หญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง ประโยชน์ และข้อเสียหญ้าข้าวนก

Last Updated on 23 พฤศจิกายน 2022 by puechkaset

หญ้าข้าวนก หรือ หญ้าพุ่มพวง (Bamyard grass) จัดเป็นวัชพืชที่สำคัญในนาข้าว เป็นวัชพืชที่คล้ายต้นข้าวมาก ทำให้ยากต่อการกำจัดด้วยมือ เพราะแยกแยะยาก พบได้ทั่วไปตามพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำขังในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะในนาข้าวที่เติบโตพร้อมกับต้นข้าว แพร่กระจายได้เร็ว ทนต่อดินเค็ม ดินเปรี้ยวได้สูง

• วงศ์ : Poaceae หรือ Gramineae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Echinochloa crus-galli (L.) Beauv.
– คำว่า Echinnochloa มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก จากคำว่า Echinos หมายถึง hedgehog หรือแปลว่า แหลม ส่วนคำว่า chloa หมายถึง grass หรือแปลว่า หญ้า
• ชื่อสามัญ :
– Bamyard grass
– Bamyard millet
– Chicken panic grass
– Cook’s foot baronet
– Baronet grass
– Water grass
• ชื่อท้องถิ่น :
– หญ้าข้าวนก
– หญ้าปล้องละมาน
– หญ้าไข่แมงดา
– หญ้าปล้อง
– หญ้าวัง
– หญ้าพุ่มพวง
– หญ้าหางวัว

ที่มา : [1], [2]

การแพร่กระจาย
หญ้าข้าวนก ไม่มีหลักฐานที่ระบุถิ่นกำเนิดที่แน่นอน บ้างก็สันนิษฐานว่าเป็นพืชท้องถิ่นในเอเชียกลางหรือเอเชียตะวันออก บ้างก็ระบุว่ามีแหล่งกำเนิดในยุโรปตะวันออก แล้วแพร่กระจายมาสู่ประเทศเขตร้อนชื้น และเขตหนาว [1] อ้างถึงใน Holm และHerberger (1970), Salisbury (1961)

หญ้าข้าวนก พบแพร่กระจายในทุกภาค แต่พบมากในภาคกลาง และอีสาน เป็นพืชล้มลุกปีเดียว เติบโตในช่วงหน้าฝน พบมากในที่ลุ่ม ชอบขึ้นตามพื้นดินชื้นแฉะหรือมีสภาพน้ำขัง โดยเฉพาะในนาข้าว จนจัดเป็นวัชพืชสำคัญของนาข้าวชนิดหนึ่ง เป็นหญ้าที่เติบโตได้ในทุกสภาพดิน ทนต่อดินเค็ม และดินเปรี้ยวได้สูง เพิ่มเติมจาก [2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
หญ้าข้าวนก มีลำต้นก่อนออกดอกคล้ายกับต้นข้าวมาก โดยเฉพาะต้นอ่อนที่ยังไม่ออกดอก ลำต้นต้นอ่อนจะห่อหุ้มด้วยกาบไม่ ยังไม่มองเห็นปล้องชัดเจน กาบหุ้มลำต้นอวบ คล้ายต้นข้าวมาก

ลำต้นหญ้าข้าวนก มีทรงกลม ตั้งตรง สูงเต็มที่ประมาณ 1.2 เมตร ลำต้นระยะแรกถูกหุ้มด้วยกาบใบ โคนลำต้นอวบใหญ่ เมื่อโตขึ้น โดยเฉพาะในระยะออกดอก ลำต้นจะสูงชะลูด มองเห็นเป็นข้อปล้อง และมีแต้มสีม่วงที่โคนข้อ ระยะนี้จะแยกจากต้นข้าวได้ชัดเจน และจะสูงกว่าต้นข้าว

ใบ
ใบหญ้าข้าวนก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกบริเวณข้อสลับข้างกันในแต่ละข้อ ในระยะแรกกาบใบอวบใหญ่ สีเขียวอมขาว คล้ายกาบใบต้นข้าว แต่มีแต้มสีม่วงที่โคนกาบ แผ่นใบเป็นลูกคลื่น เมื่อถึงระยะออกดอกกาบใบจะเรียวเล็ก และสั้น ไม่มีเยื่อกั้นน้ำบริเวณรอยต่อระหว่างใบกับกาบใบ (ใช้แยกจากต้นข้าว) แผ่นใบสอบแคบ และเรียวยาว ปลายใบแหลม ขนาดใบกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35-40 เซนติเมตร แผ่นใบมีเส้นกลางใบสีเขียวอมขาว

