แกแล และสรรพคุณแกแล

Last Updated on 2 มีนาคม 2016 by puechkaset

แกแล เป็นพันธุ์ไม้ป่าที่พบได้ทั่วไปในป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ โดยพบมากในป่าเบญจพรรณของทุกภาคในประเทศไทย แต่จะพบมากในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ซึ่งเป็นไม้ป่าที่นิยมนำแก่นมาต้มย้อมผ้าที่ให้สีธรรมชาติเป็นสีเหลือง เหลืองขี้ม้า ขึ้นอยู่กับอายุของแก่น นอกจากนั้น แก่นยังนิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในการรักษา และบรรเทาโรคต่างๆ อาทิ ช่วยในการอยู่ไฟของสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยบำรุงเลือด ช่วยในการักษาแผล ลดอาการอักเสบของแผล เป็นต้น

• วงศ์ : Moraceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Maclura cochinchinensis Corner
• ชื่อสามัญ : Cockspur thorn
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง
– แกแล (ทั่วไป)
– สักขี
– เหลือง
ภาคเหนือ
– แกก้อง
– ช้างงาต้อก
ภาคอีสาน
– เข
ภาคใต้
– หนามเข
– แกล
– แหร

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
แกแล เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยที่ทั่วไปมักพบกิ่งเป็นเถาเลื้อยยาวพาดตามต้นไม้ใหญ่จากลำต้นที่เกิดอยู่ใกล้เคียง กิ่งมีลักษณะเหนียว สามารถโค้งงอได้ดี โดยตามลำต้น และกิ่งมีหนามแข็งขนาดใหญ่ และแหลมคม โดยหนามจะเกิดบริเวณเดียวกับใบ ยาวประมาณ 3-5 ซม. ส่วนเปลือกลำต้นมีผิวขรุขระ และสากมือ เปลือกผิวสีเทา เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง และเหนียว เนื้อไม้ด้านนอกค่อนข้างขาว ส่วนแก่นกลางมีสีเหลืองปนน้ำตาล

ใบ
ใบแกแลแทงออกเป็นใบเดี่ยวเยื้องสลับข้างกันบนกิ่ง ตรงจุดเดียวกันกับหนาม มีก้านใบสีเขียว ยาว 1-3 ซม. ใบมีลักษณะเป็นรูปรี แผ่นใบเรียบ ค่อนข้างเป็นมัน ใบกว้างประมาณ 2-4 ซม. ยาวประมาณ 4-8 ซม. แผ่นใบมองเห็นเส้นกลางใบ และเส้นใบที่แตกออกด้านข้างเส้นกลางใบอย่างชัดเจน ขอบใบเรียบ ปลายใบโค้งมน ใบค่อนข้างเหนียว และหนา ใบอ่อนบริเวณยอดมีสีม่วงแดง ใบแก่มีสีเขียวเข้ม

ดอก
ดอกแกแลจะออกเป็นช่อเดี่ยว แทงออกบริเวณซอกใบตามส่วนปลายของกิ่ง โดยดอกแกแลจัดเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ โดยมีดอกเพศผู้ และดอกเพศเมียแยกต้นกันอยู่ จึงต้องอาศัยการผสมพันธุ์ด้วยแมลง และกระแสลมเป็นสำคัญ โดยดอกจะมีรูปทรงกลมที่ประกอบด้วยดอกขนาดเล็กเรียงติดกันจำนวนมาก ดอกเพศผู้จะสีเหลืองอ่อน ส่วนดอกเพศเมียจะมีสีเขียว

ผล และเมล็ด
ผลแกแลเป็นผลชนิดรวมเหมือนผลน้อยหน่าที่เจริญมาจากรังไข่ของดอกที่เชื่อมติดกันจำนวนมาก และเมื่อเจริญเป็นผลจะมีเปลือกเป็นแผ่นเชื่อมต่อกันคล้ายเปลือกสับประรด ผลดิบมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลือง เมื่อเด็ดขั้วผลจะมียางสีขาวคล้ายน้ำนมไหลออกมา ส่วนผลสุกจัดจะมีสีส้มแดง มีเนื้อด้านในเป็นสีเหลืองส้ม

