เกษตรอินทรีย์ และการทำเกษตรอินทรีย์

Last Updated on 13 กรกฎาคม 2016 by puechkaset

เกษตรอินทรีย์ หมายถึง ระบบการผลิตทางการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ใดๆที่อาจจะเกิดการปนเปื้อนต่อทรัพยากรดิน น้ำ และสิ่งมีชีวิต รวมถึงสุขภาพของมนุษย์ ด้วยการสร้างสมดุลของทรัพยากรให้เป็นไปตามธรรมชาติ และร่วมจัดการให้เกิดความยั่งยืนต่อทรัพยากร และผลผลิตนั้นๆ

เกษตรอินทรีย์กับเกษตรรูปแบบอื่น
เกษตรอินทรีย์ เป็นวิธีที่ใช้ในกระบวนการผลิต ที่มักใช้ร่วมกับรูปแบบการเกษตรอื่นๆ อาทิ เกษตรแบบผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่ง 2 รูปแบบนี้ ถือเป็นการเกษตรในเชิงแบบแผนหรือการวางโครงสร้าง ส่วนเกษตรอินทรีย์จะเป็นเกษตรในเชิงวิธีการผลิต ซึ่งจะนำไปใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ในด้านการไม่พึ่งสารเคมีสังเคราะห์ ด้วยการใช้วัสดุอินทรีย์ที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆเป็นหลัก

ส่วนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือ บางท่านนำมาประยุกต์เรียก เกษตรพอเพียง ถือเป็นหลักการทำการเกษตรที่มองในองค์รวม ทั้งแบบแผน และกระบวนการผลิต (เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน และเกษตรทฤษฎีใหม่) การจัดการผลผลิต (การบริโภค และการจำหน่าย) และการบริหารจัดการตัวของเกษตรกรเอง (การใช้จ่าย และควบคุมปัจจัยการผลิต)

เกษตรอินทรีย์1

หลักการเกษตรอินทรีย์
สหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ ได้นิยามหลักการของการทำเกษตรอินทรีย์ไว้ 4 ด้าน ได้แก่
1. ด้านสุขภาพ (health)
เกษตรอินทรีย์ เป็นรูปแบบการเกษตรที่ส่งเสริมสุขภาพของทรัพยากรให้มั่นคง อันหมายถึง การมีดินที่อุดมสมบูรณ์ที่ส่งเสริมต่อการเติบโตของพืชสำหรับใช้เป็นอาหารของสัตว์ และมนุษย์ สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกันจึงส่งผลต่อกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ ดินที่ปราศจากสารพิษก็ย่อมไม่มีสารพิษในพืช พืชที่ไม่มีสารพิษทั้งที่มาจากดินหรือการฉีดพ่นของมนุษย์ ก็ย่อมทำก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสัตว์หรือมนุษย์ที่รับประทานเข้าไป

2. ด้านนิเวศวิทยา (ecology)
เกษตรอินทรีย์ เป็นรูปแบบการเกษตรที่เกื้อหนุนให้ทรัพยากรในระบบนิเวศวิทยาดำเนินตามวัฏจักรที่เป็นไปตามธรรมชาติ และเกิดการต่อเนื่องสมดุลกัน ทรัพยากรแต่ละอย่างทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยจนทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล ทั้งทรัพยากรดิน น้ำ จุลินทรีย์ และสัตว์ ดังนั้น การทำการเกษตรใดๆจะต้องเกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ ทั้งระบบนิเวศในแปลงเกษตร และภายนอกแปลงเกษตรเช่นกัน อาทิ ดินมีคุณภาพต่อการเติบโตของพืชอันมีน้ำฝน และน้ำชลประทานที่เพียงพอ รวมถึงการเกื้อหนุนจากสัตว์ และแมลงที่ช่วยในการเติบโตของพืช โดยมีมนุษย์คอยจัดการให้เกิดการเกื้อหนุนต่อระบบนิเวศนั้นๆ

