หญ้าเจ้าชู้ ประโยชน์ และสรรพคุณหญ้าเจ้าชู้

Last Updated on 6 ตุลาคม 2016 by puechkaset

หญ้าเจ้าชู้ มี 2 ชนิด คือ หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก และหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 ชนิด จัดเป็นวัชพืชสำคัญที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมล็ดมีลักษณะเป็นหนามแหลมที่สามารถเกาะติดกับเสื้อผ้า และร่างกายสัตว์ ทำให้นำพาเมล็ดแพร่กระจายไปสู่ท้องที่อื่นได้รวดเร็ว

หญ้าเจ้าชู้ เป็นชื่อเรียกชนิดหญ้าที่มีลักษณะเด่นของเมล็ดที่สามารถเกาะติดกับเสื้อผ้าคนเราหรือร่างกายสัตว์ เพื่อช่วยให้แพร่กระจายพันธุ์ไปตามสถานที่ต่างๆได้รวดเร็วขึ้น แบ่งออกเป็น
1. หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก (Chrysopogon aciculatus (Retz.) Trin.)
2. หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ (Chrysopogon orientalis)

หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก
หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็กสามารถพบได้ทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา ทั้งในแปลงนา คันนา และพื้นที่รกร้างต่างๆ ทั้งในที่ลุ่ม และที่ดอน แต่ไม่ค่อยพบในไร่ที่เป็นพื้นที่สูง ซึ่งต่างจากหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ที่พบได้มากบนพื้นที่ไร่ ทั้งนี้ หญ้าชนิดนี้ จะเติบโตในช่วงฤดูฝน และเมล็ดแก่พร้อมแพร่กระจายได้ตั้งแต่ปลายฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว หลังจากนั้น ลำต้นจะเหี่ยวแห้ง และตายในฤดูแล้ง แต่หากลำต้นเติบโตใกล้แหล่งน้ำก็จะมีอายุต่อไปจนถึงฤดูฝนในปีถัดไป

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%81

• วงศ์: Poaceae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysopogon aciculatus (Retz.) Trin.)
• ชื่อท้องถิ่น :
ภาคกลาง และทั่วไป
– หญ้ากล่อน
– หญ้าขี้ครอก
– หญ้านกคุ่ม
ภาคเหนือ
– หญ้าก่อน
ภาคใต้
– หญ้ากะเตรย
– หญ้าขี้เตรย
ภาคตะวันออก
– หญ้านํ้าลึก

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก มีลักษณะลำต้นกึ่งเลื้อยที่มีอายุมากกว่า 1 ปี เมื่อลำต้นยาวจะทอดเลื้อยตามพื้นดิน ความยาวลำต้นประมาณ 15-25 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้อง บริเวณข้อมีกาบใบหุ้ม และแตกรากได้

%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%81

ใบ
ใบหญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก ประกอบด้วยส่วนของกาบใบที่หุ้มลำต้น สีเขียวอมม่วง มีขนปกคลุม ยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ส่วนแผ่นใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม กว้างประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ ยาว 3-8 ซม. แผ่นใบ และขอบใบเรียบ แต่มีขนปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ

ดอก
ส่วนที่เห็นของหญ้าเจ้าชู้ที่ชูขึ้นสูงนั้น คือ ก้านช่อดอก มีขนาดเล็ก กลม สีเขียวอมม่วงหรือม่วงแดง โคนก้านใหญ่ ปลายก้านเรียวเล็กลง ขนาดก้านประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตรยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกออกเป็นกระจุกเรียงวนรอบก้านเป็นชั้นๆ ประมาณ 6-8 ชั้น ชั้นแรกๆมีจำนวนดอกมาก 8-12 ดอก ส่วนชั้นปลายยอดมีจำนวนดอกน้อยจนเหลือประมาณ 2 ดอก

ตัวดอกประกอบด้วยก้านดอกขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนดอกจะมีกาบช่อดอกด้านล่างเป็นรูปหอก ค่อนข้างแบน ส่วนกาบบนแยกออกเป็น 2 ยอด ปลายยอดแหลม

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b9%87%e0%b8%811

เมล็ด
เมล็ดหญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก มีลักษณะอวบตรงกลาง มีโคนเมล็ด และปลายเมล็ดเรียวแหลม ขนาดเมล็ดประมาณ 2 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีม่วง โดยส่วนปลายเมล็ดปริแยกออกเป็น 2 ง่าม เรียวแหลม คล้ายหนาม ซึ่งทำหน้าที่สำหรับเสียบปักติดกับเสื้อผ้าหรือร่างกายสัตว์

หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่
หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ พบได้ทั้งในที่ลุ่ม และที่ดอน รวมถึงที่ไร่ แต่ส่วนมากจะพบตามที่ไร่ โดยเฉพาะไร่มันสำปะหลัง และไร่อ้อย ซึ่งจัดเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี มีอายุเติบโตข้ามปีจนถึงฤดูแล้งได้

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chrysopogon orientalis
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่
– พุ่งชู้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ สามารถแตกต้นใหม่จากเหง้าเป็นกอใหญ่ได้ แต่ละต้นมีความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อปล้องห่างๆ

