มะม่วงอกร่อง ประโยชน์ สรรพคุณ และการปลูกมะม่วงอกร่อง

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

มะม่วงอกร่อง (okrong) เป็นมะม่วงพันธุ์ท้องถิ่นของไทย พบปลูกมากในทุกครัวเรือนเพื่อรับประทานผลสุก ที่ให้รสหวานจัด หวานมากกว่ามะม่วงทุกชนิด และใช้ผลดิบสำหรับประกอบอาหาร อาทิ ข้าวคลุกกะปิ น้ำพริกมะม่วง และเมนูยำต่างๆ

• วงศ์ : Anacardiaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera indica Linn.
• ชื่อสามัญ : Mango (okrong)
• ชื่อท้องถิ่น : มะม่วงอกร่อง

ชื่อที่เรียก มะม่วงอกร่อง เนื่องจาก พันธุ์ดั้งเดิม ผลบริเวณด้านหน้าผลที่เปรียบเหมือนอกจะมีร่องตื้นๆเป็นแนวยาวตั้งแต่บริเวณส่วนโค้งนูนจนถึงส่วนเว้าด้านล่าง

%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย

มะม่วงอกร่อง เป็นมะม่วงท้องถิ่นในไทยที่พบได้ในทุกภาค พบมากในภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ส่วนมากพบปลูกตามหัวไร่ปลายนา และปลูกเพื่อการค้าในแปลงใหญ่บ้าง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
มะม่วงอกร่อง เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 15-25 ปี ลำต้นเพลาตรง สูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งหลัก และกิ่งแขนงมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนาทึบ เปลือกลำต้นสีเทาอมดำ

ใบ
มะม่วงอกร่อง ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับบนปลายกิ่งแขนง ใบมีรูปหอก โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวเข้ม ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร

ดอก
มะม่วงอกร่อง ออกดอกเป็นช่อแขนงที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อแขนงมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และกลีบดอก 5 กลีบ ทั้งนี้ ดอกมะม่วงอกร่องมีดอกสมบูรณ์เพศจำนวนมาก ทำให้มะม่วงอกร่องติดผลดก และติดผลได้มากกว่ามะม่วงพันธุ์อื่นๆ

ผล และเมล็ด
ผลมะม่วงอกร่อง มีรูปไข่ อวบใหญ่ และค่อนข้างแบนเล็กน้อย ส่วนบนบริเวณขั้วมีขนาดใหญ่ ด้านหน้าผลโค้งนูน และค่อยเล็กคอดลงทางปลายผลด้านล่าง โดยพันธุ์ดั้งเดิมจะมีร่องตื้นในแนวตั้งตรงกลางบริเวณด้านหน้าผล ขนาดผลกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-10เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อนหรือหรือเขียวอมเหลือง ผลสุกมีสีเหลืองครีมหรือเหลืองอมส้ม เปลือกผลค่อนข้างบาง ส่งกลิ่นหอมแรง และหอมมากกว่ามะม่วงพันธุ์อื่นๆ ส่วนเนื้อผลมีสีเหลืองอมขาวหรือเหลืองครีม เนื้อผลละเอียด ฉ่ำด้วยน้ำหวาน มีเสี้ยนที่ติดจากส่วนเมล็ดเล็กน้อย มีกลิ่นหอม และมีรสหวานจัดมากกว่ามะม่วงทุกสายพันธุ์ ส่วนเมล็ดมีลักษณะคล้ายผลด้านนอก คล้ายรูปไต มีลักษณะแบน ส่วนขั้วเมล็ดใหญ่ และหนา ซึ่งภายในเป็นคัพภะ และเล็กลงด้านล่าง เปลือกเมล็ดมีสีขาวขุ่น มีเส้นใยหุ้ม

