สะตอ สรรพคุณ และการปลูกสะตอ

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

สะตอ (Twisted cluster bean) เป็นไม้ตะกูลถั่วที่ชาวใต้นิยมปลูก และนำเมล็ดมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงนิยมรับประทานกับน้ำพริกเป็นหลัก ทั้งนี้ ราคาสะตอในปัจจุบันประมาณ 200-400 บาท/100 ฝัก ขึ้นกับฤดูว่ามีฝักสะตอออกสู่ตลาดมากน้อยเพียงใด

• วงศ์ : Leguminosae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Parkia speciosa Hassk.
• ชื่อสามัญ :
– Bitter bean
– Twisted cluster bean
– Stink bean
• ชื่อท้องถิ่น :
– สะตอ (ภาคกลาง และภาคใต้)
– ปะตา, ปัตเต๊าะ (จังหวัดชายแดนภาคใต้)
– ปาไต (สตูล)
– ตอ (ระนอง)
• ถิ่นกำเนิด : ภาคใต้ของไทย พม่าตอนล่าง มาเลเชีย และอินโดนีเชีย

สะตอข้าว

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สะตอเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีลำต้นสูงได้มากถึง 30 เมตร โคนต้นเป็นพูพอน รูปทรงลำต้นเพราตรง เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาล ผิวเปลือกแตกสะเก็ดขนาดเล็กหรือเป็นร่องตื้นๆขนาดเล็ก ลำต้นแตกกิ่งค่อนข้างน้อยจึงแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง กิ่งแตกมากบริเวณเรือนยอด

ใบ
ใบสะตอเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น คือ มีก้านใบหลักยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ที่ประกอบด้วยก้านใบย่อย 14-24 คู่ แต่ละก้านใบย่อยยาวประมาณ 2.2-6 เซนติเมตร มีใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน 30-38 คู่ ใบย่อยมีลักษณะเป็นขอบขนาน สีเขียวสดถึงเขียวเข้มตามอายุใบ แผ่นใบเรียบ ปลายใบมน มีติ่งเล็กตรงกลางของปลายใบ

ดอก
ดอกสะตอออกดอกเป็นช่อ ยาว 30-50 เซนติเมตร ขนาดช่อ 0.5-1 เซนติเมตร ส่วนดอกจะยาว 5-7 เซนติเมตร ขนาดดอก 2-4 เซนติเมตร ดอกประกอบด้วยกลีบดอกที่มีลักษณะเป็นหลอดเรียงติดกันในแนวตั้ง โคนดอกเป็นเกสรตัวผู้ ส่วนถัดมาเป็นเกสรชนิดสมบูรณ์เพศ ดอกจะเริ่มออกประมาณเดือนเมษายน และอีกประมาณ 70 วัน ก็สามารถเก็บฝักได้ และจะให้ฝักต่อเนื่องจนถึงอายุ 15-20 ปี

ดอกสะตอ

ผล และเมล็ด
ผลสะตอมักเรียกว่า ฝัก ที่มีลักษณะแบน มีทั้งชนิดที่เป็นฝักบิดเป็นเกลียว และชนิดที่แบนตรง ฝักยาวประมาณ 25-45 เซนติเมตร กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร เปลือกฝักอ่อนมีสีเขียว และค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่ ตรงกลางฝักเป็นที่อยู่ของเมล็ดที่เรียงซ้อนกันเป็นตุ่มนูน เมล็ดมีลักษณะคล้ายหัวแม่มือ หรือรูปรีค่อนข้างกลม ขนาดเมล็ดทั่วไป กว้างประมาณ 2.2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีเขียว ให้รสหวานมัน และมีกลิ่นฉุน และเมื่อแก่จะเริ่มเหลือง และดำในที่สุด ทั้งนี้ สะตอจะให้ฝักมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

สะตอ

พันธุ์สะตอ
พันธุ์สะตอที่นิยมรับประทานมี 2 พันธุ์ คือ สะตอข้าว และสะตอดาน แต่แบ่งได้ 3 พันธุ์ คือ
1. สะตอข้าว (Figure 1A)
สะตอข้าวมีลักษณะเด่น คือ ฝักบิดเป็นเกลียว อาจเป็นฝักสั้นหรือยาว ความยาวฝักประมาณ 30-35 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร แต่ละช่อมีฝักประมาณ 5-20 ฝัก แต่ละฝักมีจำนวนเมล็ด 10-20 เมล็ด/ฝัก เนื้อ เมล็ดมีกลิ่นไม่ฉุนมาก เนื้อกรอบ ไม่แข็ง ให้รสหวานมัน หลังจากปลูก 3-5 ปี จึงเริ่มติดฝัก

