แคฝรั่ง (Mata Raton) ประโยชน์ และการปลูกแคฝรั่ง

Last Updated on 21 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

แคฝรั่ง (Mata Raton) เป็นไม้ยืนต้นพลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง นิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับดอก เนื่องจาก ออกดอกเป็นช่อใหญ่หลังการหล่นร่วงของใบ ดอกมีสีขาวหรือชมพูอมขาว แลดูสวยงาม รวมถึงเพื่อการรับประทานดอก โดยนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ปัจจุบัน เป็นที่นิยมปลูกมากทั้งในสถานที่สาธารณะหรือราชการ สถานที่ท่องเที่ยว ตามบ้านเรือน และหัวไร่ปลายนา

อนุกรมวิธาน [1]
• Kingdom : Plant
• Subkingdom : Viridiplantae
• Infrakingdom : Streptophyta
• Superdivision : Embryophyta
• Division : Tracheophyta
• Class : Magnoliopsida
• Superorder : Rosanae
• Order : Fabales
• Family : Fabaceae
• Genus : Gliricidia Kunth
• Species : Gliricidia sepium (Jacq.) Kunth

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gliricidia sepium (Jacq.) Walp.
• ชื่อสามัญ :
– Mata Raton [5]
– Mother of Cocoa [1]
– Madre de cacao (ภาษาสเปน) [1]
– Quick Stick [1]
ประเทศอื่นๆ [5]
– ฮอนดูรัส : Cacao de nance และ cacahnanance
– ฟิลิปปินส์ : Kakawate
– กัวเตมาลา : Madre Cacao และ Madre de Cacao
– นิคารากัว : Madero negro

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
แคฝรั่ง (Genus : Gloriosa) มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา แถบประเทศแม็กซิโก และแถบประเทศทะเลคาริเบี้ยน ตั้งแต่เมือง Sinaloa ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแม็กซิโกไปจนถึงประเทศคอสตาริก้า ชอบขึ้น และเติบโตได้ดีในประเทศแถบอากาศร้อนซื้น และขึ้นได้ดีในทุกสภาพดิน โดยแพร่กระจายต่อมาในทั้งแถบแคริเบียน ทางตอนเหนือของอเมริกาใต้ ตอนกลางของแอฟริกา เอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย [1], [2]

การปลูกแคฝรั่งในประเทศไทยในระยะแรกจะปลูกเพื่อการเป็นไม้ประดับดอก โดยสาเหตุที่ตั้งชื่อว่าแคฝรั่ง เนื่องจาก ตัวดอกมีลักษณะคล้ายดอกแคทุกประการ ทั้งรูปร่าง และสี แต่เป็นไม้ที่นำมาจากต่างประเทศจึงตั้งชื่อว่า แคฝรั่ง เพิ่มเติมจาก [1] ทั้งนี้ แคฝรั่งเป็นดอกไม้ประจำของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร [5]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
แคฝรั่ง เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงตั้งแต่ 3-15 เมตร ลำต้นตั้งตรง มีการแตกกิ่งก้านน้อย ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นมีสีเทาอมขาว หรือน้ำตาลอมเทา และเมื่อลำต้นแก่ เปลือกลำต้นแตกสะเก็ดทั่วลำต้น

ใบ
ใบแคฝรั่ง ออกเป็นใบรวมแบบขนนก มีก้านใบหลักแตกออกตามกิ่งก้าน โดยก้านใบหลักมีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 13-21 ใบ ขนาดใบย่อยกว้าง 1-3 เซนติเมตร ยาว 3-6 เซนติเมตร โคนใบทู่ ปลายใบแหลมค่อนข้างป้าน แผ่นใบ และขอบใบเรียบ ไม่มีหยัก แผ่นใบด้านหน้ามีสีเขียวเข้ม แผ่นใบด้านหลังมีสีเขียวนวล และทั้งสองด้านมีขนละเอียดนุ่มปกคลุม และมักพบจุดสีออกม่วงบริเวณกลางใบ ทั้งนี้ ใบอ่อนบริเวณยอดจะมีสีน้ำตาล และใบแก่จะร่วงหล่นประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม ในฤดูกาลพลัดใบ

