หญ้าโขย่ง ประโยชน์ ข้อเสีย และวิธีกำจัดหญ้าโขย่ง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หญ้าโขย่ง (Itchgrass) จัดเป็นวัชพืชที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงชนิดหนึ่งในบรรดาวัชพืชรุนแรง 1 ใน 18 ชนิด ของโลก มีการเติบโต และแข่งขันกับพืชอื่นได้ดี โดยเฉพาะในพื้นที่แปลงไร่ ทำให้พืชไร่เติบโตช้า ลำต้นแคระแกร็น ผลิตลดลงอย่างมาก

• วงศ์ : Poaceae หรือ Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rottboellia cochinchinensis (Lour.) W. Clayton
• ชื่อสามัญ :
– Itchgrass
– Corngrass
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าโขย่ง
– หญ้าถอดปล้อง
– หญ้าโป่งคาย

ที่มา : [2]

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
หญ้าโขย่ง มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบแพร่กระจายทั่วไปตั้งแต่เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นมาจนถึง 6,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าโขย่ง เป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 1.5-2 เมตร และอาจสูงได้ถึง 4 เมตร ลำต้นแตกหน่อเติบโตรวมกันเป็นกอใหญ่ แต่มีทรงกุ่มของกอค่อนข้างโปร่ง ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง ข้อปล้องใกล้โคนต้นแตกแขนงเป็นกิ่งได้ บริเวณข้อถูกหุ้มด้วยกาบใบ สีขาวอมชมพู ส่วนระบบรากมีเฉพาะรากฝอย แตกออกเป็นกระจุกที่โคนต้น และเกิดรากอากาศบริเวณข้อลำต้นด้านล่าง

ใบ
ใบหญ้าโขย่ง ออกเป็นใบเดี่ยวบริเวณข้อปล้อง เรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น ประกอบด้วยกาบใบหุ้มตั้งแต่ข้อของลำต้น มีสีขาวแกมมีแถบสีชมพูประ และมีขนแข็งปกคลุม ใบมีก้านใบสั้นๆ ส่วนแผ่นใบมีลักษณะเรียวยาว ประมาณ 20-60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ใบอ่อนมีลักษณะม้วนงอ มีเยื่อกันน้ำฝนสั้นๆ และไม่มีหูใบ แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีขาวขนาดใหญ่ชัดเจน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ขอบใบหยาบ และเป็นคม

ดอก
หญ้าโขย่งออกดอกเป็นช่อแขนง ช่อดอกแทงออกปลายยอดของลำต้น หรือตามยอดของแขนงย่อย หรือออกตามซอกใบของลำต้น มีก้านช่อดอกยาว 10-25 เซนติเมตร ก้านของ spike หนา และมีลักษณะเป็นข้อปล้อง มี spikelet อยู่เป็นคู่ๆ อันหนึ่งไม่มีก้าน อีกอันหนึ่งมีก้าน เชื่อมติดอยู่กับก้านใหญ่ แต่ละ spikelet ประกอบด้วยดอกย่อย 2 ดอก โดย spikelet ที่มีก้านจะเป็นดอกตัวผู้ ส่วน spikelet ที่ไม่มีก้านจะเป็นดอกตัวผู้ 1 ดอก และดอกสมบูรณ์เพศ 1 ดอก

เมล็ด
เมื่อดอกมีการผสมเกสร และเจริญเป็นเมล็ด เมื่อเมล็ดแก่ ก้านช่อดอกจะเริ่มหักออกจากกันเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร แต่ละท่อนจะมีเมล็ดที่เจริญเต็มที่พร้อมงอกเป็นต้นใหม่ เมล็ดมีเปลือกหุ้มบาง และมีกลีบรองดอกแข็งหุ้มไว้อีกที ใน 1 ช่อดอก จะมีเมล็ดประมาณ 9-34 เมล็ด และใน 1 ต้น จะมีเมล็ดประมาณ 2,200-16,500 เมล็ด และในพื้นที่ 1 ตารางเมตร หญ้าโขย่งจะผลิตเมล็ดได้ประมาณ 13,000-28,000 เมล็ด [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ, [3] อ้างถึงใน Schwerzel (1970)

