สนฉัตร(Norfolk island pine) ประโยชน์ และสรรพคุณสนฉัตร

Last Updated on 4 เมษายน 2017 by puechkaset

สนฉัตร (Norfolk island pine) จัดเป็นไม้สนประดับชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกในปัจจุบัน เนื่องจากแตกกิ่งแผ่ออกเป็นชั้น ใบมีสีเขียวสวยงาม ลำต้น และทรงพุ่มไม่ใหญ่ เหมาะสำหรับการปลูกในกระถาง และปลูกในสวนหย่อม

สนฉัตร เป็นพืชอยู่ในวงศ์ Araucariaceae ซึ่งได้มาจากชื่อจังหวัด Arauca ในตอนใต้ของซีลอน ซึ่งเป็นที่อยู่ที่มีผู้ค้นพบครั้งแรก เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ และทวีปออสเตรเลียทางแถบคาบสมุทรแปซิฟิก และในบันทึกของกัปตัน cook ได้บันทึกการพบสนฉัตรในระหว่างการเดินทางครั้งที่ 2 และ Sir Joseph Ranks ได้นำเข้ามาปลูกในสวน kew ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1793

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
สนฉัตรเป็นไม้ขนาดใหญ่ มีอายุนานหลายสิบปี มีลำต้นสูงมากกว่า 6 เมตร ขึ้นไป จนถึง 45-60 เมตร ลำต้นที่มีขนาดใหญ่สามารถมีขนาดได้ถึง 1.5-3 เมตร เปลือกด้านนอกสามารถแกะออกได้เป็นสะเก็ดบางๆ กิ่งแตกออกด้านข้างลำต้นเป็นวงรอบ 4-7 กิ่ง แต่โดยทั่วไปมักจะมีประมาณ 5 กิ่ง ในแต่ละกิ่งจะมีกิ่งย่อยแตกออกตามความยาวของกิ่ง และจะโค้งขึ้นเล็กน้อยที่บริเวณปลายกิ่ง

สนฉัตร

ใบ
ใบของสนฉัตรแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มใบอ่อนที่แตกออกใหม่จะมีลักษณะโค้งเข้า มีสีเขียวเข้ม ใบมีลักษณะนุ่ม สีเขียวสด ขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร และอีกกลุ่มคือใบที่แก่แล้วจะมีลักษณะปลายใบมีขนาดเล็ก และแหลม ขึ้นเรียงซ้อนกันเป็นเกล็ดหนาทึบ และขึ้นเป็นเกลียวรอบกิ่ง อาจมีลักษณะตรงหรือโค้ง ขนาดยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร

ยอดสนฉัตร

ดอก
ดอกสนฉัตรประกอบด้วยเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมียรวมอยู่ในต้นเดียวกันหรืออาจแยกต้นกันอยู่ ส่วนมากจะพบแยกต้นกันอยู่ แต่จะพบบ้างเล็กน้อยที่ทั้งสองเกสรอยู่บนต้นเดียวกัน โดยดอกจะแทงออกบริเวณยอด มีดอกตัวผู้อยู่ด้านบน ก้านเกสรแต่ละอันประกอบด้วยอับละอองเกสร โดยทั่วไปจะมีสีเหลืองม่วงหรือแดงเข้ม

ส่วนเกสรตัวเมียเกิดในกระเปราะรูปกรวย เป็นแบบ clavate หรือ sub-globose ประกอบด้วยกลีบดอกที่เป็นหมันที่อยู่ด้านล่าง ส่วนด้านบนจะเป็นที่สร้างเมล็ด และ scale จำนวนมาก เรียงซ้อนกันเป็นวงต่อเนื่องกันกับใบ ซึ่งแต่ละอันจะสร้างเป็น 1 เมล็ด

เมล็ด
เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-15 เซนติเมตร บริเวณโคน scale มีจำนวนมาก และมีการเรียงตัวแบบเกลียวอยู่ชิดซ้อนกันเป็นเกล็ดๆ ตรงส่วนปลายมีลักษณะยาวเป็นแบบ lancaolate acuminate ตรงบริเวณขอบมีลักษณะบางลงเป็นปีก (wing) ส่วนบริเวณยอดจะหนา และแข็ง และอยู่ติดกับเมล็ดเดียวแบนๆไม่มีปีก

