ถั่วหรั่ง (Bambara groundnut) สรรพคุณ และการปลูกถั่วหรั่ง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

ถั่วหรั่ง (Bambara groundnut) เป็นพืชตระกูลถั่วที่พบปลูกมากในภาคใต้ นิยมใช้เมล็ดถั่วประกอบอาหาร ทำขนมหวาน อาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว บดทำแป้ง และใช้เป็นอาหารสัตว์

• วงศ์ : Papilionaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Voandzeia subteranen (L.) Thou.
• ชื่อสามัญ :
– Bambara groundnut
– Congo goober, Earth pea, Baffin pea, Njugo bean (South Africa)
– Madagascar groundnut, Voandzou (Madagascar)
– Epi roui (Yuroba)
– Juijiya (Hausa, Nigeria)
– Nzama, Njama (Nalawi)
– Nlubu, Nyimo (Rhodesia)
– Njugu mawe (Swahili)
– Kachang Menila, Kachang poi, Nela-kadalai (Malaya)
– Kachang bogor (Java)
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ถั่วหรั่ง หรือ ถั่วเมล็ดเดียว (พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช)
– กาแปโจ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) เรียก
– ถั่วไทร หรือ ถั่วโบ (สงขลา)
– ถั่วปันหยี (ภูเก็ต พังงา และกระบี่)

ที่มา : [2], [3], [4] อ้างถึงใน (National Research Council, 1979)

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
ถั่วหรั่ง มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศ เขตร้อนชื้นของแอฟริกา ที่คาดว่าน่าจะอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย และคาเมรูน จากนั้น แพร่กระจายไปยังแอฟริกาใต้ อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย เอเชีย ส่วนประเทศไทยแพร่เข้าทางประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเข้ามาที่มาเลเซีย และเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ [1] อ้างถึง Duke และคณะ (1986) และปัจจุบันกลายเป็นถั่วเศรษฐกิจสำคัญชนิดหนึ่งในทางภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกมากในแถบจังหวัดสงขลา พัทลุง ปัตตานี เป็นต้น [1]

ชื่อสามัญ Bambara groundnut เป็นชื่อที่ตั้งมาจากชนเผ่า Bambara ที่พบอาศัยในประเทศมาลี แต่ไม่พบรายงานถั่วชนิดนี้ที่เป็นพันธุ์ป่าดั้งเดิมในประเทศมาลี ต่อมา Dalziel พบการกระจายของถั่วหรั่งพันธุ์ป่าดั้งเดิมบริเวณจังหวัด North Yola ของประเทศไนจีเรีย และเช่นเดียวกับ Ledermann พบการกระจายของถั่วหรั่งพันธุ์ป่าดั้งเดิมบริเวณตอนเหนือของประเทศคาเมรูน และการพบทั้ง 2 แห่ง ถูกยืนยันโดย Hepper ในปี 1957 ดังนั้น สรุปได้ว่า แหล่งกำเนิดของถั่วหรั่ง น่าจะอยู่บริเวณ Jos Plateau ในประเทศไนจีเรีย กับ Garoua ของทางตอนเหนือประเทศคาเมรูน [4] อ้างถึงใน (Goli, 1977)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้น
ถั่วหรั่ง เป็นพืชล้มลุกอายุฤดูเดียว มีลำต้น 2 แบบ ใน 2 ระยะ คือ ระยะแรกที่เป็นต้นอ่อนจะมีลำต้นแบบตั้งตรง และระยะต่อมาลำต้นเติบโต และยาวขึ้นจนโน้มลงเป็นแบบเถาเลื้อย ลำต้นมีลักษณะกลม และแบ่งเป็นข้อๆ ส่วนระบบรากถั่วหรั่งประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนงที่แตกออกมาจากรากแก้ว สำหรับพันธุ์ที่มีลำต้นเลื้อยจะมีรากอากาศที่แตกออกบริเวณข้อ

ใบ
ใบถั่วหรั่งเป็นใบประกอบออกบริเวณข้อของลำต้น ก้านใบหลักมีสีเหลือง ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ใบย่อยมี 3 ใบ แต่ละใบย่อยมีก้านใบยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนก้านใบมีหูใบ ใบย่อยแต่ละใบมีรูปหอกหรือรูปไข่ กว้างประมาณ 0.8 – 3.0 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5 – 7.5 เซนติเมตร ใบตรงกลางมีขนาดใหญ่สุด แผ่นใบเรียบ มีหลายสีตามสายพันธุ์ อาทิ ชมพู ม่วง และ ฟ้าอมเขียว