%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87

ลักษณะเด่นของผลมะม่วงอกร่อง
1. ลำต้นเพลาตรง สูงปานกลาง แตกทรงพุ่มหนาทึบเป็นรูปฉัตร
2. ผลมีรูปไข่ ผลส่วนบนใหญ่ และคอดเล็กลงด้านล่างได้สมส่วน
3. เปลือกผลค่อนข้างบาง ผลสุกมีสีเหลืองครีมหรือเหลืองอมส้ม
4. เนื้อผลมีสีเหลืองอมขาวหรือเหลืองครีม เนื้อนุ่ม ฉ่ำด้วยน้ำหวาน
5. เมล็ดมีเสี้ยนติด แทรกเข้ามาในเนื้อผล
6. มีรสหวานมากกว่ามะม่วงทุกชนิด แม้ผลดิบที่ยังไม่แก่มาก หากนำมาบ่มก็ยังให้รสหวานจัดได้

พันธุ์มะม่วงอกร่อง

1. อกร่องเขียว
มะม่วงอกร่องเขียว เป็นมะม่วงอกร่องพันธุ์ดั้งเดิม ผลดิบมีสีเขียวอ่อน และมีนวล เนื้อผลมีสีขาว มีรสเปรี้ยวจัด ผลแก่หรือผลห่ามมีรสเปรี้ยวอมหวาน ผลสุกมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีม เนื้อผลมีสีเหลืองอ่อนหรือสีครีมเช่นกัน มีเสี้ยนเล็กน้อย มีรสหวานมาก และมากกว่ามะม่วงทุกชนิด

%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a7

2. อกร่องทอง
มะม่วงอกร่องทอง เป็นมะม่วงอกร่องที่กลายพันธุ์มาจากอกร่องเขียว แต่มีลักษณะคล้ายกับอกร่องเขียว แตกต่างจากอกร่องเขียวที่ขนาดผลใหญ่กว่า และผลดิบมีสีเขียวอ่อน เนื้อผลมีสีขาว มีรสเปรี้ยวจัด ผลแก่มีรสเปรี้ยวอมหวาน ผลสุกมีสีเหลืองทองหรือเหลืองอมส้ม เนื้อผลละเอียด สีเหลืองอ่อนหรือสีครีม มีเสี้ยนเล็กน้อย มีรสหวานมาก และหวานมากกว่ามะม่วงทุกชนิด

%e0%b8%a1%e0%b8%b0%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%a7%e0%b8%87%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%87

นอกจากนี้ ยังมีอกร่องพันธุ์ต่างๆที่มีการตั้งชื่อขึ้นเรียก ได้แก่
1. อกร่องกะทิ (Okrong Kati)
2. อกร่องขาว (Okrong Khao)
3. อกร่องทองดำกลายพันธุ์ (Okrong Thongdamklaiphan)
4. อกร่องไทรโยก (Okrong Saiyok)
5. อกร่องพิกุลทอง (Okrong Phikunthong)
6. อกร่องภรณ์ทิพย์ (Okrong Phonthip)
7. อกร่องมัน (Okrong Man)
8. อกร่องหอมทอง (Okrong Homthong)

ประโยชน์มะม่วงอกร่อง

1. มะม่วงอกร่องสุก มีรสหวานจัด ซึ่งให้รสหวานมากกว่ามะม่วงทุกชนิด จึงนิยมรับประทานผลสุกเป็นหลัก
2. มะม่วงอกร่องสุก นิยมใช้ทำข้าวเหนียวมะม่วง รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น อาทิ ไวน์มะม่วง และมะม่วงกวน เป็นต้น
3. มะม่วงอกร่องดิบ ใช้รับประทานเป็นผลไม้เปรี้ยว จิ้มพริกเกลือหรือน้ำปลาหวาน รวมถึงในทำอาหารหลายชนิด อาทิ ข้าวคลุกกะปิ น้ำพริก และใส่ในยำต่างๆ
5. ก้านยอด และยอดอ่อนให้รสเปรี้ยว ใช้รับประทานสดคู่กับน้ำพริก ลาบ หรือซุปหน่อไม้
6. เปลือกลำต้น ถากเอาเฉพาะเปลือกด้านในนำมาต้มย้อมผ้า ให้เนื้อผ้าสีน้ำตาล
7. เนื้อไม้จากลำต้นที่มีขนาดใหญ่ นำมาเลื่อยแปรรูปเป็นไม้แผ่นปูบ้าน ไม้แผ่นฝ้า วงกบ รวมถึงแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ต่างๆ