ลักษณะการเติบโต
1. หญ้าโขย่งมีการออกดอกแบบไวต่อช่วงแสง ซึ่งจะออกดอกในช่วงแสงที่สั้นกว่า 13 ชั่วโมง เมล็ดหญ้าโขย่งที่แก่จะร่วงเริ่มร่วงจากด้านบนของช่อลงมาโคนช่อดอก
2. หญ้าโขย่งออกดอกได้ประมาณ 4-5 สัปดาห์ หลังเมล็ดงอก
3. การร่วงของเมล็ดจะเกิดขึ้นหลังช่อดอกโผล่พ้นกาบใบแล้ว 2-3 วัน
4. เมล็ดหญ้าโขย่งสามารถงอกได้ 2-3 วันหลังปลูก และแตกใบแรกหลังวันที่ 1 ของการงอก และประมาณวันที่ 14 หลังการงอก จะแตกใบได้ประมาณ 5 ใบ ส่วนลำต้นจะแตกหน่อหรือแตกแขนงได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังการงอก และแตกแขนงเรื่อยจนถึงอายุประมาณ 10 สัปดาห์
5. หญ้าโขย่งจะเริ่มแตกหน่อหรือแตกกอ เมื่ออายุประมาณ 2-8 สัปดาห์
6. ลำต้นจะเติบโตอย่างรวดเร็ว และแทงลำต้นสูงสุดในช่วงอายุ 12 สัปดาห์แรก จากนั้น ความสูงจะค่อยลดลง เพราะปลายกิ่งโน้มลง และบางกิ่งแห้งตาย

ประโยชน์หญ้าโขย่ง
1. หญ้าโขย่งใช้ปลูกเป็นพืชคลุมดิน ป้องกันหน้าดินถูกชะพังทะลาย
2. หญ้าโขย่งใช้ปลูกแนวแบ่งเขตไร่นา
3. หญ้าโขย่งใช้ปลูกเป็นรั้วป้องกันสัตว์ และปลูกเป็นแนวป้องกันลม

ข้อเสียหญ้าโขย่ง
1. เมล็ดหญ้าโขย่งสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝน หากได้รับความชื้นเพียงพอ โดยเมล็ดหญ้าโขย่งมีเวลาการพักตัวยาวนานกว่า 10-12 เดือน และเมล็ดคงอยู่ในดินได้นานกว่า 3 ปี และคงอยู่ได้ ถึงแม้จะถูกฝังในดินลึกกว่า 45 เซนติเมตร ทำให้แพร่ระบาดได้ง่าย และกำจัดได้ยาก [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
2. หญ้าโขย่ง เป็นวัชพืชที่เติบโตได้รวดเร็ว และแข่งขันกับพืชอื่นๆได้ดีกว่า ทำให้ขึ้นปกคลุมพืชอื่นได้รวดเร็วมาก พื้นที่ที่มีหญ้าโขย่งเติบโต พืชชนิดอื่นจะขึ้นได้ยาก หากเติบโตในไร่จะทำให้พืชไร่เสียหาย ลำต้นไม่เติบโต ผลผลิตลดลงมาก
3. ขอบใบหญ้าโขย่งมีความคม สามารถทำให้เกิดบาดแผลได้ นอกจากนั้น ขนที่ปกคลุมตามก้านใบ และแผ่นใบทำให้เกิดอาการแพ้ เป็นผื่นคันได้

วิธีกำจัดหญ้าโขย่ง
1. ไถพรวนดินในฤดูแล้ง และพอถึงต้นฤดูฝนให้ปล่อยเมล็ดหญ้างอก 3-5 วัน ก่อนไถกลบ
2. ตัดหรือถอนต้นหญ้าโขย่งตากแดดในระยะก่อนออกดอก
3. ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดวัชพืช ชนิดใบแคบ

ขอบคุณภาพจาก chaleeprom.com/, karaoke-soft.com

เอกสารอ้างอิง
[1] สุญญตา เมฆสวัสดิ์, 2551, การจัดการวัชพืชโดยใช้กิจกรรม-
ทางอัลลิโลพาธีของหญ้าโขย่ง.
[2] รังสิต สุวรรณเขตนิคม และสดใส ช่างสลัก, 2543, การควบคุมหญ้าโขย่ง (Rottboellia cochinchinensis)-
ในข้าวโพดด้วย Primisulfuron.
[3] นรุณ วรามิตร , 2541, การใช้ Nicosulfuron ควบคุมหญ้าโขย่ง-
(Rottboellia cochinchinensis) ในข้าวโพด.