3. ด้านความเป็นธรรม (fairness)
เกษตรอินทรีย์ ช่วยส่งเสริมในด้านความเป็นธรรมของทรัพยากร อันหมายถึง การส่งเสริมความเป็นธรรมในสิทธิของชนิดทรัพยากร สิทธิของมนุษย์ต่อการกระทำ และการใช้ทรัพยากร และสิทธิของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเองในการบริโภคทรัพยากรนั้นๆ
– สิทธิของชนิดทรัพยากร ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดความสมดุลของชนิดทรัพยากร ไม่มีชนิดใดมากเกินไปหรือน้อยจนเสียสมดุล
– สิทธิของมนุษย์ต่อการกระทำ และการใช้ทรัพยากร ได้แก่ การส่งเสริมให้เกิดการเกษตรที่ไม่ทำให้ทรัพยากรเกิดการเสื่อมสภาพ และการใช้ทรัพยากรนั้นๆอย่างพอเพียง
– สิทธิของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกันเองในการบริโภคทรัพยากร ได้แก่ การเคารพในสิทธิของคนอื่นต่อการใช้ทรัพยากรที่เขาครอบครองหรือร่วมแบ่งปันทรัพยากรอย่างเที่ยงธรรม

4. ด้านการดูแลเอาใจใส่ (cares)
การทำเกษตรอินทรีย์ มิใช่จะปล่อยให้ธรรมชาติจัดการเองในทุกเรื่อง แต่เกษตรกรหรือผู้ทำเกษตรอินทรีย์เองจะคอยร่วมจัดการ และส่งเสริมให้เกิดความสมดุลขึ้นในระบบ อันประกอบด้วยการเอาใจใส่ในกระบวนการผลิตที่ต้องคอยเกื้อหนุนให้ทรัพยากรทั้งดิน น้ำ และสัตว์อื่นๆเกิดความสมดุล และเกิดปลอดภัยในการทำเกษตรนั้น อันได้แก่ ไม่ใช้สารเคมีที่มีผลต่อทรัพยากรในระบบ หรือส่งเสริมให้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษในผลผลิต ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นกระบวนการแรกที่ทำให้เกษตรกรเกิดจิตสำนึก และเอาใจใส่ต่อคุณภาพของผลิต อันปราศจากการปนเปื้อนหรือตกค้างของสารใดๆที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบปลูกพืช
1. ดิน และปุ๋ย
– เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่หาได้ง่าย ได้แก่ ปุ๋ยคอก ทั้งจากมูลโค มูลกระบือ มูลไก่ รวมถึง ปุ๋ยหมักจากพืช แกลบ แกลบดำ ขี้เลื่อย เป็นต้น
– ใช้วัสดุอินทรีย์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นเป็นปุ๋ยสด เช่น เศษพืชหลังการเก็บเกี่ยว เศษใบไม้ เป็นต้น
– เน้นการใช้ปุ๋ยพืชสด โดยเฉพาะการปลูกพืชตระกูลถั่วต่างๆ เช่น ปอเทือง
– ใช้หินแร่เป็นแหล่งเสริมธาตุอาหาร และปรับปรุงดิน อาทิ แร่ยิปซัม หินฟอสเฟต เปลือกหอยเผา และปูนขาว เป็นต้น