ดอก
หญ้าข้าวนก ออกดอกเป็นช่อแขนงที่ยอดลำต้น ช่อดอกระยะแรกจะตั้งตรง เมื่อดอกบาน ปลายช่อดอกจะโน้มลงเล็กน้อย ก้านช่อดอกค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร แต่ละช่อมีช่อยอ่อย 12-30 ช่อ แต่ละช่อย่อยยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร และมีกาบ 2 อัน ประกอบด้วยกาบล่างที่ยาวไม่ถึงครึ่งของก้านช่อ ส่วนกาบบน ยาวกว่า เกือบเท่าความยาวช่อ และมีขนปกคลุมตามขอบ แต่ละช่อย่อยจะมีดอกย่อยจำนวนมาก

%e0%b8%94%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%81

ดอกย่อยหญ้าข้าวนก มี 2 ชนิด คือ ชนิดแรกเป็นดอกหมัน มีกาบหุ้มยาว 3-3.5 มิลลิเมตร ปกคลุมด้วยขน และเป็นขนที่ยื่นยาวออกไปคล้ายหนวด ยาวประมาณ 5-10 มิลลิเมตร และมีกาบในยาว 2.5-3 มิลลิเมตร มีลักษณะบางใส ไม่มีขน ส่วนดอกชนิดที่ 2 เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกาบนอกหุ้ม ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ผิวกาบแข็ง และเรียบเป็นมัน ส่วนกาบในที่หุ้มจะยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร มีลักษณะบางใส และบางกว่ากาบนอก ส่วนกลีบดอกลดรูป มีขนาดเล็กมาก 2 อัน ถัดมาตรงกลางดอกเป็นเกสรตัวผู้ 3 อัน มีละอองเรณูสีส้ม ตรงกลางเป็นเกสรตัวเมีย อยู่บนรังไข่ โดยรังไข่มีขนาดเล็ก 2 อัน ปลายรังไข่มีขนสีม่วงปกคลุม

เมล็ด
เมล็ดหญ้าข้าวนก มีรูปไข่ เปลือกเมล็ดมีสีน้ำตาลอมเหลือง

ข้อแตกต่างหญ้าข้าวนกกับต้นข้าว
1. ระยะแรกจะแยกยาก แต่แยกได้ด้วยเยื่อกั้นน้ำบริเวณรอยต่อระหว่างใบกับกาบใบ โดยหญ้าข้าวนกจะไม่มีเยื่อนี้ ส่วนต้นข้าวจะมีเยื่อกั้นน้ำ และหากฉีกกาบหุ้มดูลำต้นภายในจะพบว่า หญ้าข้าวนกจะเป็นข้อปล้องห่าง ปล้องทรงกลม เหนียว ตัดเด็ดยาก ส่วนต้นข้าวจะมีข้อสั้นๆ ลำต้นอ่อน หักเด็ดง่าย
2. หญ้าข้าวนกที่โตเต็มที่ บริเวณโคนกาบหุ้ม และโคนข้อจะมีสีม่วงแต้ม ขณะที่ต้นข้าวไม่มี
3. เมื่ออยู่ในระยะออกดอก หญ้าข้าวนกจะมีลำต้นสูงกว่าต้นข้าว ซึ่งจะชูช่อดอกสูงเด่นชัดเจนกว่าต้นข้าว และจะออกดอกก่อนต้นข้าวเสมอ
4. ใบหญ้าข้าวนกที่โตเต็มที่จะสอบแคบ และเรียวยาวมากกว่าใบต้นข้าว

%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%81

ประโยชน์หญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง
หญ้าข้าวนก มีลำต้นสูง ใบใหญ่ คล้ายต้นข้าว เมล็ดนำมาหว่านในแปลง ก่อนเก็บเกี่ยวเป็นหญ้าเลี้ยงสัตว์ ทั้งโค กระบือ แพะ และแกะ

ข้อเสียหญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง
1. หญ้าข้าวนก มีลักษณะลำต้น และใบคล้ายกับต้นข้าว หากดูผิวเผินจะแยกแยะออกจากต้นข้าวยาก ต้องจับดูลำปล้องเปรียบเทียบกันจึงจะแยกแยะได้ ทำให้การกำจัดด้วยมือลำบาก จนเติบโต และแย่งอาหารจากต้นข้าว ทำให้ข้าวมีลำต้น และรวงข้าวเล็ก
2. หญ้าข้าวนกจะเติบโตพร้อมกับต้นข้าว แต่ลำต้นจะแก่ และเมล็ดจะร่วงลงดินก่อนเก็บเกี่ยวข้าว (ข้าวนาปี) เมล็ดที่ร่วงมีความทนต่อความแห้งแล้งได้ดีมาก และจะงอกใหม่ในฤดูปลูกข้าวต่อไป และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย หากไม่กำจัด