ผลแกแล

ขอบคุณภาพจาก www.tuelinh.vn

ภายในผลจะมีเมล็ดที่เจริญมาจากรังไข่มีประมาณ 3-5 เมล็ด เมล็ดมีรูปไข่หรือรูปรี เปลือกเมล็ดแข็ง มีสีน้ำตาลอมดำหรือเมื่อแก่จัดจะมีสีดำ

ประโยชน์แกแล
1. แก่นแกแลนิยมนำมาใช้สำหรับย้อมผ้า ย้อมสีพื้นแห ย้อมสีจีวร โดยจะให้สีเหลือง
2. แก่นแกแลนำมาฝนผสมกับน้ำใช้ทาพอกหน้า ทำให้หน้าเต่งตึง และรักษาสิว ลดอาการสิวอักเสบ
3. หนามนำมาใช้บ่งหนามหรือใช้เจาะรูผ้าหรือวัสดุต่างๆ
4. กิ่งส่วนปลายนำมาตัดใบ และหนามออกใช้ทำเป็นแส้
5. กิ่ง และใบสดแกแลนำมาเผาให้เกิดควัน ใช้ไล่ยุง เหลือบ
6. ผลสุกแกแลมีประโยชน์ในด้านเป็นอาหารแก่นก กระรอก และสัตว์ป่าต่างๆ

สรรพคุณแกแล
• เถา และแก่นแกแล นำมาต้มน้ำหรือดองเหล้าดื่ม มีรสขม
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– รักษาอาการท้องเสีย
– ลดอาการไอ และขับเสมหะ
– ใช้เป็นยาขัยเลือด ขับของเสียในสตีหลังคลอดบุตร
– ใช้บำรุง และแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
– ใช้แก้อาการตกขาวในสตรี
– ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย
– ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง
– ใช้น้ำต้มมาป้วนปากสำหรับลดกลิ่นปาก หรือ ลดอาการอักเสบของแผลในปาก

แกแล

ขอบคุณภาพจาก www.lib.ubu.ac.th

• เถา และแก่นแกแล นำมาต้มน้ำอาบ
– ใช้รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา
– ใช้ลดอาการผื่นคัน

• แก่น นำมาฝนผสมน้ำ ออกฤทธิ์ในการต้านเชื้อ และลดอาการอักเสบ
– ใช้ทารักษาแผล ทำให้แผลหายเร็ว
– ใช้ทาสำหรับลดอาการปวดบวมบริเวณจุดแมลงกัดต่อย
– ใช้ทารักษาสิวอักเสบ
– ใช้ทารักษาโรคเชื้อราบนผิวหนัง

• ใบแกแล นำมาบดหรือยำผสมน้ำเล็กน้อย
– ใช้ทารักษาแผล
– ใช้ผสมกับแซมพูสำหรับสระผม

• ผลดิบแกแล นำมาบดหรือฝน
– ใช้ทารักษาแผล
– ใช้ทารักษาพิษจากแมลงกัดต่อย ลดอาการปวดบวมของแผล
– ใช้ชโลมสระผม ช่วยลดอาการคันของรังแค

การปลูกแกแล
แกแลตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และหากต้องการปลูกจะใช้การเพาะเมล็ดเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังสามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง และการปักชำ แต่วิธีการตอนหรือปักชำจะทำให้ได้ต้นที่ไม่แข็งแรง ลำต้นไม่แตกกิ่งมาก

แต่ทั้งนี้ แกแลจัดเป็นพืชสมุนไพรที่ไม่นิยมปลูก เนื่องจากลำต้นมีหนามแหลมคม และไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ประโยชน์มากนัก แต่หากต้องการใช้ประโยชน์นั้น ชาวบ้านมักเข้าป่า แล้วนำแกแลมาใช้ประโยชน์แทนการปลูก