– หลีกเลี่ยงการเผาตอซัง และวัสดุอินทรีย์ ซึ่งอาจทำให้จุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตในดินตายได้ รวมถึงจะเป็นการเร่งการเสื่อมสภาพของดินให้เร็วขึ้น
– ปลูกพืชคลุมดินรอบๆแปลงเกษตร เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน และการไหลออกของดินสู่พื้นที่อื่น
– ไถพรวนดิน 1-2 ครั้งต่อรอบการผลิต ไม่ควรไถมากกว่านี้ เพราะอาจเร่งการชะล้างปุ๋ยออกนอกพื้นที่ได้
2. น้ำ
– จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอ ทั้งน้ำจากโครงการชลประทาน และน้ำจากบ่อที่ขุดเอง
– หลีกเลี่ยงการใช้น้ำที่มาจากแหล่งชุมชน หรือแหล่งอุตสาหกรรมมารดพืชในแปลงเกษตร ซึ่งอาจทำให้พืชผักเกิดปนเปื้อนสารเคมีได้
3. อากาศ
สำหรับการปลูกพืชผักมักไม่ค่อยพบปัญหาทางด้านมลพิษนัก แต่จะพบมากบริเวณพื้นที่รอบชุมชนเมือง ชุมชนอุตสาหกรรม ดังนั้น โอกาสที่พืชจะปนเปื้อนสารเคมีจึงเป็นไปได้สูง แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้แนวทางดังนี้
– การปลูกไม้ยืนต้นล้อมรอบแปลงเกษตร เพื่อเป็นเกาะกำบังฝุ่นหรือสารพิษ
– สร้างโรงเรือนระบบปิดเพื่อใช้สำหรับปลูกพืช
นอกจากปัญหาในเรื่องมลพิษทางอากาศแล้ว การส่งเสริมเพื่อเพิ่มผลผลิตที่เกี่ยวข้องในด้านอื่น ได้แก่
– การจัดแนวปลูกในทิศขวางตะวัน
– การจัดแนวปลูกในทิศตามลม
– การปลูกพืชอื่นล้อมรอบ เพื่อให้ความชื้น และรักษาความชื้นของอากาศรอบแปลงเกษตร
4. พืช และโรค/แมลง
– หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช กำจัดศัตรูพืชทุกชนิด
– เน้นการใช้สารสกัดหรือน้ำต้มจากสมุนไพร อาทิ สะเดา ดาวเรือง บอระเพ็ด ตะไคร้หอม เป็นต้น สำหรับฉีดพ่นป้องกันโรค และแมลงต่างๆ
– ปล่อย และส่งเสริมการเพิ่มจำนวนของตัวห้ำ ตัวเบียนเพื่อช่วยในการควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น นก แตน ต่อ และแมลงปอ เป็นต้น
– ใช้เชื้อราในการฉีดพ่นเพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เชื้อราเบอร์บิวเรีย เป็นต้น
5. ผลผลิต
– หลีกเลี่ยงการฉีดหรือพ่นรมควันด้วยสารเคมี สำหรับป้องกันด้วงแมลงในเมล็ดธัญพืช แต่เน้นในเรื่องการจัดการแทน อาทิ การเก็บในโรงเรือนปิด การจัดสร้างโรงเรือนที่ถ่ายเทอากาศได้ดี เป็นต้น
– หลีกเลี่ยงการใช้สารฟอกขาว
– หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเร่งการสุกของผลไม้
– หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเคลือบผิวผักผลไม้

เกษตรอินทรีย์

สารกำจัดศัตรูพืช

การทำเกษตรอินทรีย์ในระบบเลี้ยงสัตว์
1. ดิน
– การรองพื้นดินในคอกสัตว์ ควรใช้วัสดุอินทรีย์ที่หาได้ในท้องถิ่น อาทิ แกลบ ฟางข้าว เป็นต้น
– หากพื้นคอกสัตว์มีปัญหาในเรื่องกลิ่นเหม็น ให้ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ผสมน้ำราดหรือใช้น้ำหมักชีวภาพราด
2. น้ำ และอาหาร
– น้ำดื่มของสัตว์ควรได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติมากที่สุด อาทิ น้ำประปา น้ำจากบ่อน้ำ น้ำฝน น้ำบ่อบาดาลหรือน้ำบ่อตื้นใต้ดิน ซึ่งจะต้องมีลักษณะใสสะอาด
– หญ้าหรืออาหารของสัตว์ต้องได้มาจากแหล่งที่ไม่ฉีดสารกำจัดวัชพืช และหากปลูกหญ้าหรือสามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ด้วยตนเองยิ่งดี เพราะสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงจากสารเคมีปนเปื้อนได้มาก
– หลีกเลี่ยงการใช้อาหารสำเร็จรูป เพราะอาจมีสารเคมีเจือปน เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปจะผลิตด้วยวัตถุดิบที่รับซื้อมาจากเกษตร ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ที่ปลูกพืชอาหารสัตว์มักจะใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นสำคัญ
– อาหารสัตว์ควรใช้วัสดุอินทรีย์ที่หาได้ในพื้นที่ อาทิ ข้าวโพด รำ ต้นกล้วย เป็นต้น
– ให้เสริมสมุนไพรในอาหารหรือในน้ำดื่มแก่สัตว์เลี้ยงเป็นประจำ อย่างน้อยเดือนละ 2-3 ครั้ง
– สัตว์เลี้ยงบางชนิดควรปล่อยเลี้ยงให้หากินตามธรรมชาติ อาทิ โค กระบือ เป็ด ไก่ เป็นต้น
3. อากาศ และโรงเรือน
– การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับแหล่งมลพิษ ให้ทำโรงเรือนล้อม เพื่อป้องกันมลพิษ และเพื่อเป็นที่พักอาศัยของสัตว์
– หากเป็นโรงเรือนปิด ควรติดตั้งระบบสเปรย์ไอน้ำ และพัดลมระบายอากาศสำหรับปรับอุณหภูมิตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. สัตว์เลี้ยง
– หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะมักจะตกค้างในเนื้อเยื่อสัตว์ได้ ให้ใช้สมุนไพรผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่ระยะแรกรุ่น เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค
– หลีกเลี่ยงการใช้ยาหรือสารกระตุ้นผลผลิตต่างๆ อาทิ สารกระตุ้นการเติบโต สารเร่งเนื้อแดง ยาเร่งการติดสัต เป็นต้น
– การใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิดสามารถใช้ได้ แต่ควรใช้ในปริมาณจำกัด เช่น วัคซีนสัตว์ ยาถ่ายพยาธิ ยารักษาโรคบางชนิดที่สมุนไพรไม่สามารถรักษาได้ เป็นต้น
5. ผลผลิต
– หลีกเลี่ยงการใช้ฟอร์มาลีนในการแช่เพื่อรักษาเนื้อสัตว์ไม่ให้เน่า
– หลีกเลี่ยงการใช้สารเร่งเนื้อแดง
– หลีกเลี่ยงการยัดไส้เพื่อให้น้ำหนักเพิ่ม

การเลี้ยงไก่

การเลี้ยงปลา1

การเลี้ยงปลา

ข้อดีการทำเกษตรอินทรีย์
1. ด้านสิ่งแวดล้อม
– ช่วยสร้างสมดุลของทรัพยากรในระบบนิเวศโดยรอบ
– ช่วยสร้างความหลากหลายของชนิดทรัพยากรในพื้นโดยรอบแปลงเกษตร
– ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในดิน น้ำ และพืช

2. สุขภาพ
– ลดความเสี่ยงจากพิษของสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมากับพืช และสัตว์
– ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานที่ดี

3. อาหาร และความมั่นคงทางอาหาร
– สามารถสร้างอาหารที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชน ได้แก่ ผลผลิตไม่มีสารตกค้าง ผลผลิตมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ไม่มีโรค ไม่มีแมลง เป็นต้น
– สามารถสร้างความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรที่มีผลต่อการผลิต ได้แก่ ทรัพยากรดินมีความสมบูรณ์ ทรัพยากรน้ำไม่เน่าเสียหรือไม่มีสารปนเปื้อน และสิ่งมีชีวิตมีความหลายหลาย และมีปริมาณที่สมดุลกัน
– สร้างความหลากหลายของอาหาร ด้วยการปลูกพืชหลายชนิดตามฤดูกาล และตามปัจจัยที่มีจำกัด เช่น ในนาปลูกข้าว คันนาปลูกกล้วย บ่อน้ำเลี้ยงปลา เป็นต้น
– สามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาล ด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนตามปัจจัยที่มีจำกัด เช่น หน้าฝนปลูกข้าว หน้าหนาวปลูกถั่ว เป็นต้น
– รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