%e0%b8%ab%e0%b8%8d%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%99%e0%b8%811

การป้องกัน และกำจัดก่อนปลูกพืช
การไถตากหน้าดิน ไม่สามารถทำลายเมล็ดหญ้าหรือวัชพืชได้ แต่สามารถทำลายกล้าอ่อนได้ โดยปล่อยน้ำเข้าแปลงนาหรือขังน้ำจากน้ำฝนในแปลง 5-7 วัน จากนั้นปล่อยน้ำออก ให้เหลือน้ำเพียงผิวแปลงแล้วทิ้งไว้ 14-20 วัน วัชพืชชนิดต่างๆจะงอกขึ้นมาพร้อมกับต้นกล้าของหญ้าข้าวนกด้วย จากนั้น ทำการไถกลบแปลงให้ลึก เพื่อทำลายกล้าหญ้า หลังจากนั้น ทำการหว่านข้าวหรือปลูกพืชตามปกติ

การกำจัดด้วยสารกำจัดวัชพืช
ระยะก่อนงอก ได้แก่ พาราควอต และคอนเท็คซ์ (โคลมาโซล)
ระยะหลังงอก ได้แก่ ไกลโฟเซต และเลกาซี [3]

การปลูกหญ้าข้าวนก/หญ้าพุ่มพวง (หญ้าอาหารสัตว์)
หญ้าข้าวนกแพร่กระจายตามธรรมชาติด้วยเมล็ด หากต้องการปลูกจะใช้วิธีหว่านเมล็ดเป็นหลัก เมล็ดสามารถงอกได้ดีในความชื้นประมาณ 75-95% จะมีอัตราการงอกที่ 80% หากมีความชื้น 50% เมล็ดจะงอก 75%

หญ้าข้าวนกในประเทศญี่ปุ่นจะงอกไดดีในช่วงอุณหภูมิ 30-35 °C ส่วนเยอรมัน และสหรัฐอเมริกา จะงอกได้ดีที่อุณหภูมิ 20-30 °C ทั้งนี้ ความเป็นกรดด่างของดินที่เหมาะสมในการงอก 6.8-7.0 [1] อ้างถึงใน Arai และMayahara (1963), Brod (1985) นอกจากนั้น ค่า Eh ยังมีส่วนในการงอกของหญ้าข้าวนกเช่นกัน เช่น เมื่อดินมี ammonium nitrate จะช่วยให้เมล็ดมีอัตราการงอกสูงถึง 52% [1] อ้างถึงใน Kawahara และWakamasu (1964)

ส่วนแสงสว่าง ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการงอกเมล็ด และปัจจัยของออกซิเจน หากมีออกซิเจนรอบเมล็ด 20% จะช่วยให้อัตราการงอกได้สูงถึง 99% แต่หากออกซิเจนตำว่า 1% เมล็ดจะไม่งอก ทั้งนี้ เมล็ดหญ้าข้าวนกจะงอกได้น้อยเมื่อเมล็ดอยู่ลึกมาก เพราะจะขาดออกซิเจน และมีอัตราการงอกสูงสุดที่ความลึกประมาณ 3.75 เซนติเมตร [1]

ขอบคุณภาพจาก imgrum.net/, http://thailandweeds.myspecies.info/, chiangraifocus.com

เอกสารอ้างอิง
[1] ปรางแก้ว ศิริโยธา, ต่อศักดิ์ สิงห์เผ่น และปติภูมิ ธีรวณิชนันท์, 2549, การดูดซับแคดเมียมที่ปนเปื้อนในน้ำ-
โดยหญ้าข้าวนก หญ้าหนวดแมว และ หญ้าแดง.
[2] ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, หญ้าข้าวนก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://www.bedo.or.th/lcdb/biodiversity/view.aspx?id=10554/, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).
[3] http://allkaset.com/, หย้าข้าวนก, ออนไลน์, สืบค้นเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2560, เข้าถึงได้ที่ : http://allkaset.com/mobile/diseases/หญ้าข้าวนก.php?show=1/.