ดอก
ถั่วหรั่ง ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ อาจเกิดเป็นดอกเดี่ยวหรือเกิดเป็นช่อ 2-3 ดอก/ช่อ มีก้านดอกยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร ตัวดอกมีสีเหลือง กว้างประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.6 เซนติเมตร แต่ละดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน แบ่งเป็นกลีบนอกสุด 1 กลีบ กลีบตรงกลาง 2 กลีบ และกลีบด้านในสุดอีก 2 กลีบ ด้านในสุดมีเกสรตัวผู้ 10 อัน และตรงกลางเป็นเกสรตัวเมียที่มีรังไข่ด้านล่างสุด หลังผสมเกสรแล้ว ช่อดอกจะโค้งลงดิน

ฝัก
ถั่วหรั่ง มีลักษณะกลมรี กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.2 เซนติเมตร เปลือกฝักแยกออกเป็น 3 ชั้น ชั้นนอกและชั้นกลางเชื่อมติดกัน ส่วนชั้นในแยกออกต่างหาก ด้านในเป็นเมล็ด 1-2 เมล็ด แต่ส่วนใหญ่พบเพียง 1 เมล็ด ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร เมล็ดมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ อาทิ สีน้ำตาล สีครีม สีม่วง สีแดง หรือมีลายสีแดง [2]

ประโยชน์ถั่วหรั่ง
1. เมล็ดถั่วหรั่งนำมาต้มหรือเผาไฟรับประทาน หรือใช้ทำอาหารคาว และขนมหวาน และแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง มีรสชาติคล้ายถั่วลิสง
2. เมล็ดอ่อนถั่วหรั่งมีรสหวานกรอบใช้ทำอาหารได้หลายชนิด
2. เมล็ดถั่วหรั่งใช้บดแป้งดิบหรือนึ่งสุกบดเป็นแป้ง ใช้สำหรับทำขนมหวานต่างๆ
3. เมล็ดถั่วหรั่งแปรรูปซอสถั่วหรั่ง และถั่วเน่า เป็นต้น
4. เมล็ดถั่วหรั่งใช้เป็นอาหารสัตว์
5. ต้นถั่วหรั่งปลูกแซมกับพืชอื่นสำหรับเป็นพืชคลุมดิน และช่วยบำรุงดิน

คุณค่าทางโภชนาการเมล็ดถั่วหรั่ง (เมล็ด 100 กรัม)

  ถั่วหรั่งสด ถั่วหรั่งแห้ง
Proximates
– น้ำ กรัม 57.3 10.3
– พลังงาน กิโลแคลอรี่ 152 357
– โปรตีน กรัม 7.8 18.8
– ไขมัน กรัม 3.1 6.2
– คาร์โบไฮเดรต กรัม 30.0 61.3
– ใยอาหาร กรัม 3.0 4.8
– เถ้า กรัม 1.8 3.4
Minerals
– แคลเซียม มิลลิกรัม 14 62
– เหล็ก มิลลิกรัม 1.2 12.2
– ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 258 276

 

กรดอะมิโนในเมล็ดถั่วหรั่งแห้ง

ชนิดกรดอะมิโน ปริมาณ  (mg/g)
– Leucine 494-510
– Lysine 400-430
– Valine 331-340
– Phenylalanine 219-360
– Isoleucine 275-280
– Threonine 219-240
– Methionine 113-120
– Cysine 70-180

 

กรดไขมันในเมล็ดถั่วหรั่งแห้ง

ชนิดกรดไขมัน ปริมาณ  (%)
– Palmitic (C 16:0) 19.4
– Stearic (C 18:0) 11.8
– Oleic (C 18:1) 24.4
– Linoleic (C 18:2) 34.2
– Arachdic (C 20:0) 5.90
– Bchenic (C 22:0) 4.90

 

วิตามินในเมล็ดถั่วหรั่งแห้ง

ชนิดวิตามิน ปริมาณ  (mg/100g)
– B-carotene 0.10
– Thiamine 0.47
– Ribroflavin 0.14
– Niacin 1.8
– Ascorbic acid 0-8

 

ที่มา : [1] อ้างถึงใน members.thai.net/card8/pea/index-pea.htm

สรรพคุณถั่วหรั่ง
– ป้องกันโรคเบาหวาน
– ป้องกันโรคหัวใจ
– ป้องกันมะเร็งลำไส้

ที่มา : [1]

