ละเอียด แล้วเติมน้ำปูนใส และน้ำเปล่า 3 แก้ว ก่อนคั้นเอาน้ำดื่ม
4. ยาบำรุงหัวใจ
การใช้ : ใช้หัว และราก ที่ปอกเปลือก และล้างน้ำให้สะอาด จากนั้น นำมาหั่นเป็นแผ่น ก่อนนำไปตากให้แห้ง แล้วนำมาบดเป็นผง หลังจากนั้น นำผงกระชายดำแห้ง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน 1 แก้วดื่ม
5. ยารักษาริดสีดวงทวาร
การใช้ : ใช้เหง้าสด 60 กรัม หรือ ประมาณ 6-8 เหง้า มาตำบดก่อนต้มกับน้ำ 1 ลิตร พร้อมเติมมะขามเปียก 1 ก้อน เกลือแกง 1 ช้อน แล้วเคี่ยวจนเหลือครึ่งลิตร ดื่มรับประทานครั้งละครึ่งแก้วก่อนนอน ดื่มติดต่อกัน 1 เดือน ริดสีดวงจะหายไป
6. รักษาอาการโลหิตเป็นพิษและบำรุงเลือด
การใช้ : หั่นหัวกระชายดำเป็นแว่นบางๆ จากนั้น นำมาแช่ด้วยเหล้า นาน 3-5 วัน ก่อนใช้ดื่มครั้งละค่อนแก้ว ก่อนรับประทานอาหาร
7. ใช้บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัดแก้โรคกามตายด้าน
การใช้ : นำหัวกระชายดำ 2-3 หัว ต้มกับไก่หรือนึ่งกับไก่รับประทาน
8. ทำให้ผมดำ
การใช้ : ใช้หัวประชายดำ 2-3 หัว ต้มน้ำดื่ม หรือ นำหัวกระชายดำมาตำบด ผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนใช้พอกผม ช่วยให้ผมดกดำดีขึ้น
เพิ่มเติมจาก : (2)
การปลูกกระชายดำ
กระชายดำเป็นพืชในกลุ่มเดียวกันกับว่านชนิดอื่นๆ มีการเติบโตในช่วงต้นฤดูฝน และใบเริ่มแก่ และเหี่ยวแห้งในช่วงต้นฤดูแล้ง และจะกลับมาแตกใบใหม่ในช่วงต้นฤดูฝนหลัง 1-2 ฝนแรก
การปลูกกระชายดำนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือหลังฝนมา 1-2 ครั้งแรก ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม โดยการแบ่งแง่งปลูก สำหรับแง่งที่มีการหักจนเห็นเนื้อในให้ป้ายด้วยปูนขาวหรือปูนเคี้ยวหมากก่อนปลูก แง่งที่ปลูกจะแตกแง่งอ่อนเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ ส่วนแง่งพันธุ์จะแห้งหรือเน่าไป
1. การเตรียมดิน
การปลูกในแปลง เตรียมดินด้วยการไถพรวนดินร่วมกับกำจัดวัชพืช และตากดินนาน 1-2 อาทิตย์ หลังจากนั้น ว่านโรยด้วยปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ต่างๆหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2-5 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถยกร่องระยะห่าง 50-70 เซนติเมตร หรืออาจเพียงไถพรวนดินกลบก็ได้ เพราะจะสามารถปลูกในระยะตามที่กำหนดได้ไม่เหมือนกับการไถยกร่องที่อาจเปลืองพื้นที่มาก
2. วิธีการปลูก
หัวพันธุ์หรือแง่งที่ใช้ปลูกควรเป็นหัวแก่ อายุประมาณ 10-12 เดือน ระยะปลูกระหว่างแถว และหลุมประมาณ 20 x 20 เซนติเมตร ถึง 20 x 30 เซนติเมตร ใช้ 2-5 แง่ง/หลุม โดยการขุดหลุมฝังแง่งในระดับประมาณ 5-10 เซนติเมตร ไม่ควรฝังลึก เพราะอาจทำให้แง่งเน่าได้ง่าย พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้แง่งพันธุ์ประมาณ 160-200 กก.
3. การปลูกลงในกระถาง
การปลูกในกระถาง จะใช้ดินผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตราดินต่อปุ๋ยที่ 2:1 – 3:1 โดยเลือกใช้ขนาดกระถางที่พอเหมาะสำหรับการปลูกเพียง 1-2 แง่ง เช่น ขนาด 10-15นิ้ว
4. การเก็บเกี่ยว
กระชายดำที่ปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหลังฝนตก 1-2 ครั้ง ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะสามารถเก็บหัวได้ประมาณช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้ง หรือควรให้มีอายุประมาณ 10-12 เดือน ในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน โดยสังเกตจากใบ และลำต้นที่เริ่มมีสีเหลือง และเหี่ยวแห้ง ซึ่งการปลูก 1 ไร่ จะให้หัวกระชายดำประมาณ 1.5-2 ตัน/ไร่
เอกสารอ้างอิง
(1) ปานฤทัย พุทธทองศรี. 2554. การบูรณาการภูมิปัญญาไทยและ-
ลาวเพื่อพัฒนากระบวนการย้อมฝ้ายด้วยสีจากกระชายดำ. มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย.
(2) จำรัส เข็มนิล และมนตรี ตรีชารี. 2545. ข้อมูลทั่วไปของกระชายดำ.
(3) ศจีรา ศุปพิทยานันท์. 2553. ผลของการเสริมกระชายดำในอาหารต่อ-
ลักษณะเพศในสุกรพ่อพันธุ์. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
(4) กุลยา จันทร์อรุณ. 2542. การศึกษาสารสกัดจากสมุนไพรกระชายดำ. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.