เตย/ใบเตย สรรพคุณ และการปลูกเตย

Last Updated on 21 สิงหาคม 2016 by puechkaset

เตย (Pandom wangi) หรือบางครั้งเรียก เตยหอม เป็นพืชที่นิยมใบมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหารมาก เนื่องจากใบมีกลิ่นหอมอ่อนคล้ายข้าวใหม่ ซึ่งช่วยปรับแต่งกลิ่นของอาหารให้น่ารับประทานขึ้น รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากใบยังใช้ประโยชน์ในทางยา และความสวยความงามได้ด้วย

• วงศ์ : Pandanaceae
• ชนิด : P. amaryllifolius Roxb.
• ถิ่นกำเนิด : ประเทศไทย และแถบประเทศมาลายู
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus amaryllifolius Roxb.
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ : Pandanus ordorus Ridl.
• ชื่อสามัญ :
– Pandom wangi
– Pandanus
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– เตย/ต้นเตย/ใบเตย (ทุกภาค)
– เตยหอม
– เตยหอมใหญ่
– เตยหอมเล็ก
ภาคเหนือ
– หวานข้าวใหม้
ภาคใต้ และแถบมลายู
– ปาแนะวองิง
– ปาแง๊ะออริง
– ปาแป๊ะออริง
จีน
– พังลั้ง

ต้นใบเตย

ชนิด และการแพร่กระจาย
1. เตยมีหนาม หรือมักเข้าใจว่า เป็นเตยต้นตัวผู้ หรือที่เรียกว่า ต้นลำเจียก หรือ เตยทะเลลำ ต้นออกดอก และดอกมีกลิ่นหอม ไม่นิยมนำใบมาทำอาหาร แต่นิยมใช้ดอกมาประกอบอาหาร รวมถึงนำใบใช้ในการจักสาน
2. เตยไม่มีหนาม หรือมักเข้าใจว่า เป็นเตยต้นตัวเมีย หรือที่เรียกว่า เตย หรือ เตยหอม มีลำต้นเล็กกว่าเตยหนาม ไม่มีดอก นิยมนำมาคั้นเอาน้ำสำหรับใช้ประกอบอาหารหรือทำขนมหวาน

เตย หรือ เตยหอม เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอินเดีย รวมถึงทวีปอื่น เช่น แอฟริกา และออสเตรเลีย ชอบขึ้นตามพื้นที่ชุ่ม ริมลำน้ำหรือบริเวณชื้นแฉะที่มีน้ำขังเล็กน้อย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
เตยหรือเตยหอม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว มีลำต้นทรงกลม และเป็นข้อสั้นๆถี่กัน โผล่ขึ้นมาจากดินเพียงเล็กน้อย โคนลำต้นแตกรากแขนงออกเป็นรากค้ำจุนหรือเรียกว่า รากอากาศ ลำต้นสามารถแตกหน่อเป็นต้นใหม่ได้ ทำให้มองเป็นกอหรือเป็นพุ่มใหญ่ๆ ที่รวมความสูงของใบแล้วสามารถสูงได้มากกว่า 1 เมตร

รากเตย

ใบ
ใบเตย แตกออกเป็นใบเดี่ยวด้านข้างรอบลำต้น และเรียงสลับวนเป็นเกลียวขึ้นตามความสูงของลำต้น ใบมีลักษณะเรียวยาวเป็นรูปดาบ ปลายใบแหลม สีเขียวสด ใบชูเฉียงแนบไปกับลำต้น แผ่นใบเป็นมัน กว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านล่างมีสีจางกว่าด้านบน มีเส้นกลางใบลึกเป็นแอ่งตื้นๆตรงกลาง ใบนี้ส่งกลิ่นหอมตลอดเวลา เพราะมีน้ำมันหอมระเหย และสาร ACPY