การปลูกถั่วหรั่ง
ถั่วหรั่งสามารถปลูก และเติบโตได้ในทุกจังหวัด แต่นิยมปลูกมากในภาคใต้ ถั่วหรั่งเติบโตได้ดีตั้งแต่เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นมาเล็กน้อยจนถึงระดับ 1520 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล เติบโตได้ดีในดินทราย ดินร่วนปนทราย ทนต่อดินเป็นกรดได้ดี ไม่ทนต่อดินเป็นด่าง และดินเค็ม อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-28 ºC ปริมาณน้ำฝนประมาณ 600-1200 มิลลิเมตร/ปี [1]

พันธุ์ถั่วหรั่ง
1. พันธุ์สงขลา 1
พันธุ์สงขลา 1 เป็นพันธุ์ที่ทนต่อสภาพแห้งแล้งไดดี มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ประมาณ 110-120 วัน หลังปลูก ดอกจะเริ่มบานเมื่ออายุประมาณ 38 วัน เมล็ดมีสีแดง ให้น้ำหนักต่อเมล็ดประมาณ 48.3 กรัม

2. พันธุ์พื้นเมือง
พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่ไม่ทนต่อโรคใบไหม้ มีอายุเก็บเกี่ยวนาน ประมาณ 150-180 วัน หลังปลูก ดอกจะเริ่มบานเมื่ออายุประมาณ 52 วัน เมล็ดมีสีเหลืองอมครีม ให้น้ำหนักต่อเมล็ดประมาณ 36.9 กรัม [1]

วิธีปลูก
– การปลูกนิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
– เตรียมดินด้วยการไถพรวนหน้าดิน พร้อมกำจัดวัชพืช ตากดินนาน 7-10 วัน
– หยอดเมล็ดลงหลุม ระยะห่างระหว่างแถว 1 เมตร ระยะห่างของหลุม 70 เซนติเมตร หลุมละ 1-2 เมล็ด พร้อมเกลี่ยดินกลบ
– หลังหยอดเมล็ด 6-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก

การเก็บผลผลิต
ถั่วหรั่งจะมีอายุเก็บเกี่ยวแตกต่างกันตามสายพันธุ์ ถั่วหรั่งที่พร้อมเก็บฝักจะสังเกตได้จากใบมีสีเหลือง และเริ่มเหี่ยว โดยเก็บแบบขุดถอนทั้งต้น ก่อนจะตัดแยกฝัก และเมล็ดออก โดย 1 ไร่ จะให้ผลผลิตประมาณ 418 กิโลกรัม [2]

โรค และแมลง
1. โรคใบไหม้ (Leaf blight)
– สาเหตุ : เชื้อรา Rhizoctonia solani
– อาการ : พบระบาดในช่วงฝนตกชุก ทำให้เบาเหี่ยว ดอกร่วง ราก และลำต้นเน่า
– การป้องกัน กำจัด : ฉีดพ่นด้วยสารป้องกัน และกำจัดเชื้อรา

2. โรคใบจุด (Leaf spot)
– สาเหตุ : เชื้อรา Cercospora canesscens, Corynespora cassicola
– อาการ : ใบมีจุดฉ่ำน้ำ จุดขยายใหญ่ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
– การป้องกัน กำจัด : ฉีดพ่นด้วยสารป้องกัน และกำจัดเชื้อรา

3. เพลี้ยอ่อน
– สาเหตุ : เพลี้ย
– อาการ : เข้าดูดกินน้ำเลี้ยงของใบ ทำให้ใบเหี่ยว และแห้งตาย
– การป้องกัน กำจัด : ฉีดพ่นด้วยสารป้องกัน และกำจัดแมลง [5]

ขอบคุณภาพจาก rakbankerd.com/, cffresearch.org/, commons.wikimedia.org/

เอกสารอ้างอิง
[1] ปิยรัตน์ ศิริวงศ์ไพศาล, 2550, การศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้าง และ
สมบัติของแป้งและสตาร์ชจากถั่วหรั่ง-
เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม.
[2] จารุยา แซ่ตั่น และวิชิต เกรียงยะกุล, 2530, การศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์-
สภาพการปลูก และผลผลิตของถั่วหรั่ง.
[3] เยาวลักษณ์ กุลโท, 2548, การพัฒนาของเมล็ดถั่วหรั่ง.
[4] จิระ สุวรรณประเสริฐ, 2549, พันธุกรรมที่ควบคุมลักษณะทางการเกษตรที่สำคัญในถั่วหรั่ง.
[5] ศิริกุล ศรีแสงจันทร์ และคณะ, 2540, รายงานผลการศึกษาเรื่อง สภาพการผลิต-
และการตลาดถั่วหรั่งของเกษตรกรในภาคใต้.