2. สะตอดาน (Figure 1B)
สะตอดานมีลักษณะเด่น คือ ฝักจะค่อนข้างแบน และตรง ไม่บิดเป็นเกลียวเหมือนสะตอข้าว ฝักยาวประมาณ 30-35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 3.8-4.2 เซนติเมตร แต่ละช่อมีฝักประมาณ 5-15 ฝัก จำนวนเมล็ดต่อฝัก 10-20 เมล็ด เนื้อเมล็ดมีกลิ่นค่อนข้างฉุน และฉุนมากกว่าสะตอข้าว รวมถึงเนื้อเมล็ดมีรสเผ็ด เนื้อค่อนข้างแน่นแน่นมากกว่าสะตอข้าว หลังปลูกแล้ว 5-7 ปี จึงเริ่มติดฝัก

3. สะตอแตหรือสะตอป่า
สะตอแตหรือสะตอป่า เป็นสะตอที่พบได้ในป่าลึก ไม่ค่อยพบตามสวนหรือตามบ้านเรือน เพราะไม่นิยมปลูก แต่เชื่อว่าเป็นพันธุ์สะตอดั้งเดิมของสะตอข้าว และสะตอดาน ฝักมีลักษณะ เล็ก และสั้น เนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็ง เนื้อให้รสไม่อร่อย

ลักษณะ

สะตอข้าว

สะตอดาน

1. ทรงพุ่ม ขนาดกลาง ค่อนข้างใหญ่
2. อายุเริ่มออกผล 3-5 ปี 5-7 ปี
3. จำนวนฝักต่อช่อ 5-20 ฝัก 5-15 ฝัก
4. ขนาดฝัก ฝักยาว 30-35 เซนติเมตร และกว้าง 3.5-4 เซนติเมตร ฝักยาว 30-35 เซนติเมตร และกว้าง 3.8-4.2 เซนติเมตร
5. ลักษณะฝัก ฝักเป็นเกลียว และเมล็ดขยายชิดขอบฝัก ไม่บิดเป็นเกลียวหรือบิดน้อยมาก และเมล็ดห่างขอบฝัก
6. สีของฝัก/เนื้อฝัก สีเขียวอ่อน เนื้อเมล็ดนิ่ม สีเขียวแก่ เนื้อเมล็ดค่อนข้างแข็งกระด้าง
7. จำนวนเมล็ดต่อฝัก 10-20 เมล็ด/ฝัก 10-20 เมล็ด/ฝัก
8. ขนาดเมล็ด ค่อนข้างเล็ก ใหญ่
9. ลักษณะเมล็ด ค่อนข้างเรียบ มีลักษณะย่น
10. ช่องว่างเมล็ด น้อย มาก
11. ความแน่นเนื้อเมล็ด นิ่ม ไม่ค่อนแน่น เนื้อแน่น ค่อนข้างแข็ง
12. กลิ่น ไม่ค่อยฉุน ฉุนถึงฉุนจัด
13. รสชาติ ให้รสมัน หวาน ให้รสมันเล็กน้อย และเผ็ดร้อน

ประโยชน์ของสะตอ
1. เมล็ดสะตอนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูผัดต่างๆ รวมถึงใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก
2. สะตอนอกจากปลูกไว้สำหรับนำเมล็ดมาประกอบอาหารแล้วยังช่วยเป็นร่มเงาได้ด้วย และที่สำคัญเป็นไม้ที่สร้างรายได้งามของชาวสวนในภาคใต้
3. เมล็ดใช้ผสมกับผักหรือเศษอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น การเลี้ยงสุกร

ผัดสะตอ

คุณค่าทางโภชนาการของสะตอ (เมล็ดสะตอ 100 กรัม)
– พลังงาน 130.00 กิโลแครอรี่
– น้ำ 70.70 กรัม
– คาร์โฐไฮเดรต 15.50 กรัม
– โปรตีน 8.00 กรัม
– ไขมัน 4.00 กรัม
– เส้นใย 0.50 กรัม
– เถ้า 1.30 กรัม
– แคลเซียม 76.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 83.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก 0.70 มิลลิกรัม
– วิตามินเอ 9.00 I.U.
– วิตามินบี1 0.10 มิลลิกรัม
– วิตามินบี2 0.01 มิลลิกรัม
– วิตามินซี 6.00 มิลลิกรัม
– Niacin 1.00 mg

ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (2535)