ดอก
เตยหรือเตยหอมเป็นพืชไม่ออกดอก

ประโยชน์เตย
1. ใบเตยนำมาบด และคั้นแยกน้ำ ก่อนนำไปผสมทำขนมหรือของหวานต่างๆ เช่น ขนมเปียกปูน ขนมชั้น เป็นต้น เนื่องจากให้สีเขียวสด และให้กลิ่นหอมเป็นธรรมชาติ
2. นำใบเตยมา 5-10 ใบ บดคั้นผสมน้ำ และกรองแยกน้ำออก ก่อนนำมาต้มอุ่น พร้อมกับเติมน้ำตาลลงเล็กน้อยตามความหวานที่ต้องการ เรียกว่า น้ำใบเตย
3. ใบเตยนำมาห่อทำขนมหวาน เช่น ขนมตะโก้
4. ใบนำมามัดรวมกัน ใช้สำหรับวางในห้องน้ำ ห้องรับแขกเพื่อให้อากาศมีกลิ่นหอม ช่วยในการดับกลิ่น
5. ใบเตยสดนำมายัดหมอน ช่วยให้มีกลิ่นหอม
6. ใบนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Fragrant Screw Pine ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ มีประโยชน์ในด้านอาหาร เครื่องสำอาง และยา
7. สารสกัดจากใบเตยนำมาใช้เป็นสารแต่งกลิ่นบุหรี่
8. ใบเตยสดนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนใช้ชงเป็นชาดื่ม
9. น้ำมันหอมระเหยจากเตยนำไปเป็นส่วนผสมของน้ำยาปรับอากาศ
10. สารสกัดจากใบเตยนำไปเคลือบข้าวสารที่ไม่มีกลิ่นหอม หลังจากนำมาหุงแล้วจะช่วยให้มีกลิ่นหอม
11. สารสกัดจากใบเตยใช้เป็นสารป้องกันการหืนของอาหาร น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์
12. สารสกัดจากใบเตยใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ครีมทาผิว
13. น้ำคั้นใบเตยนำมาผสมทำแซมพู สบู่ หรือ ครีมนวด
14. น้ำมันหอมระเหยใบเตยใช้เป็นส่วนผสมทางยา
15. ใบเตยสดนำมามัดเป็นกำ ใช้ขัดถูพื้น ช่วยให้พื้นเงางาม และมีกลิ่นหอม
16. ใบเตยสด นำมามัดรวมกับดอกไม้อื่นๆ ใช้สำหรับถวายหรือบูชาพระ

คุณค่าทางโภชนาการใบเตย ( 100 กรัม)
– พลังงาน : 35 กิโลแคลอรี่
– น้ำ : 85.3 กรัม
– โปรตีน : 1.9 กรัม
– ไขมัน : 0.8 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต : 4.9 กรัม
– เส้นใย : 5.2 กรัม
– เถ้า : 1.9 กรัม
– แคลเซียม : 124 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส : 27 มิลลิกรัม
– เหล็ก : 0.1 มิลลิกรัม
– เบต้าแคโรทีน : 2987 ไมโครกรัม
– วิตามิน A : 498 RE
– ไทอามีน : 0.20 มิลลิกรัม
– ไรโบฟลาวิน : 1.2 มิลลิกรัม
– ไนอาซีน : 3 มิลลิกรัม
– วิตามิน C : 100 กรัม

ที่มา : http://www.b-herbs.com

น้ำใบเตย
– นำใบเตยสดที่ไม่แก่มาก 5-10 ใบ มาล้างน้ำให้สะอาด และแช่น้ำด่างทับทิมนาน 5-10 นาที
– นำใบมาตัดตามขวาง 3-5 เซนติเมตร ก่อนนำมาปั่น
– นำใบเตยส่วนหนึ่งลงต้มในน้ำประมาณ 1 ลิตร พร้อมกับเติมน้ำตาลทรายตามความหวานที่ต้องการ
– นำน้ำต้มมากรองแยกกากออก
– นำใบเตยอีกส่วนหนึ่งมาปั่นพร้อมกับเติมน้ำ 2 แก้ว
– กรองแยกกากออกจนได้น้ำปั่นใบเตย
– นำน้ำที่กรองได้เติมใส่ในหม้อที่กำลังอุ่น ก่อนทิ้งไว้ 1-2 นาที ค่อยยกลงตั้งให้เย็น
– ชิมดูความหวาน หากหวานน้อยให้เติมน้ำตาลอีก
– เมื่อมีความหวานตามต้องการ ค่อยนำมาใส่แก้ว และน้ำแข็งดื่ม

น้ำใบเตย

สาระสำคัญที่พบ
กลุ่มสาร
– anthocyanin
– carotenoids
– tocopherols
– tocotrienols
– quercetin
– alkaloids
– fatty acids
– esters
– essential oils

สารสำคัญ
3-methyl-2(5H)-furanone เป็นสารที่ให้กลิ่นหอมขณะที่เป็นใบสด
2-acetyl-1-pyrroline (C6H9NO) เรียกย่อๆว่า ACPY หรือ 2AP เป็นสารที่ให้กลิ่นหอม คล้ายกับกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิหรือกลิ่นหอมของข้าวใหม่ ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกัน และจะให้กลิ่นเมื่อผ่านความร้อน
– benzyl acetate
– coumarin
– geraniol
– linalool
– linalool acetate
– linalyl acetate
– Pandamarilactone 1, 31 และ32
– (DL)-pandamarine
– ethyl vanillin
– 3-hexanol
– 2-hexanone
– 4-methylpentanol
– 2-pentyn-1-ol
– methional,
– N-methyllpyrrole
– 1,5-pentanediol
– 4-ethylbenzaldehyde
– beta-damascenone
– hexanoic acid
– acetic acid

