กระวาน (Cardamom) สรรพคุณ และการปลูกกระวาน

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

กระวาน (Cardamom) จัดเป็นเครื่องเทศหรือสมุนไพรที่สำคัญทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นที่นิยมทั้งใน และต่างประเทศ เนื่องจาก ผล และเมล็ดมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอมแรง นิยมใช้เป็นเครื่องเทศประกอบอาหาร หรือนิยมใช้ในรูปน้ำมันหอมระเหยแต่งกลิ่นอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และผลิตน้ำหอม

วงศ์ : ZINGIBERACEAE (วงศ์เดียวกับขิง ข่า)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Amomum verum Blackw.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Amomum krervanh Pierre ex Gagnep.
ชื่อสามัญ
– Cardamom
– Camphor
– Best cardamom
– Clustered cardamom
– Siam cardamom
ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– กระวานขาว
– กระวานไทย
– กระวานดำ
– กระวานแดง
– กระวานจันทร์
– กระวานโพธิสัตว์
ภาคเหนือ
– มะอี้
ภาคอีสาน
– ข่าโคก
– หมากเนิ้ง
ภาคใต้
– ปล้าก้อ

ที่มา : [1] อ้างถึงใน รุงรัตน์ (2540),

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
กระวาน เป็นพืชที่ชอบขึ้นในที่ร่มหรือใต้ต้นไม้อื่น ชอบดินที่มีความชื้นสูง มีฝนตกชุก พบกระจายตามบริเวณป่าเขาหรือป่าดงดิบ [2] ในประเทศไทยพบกระวานมากในภาคตะวันออก แถบเขาสอยดาว และเขาระบาป จังหวัดจันทบุรี และภาคใต้ แถบจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง ยะลา และนราธิวาส [1]

ชนิดกระวาน
1. กระวานเทศ หรือ กระวานแท้ (Elettaria cardamomum)
เป็นกระวานที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย พบปลูกหรือแพร่กระจายในแถบประเทศอินเดีย ศรีลังกา แทนซาเนีย และกัวเตมาลา มีลักษณะเด่น คือ ผลมีลักษณะแบนรี

กระวานเทศ

2. กระวานไทย หรือ กระวาน (Amomum krevanh)
เป็นกระวานที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบปลูกหรือแพร่กระจายในประเทศต่างๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย และประเทศใกล้เคียง รวมถึงประเทศไทย มีลักษณะเด่น คือ ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม โดยประเทศไทยพบกระวานได้ทั่วไปตามป่าในแถบเขาสอยดาว เขาระบาป ในจังหวัดจันทบุรี มีชื่อเรียกว่า “กระวานจันทบุรี” เป็นกระวานที่มีคุณภาพดีที่สุด ผลมีขนาดใหญ่ มีน้ำหนักต่อผลมาก นิยมส่งออกไปประเทศจีน และฮ่องกง ผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ส่วนอีกแหล่งพบแพร่กระจายในภาคใต้พบมากในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรัง ยะลา และนราธิวาส มักเรียกกระวานตามชื่อจังหวัดที่เก็บมาจำหน่าย อาทิ กระวานสุราษฎร์ธานี กระวานสงขลาหรือกระวานขาว เป็นต้น แต่กระวานทางภาคใต้จะมีคุณภาพต่ำด้อยกระวานจันทบุรี โดยกระวานสงขลาจะมีผลขนาดเล็กกว่ากระวานจันทบุรี ผลมีสีขาว เมล็ดมีน้อย ทำให้น้ำหนักผลเบา รสชาติไม่ค่อยเผ็ด มีกลิ่นฉุนน้อย ส่วนกระวานสุราษฎร์ธานี มีผลขนาดเล็กเช่นกัน แต่คุณภาพดีกว่ากระวานสงขลา แต่ยังด้อยกว่ากระวานจากจันทบุรี [1] อ้างถึงใน รุ่งรัตน์ 2540, [2]

