แมลงตัวห้ำชนิดต่างๆ

Last Updated on 12 พฤศจิกายน 2016 by puechkaset

แมลงตัวห้ำ คือ แมลงชนิดที่กินแมลงต่างๆในธรรมชาติเป็นอาหาร มีลักษณะที่เป็นความจำเพาะของตัวห้ำ คือ
1. มักมีขนาดใหญ่กว่า หรือมีความเร็ว ความแข็งแรงกว่าเหยื่อ
2. ชอบกินแมลงหรือตัวอ่อนแมลงเป็นอาหาร
3. สามารถกินเหยื่อได้หลายชนิดหรือหลายตัวในวันหนึ่งๆ
4. มักอาศัยอยู่บนที่สูงกว่าเหยื่อ
5. มักไม่ทำลายหรือกินพืชเป็นอาหาร

แมลงตัวห้ำ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
1. ชนิดที่มีความว่องไวในการล่าเหยื่อ มักเป็นแมลงขนาดใหญ่กว่าเยื่อมาก ชอบอาศัยในที่สูง และออกหากินได้ไกล และหลายที่ในช่วงวันหนึ่งๆ มีอวัยวะที่มีความพิเศษในการล่าเหยื่อ เช่น ตั๊กแตนตำข้าว ที่มีสายตาว่องไว และมีขายื่นยาว ว่องไวในการล่าเหยื่อ
2. ชนิดที่ล่าเหยื่ออยู่กับที่ เคลื่อนไหวช้า มีลักษณะขนาดเล็กกว่าชนิดแรกมาก ชอบกินล่าเหยื่อชนิดที่ไม่เคลื่อนไหว เคลื่อนไหวช้า และเป็นไขหรือตัวอ่อนของแมลง เช่น ด้วงเต่าลายที่ชอบกินเพลี้ยอ่อน

ลักษณะการกิน และการล่าเหยื่อของแมลงตัวห้ำมีทั้งประเภทที่กินเหยื่อทั้งตัวด้วยการแยกเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วค่อยกัดกินเหยื่อ เช่น แมลงปอ และชนิดที่ใช้ปากแทงดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อ เช่น มวนเพชฌฆาต บางชนิดถือเป็นแมลงตัวห้ำตั้งแต่เป็นตัวอ่อน เช่น ด้วงดิน แต่บางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะในช่วงการเป็นตัวอ่อน เมื่อตัวเต็มวัยจะกินอาหารชนิดอื่น เช่น แมลงวันดอกไม้ นอกจากนี้บางชนิดจะเป็นตัวห้ำเฉพาะเมื่อโตเต็มวัย เช่น แมลงวันหัวบุบ

ตัวอย่างแมลงตัวห้ำ

แมลงตัวห้ำที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ได้แก่ ตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตน ต่อ แตนชนิดต่างๆ แมลงปอ มวนเพชฌฆาต ด้วงดิน ด้วงเต่า ด้วงเสือ ด้วงก้นกระดก แมลงวันหัวบุบ แมลงวันดอกไม้ มด เป็นต้น

มวนเพชรฆาต
แมลงชนิดนี้ ชอบกินตัวหนอน และตัวเต็มวัยของแมลงชนิดต่างๆ เช่น หนอนกระทู้ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนผีเสื้อข้าวสาร มวนเขียว เพลี้ยจั็กจั่น เป็นต้น ถือเป็นแมลงที่มีประโยชน์ในแปลงผัก แปลงพืชไร่ และสวนผลไม้

มวนเพชรฆาต

ด้วงเต่า
ด้วงเต่ามีมากกว่า 10 สายพันธุ์ ทั้งประเภทลายหยัก ลายจุดหรือสีพื้น เช่น สีส้ม สีแดง สีดำ มักเป็นแมลงที่มีอายุนานถึง 3 เดือน ชอบจับกินตัวอ่อน และตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไก่แจ้ ไรกินพืช และไข่แมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ โดยสามารถกินเพลี้ยอ่อนได้ถึง 40 ตัว/ชั่วโมง เลยทีเดียว นอกจากนั้น หากเพลี้ยมีน้อยหรือหากินยาก ด้วงเต่าสามารถหาอาหารอื่นๆแทนได้ เช่น น้ำหวานจากตัวแมลง น้ำหวานจากดอกไม้