4. รายได้
การทำเกษตรอินทรีย์ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ช่วยให้มีรายได้ที่สูงขึ้นตามมา เนื่องจาก ประชาชนทุกวันนี้หันมาให้ความใส่ใจทางด้านสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกินที่ต้องปราศจากสารพิษใด ดังนั้น การเลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตร ประชาชนจึงมักเลือกซื้อผลิตจากแปลงเกษตรอินทรีย์มากกว่าการเกษตรในรูปแบบอื่นที่มีสารเคมีมาเกี่ยวข้อง นอกจากนั้น หากได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ก็ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือในผลผลิตมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเกษตรกรรายเดี่ยว กลุ่มเกษตรกร และหน่วยงานผู้ประกอบการ

รายได้ส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการขายสินค้าได้มากแล้ว ยังเป็นผลมาจากการประหยัดต้นทุนการผลิต เนื่องจากรูปแบบเกษตรอินทรีย์ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี หรือสารกำจัดศัตรูพืช แต่จะใช้ทรัพยากรที่หาได้ในท้องถิ่นแทน ซึ่งมีราคาถูกหรือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อาทิ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด สารสกัดจากพืชสำหรับฉีดป้องกันแมลง เป็นต้น

5. ด้านสังคม
– รู้จักฝึกตนให้เป็นคนขยัน มีมานะอุตสาหะต่อการทำงานหนัก เพราะระบบเกษตรอินทรีย์จะต้องมีภาระที่เกษตรกรต้องจัดการ และเอาใส่ด้วยตนเองมากขึ้น
– เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่อาศัย และเกื้อกูลต่อธรรมชาติมากขึ้น หันมาบริโภคอาหารจากธรรมชาติมากขึ้น หันมาใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมากขึ้น ลดการพึ่งปัจจัยการผลิตภายนอก ทั้งปุ๋ยเคมี ยากำจัดศัตรูพืช และสารอื่นๆ
– เกษตรกรรู้จักพึ่งพาอาศัยกันทั้งขั้นตอนการผลิต การหาปัจจัยช่วยในการผลิต และการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้จำหน่ายได้มากขึ้น ซึ่งอาจผ่านทางการรวมกลุ่มของเกษตรกรหรืการแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิต และผลผลิตระหว่างเกษตรกรเอง
– เกิดการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ชุมชน และสังคมในการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งดิน และน้ำ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการผลิต และการจัดการผลผลิต
– เกิดจิตสำนึก รู้เห็นคุณค่าของทรัพยากรในธรรมชาติมากขึ้น

ข้อด้อยการทำเกษตรอินทรีย์
1. ผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์จะให้ปริมาณน้อยกว่าระบบเกษตรที่ใช้สารเคมี สิ่งนี้มักเกิดจากดินขาดความอุดมสมบูรณ์ การใส่ปุ๋ยที่เป็นวัสดุอินทรีย์เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอต่อความต้องการธาตุอาหารของพืช ดังนั้น เมื่อเทียบกับเกษตรที่ใช้ปุ๋ยเคมีก็ย่อมที่จะให้ผลผลิตที่ต่ำกว่า อีกทั้ง การใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ได้จากธรรมชาติมักไม่ได้ผลในแมลงศัตรูพืชบางชนิด
2. คุณภาพของลักษณะผลผลิตมักด้อยกว่าเกษตรที่มีการใช้สารเคมี อาทิ ปัญหาผลิตมีรอยกัดกินของแมลง ผลผลิตเน่าเสียง่าย ผลผลิตมีรูปทรงหรือสีสันไม่สดใส เป็นต้น