กระวานไทย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กระวานจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แบ่งลำต้นออกเป็น 2 ส่วน คือ
ลำต้นจริง
ลำต้นจริง คือ ส่วนที่เป็นหัวอยู่ใต้ดิน แบ่งออกเป็นแง่งหลายแง่งรวมกันเรียกว่า เหง้า หัวมีลักษณะทรงกลม แตกแง่งเป็นหัวใหม่เชื่อมติดกัน คล้ายกับเหง้าข่า เปลือกหัวปกคลุมด้วยแผ่นเป็นชั้นๆสีน้ำตาล เนื้อหัวมีสีครีมหรือสีเหลือง มีเสี้ยนจำนวนมาก

ลำต้นเทียม
ลำต้นเทียมเป็นส่วนที่เจริญจากตาหัวของแต่ละหัวหรือแต่ละแง่ง แทงโผล่ขึ้นเหนือดิน สูงได้มากกว่า 100 เซนติเมตร ลำต้นเทียมมีลักษณะทรงกลม สีเขียวเข้ม คล้ายกับลำต้นข่า แต่ใหญ่ และสูงกว่า ด้านในมีลักษณะเป็นเส้นใย สูงขึ้นมาเป็นส่วนของกาบใบที่หุ้มลำต้น

ใบ
ใบกระวานแทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันตามความสูงของลำต้น กาบใบหุ้มแกนลำต้น มีก้านใบ ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ก้านใบ และแผ่นใบโค้งลงด้านล่าง แผ่นใบมีรูปขอบขนาน หรือเรียวยาว ยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร โคนใบสอบแคบ ปลายใบแหลม แผ่นใบเรียบ แต่เหนียว มีสีเขียวเข้ม ขอบใบเรียบ และเป็นคลื่นหรือโค้งงอเล็กน้อย แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมขาวขนาดใหญ่ และมองเห็นชัดเจน ส่วนเส้นแขนงใบมองเห็นไม่ชัดเจน แต่มีลักษณะเป็นเส้นทอดยาวตามแนวยาวของใบ

ดอก
ดอกกระวานออกเป็นช่อ แทงขึ้นจากเหง้าหรือแง่งหัว ตัวดอกหลักมีลักษณะรียาว ประกอบด้วยดอกย่อยเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ระหว่างดอกย่อยจะมีใบประดับแทรกกั้น ดอกย่อยมีกลีบดอกสีเหลือง ก้านดอกเป็นหลอดแคบ

ผล
ผลกระวานออกรวมกันเป็นกลุ่มผลช่อผล แต่ละช่อมีผล 10-20 ผล ผลมีลักษณะเกือบทรงกลม ขนาดประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร ขั้วผลทั้ง 2 ด้าน มีลักษณะเป็นจุก เปลือกผลดิบมีสีเขียวอมขาว มีขนปกคลุม เมื่อแห้งมีสีครีมหรือสีขาวนวล แบ่งออกเป็น 3 พูใหญ่ แต่ละพูแตกออกเป็น 2 พูเล็ก รวมทั้งหมด 6 พู เมื่อแห้งจะปริแตกออกตามแนวร่อง ทั้งนี้ ผลกระวานจะเริ่มแก่ และแห้งจากโคนช่อสู่ปลายช่อ

เมล็ด
เมล็ดกระวานอยู่ถัดจากเปลือกผล มี 9-18 เมล็ด เมล็ดอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่หรือผลแห้งจะเปลี่ยนมีสีดำ แต่ละเมล็ดเกาะติดกัน แต่ละเมล็ดมีลักษณะสามเหลี่ยม มีเยื่อหุ้มผลบางๆ เมล็ดมีรสเผ็ด และมีกลิ่นฉุนคล้ายการบูร

