Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset
กกกลม เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในทุกจังหวัด และจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง แต่สร้างประโยชน์ และรายได้ได้หลากหลาย อาทิ ใช้สำหรับทอเสื่อ จักรสานเป็นหมวก ตะกร้า กระเป๋า รวมถึงนิยมใช้สำหรับปลูกเป็นพืชบำบัดในระบบบำบัดน้ำเสีย
อนุกรมวิธาน [1]
• อาณาจักร (kingdom): Plantae
• ดิวิชั่น (Division): Magnoliophyta
• ดิวิชั่นย่อย (Subdivision):
• ชั้น (class): Liliopsida
• อันดับ (order): Poales
• อันดับย่อย (Suborder):
• วงศ์ (family): Cyperaceae
• สกุล (genus): Cuperus
• ชนิด (species): corymbosus
• ชื่อวิทยาศาสตร์: Cyperus corymbosus Rotth.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ :
• ชื่อสามัญ:
– Sedge
– Egyptian paper plant
– Papyrus
– Egyptian paper reed
• ชื่อท้องถิ่น :
– กกกลม
– กกจันทบูรณ์
– กกขนาก
– หญ้าลังดา
– กกดอกแดง
ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กกกลมจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง และเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค พบมากตามบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีน้ำขังตื้นๆ หรือ พื้นที่ชื้นแฉะตลอดปี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
กกกลมจัดอยู่ในกลุ่มพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน มีลักษณะเป็นแง่งหรือเหง้าสั้นๆ คล้ายกับเหง้าขิงหรือข่า (rhizome) เปลือกผิวมีสีน้ำตาลอมดำ ส่วนลำต้นเหนือดิน (arial stem) มีลักษณะตั้งตรง โดยลำต้นมีลักษณะทรงกลม ผิวเรียบเกลี้ยง สีเขียวอ่อนในต้นเกิดใหม่ สีเขียวเข้มในต้นแก่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-10 มิลลิเมตร สูงได้ตั้งแต่ 80-200 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน
ใบ
ใบกกกลม เป็นในเลี้ยงเดี่ยวแทงออกที่บริเวณโคนต้น มีลักษณะเป็นใบลดรูปที่เรียกว่ากาบใบ ส่วนใบอีกชนิดจะออกเรียงกันเป็นวงกลมบริเวณปลายของลำต้น ก่อนส่วนถัดไปจะเป็นช่อดอก เรียกว่า ใบประดับ จำนวนใบประดับที่แทงออก 10-16 ใบ ตัวใบมีรูปหอกเรียวยาว ปลายใบแหลม ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ซึ่งจะสั้นกว่าช่อดอก และมีลักษณะสั้น และเล็กกว่ากกลังกา
ดอก
ดอกกกกลมออกเป็นช่อ แทงออกที่บริเวณปลายลำต้นเหนือดิน มีลักษณะเป็นช่อดอกใหญ่ และช่อดอกย่อย ตัวดอกประกอบด้วยดอกขนาดเล็กจำนวนมาก โดยจัดเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ และไม่สมบูรณ์เพศ แต่ดอกส่วนมากจะเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ดอกแต่ละดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงหรือกลีบดอกที่มีลักษณะเป็นขน ถัดมาด้านในเป็นเกสรตัวผู้ที่มีประมาณ 2-6 อัน แต่ส่วนมากจะพบประมาณ 3 อัน และมีเกสรตัวเมีย 1 อัน โดยปลายเกสรจะแยกออกเป็นแฉก 2-3 แฉก