ดอก
แคฝรั่ง ออกดอกเป็นออกดอกเป็นช่อใหญ่ ทั้งออกตามซอกใบที่ปลายกิ่ง และตามตากิ่งบริเวณลำต้น แต่ละช่อดอกประกอบด้วยช่อดอกย่อย 5-10 ช่อย่อย และแต่ละช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกที่มีลักษณะคล้ายดอกแคบ้านสีขาวหรือดอกแคบ้านสีแดงทุกอย่าง หรือ ดอกถั่ว ใต้ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวมีลักษณะเป็นรูประฆังหรือรูปถ้วย กลีบดอกมีสีขาว หรือชมพูอมขาว ภายในมีเกสรตัวผู้ 10 อัน (1 เกสร เป็น free อีก 9 อันเป็น filament) โดยเมื่อดอกแก่ ตัวดอกจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมน้ำตาลหรือสีม่วงซีด ทั้งนี้ ในช่วงออกดอก ลำต้นจะมีการพลัดใบหรือทิ้งใบออกหมด เหลือเพียงช่อดอกที่บานสะพรั่งสวยงาม โดยจะเริ่มออกดอกเรื่อยๆในช่วงการพลัดใบของเดือนตุลาคม-ธันวาคม

ผล และเมล็ด
ผลแคฝรั่ง นิยมเรียกเป็นฝัก รูปร่างแบนยาว ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร โคนฝัก และปลายฝักแหลม ฝักอ่อนมีเปลือกฝักสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และดำเมื่อแก่มาก พร้อมปริแตกออกเป็น 2 ด้าน ซ้าย-ขวา ภายในมีเมล็ดขนาดเล็ก รูปร่างกลม และแบน 3-8 เมล็ด เปลือกเมล็ดมีสีดำ เปลือกเมล็ดสีน้ำตาล เนื้อเมล็ดมีสีขาวอมเหลือง ทั้งนี้ ฝักจะเริ่มแก่หลักจากออกดอกแล้วประมาณ 40-55 วัน [2], [3]

ประโยชน์แคฝรั่ง [1], [2]
1. แคฝรั่ง มีออกดอกเป็นช่อใหญ่ มีดอกย่อยสีขาวหรือชมพูอมขาว และออกดอกเมื่อมีการพลัดใบทิ้งหมด ทำให้แลดูสวยงาม จึงนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับดอก อีกทั้ง ปลูก และเติบโตง่าย และทนต่อโรค และแมลง
2. เนื่องจากดอกมีรสหวาน และนุ่ม จึงนิยมใช้ประกอบอาหารหลายอย่าง อาทิ ลวกจิ้มน้ำพริก ทอดกรอบ แกงอ่อม แกงเลียง เป็นต้น
3. รากแคฝรั่งสามารถตรึงไนโตเจนได้ จึงใช้ปลูกเพื่อเป็นพืชบำรุงดินในไร่เพื่อเป็นไม้พี่เลี้ยง โดยในช่วงแรกของเริ่มปลูกในแถบอเมริกาหรือแถบต้นกำเนิดดั้งเดิมจะนิยมปลูกเพื่อเป็นไม้พี่เลี้ยงให้แก่โกโก้ และกาแฟ จึงมีชื่อเรียกว่า Madre de cacao และ Mather of Cocoa นอกจากนั้น ใบยังสามารถนำมาทำปุ๋ยหมักใส่ในแปลงสวนต่างๆ
4. ใบ ดอก ฝักอ่อน และเมล็ด ใช้เป็นอาหารสัตว์ ทั้งการให้สด การหมักร่วมกับหญ้าหรืออาหารหยาบ
5. สารสกัดจากใบ ฝัก เมล็ด และราก ใช้เป็นยาเบื่อหนู
6. เปลือกลำต้น และใบนำมาสกัด ใช้เป็นยากำจัดแมลงศัตรูพืช
7. เนื่องจากกิ่ง และลำต้นมีลักษณะตั้งตรง เกษตรกรจึงนิยมนำมาทำเสารั้วลวดหนามหรือเสารั้วปักเขตแดน ซึ่งจะเป็นการปักชำกิ่งไปพร้อมกันด้วยเช่นกัน

คุณค่าทางโภชนาการเมล็ดแคฝรั่ง [4]

ดอกอ่อน ใบอ่อน
Proximates
น้ำ กรัม 85.1 84.7
พลังงาน กิโลแคลอรี่ 52 52
โปรตีน กรัม 3.1 2.4
ไขมัน กรัม 1.0 0.5
คาร์โบไฮเดรต กรัม 10.0 11.9
ใยอาหาร กรัม 1.3 1.3
Minerals
แคลเซียม มิลลิกรัม 17 17
เหล็ก มิลลิกรัม 0.8 0.8
ฟอสฟอรัส มิลลิกรัม 34 34
Vitamins
วิตามิน C มิลลิกรัม 12 12
ไทอะมีน (B1) มิลลิกรัม 0.14 0.14
ไรโบฟลาวิน (B2) มิลลิกรัม 0.08 0.08
ไนอะซีน มิลลิกรัม 1.0 1.0