ประโยชน์กระวาน
1. เมล็ดกระวานมีรสเผ็ดร้อน และมีกลิ่นหอม ใช้ประกอบอาหารเพื่อดับกลิ่นคาว ช่วยเพิ่มกลิ่นหอม และเพิ่มรสเผ็ดร้อน หรือตำผสมเป็นเครื่องแกงหรือพริกแกงสำหรับใส่อาหาร อาหารที่นิยมใส่เมล็ดกระวาน ได้แก่ แกงมัสมั่น แกงกระหรี่ ต้มแสบ ต้มยำต่างๆ ผัดเผ็ดเนื้อ เป็นต้น
2. เหง้าอ่อน และผลอ่อน ใช้ใส่อาหารประเภทต้ม แกง ผัด ช่วยเพิ่มรสเผ็ดร้อน เพิ่มกลิ่นหอม และดับกลิ่นคาว คล้ายการใส่ข่า
3. แก่นลำต้นเทียมใช้ทำอาหารประเภทผัดหรือแกงต่างๆ แก่นให้ความกรอบ มีกากน้อย มีกลิ่นหอม และรสเผ็ด
4. ผลกระวานใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยสำหรับแต่งกลิ่นอาหาร เหล้า เครื่องดื่ม รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และผลิตน้ำหอม
5. น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดกระวานใช้แต่งกลิ่นเหล้า เครื่องดื่ม ขนมปังหรือขนมคบเคี้ยวต่างๆ
6. ด้านยารักษาโรค ใช้บรรเทาอาการ และรักษาโรคหลายอย่าง โดยเฉพาะอาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาการแน่น จุกเสียด
7. กระวาน เป็นเครื่องเทศสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศ มีการส่งจำหน่ายต่างประเทศ สร้างรายได้ปีละหลายล้านบาท

คุณค่าทางโภชนาการ
– น้ำ 16.7%
– โปรตีน 10.07%
– ไขมัน 1.05%
– คาร์โบไฮเดรต 57.03%
– เถ้า 5.58%
– เส้นใย 9.54%
– น้ำมันหอมระเหย 7.9-8.4%

ที่มา : [2] อ้างถึง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

สารสำคัญที่พบ
– 1, 8 cineol
– L-pinene
– P-pinene
– L-terpineol
– ๐-Cymene
– cis-Sabinol
– Trimethylcyclopentadiene
– Hydroxymethylfurfural
– 1-Methyl-4-isopropyl-cis-3-hydroxycyclohex-1-one-6-one
– 4-hydroxy-3-methyl-6-(1-methylethyl)-trans-2-cyclohexen-1-one
– Myristic Acid
– 12-Methyltetradecanoie Acid
– n-Hexadecanoic Acid
– Heneicosane
– trans-9-Octadecenoie Acid
– Stearic Acid
– n-Tricosane
– Tetracosane
– 12Z-Pentacosene
– 14Z-Nonacosene
– Nanocosane
– Pentacosane
– Heptacosane
– 3β,24S-Stigmast-5-en-3-ol
– Stigmastan-3,5-dien
– Stigmast-4-en-3-one
– Stigmasta-5,22-dien-3-ol

ที่มา : [2], [3]

น้ำมันหอมระเหยของเมล็ดกระวานประกอบด้วย
– การบูร (Camphor)
– พิมเสน (Borneol)
– อัลฟา-ไพนีน (Alpha-Pinene)
– ไลโมนีน (Limonene)
– เมอร์ซีน (Mycene)
– ไลนาลูออล (Linalool)
– แคลเซียมออกซาเลท
– แป้ง

ทั้งนี้ น้ำมันหอมระเหยเมล็ดกระวานส่วนใหญ่จะเป็น
– Terpinyl acetate
– Cineol
– Terpenes
– Terpenes alcohols
– Esters
– Limonene d-α terpineol
– Borneol
– Sabinene