ใบ
ใบหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่มีลักษณะเรียวยาว ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร แผ่นใบมีสีเขียวอ่อน และมีขนปกคลุม เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ

ดอก
ดอกหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกแทงออกจากกลางยอดของลำต้น มีความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร โดยมีส่วนยอดเป็นช่อดอก ยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ที่ประกอบด้วยดอกย่อยเรียงซ้อนกันแน่นล้อมรอบปลายช่อดอก ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีเขียวอ่อนอมขาว และมีหนามแหลมอ่อนปกคลุมทั่ว ซึ่งเมื่อแก่จะกลายเป็นหนามแข็งที่หุ้มเมล็ดไว้

%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%8a%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%88

เมล็ด
เมล็ดหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่มีลักษณะเช่นเดียวกันกับดอก มีเปลือกหุ้มเมล็ดเป็นหนามแหลมคม ด้านในเป็นที่อยู่ของเมล็ด

ประโยชน์หญ้าเจ้าชู้
1. หญ้าเจ้าชู้ที่ยังไม่แทงช่อดอก ใช้สำหรับเป็นอาหารของโค กระบือ หรือสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆ โดยเฉพาะหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ที่มีขนาดลำต้นเป็นกอใหญ่สามารถเป็นอาหารหยาบได้ดีกว่าหญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก
2. หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็กมีลำต้นกึ่งเลื้อย สามารถเป็นหญ้าที่ใช้ปกคลุมดิน ป้องกันการกัดเซาะหน้าดินได้ดี

สรรพคุณของหญ้าเจ้าชู้
ราก และลำต้น รวมทั้งก้านช่อดอก ใช้ต้มดื่ม
– แก้ท้องเสีย
– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
– ถอนพิษบางชนิด
– แก้ปวดข้อ
ฝัก และเมล็ด
– ช่วยขับพยาธิตัวกลม

ข้อเสียหญ้าเจ้าชู้
1. หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็กมีเมล็ดที่มีปลายแหลม แต่ไม่แข็งคม ส่วนหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่มีเมล็ดที่ปกคลุมด้วยหนามแข็ง และแหลมคม ทำให้เมล็ดของหญ้าทั้งสองชนิดสามารถปักทิ่ม และเกาะติดตามกางเกง และเสื้อผ้าได้ ทำให้ต้องคอยเก็บออกจากเสื้อผ้าปล่อยครั้ง และบ่อยครั้งที่เมล็ดสามารถปักทิ่มทะลุกางเกง และเสื้อผ้าได้ จนส่วนแหลมปักทิ่มร่างกาย ทำให้รู้สึกเจ็บ และรำคาญได้
2. เมล็ดหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่เป็นหนามแข็งปกคลุม สามารถปักทิ่มมือ เท้า และผิวหนังได้ เมื่อถูกทิ่มจะรู้สึกเจ็บปวดทันที และหากทิ่มลึกจะทำให้เลือดออกได้ ซึ่งมักพบ เด็กบางท้องที่มีการใช้เมล็ดหญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่ขว้างแกล้งกันเล่นในบ่อยครั้ง
3. เมล็ดหญ้าเจ้าชู้ต้นเล็ก สามารถปักทิ่มลงทะลุกางเกง และเสื้อผ้า ทำให้การหยิบจับออกด้วยมือเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีวิธีที่ช่วยเอาออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีวิธีเอาเมล็ดหญ้าเจ้าชู้ออกตามความลึกที่ทิ่มลง ได้แก่
– เมล็ดทิ่มเกาะบริเวณผิวหน้าเสื้อผ้า สามารถใช้มือหยิบจับออกได้
– เมล็ดทิ่มลงลึก แต่ไม่ทะลุ สามารถใช้มีดขูดออกได้ง่าย และเอาออกได้ทั้งหมด
– เมล็ดที่ทิ่มทะลุถึงอีกข้างของเสื้อผ้า สามารถใช้มีดขูดออกได้มาก แต่บางส่วนจะติดแน่น ต้องใช้แหนบช่วยคีบออกถึงจะออกหมดได้
4. หญ้าเจ้าชู้ต้นเล็กไม่ค่อยพบตามแปลงนาที่มีน้ำขัง เพราะเป็นหญ้าไม่ทนต่อน้ำท่วม แต่พบตามคันนา หรือ แปลงที่ดินว่าง ซึ่งเติบโต และแพร่กระจายคลุมหญ้าชนิดอื่นไม่ให้ขึ้นได้ ทำให้มีหญ้าชนิดอื่นสำหรับเป็นอาหารเลี้ยงโค กระบือได้น้อยลง
5. หญ้าเจ้าชู้ต้นใหญ่จะพบมากตามที่ดอน และพื้นที่ไร่ โดยเฉพาะไร่อ้อย และไร่มันสำปะหลัง ซึ่งถือเป็นวัชพืชสำคัญที่คอยแย่งอาหารจากพืชที่ปลูก อีกทั้ง เมล็ดที่ร่นลงแปลงมักทิ่มแทงเท้าให้เจ็บปวดได้ง่าย หากไม่สวมใส่รองเท้า โดยเฉพาะในช่วงเตรียมแปลง

ขอบคุณภาพจาก www.bloggang.com