คุณค่าทางโภชนาการมะม่วงอกร่องสุก (100 กรัม)

Proximates
น้ำ กรัม 80.1
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 79
โปรตีน กรัม 0.9
ไขมัน กรัม 0.2
คาร์โบไฮเดรต กรัม 18.3
เส้นใย กรัม 1.1
เถ้า กรัม 0.5
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 29
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 19
เหล็ก มิลลิกรัม 0.2
Vitamins
เรตินอล ไมโครกรัม
เบต้า แคโรทีน ไมโครกรัม 59
วิตามิน A, RE RE 10
วิตามิน E มิลลิกรัม
ไทอะมีน มิลลิกรัม 0.04
ไรโบฟลาวิน มิลลิกรัม 0.05
ไนอะซีน มิลลิกรัม 1.1
วิตามิน C มิลลิกรัม 13

ที่มา : (1) กองโภชนาการ (2544)

สรรพคุณมะม่วงอกร่อง

– ป้องกันโรคหัวใจ
– ป้องกันโรคมะเร็ง
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด
– ช่วยลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด
– กระตุ้นการทำงานของลำไส้
– ช่วยบรรเทาอาการไอ
– ช่วยละลายเสมหะ แก้อาการเจ็บคอ
– แก้อาการวิงเวียนศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน
– ช่วยบำรุงเลือดลมสตรีเป็นปกติ

ที่มา : (2), ((3) อ้างถึงกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร, 2550)

การปลูกมะม่วงอกร่อง

มะม่วงอกร่อง เป็นที่นิยมปลูกในทุกครัวเรือน ส่วนมากปลูกเพื่อรับประทานเอง ทั้งในพื้นที่ว่างของบ้าน และตามหัวไร่ปลายนา แต่ก็พบการปลูกในแปลงใหญ่เพื่อการค้าบ้าง

ลักษณะเด่นมะม่วงอกร่อง
1. ติดผลดก มีอายุยืนยาว
2. ทนแล้งได้ดี
3. เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน
4. โตเร็ว
5. ทนต่อโรค และแมลง

ลักษณะด้อยมะม่วงอกร่อง
1. ต้นที่ปลูกจากเมล็ดมีความสูงมาก แตกทรงพุ่มใหญ่
2. ผลสุกมีเสี้ยนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับมะม่วงชนิดอื่น
3. เปลือกผลสุกบาง ทำให้ซ้ำง่ายเวลาขนส่ง

รูปแบบการปลูกมะม่วงอกร่อง
1. การปลูกเพื่อรับประทานเอง
การปลุกมะม่วงอกร่องรูปแบบนี้ พบได้ทั่วไปในทุกภาค มีวัตถุประสงค์เพื่อรับประทานผล และให้ร่มเงาเป็นหลัก โดยมักปลูกตามบ้าน และหัวไร่ปลายนาเพียงไม่กี่ต้น ทั้งใช้ต้นพันธุ์จากการเพาะเมล็ดหรือต้นพันธุ์จากการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด เกษตรกรมักปลูกในต้นฤดูฝน หลังปลูกปล่อยให้เติบโคตามธรรมชาติ ไม่ต้องการดูแลมาก เพียงทำไม้ปักล้อมสำหรับป้องกันสัตว์แทะเล็มก็เพียงพอ

2. การปลูกในแปลงใหญ่เพื่อจำหน่าย
การปลูกรูปแบบนี้ เป็นการปลูกเพื่อการค้าในแปลงใหญ่ จำนวนหลายสิบต้นขึ้นไป มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจำหน่ายผลดิบหรือผลสุกเป็นหลัก โดยเกษตรกรมักปลูกด้วยต้นพันธุ์จาการตอนกิ่งหรือการเสียบยอด เพราะสามารถให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด

การเตรียมแปลงปลูก และหลุมปลูก
– ไถพรวนแปลง 1-2 รอบ แต่ละรอบตากดิน 5-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด
– ขุดหลุมปลูก กว้าง ลึก ประมาณ 50 x 50 เซนติเมตร
– ระยะห่างระหว่างหลุม และแถว สำหรับต้นจากการเพาะเมล็ดที่ 8-10 x 8-10 เมตร สำหรับต้นจากการตอนหรือเสียยอดที่ 6-8 x 6-8 เมตร
– ตากหลุมไว้นาน 3-5 วัน

การปลูก
– ปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
– โรยก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก 3-5 กำมือ/หลุม
– โรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ/หลุม
– เกลี่ยหน้าดินด้านบนลงคลุกผสม
– ฉีกถุงเพาะชำออก ก่อนนำต้นลงปลูก พร้อมนำหน้าดินลงกลบ
– ใช้ไม้ไผ่ปักข้างลำต้น พร้อมรัดลำต้นกับลำไม้ใช้พอหลวมๆ

การให้น้ำ
หลังการปลูกในช่วงแรก หากฝนทิ้งช่วงหลายวัน จำเป็นต้องให้น้ำ ประมาณวันละครั้ง จากนั้น ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ พอเข้าหน้าแล้งค่อยให้น้ำอีกครั้ง วันละ 1 ครั้ง จนต้นมีอายุได้ประมาณ 3 ปี ค่อยปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ แต่จำเป็นต้องให้น้ำเพิ่มในช่วงการปล่อยติดผล

การใส่ปุ๋ย
– หลังการปลูกในระยะ 1-3 ปีแรก ก่อนปล่อยติดผล ให้ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมีรอบโคนต้น ปีละ 2 ครั้ง อัตราปุ๋ยคอก 4-6 กำมือ/ต้น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 ปริมาณ 1 กำมือ/ต้น
– ช่วงการติดผลในปีที่ 3-4 เป็นต้นไป ให้ใส่ 2 ระยะ คือ ระยะก่อนหรือในช่วงออกดอก ด้วยปุ๋ยคอกในอัตราเดียวกันกับ 1-3 ปี ส่วนปุ๋ยเคมีเปลี่ยนเป็นสูตร 10-10-20 และระยะหลังเก็บผล ด้วยปุ๋ย และอัตราเดียวกันกับ 1-3 ปี

การตัดดอก
การปลูกในแปลงใหญ่ด้วยต้นพันธุ์การตอนหรือการเสียบยอด หลังการปลูก 1-3 ปีแรก จำเป็นต้องปล่อยให้ต้นเติบโต และแตกกิ่งจำนวนมากก่อน ซึ่งจำเป็นต้องเด็ดดอกที่ออกทิ้ง หรืออาจปล่อยให้ติดผลเพียงเล็กน้อยเพื่อรับประทาน จากนั้น ในปีที่ 3-4 ค่อยปล่อยให้ออกดอก และติดผลทั้งต้น

การเก็บผลผลิต
มะม่วงอกร่องมีอายุพร้อมเก็บผลประมาณ 110-120 วัน หลังติดผล ทั้งนี้ควรเก็บผลในระยะผลแก่หรือผลห่าม ไม่ควรเก็บขณะที่ผลสุกบนต้น เพราะผลจะซ้ำง่าย มีอายุการเก็บน้อย

ขอบคุณภาพจาก Pantip.com/, kasetporpeang.com/

เอกสารอ้างอิง

(1) กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2544. ตารางแสดงคุณค่าทาง-
โภชนาการของอาหารไทย.
(2) ลำพอง แต้มครบุรี, 2548. การประเมินสายต้นมะม่วงแก้ว-
เพื่อการแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง-
และเนคต้ามะม่วง. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
(3) ลักษิกา คำศรี, 2554, การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไส้พาย-
มะม่วงอกร่อง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.