ในแต่ละ scale จะประกอบด้วยเมล็ด 1-6 เมล็ด มีขนาดความกว้างมากกว่าความยาว ขนาดยาวประมาณ 7.5-10 เซนติเมตร กว้าง 8.75-11.25 เซนติเมตร ตรงบริเวณปลายของ scale จะแบน และนุ่ม

ประโยชน์สนฉัตร
1. เนื้อไม้
สนฉัตรในปัจจุบันมีบทบาทมากในการเป็นไม้ประดับมากกว่าการให้เนื้อไม้ ซึ่งในอดีตมีการนำเนื้อไม้สนฉัตรมาใช้ประโยชน์ในด้านงานก่อสร้าง และงานตกแต่งบ้าน เนื่องจากเนื้อไม้สนฉัตรมีสีออกเหลือง มีเส้นลายไม้ เมื่อขัด และทาน้ำยาขัดเงาจะให้ความสวยงามมาก นอกจากนั้น เนื้อไม้ยังมีความทนทานอยู่ได้นานหลายปี

2. สรรพคุณสนฉัตร และยาสมุนไพร
ในส่วนของน้ำยางสนฉัตรที่ให้สีค่อนข้างขาว และมีกลิ่นหอม จึงนิยมนำมาทำเทียนไข ส่วนทางการแพทย์มีการนำน้ำยางใช้สำหรับทาแก้ฟกซ้ำ แก้ปวดเมื่อย และรักษาบาดแผล รวมไปถึงการทำให้แห้งเพื่อใช้เป็นยาบรรเทาความเจ็บปวด และส่วนของเมล็ดสนฉัตร สามารถนำมารับประทานเป็นอาหารได้

3. ไม้ประดับ
ปัจจุบัน การปลูกสนฉัตรกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก ทั้งในต่างประเทศ และในประเทศไทยเอง สำหรับประเทศไทยนิยมปลูกขายกันมากในแถบภาคกลาง และภาคเหนือ และมีขายตามร้านขายต้นไม้ประดับเกือบทุกจังหวัด เนื่องจากเป็นต้นสนที่มีลักษณะสวยงามไม่เหมือนสนทั่วไป แตกกิ่งเป็นชั้น ใบมีสีเขียวสวยงาม ลำต้น และทรงพุ่มไม่ใหญ่ เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่จำกัด รวมถึงสามารถปลูกได้ดีในกระถางสำหรับประดับอาคารหรือพื้นที่จำกัด นอกจากนั้น สนฉัตรยังเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี และสามารถทนต่อทุกสภาพดิน โดยปัจจุบันมีราคาต่อต้นค่อนข้างสูงตามอายุ และความสูงของต้น

สนฉัตรในประเทศไทยนิยมรวมถึงประเทศต่างๆ ถูกนำมาใช้มากในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งใช้ต้นไม้ประจำวันคริสต์มาสในทุกประเทศ

การปลูกสนฉัตร
การปลูก และขยายพันธุ์สนฉัตรมี 2 วิธี คือ การปลูกด้วยเมล็ด และการปักชำ
1. การปลูกด้วยเมล็ด
การปลูกด้วยเมล็ดจะมีข้อดี คือ ต้นสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีการแตกกิ่งออกเป็นชั้นๆ และมีความเป็นระเบียบ ขนาดปล้องลำต้นจะยาว แต่ไม่ค่อยนิยมสำหรับเป็นไม้ประดับ เนื่องจากต้นจะโตเร็ว ปล้องมีขนาดยาว และเมื่อปลูกนานหลายปีต้นจะสูงใหญ่ไม่สวยงาม

การปลูกด้วยเมล็ดจะต้องใช้วัสดุดินปลูกที่มีความร่วนซุย ซึ่งควรผสมดินกับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย ขุ๋ยมะพร้าว เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินเหนียวหรือดินทรายที่มีความร่วนซุยน้อย และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ

การปลูกด้วยเมล็ดนิยมเพาะเมล็ดในแปลงเพาะก่อนหรือเพาะในกระถางก่อนนำลงปลูกในพื้นที่จริง ซึ่งจะช่วยในด้านความสะดวกในการกำจัดวัชพืช และการดูแลรักษา

การเพาะเมล็ดจะใช้วิธีการหว่านลงแปลงหรือหยอดเมล็ดในกระถาง แล้วกลบด้วยดินบางๆ หรือโรยด้วยปุ๋ยคอก แล้งจึงรดน้ำให้ชุ่ม

สนฉัตรในกระถาง

2. การปลูกด้วยต้นปักชำ
การปกลูกด้วยกิ่งปักชำจะมีข้อดี คือ ให้ลำต้นเตี้ย ชั้นของกิ่งหรือปล้องของลำต้นถี่ แน่น ลำต้นไม่สูง การเติบโตช้า แต่จะให้ลักษณะสีใบ ขนาดใบ และความสวยเหมือนต้นที่ปลูกด้วยเมล็ด แต่มีข้อแตกต่างที่ทรงพุ่มจะเตี้ย และมีจำนวนกิ่งที่มากกว่า

ต้นตอที่ใช้ตัดเพื่อปักชำจะได้จากต้นตอที่ปลูกด้วยเมล็ด โดยจะให้ต้นเจริญเติบโตให้แตกกิ่งประมาณ 3-6 ขั้น ก่อนตัดปักชำ

การดูแลรักษาต้นปักชำในระยะแรก ควรให้ต้นได้รับแสงแดดพอรำไร ด้วยการขึงสะแลนกันแดดหรือวางต้นปักชำในที่ร่ม ส่วนการเตรียมดินควรใช้วัสดุปลูกที่มีความร่วนซุยดังที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น ในระยะแรกควรให้น้ำเพียงวันละครั้ง ในปริมาณที่พอดินชุ่มเท่านั้น จนกว่าต้นปักชำจะติด และเกิดราก จนตั้งต้นได้ค่อยให้น้ำ 1-2 ครั้งต่อวัน ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

โรค และแมลงศัตรู
โรคสนฉัตร
ส่วนมากจะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราต่างๆ อาการที่เกิดจากเชื้อรามักทำให้ใบสนฉัตรมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล ใบร่วง บางครั้งอาจมองเห็นกลุ่มของราตามใบ ซึ่งมักเกิดมากในต้นสนฉัตรที่เติบโตในระยะแรก แต่หากต้นที่โตแล้วมักไม่เกิดโรคหรือเกิดมักไม่มีผลกระทบมาก การป้องกันกำจัดสามารถใช้สารเคมีป้องกัน และกำจัดเชื้อราฉีดพ่นทุก 1-2 เดือน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นมาก

นอกจากโรคที่เกิดจากเชื้อราแล้ว สนฉัตรยังมีอาการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และความชื้น โดยเฉพาะสนฉัตรที่มีอายุมากที่ต้องการความชื้นอย่างสม่ำเสมอ หากพื้นที่มีความแห้งแล้งมาก โดยเฉพาะในฤดูหนาว และฤดูแล้ง จะทำให้ใบมีสีแดงหรือสีน้ำตาล เนื่องจากมีการระเหยน้ำออกจากใบมากเกินไป และไม่มีน้ำชดเชยส่วนที่ระเหย รวมถึงปัจจัยอื่นที่มีส่วนส่งเสริม เช่น ความแรงลม อุณหภูมิ แสงแดด จะเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมของสนฉัตรเหี่ยวตายได้ง่ายขึ้น

แมลงศัตรูพืช
ศัตรูธรรมชาติที่พบได้บ่อยของสนฉัตร คือ ไรแดง เพลี้ยแป้ง และปลวก
– ไรแดง เป็นศัตรูของสนฉัตร ซึ่งจะคอยดูดน้ำเลี้ยงของใบสนฉัจร ทำให้ใบมีสีซีด แและสีเหลืองเป็นจุดๆ และมีใยคลุมบริเวณที่ถูกทำลาย มักพบเกิดในช่วงอากาศอบอุ่น

– เพลี้ยแป้ง มักเข้าทำลายสนฉัตรด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใบ ทำให้ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีน้ำตาล และแห้งตาย

– ปลวก เป็นศัครูของสนฉัตรอีกชนิดที่ชอบกัดกินเนื้อไม้สนฉัตร ทั้งสนฉัครขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ แต่มักพบบ่อยในสนฉัตรที่มีอายุมาก