สาระสำคัญที่พบ
จากการศึกษาสาระสำคัญที่พบทั้งในส่วนของลำต้น กิ่ง และใบ พบสาระสำคัญ ดังนี้ [3]
– Flavonol
– Flavones
– Flavonone
– Xanthone
– Tannins
– Phenolics

ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม และคุณสมบัติอื่น
การออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดทุกส่วนของแคฝรั่ง พบว่า สารสกัดแคฝรั่งด้วยเมทานอลสามารถต้านออกซิเดชันได้สูง และได้สูงกว่าสารสกัดเอธิลอะซิเตต และสารสกัดเฮกเซน โยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.0367 และ 0.2043 มิลลิกรัมต่อลิตร [3]

การต้านเชื้อแบคทีเรียเมื่อมีการทดสอบด้วยสารสกัดแคฝรั่ง พบว่า สารสกัดสารมารถต้านเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ bacillus cereus ได้สูง [3]

นอกจากนั้น ยังพบว่า สารสกัดจากใบแคฝรั่งสามารถออกฤทธิ์กำจัดไรแมงมุมที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคใบหยิกในถั่วดำได้ [1]

การปลูกแคฝรั่ง
การปลูกด้วยเมล็ด
เมล็ดแคฝรั่งที่นำมาเพาะ ควรเลือกเมล็ดจากผลแก่ โดยเก็บผลมาพักทิ้งไว้ 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดมีการฟักตัวก่อน โดยเมล็ดแคฝรั่งหนัก 1 กิโลกรัม จะมีเมล็ดประมาณ 4,500-11,000 เมล็ด หลังจากนั้น นำเมล็ดมาแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนนำลงถุงเพาะหรือแปลงเพาะ ซึ่งเมล็ดจะเริ่มงอกภายใน 7-10 วัน

หลังจากต้นกล้าเติบโตได้ประมาณ 1 เดือน หรือ มีความสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ก็สามารถนำลงหลุมปลูกได้ ทั้งนี้ การเจริญเติบโตของแคฝรั่งในช่วงแรกจะค่อนข้างช้า แต่หากตั้งต้นได้แล้วจะสามารถเติบโตได้ถึง 3 เมตร ภายในปีเดียว

การปลูกด้วยกิ่งปักชำ
ทำการเพาะขยายพันธุ์ด้วยการปักชำกิ่ง โดยตัดกิ่งแคฝรั่งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 นิ้ว ขึ้นไป ตัดยาวประมาณ 50-100 เซนติเมตร แต่ไม่ควรน้อยกว่า 50 เซนติเมตร จากนั้น นำมาปักชำลงในกระถางหรือปักชำลงหลุมปลูกได้โดยตรง ทั้งนี้ การปักชำลงหลุมปลูก ให้ปักชำในแนวตั้งตรง เพราะเพื่อปักชำติดแล้ว ต้นแคฝรั่งจะเติบโตในที่เดิม ไม่มีการย้ายปลูกใหม่ ส่วนการปักชำในกระถาง อาจปักชำในแนวเอียงหรือตั้งตรงก็ได้ และเมื่อปักชำจนติดแล้วค่อยนำลงปลูกในแปลงต่อไป

การปลูกด้วยกิ่งตอน
การปลูกด้วยวิธีนี้ ไม่เป็นที่นิยมมากเท่าการปลูกแบบปักชำ และการปลูกด้วยกล้าจากการเพาะเมล็ด เพราะใช้เวลานานกว่าทุกวิธี และขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อนกว่า

เอกสารอ้างอิง
[1] สุวิจักขณ์ อรุณลักษณ์, 2560, การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแคฝรั่ง-
และการใช้ประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพของดินชุดจังหวัดชัยนาท.
[2] จรุงศรี อารยางกูร, 2508, การใช้สารฮอร์โมนช่วยการออกราก-
ของกิ่งปักชำพืชสวนบางชนิด.
[3] พงษ์ศักดิ์ อินนอก, 2554, รายงานการวิจัยองค์ประกอบทางเคมี-
และฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดหยาบแคฝรั่ง.
[4] กองโภชนาการ กรมอนามัย, 2530, ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้-
100 กรัม,โรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก. 48 หน้า.
[5] www. wikipedia.org