ผล
ผล เป็นผลแห้ง มีลักษณะทรงกลมขนาดเล็ก
ประโยชน์กกกลม
1. กกกลมนิยมเก็บมาใช้สำหรับการประดิษฐ์หรืองานหัตถกรรมต่างๆ อาทิ ตะกร้า กระเป๋า และโดยที่นิยมมากที่สุด คือ การใช้สำหรับการทอเสื่อ
2. ลำต้นกกกลมทุกส่วนนำมาต้มเหยื่อสำหรับผลิตกระดาษ อาทิ กระดาษสา
3. ทางด้านสิ่งแวดล้อม กกกลมถูกนำมาปลูกเป็นพืชชุ่มน้ำสำหรับทำหน้าที่บำบัดน้ำเสีย โดยเฉพาะระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ร่วมกับพืชน้ำชนิดอื่นๆ
สรรพคุณกกกลม
เหง้า และราก (นำมาต้มดื่ม)
– ช่วยแก้พิษต่างๆ
– ช่วยขับน้ำดี
– ช่วยแก้ซ้ำใน
– ช่วยแก้เสมหะ ช่วยแก้ธาตุพิการ ช่วยบำรุงธาตุ
– ช่วยการย่อยอาหาร
ใบ และลำต้น (นำมาต้มดื่ม)
– ช่วยขับพิษ
– แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง
– ใช้ตำพอกแผล ช่วยห้ามเลือด แก้บาดแผลติดเชื้อ
การปลูกกกกลม
นิยมปลูกเป็นไม้ใช้สอย หรือไม้ประดับ ขึ้น และเติบโตได้ดีในสภาพน้ำขังตื้นๆ 5-20 เซนติเมตร ไม่ชอบน้ำขังลึก และดินมีลักษณะเป็นโคลนตม สามารถเติบโตได้ทั้งในแหล่งน้ำจืด และน้ำกร่อย
ขั้นตอนแรกในการปลูกกกกลม คือ การไถพรวนแปลง และกำจัดวัชพืชอื่นๆออกให้หมด ซึ่งจะทำการไถในช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีน้ำขัง หรือ หากมีน้ำขังจะใช้วิธีการสูบหรือระบายน้ำออกก่อน จากนั้นปล่อยให้แห้ง หรือ หากมีน้ำขังไม่สามารถระบายน้ำได้ก็ให้ไถพรวนได้เช่นกัน
ขั้นต่อมา คือ การเตรียมหน่อพันธุ์ โดยการขุดแยกหน่อพันธุ์จากแปลงอื่นเตรียมไว้ โดยการขุด และตัดแง่งหรือเหง้าให้มีหน่อหรือต้นติดมาด้วย แยกแบ่งแง่งหรือเหง้าที่มีต้นติดมาด้วย 1 ต้น โดยตัดลำต้นให้มีความสูง 5-10 เซนติเมตร หากปลูกลงบนโคลนตม หรือ ให้สูงกว่าหรือเหนือกว่าระดับน้ำในแปลงปลูก
ในขั้นตอนการปลูก ให้นำเหง้าหรือปักลงบนแปลง หากเป็นแปลงแห้งให้กลบถม หากเป็นแปลงดินโคลนให้ปักลงโคลน ในระยะห่าง 15-25 เซนติเมตร/กอหรือหลุม หรือมากกว่า
การดูแล หลังจากปลูกได้ประมาณ 1-2 เดือน ให้เข้ากำจัดวัชพืช ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณวัชพืชที่ขึ้นปะปน อาทิ หญ้าหวาย และหญ้าอื่นๆ
ส่วนการใส่ปุ๋ย โดยเกษตรกรทั่วไปจะไม่นิยมใส่ เพียงให้เติบโตตามธรรมชาติ แต่หากต้องการใส่ควรเน้นไปที่ปุ๋ยยูเรียหรือเลขหน้าธาตุปุ๋ยเป็นหลัก เช่น สูตร 24-12-12
การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวต้นกกลม นิยมเก็บในระยะออกดอก ซึ่งเป็นระยะที่ต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว
ขอบคุณภาพจาก naewna.com/
เอกสารอ้างอิง
[1] วัชรพงษ์ วาระรัมย์. 2557. การบำบัดฟอร์มัลดีไฮด์ในน้ำเสียสังเคราะห์ โดยการดูดซับ-
ด้วยถ่านกกกลมและถ่านธูปฤาษีร่วมกับระบบ-
หญ้ากรองน้ำเสียและระบบพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม.