สมอไทย (Chebulic Myrobalans) สรรพคุณ และการปลูกสมอไทย

Last Updated on 8 พฤศจิกายน 2017 by puechkaset

สมอไทย (Chebulic Myrobalans) เป็นจัดเป็นผลไม้ป่าที่ให้รสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อรับประทานแล้วจะกระตุ้นให้น้ำลายไหล มีความอยากอาหาร นิยมรับประทานในรูปผลไม้ผลสดจิ้มกับเกลือ สมอไทยดอง หรือ สมอไทยแช่อิ่ม ซึ่งผลสมอไทยมีสรรพคุณทางยาในหลายด้าน อาทิ ช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทาน และป้องกันโรคมะเร็ง เป็นต้น

• วงศ์ : Combretaceae
• ถิ่นกำเนิด : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทย
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia chebula Retz.
• ชื่อสามัญ :
– Chebulic Myrobalans
– Myrolan Wood
• ชื่อท้องถิ่น :
– สมอไทย (ทุกภาค)
– ส้มมอ, หมากส้มมอ (อีสาน)

ลูกสมอไทย

การแพร่กระจาย
สมอไทย เป็นพืชท้องถิ่นไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า และลาว เป็นต้น พบได้มากในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สมอไทยเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ประเภทไม้ผลัดใบ มีลำต้นสูงประมาณ 10 – 15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งปานกลาง มีทรงพุ่มค่อนข้างโปร่ง ลำต้นมีรูปร่างไม่สมมาตร มีรูปร่างไม่แน่นอน เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ดแผ่นใหญ่ และมีร่องลลึก สีดำอมเทา ส่วนเนื้อไม้มีลักษณะแข็ง มีสีเหลืองอมน้ำตาลบริเวณด้านนอก และด้านในมีสีน้ำตาลอมดำ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างบ้านเรือนได้ดี

เปลือกสมอไทย

ใบ
สมอไทย เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงเยื้องสลับข้างกันบริเวณปลายของกิ่งแขนง มีก้านใบยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ใบมีรูปร่างรี โคนใบ และปลายใบมน ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ใบด้านล่างมีสีจางกว่า แผ่นใบค่อนข้างหนา และเรียบ มีขนขึ้นปกคลุม ทั้งนี้ สมอไทยจะเริ่มผลัดใบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม และเริ่มแตกใบอ่อนในช่วงเดือนเมษายน

ดอก
ดอกสมอไทยแทงออกเป็นช่อบนปลายกิ่งแขนง แต่ละปลายกิ่งมีช่อดอกประมาณ 3-5 ช่อ ปลายช่อห้อยลงด้านล่าง แต่ละช่อมีดอกประมาณ 10-20 ดอก ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมีขนาดเล็ก 3-5 มิลลิเมตร ดอกมีลักษณะเป็นรูปถ้วย มีลีบดอก 5 กลีบ สีขาวอมเหลือง ด้านในดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน และมีรังไข่อยู่ด้านล่างตรงฐานดอก แบ่งเป็น 2 ช่อง โดยดอกสมอไทยจะเริ่มออกดอกหลังการแตกใบใหม่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ดอกสมอไทย

ผล และเมล็ด
ผลสมอไทยมีลักษณะรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ผิวผลไม่สมมาตรนัก ขนาดผล 2-2.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ประกอบด้วยส่วนเปลือก และเนื้อผลเป็นส่วนเดียวกัน เนื้อค่อนหนา และแข็ง แต่กรอบ ให้รสเปรี้ยวอมฝาด เปลือกผลขณะอ่อนมีสีเขียวสด เมื่อผลเริ่มแก่จะมีสีแดงเรื่อปะ ผลหนึ่งจะมี 1 เมล็ด เมล็ดมีรูปร่างค่อนข้างกลม เปลือกเมล็ดหนา มีสีเหลืองน้ำตาล โดยผลสมอไทยจะเริ่มติดในช่วงเดือนมิถุนายน และผลจะแก่มีสีเขียว และมีสีแดงเรื่อปะในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม

สมอไทย

ประโยชน์สมอไทย
1. ผลสมอไทยนำมาทานสดหรือจิ้มกับพริกน้ำปลา ให้รสเปรี้ยวอมฝาด มีสรรพคุณทางยาหลายด้าน
2. ผลสมอไทยนำมาทำสมอไทยดอง หรือ สมอไทยแช่อิ่มรับประทาน
3. เปลือกลำต้นใช้มีดถากนำมาย้อมผ้า ย้อมแห ให้สีดำอมแดงเรื่อ
4. ใบสมอไทย นำมาต้มย้อมผ้า ใบอ่อนให้สีเขียวขี้ม้า ใบแก่ที่เหลืองแล้วให้สีเหลืองอมน้ำตาล
5. ใบอ่อน นำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วตากแห้ง ก่อนนำมาชงเป็นชาดื่ม หรือ ใช้มวนเป็นยาสูบผสมกับใบพืชชนิดอื่น
6. ไม้สมอไทยเป็นไม้เนื้อแข็ง นิยมเลื่อยแปรรูปเป็นเสาบ้าน แผ่นไม้ปูบ้าน ทำประตูวงกบ รวมถึงทำเครื่องเรือน และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ
7. กิ่งไม้ใช้ทำฟืน

สรรพคุณสมอไทย
ผล และเมล็ด
– เนื้อผลมีรสเปรี้ยวอมฝาด เมื่อรับประทานแล้วจะรู้สึกหวานในปาก ทำให้อยากอาหาร ช่วยในการเจริญอาหาร
– ช่วยละลายเสมหะ และช่วยขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
– แก้เจ็บคอ ลดอาการไอ
– รักษาแผลในปาก แผลร้อนในที่ปาก
– รักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง
– ช่วยกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคในระบบทางเดินอาหาร
– ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืด
– ช่วยขับลมในกระเพาะ
– ใช้เป็นยาระบาย ช่วยในการขับถ่ายให้ง่ายขึ้น
– รักษาโรคในท่อน้ำดี กระตุ้นการหลั่งน้ำดี
– บรรเทาอาการโรคหอบหืด
– ช่วยขับพยาธิ
– ป้องกันตับ และไตจากสารพิษ
– ผลนำมาสับ และบดให้ละเอียด และผสมน้ำเล็กน้อย ก่อนใช้ทาบนใบหน้า สำหรับขัดเซลล์ผิว รักษารอยหมองคล้ำ และช่วยลดกระ ฟ้า
– ช่วยบำรุงผิวให้แลดูสดใส
– ช่วยทำลาย และขับสารพิษออกจากร่างกาย
– แก้อาการเมาค้าง และกำจัดแอลกอฮอล์ที่ตกค้างในร่างกาย
– แก้อาการวิงเวียนศรีษะ
– ช่วยบรรเทาอาการอาเจียน
– ช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่งวงนอน
– ช่วยบำรุงกำลัง แก้ร่างกายอ่อนเพลีย
– แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
– แก้ปวดตามข้อ ตามกระดูก
– ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
– ช่วยป้องกันโรคหัว และโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือด
– ช่วยในการผ่อนคาย ลดอาการเครียด และทำให้นอนหลับง่าย
– ช่วยรักษาโรคฟันผุ
– บรรเทาอาการสะอึก
– ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
– ช่วยลดอาการปวดบวมจากพิษแมลงกัดต่อย โดยนำผลมาบดก่อนใช้ประคบรอยแผล

ใบ (ใบอ่อน)
– ใบนำมาต้มน้ำดื่ม ช่วยแก้ท้องเสีย
– นำมาต้มน้ำอาบ ช่วยแก้ผดผื่นคัน
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยบำรุงสายตา
– นำใบอ่อนมาขยี้ ก่อนกดบนแผล ช่วยในการห้ามเลือด
– ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด
– ช่วยขับปัสสาวะ
– ช่วยขับสารพิษ ป้องกันการเสื่อมของไต

เปลือกลำต้น และแก่น
– นำมาต้มดื่ม แก้โรคท้องร่วง
– นำมาต้มดื่ม แก้โรคบิด
– น้ำต้มช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเล็ด
– นำมาต้มน้ำอาบ แก้โรคผิวหนัง เชื้อราที่ผิวหนัง

เพิ่มเติมจาก : 1)

การปลูกสมอไทย
สมอไทยสามารถปลูกได้ด้วยการเพาะเมล็ด ส่วนวิธีการอื่นมักไม่ได้ผล เพราะต้นเสมอไทยเป็นไม้เนื้อแข็ง ทำให้การตอนหรือการปักชำไม่ได้ผลมากนัก

สำหรับการปลูกจะใช้วิธีเก็บผลแก่ที่ร่วงจากต้นมาเพาะ โดยมีช่วงที่ผลร่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม หลังจากนั้น ให้นำผลมาตากแห้ง ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลานานกว่าผลจะแห้ง เนื่องจาก ผลสมอไทยมีเนื้อหา และเนื้อค่อนข้างแข็ง เมื่อผลแห้งแล้วค่อยนำลงเพาะในถุงเพาะชำต่อ

เอกสารอ้างอิง
2