ที่มา : [1] อ้างถึงใน praphansan, 2547

สรรพคุณกระวาน
ผล และเมล็ด
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
– แก้ธาตุพิการ
– แก้การเบื่ออาหาร ช่วยเจริญอาหาร
– ช่วยบำรุงโลหิต
– ช่วยฟอกโลหิต
– แก้อาการสะอึก
– ช่วยขับเสมหะ
– แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน
– ช่วยบรรเทาอาการไข้
– บรรเทาอาการง่วง
– แก้โรคซึมเศร้า
– แก้อาการปวดท้อง
– ช่วยบำรุงน้ำดี
– ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร
– แก้อาการท้องเดิน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการท้องแน่น จุกเสียด
– ช่วยขับพยาธิ
– ออกฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรีย แก้อาการท้องเสีย
– ผล เมล็ด เหง้า ลำต้น และใบ ใช้ต้มน้ำอาบ แก้โรคผิวหนัง
– ผลกระวานแห้ง บดให้ละเอียดเป็นผง ก่อนใช้ชงน้ำร้อนดื่ม ครั้งละ 1-2 ช้อนชา เพื่อบรรเทาอาการไซ้ท้องของยาถ่าย

เหง้า ลำต้น ใบ และดอก
– ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย
– ช่วยลดไข้
– แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน
– รักษาโรคผิวหนัง
– ช่วยขับพยาธิ
– ช่วยบำรุงน้ำดี
– แก้อาการปวดท้อง
– ฯลฯ สรรพคุณอื่นคล้ายกับผล และเมล็ด

ที่มา : [2], [3]

การปลูกกระวาน
ผลผลิตกระวานที่จำหน่าย ส่วนมากมาจากกระวานป่า มีเพียงส่วนน้อยที่ได้จากกระวานปลูก โดยกระวานปลูกอาจใช้ 2 วิธี คือ
1. การปลูกด้วยเมล็ด ซึ่งไม่นิยมนัก เพราะอัตราการงอกต่ำ ใช้เวลาเติบโตนานกว่าจะให้ผลผลิต
2. การปลูกด้วยเหง้า เป็นวิธีที่นิยม ง่าย และสะดวก คล้ายกับการปลูกข่า มีอัตราการรอดสูง สามารถให้ผลผลิตเร็ว

การเก็บผลกระวาน
กระวานจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลแก่ครั้งแรกได้ประมาณ 2-3 ปี หลังปลูก ผลแก่พร้อมเก็บจะในช่วงแรกประมาณเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และช่วงที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน มีช่วงระยะออกดอก-ผลแก่ ประมาณ 5 เดือน และหลังให้ผลแล้ว ต้นกระวานจะเหี่ยวแห้ง และตาย ก่อนจะแทงต้นใหม่ในฤดูฝนถัดไป

กระวานสามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 60-100 กิโลกรัม/ไร่/ปี และสามารถทยอยเก็บได้เป็นรอบๆ ใช้เวลาแต่ละรอบประมาณ 20-30 วัน การเก็บผลกระวานควรเก็บในระยะก่อนผลแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผลกระวานปริแตก แบ่งวิธีเก็บออกเป็น 2 วิธี ได้แก่
1. เก็บเมื่อผลแก่จัดประมาณ 3 ใน 4 ของช่อ โดยเก็บเฉพาะผลแก่เท่านั้น
2. ทยอยเก็บผลแก่เรื่อยๆจากช่อในทุกวัน

การตากผลกระวาน
ผลกระวานที่เก็บแล้ว ควรตากแดดทันที โดยเริ่มตั้งแต่ตอนเช้า-ตอนเย็น และควรพลิกกลับประมาณ 1 ครั้งในช่วงบ่าย ซึ่งอาจตากบนตะแกรงไม้ไผ่หรือผ้าเขียว ใช้เวลาการตากประมาณ 5-7 แดด แต่อาจใช้วิธีการย่างด้วยไฟอ่อนๆ เพื่อให้ผลแห้งเร็วขึ้น [1]

ขอบคุณภาพจาก flickr.com/, tokopedia.com/, qsbg.org/, cardamomdaysfood.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] ผดุงศักดิ์ วานิชชัง;ใจทิพย์ วานิชชัง, 2549, การพัฒนากระวานอบแห้งเพื่อวิสาหกิจชุมชน.
[2] อุรชา วานิช และคณะ, 2553, การพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำกระวาน-
จากกระวานสดและกระวานอบแห้ง.
[3] วัชรพงษ์ ทสะสังคินทร์, 2556, องค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพ-
ของเหง้าเร่วหอม และเมล็ดกระวาน.