สาระสำคัญที่พบ
เมล็ดสะตอ
1. กรดอะมิโน และสารประกอบไกลโคโปรตีน ได้แก่
– dichrostachnic acid
– djenkolic acid
– thaizolidine-4-carboxylic acid
– glycine,
– aspartic acid,
– isoleucine
– serine
– methionine
– cystein
2. สารประกอบซัลเฟอร์ ได้แก่
– 1-2-4-5-7-8 hexathionane
– 1-2-3-5-6 pentatgiepane
– 1-2-4 tetrathiepane
– trithiolane
3. สารประกอบ steroidal ได้แก่
– β-sitosterol
– stigmasterol

เปลือกฝักสะตอ
เปลือกฝักพบสารในกลุ่ม steroidal ได้แก่ stigmast-4-en-3-one

สรรพคุณสะตอ และฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
1. ฤทธิ์ต่อการแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาว สารที่ออกฤทธิ์ คือ สารเลคติน ช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย
2. ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย สารที่ออกฤทธิ์ ได้แก่ สารในกลุ่ม polysulfides
3. ฤทธิ์กระตุ้นการเกาะกลุ่มของเม็ดเลือดแดง (heamaglutination) สารที่ออกฤทธิ์ คือ สารเลคติน
4. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะสาร β-sitosterol และstigmasterol ที่ออกฤทธิ์ลดในตาลในเลือดได้ดี
5. ฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวของลำไส้ ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว และช่วยกระตุ้นการขับถ่าย

เพิ่มเติมจาก 1)

กลิ่นของสะตอ
กลิ่นฉุนของสะตอเกิดจากสารในกลุ่ม polysulfides ที่มีซัลเฟอร์เป็นแหล่งที่ทำให้เกิดกลิ่น โดยเมล็ดสะตออ่อนจะมีสารประกอบของซัลเฟอร์น้อยกว่าเมล็ดมะตอแก่จึงทำให้มีกลิ่นฉุนน้อยกว่า

คุณภาพฝัก และเมล็ดสะตอที่ดี
1. ฝักมีขนาดใหญ่ เมล็ดนูนเด่น เรียงติดกันสม่ำเสมอ และให้เมล็ดจำนวนมาก
2. เปลือกฝักเกลี้ยง มีสีเขียวสดสม่ำเสมอทั่วฝัก
3. เปลือกฝักแข็ง ไม่นิ่มหรืออ่อนตัวง่าย
4. รูปร่างเมล็ดคล้ายกับหัวแม่มือ ผิวเมล็ดเต่งตึง มีสีเขียวอ่อน
5. เนื้อเมล็ดไม่แข็ง มีกลิ่นฉุน และให้รสหวานมันตามพันธุ์

ฝักสะตอหลังจากเก็บมาจากต้นแล้วจะสามารถวางจำหน่ายหรือเก็บได้ประมาณ 3-4 วัน ด้วยการฉีดพรมน้ำ แต่หากไม่ฉีดพรมน้ำจะเก็บได้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้น เปลือกฝักจะค่อยๆซีด และเป็นสีเหลืองมากขึ้น พร้อมๆกับค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ ส่วนเมล็ดเมล็ดด้านในจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และดำในที่สุด แต่สำหรับฝักที่อ่อนมาก หากเก็บไว้นาน ฝักจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ ทั้งนี้ เพื่อยืดอายุการเก็บ เกษตรกรบางราย มักนำฝักสะตอมาเคลือบด้วยสารคาร์นูบาแว็กซ์ ที่ความเข้มข้นร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก ก่อนบรรจุถุงจำหน่าย

การปลูกสะตอ
การปลูกสะตอนิยมปลูกด้วยการเพาะเมล็ด โดยมีลักษณะการปลูกที่นิยมปลูกแซมกับพืชอื่น เช่น ปลูกแซมในสวนปาล์ม สวนยาง เป็นต้น ส่วนระยะปลูกระหว่างต้นในแนวแถวเดียวกันที่ 10-12 x 10-12 เมตร และหากปลูกหลายแถวจะมีระยะระหว่างแถวเท่ากันในระยะเท่ากัน ซึ่ง 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 11-16 ต้น

การเก็บสะตอจะเริ่มเก็บฝักได้ในช่วงเดือน วิธีเก็บด้วยการใช้ไม้สอยหรือปีนต้นเก็บด้วยการใช้มือหรือใช้ไม้สอย (ไม้สอยนิยมทำจากไม้ไผ่) นอกจากนั้น เกษตรกรบางรายนิยมใช้กรรไกรตัดกิ่งผู้ติดไว้ปลายไม้ และผูกเชือกโยงสำหรับดึงตัดขั้วฝักด้านล่าง

เอกสารอ้างอิง
Untitled