ที่มา : 1), 2), 3) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

สรรพคุณเตย/ใบเตย
ใบเตย
– แก้อาการเป็นไข้
– ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการบาดเจ็บหรือหลังจากการหายป่วย
– แก้อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
– แก้ร้อนใน
– แก้กระหายน้ำ
– แก้อ่อนเพลีย
– ช่วยขับปัสสาวะ
– บำรุงหัวใจ ชูกำลัง
– ดับพิษไข้
– รักษาโรคหัด
– รักษาโรคสุกใส
– แก้โรคผิวหนัง
– ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
– บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย
– แก้อาการท้องอืด
– ลดความดันเลือด
– ช่วยกระตุ้นให้หัวใจเต้นปกติ

น้ำมันหอมระเหยจากใบเตย
– แก้อาการหน้าท้องเกร็ง
– แก้ปวดตามข้อ และกระดูก
– ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการปวดหัว
– แก้โรคลมชัก
– ลดอาการเจ็บคอ ลดอาการอักเสบในลำคอ

ราก และลำต้นเตย
– ใช้บำรุงหัวใจ
– รักษาโรคเบาหวาน
– ทำให้คอชุ่มชื่น แก้กระหายน้ำ
– แก้ขับเบาพิการ ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยละลายก้อนนิ่วในไต
– แก้หนองใน
– แก้พิษโลหิต
– แก้กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย
– แก้ตานซางในเด็ก

ที่มา : 1), 2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ฤทธิ์สำคัญทางยาที่พบ
– ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส
– ต้านอนุมูลอิสระ
– ต้านการอักเสบ
– กระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมเซลล์

การปลูกเตย
การปลูกเตยในปัจจุบัน นิยมปลูกด้วยการแยกเหง้าหรือหน่อปลูก ทั้งนี้ เตยสามารถขึ้นได้ดีในที่ชุ่ม และทนต่อสภาพดินชื้นแฉะได้ดี แต่ควรเลือกพื้นที่ปลูกไม่ให้น้ำท่วมขังง่าย

การเตรียมแปลง
แปลงปลูกเตย ควรไถแปลง และตากดินก่อน 5-10 วัน พร้อมกำจัดวัชพืชออกให้หมด ก่อนหว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 2 ตัน/ไร่ และปุ๋ยยูเรีย อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ พร้อมไถกลบ

การปลูก
การปลูกเตย ควรปลูกในช่วงฤดูฝน เพราะดินจะชื้นดี ทำให้ต้นเตยติด และตั้งตัวได้ง่าย ด้วยการขุดหลุมปลูกเป็นแถว ระยะหลุม และระยะแถวที่ 50 เซนติเมตร หรือที่ 30 x 50 เซนติเมตร ก่อนนำต้นพันธุ์เตยลงปลูก

การให้น้ำ
หลังจากปลูกเตยเสร็จ ควรให้น้ำทันที แต่หากดินชื้นมากก็ไม่จำเป็นต้องให้ และให้น้ำเป็นประจำทุกๆ 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับความชื้นดิน และฝนที่ตก

การใส่ปุ๋ย
หลังจากปลูกแล้ว 2-3 เดือน ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 24-12-12 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ หยอดรอบโคนต้น และให้อีกครั้ง 5-6 เดือน หลังปลูก โดยใช้การหว่านทั่วทั้งแปลงหรือหยอดรอบโคนต้นหากไม่แตกกอมาก

การเก็บใบเตย
หลังจากการปลูกแล้วประมาณ 8 เดือน ก็สามารถเริ่มเก็บใบเตยได้ โดยมีวิธีเก็บใบเตย 2 แบบ คือ
– แบบไว้หน่อ คือ ให้เก็บใบเตยด้วยการใช้มีดตัดยอด โดยเลือกตัดเฉพาะต้นที่ใหญ่มากหรือต้นที่แก่สุด และให้เหลือกอหรือยอดที่เล็กไว้ ซึ่งเพียง 4-5 เดือน ก็สามารถเก็บใบหรือยอดเตยได้อีกครั้ง วิธีนี้ เกษตรกรนิยมทำมากที่สุด
– แบบไม่ไว้หน่อ คือ การใช้มัดตัดต้นเตยทั้งหมดออก เหลือเพียงเหง้าหรือโคนต้นตอไว้ เพื่อให้แตกหน่อใหม่ วิธีนี้ ไม่ค่อยนิยมนัก เพราะต้องรอให้เตยแตกหน่อ และดูแลให้เติบโต ซึ่งกว่าจะเก็บใบได้ก็ต้องใช้เวลานานขึ้น

เอกสารอ้างอิง
untitled