มวนเขียวดูดไข่
เป็นแมลงที่ชอบกินไข่ของเพลี้ยกระโดด และเพลี้ยจั๊กจั่น ทำให้ไข่แฟบ และเป็นศัตรูที่สำคัญของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

มวนจิงโจ้น้ำ
เป็นแมลงที่ชอบกินเพลี้ยกระโดด และเพลี้ยจั๊กจั่น และแมลงขนาดเล็กที่ตกลงบนผิวน้ำ เหมาะสำหรับแปลงเกษตรที่มีน้ำขัง เช่น นาข้าว การปลูกบัว เป็นต้น

มวนจิงโจ้น้ำกลาง
เป็๋นแมลงที่มีลักษณะสีเขียว มีลำตัวขนาดใหญ่กว่ามวนจิงโจ้น้ำ ตัวเต็มวัย และตัวอ่อน จะกินหนอนกอข้าว เพลี้ยกระโดด และเพลี้ยจั๊กจั่นที่ตกลงน้ำเป็นอาหาร

ด้วงดิน
เป็นแมลงที่อาศัยตามโคนต้นไม้ และหน้าดินที่ชื้น ชอบกินหนอน และเพลี้ยชนิดต่างๆ

แมงมุม
เป็นสัตว์จำพวกแมง มักพบมาในพื้นที่ต่างๆ ชอบกินเพลี้ยจั๊กจั่น เพลี้ยกระโดด ผีเสื้อหนอนกอข้าว หนอนห่อใบข้าว หนอนแมลงวันข้าว ไร และแมลงศัตรูพืชเกือบทุกชนิด การล่าเหยื่อมักพบการสร้างใยแมงมุมขึงตามต้นไม้ นาข้าว หรือตามกิ่งไม้ขนาดเล็กเพื่อดักจับแมลงที่บินผ่าน แล้วดูดกินของเหลวภายในตัวเหยื่อ

แมลงช้างปีกใส
เป็นแมลงที่ในระยะตัวอ่อนสามารถช่วยทำลายแมลงศัตรูพืชขนาดเล็กได้หลายชนิดมากกว่า 60 ตัว/ชั่วโมง เช่น ไข่ผีเสื้อกลางคืน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยหอย และหนอนผีเสื้อขนาดเล็กต่างๆ เช่น หนอนคืบกระหล่ำปลี

มวนพิฆาต
เป็นแมลงที่วางไขเป็นกลุ่ม ลักษณะไข่สีทอง ตัวอ่อนมี 5 วัย ในระยะการเจริญเติบโต และเมื่อตัวเต็มวัยจะมีหนามแหลมยื่นออกมา เป็นแมลงที่ชอบกินหนอนผีเสื้อ หนอนด้วงที่ทำลายใบ และหยอดอ่อนของผลไม้ การกินเหยื่อจะใช้วิธีการดูดกินของเหลวภายในตัวแมลง

แมลงปอ
เป็นแมลงที่ชอบกินเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั้๊กจั่น และแมลงขนาดเล็กที่บินตามท้องฟ้าหรือเหนือยอดหญ้า เช่น ผีเสื้อ หนอนห่อใบ

ด้วงก้นกระดก
เป็นแมลงที่มีความว่องไวในการล่าเหยื่อ ชอบกินเพลี้ยกระโดดเป็นอาหาร

มดคันไฟ
มักพบอาศัยทำรังตามพื้นดิน ชอบจับกินแมลงชนิดต่างๆ รวมถึงสัตว์ขนาดเล็ก และไข่ของแมลงอีกด้วย

ตั๊กแตน
เป็นแมลงขนาดใหญ่ ชอบกินเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจั๊กกระจั่น ไข้ผีเสื้อ หนอนกอข้าว นอกจากนั้นบางชนิดชอบกินใบอ่อนของหญ้าที่เป็นวัชพืชได้อีกด้วย